โหราศาสตร์ กับ จอมพล สฤษดิ์

เมื่อพูดถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านผู้อ่านนึกถึงอะไรกันบ้าง วลีเด็ด “แล้วพบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”, ฉายา “จอมพลผ้าขาวม้าแดง”, เจ้าของคำพูด “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
แต่สิ่งที่เกี่ยวกับ จอมพล สฤษดิ์ ที่บางท่านอาจนึกไม่ถึงก็คือ “โหราศาสตร์” ที่สำคัญ จอมพล สฤษดิ์ให้น้ำหนักกับเรื่องโหราศาสตร์อยู่ไม่น้อยเสียด้วย จริงเท็จเป็นเช่นใด

ขอเชิญท่านไปลองอ่านดูในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ที่ อิทธิเดช พระเพ็ชร ค้นคว้าและเขียนไว้ในบทความที่ตั้งชื่อว่า “จอมพล สฤษดิ์ โหราศาสตร์ และประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

หากจะถามว่าแล้ว จอมพล สฤษดิ์เชื่อถือเรื่องโหราศาสตร์เพียงใด

เมื่อดูจาก “หมอดูประจำตัว” ที่ จอมพลพล สฤษดิ์มีไว้คอยตรวจดูดวงชะตาถึง 2 คน คือ เทพย์ สาริกบุตร และ ร้อยโทประจวบ วัชรปาณ (ยศในขณะนั้น) คงช่วยยืนยันว่า สำหรับ จอมพล สฤษดิ์แล้วนี้ไม่ใช่คำว่า “ฤกษ์สะดวก” แต่ต้องเป็น “ฤกษ์งามยามดี” ที่คำนวณกันมาอย่างดีเท่านั้น

Advertisement
โหรเทพย์ สาริกบุตร

เมื่อ จอมพล สฤษดิ์จะแต่งงานกับ คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ นั้น เล่ากันว่า เทพย์ สาริกบุตร เป็นคนกำหนดฤกษ์การแต่งงานให้

ส่วน ร้อยโทประจวบ วัชรปาณ นั้น พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เล่าถึงความสามารถทางโหราศาสตร์ไว้ว่า

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.อ. (พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ พ.บ.

“…หมอประจวบเป็นหมอหลายสาขา ฉะนั้นในการรบครั้งสำคัญๆ ร.พัน 33 จะจัดพิธีทางไสยศาสตร์ก่อนพวกเราจะออกรบเสมอ อาจารย์หมอประจวบ จะจัดเตรียมพิธีทางไสยศาสตร์อย่างครบถ้วน ตัวเองอาบน้ำชำระร่างกายอย่างหมดจด นุ่งขาวห่มขาวนั่งบริกรรมคาถาอย่างมีสมาธิกล้า

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บังคับกองพัน ร.พัน 33 ก็จะจัดดอกไม้เจ็ดสีพร้อมธูปเทียน หมอบคลานเข้าไปกราบอาจารย์ รับการลงกระหม่อมประพรมน้ำมนต์เพื่อความมีชัยและศิริมงคล ต่อจากนั้นนายทหารทุกคนก็จะเรียงกันเข้าไปรับการทำพิธีทีละคนจนถ้วนทั่วทุกตัวคน

และประหลาดมาก การรบที่เกิดขึ้นนั้น แม้เราจะเพลี่ยงพล้ำขนาดหนักก็แคล้วคลาดรอดมาด้วยความเสียหายแต่น้อยทุกที เวลาชนะรุกไล่ข้าศึกก็ดูขวัญทหารเริงใจกันดี แม้จะเหนื่อยอ่อนแทบขาดใจ”

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ (ภาพจาก คุณประวิทย์ สังข์มี)

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ร้อยโท ประจวบก็ลาออกจากราชการไปอยู่ต่างจังหวัดกับภรรยา ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่โหรเทพย์ สาริกบุตร ไปบวชจำพรรษา ขณะเดียวกันกองทัพก็มีคำสั่งปลดทหารหลายนาย ตัว จอมพล สฤษดิ์ก็มีความคิดที่จะลาออกเช่นกัน แต่ก็เปลี่ยนใจเพราะ “คำทำนาย” ของหมอดู ซึ่งในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล สฤษดิ์ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“…หมอดูซึ่งเป็นพระพม่าที่จำพรรษาอยู่ ณ ลำปางนั่นเอง หมอดูได้ทำนายว่าให้รักษาตัวไว้ ถ้าไม่ออกจากราชการก็จะได้ดำรงตำแหน่งใหญ่ต่อไปในภายหน้า ซึ่งในเวลานั้น ฯพณฯ ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็ได้ผลทางใจคล้ายกับมีผู้ปลอบประโลมใจ จึงตัดสินใจยังคงอยู่ในราชการต่อไป”

เมื่อมีการรัฐประหาร 2490 ร้อยตรีทองคำ ยิ้มกำภู (ยศในขณะนั้น) นายทหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ทำหน้าที่เป็น “โหร” ของฝ่ายผู้ก่อการรัฐประหาร ทำหน้าที่ดูฤกษ์ยามสำหรับรัฐประหาร, ดูดวงชะตาของบุคคลในคณะตั้งแต่ผู้นำอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสมาชิกคนสำคัญ รวมถึงดวงชะตาของบุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น

รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภาพเหตุการณ์ ณ กระทรวงกลาโหม การกลับมาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายทหารต่างอุ้มและแบกท่าน จอมพล ป. หลังทราบว่าการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ (ภาพจากเพจ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

โดยคณะรัฐประหารได้ติดต่อ จอมพล สฤษดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 กองกำลังสำคัญในพระนคร ให้เข้าร่วมการรัฐประหาร

ขณะนั้นที่ จอมพล สฤษดิ์เป็นนายทหาร “ดาวรุ่ง” ที่ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งด้วยดีในรัฐบาลพลเรือนของ นายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปฏิเสธในคราวแรก จนเมื่อ ร้อยโทชาญณรงค์ วิจารณบุตร นายทหารใต้บังคับบัญชาของ จอมพลสฤษดิ์ พบกับ ร้อยตรี ทองคำ ยิ้มกำภู และแกนนำคนสำคัญ จึงตกลงเข้าร่วมการรัฐประหารในที่สุด

หรือเมื่อ จอมพล สฤษดิ์ เข้ายึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในค่ำคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 ก็มีการเล่าลือว่า วันและเวลาในกากรก่อการนั้น ร้อยโท ประจวบเป็นผู้คำนวณหาฤกษ์ยาม

ดวงประจำตัวของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากหนังสือ “โหราศาสตร์ไทยสมัยใหม่” โดย พลูหลวง จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2509

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแค่บางส่วน ขอได้โปรดติดตามจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคมนี้ เพื่ออ่านเรื่องราวของ “โหราศาสตร์” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่ละช่วงเวลา

มาดูกันว่าคำพูดติดปากคนไทยในเรื่องไสยศาสตร์ที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ในชีวิตจริงเป็นอย่างไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image