เครื่องแบบ คดี คำถาม สอบปากคำ 3 เยาวชน บนเส้นทางราษฎร

ยังหาทางลงกันไม่ได้ กลายเป็นซีรีส์โปรดักชั่นใหญ่แห่งราชอาณาจักรไทย

ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เรื่อง 3 ข้อเรียกร้องของ “ราษฎร” ที่มี “เยาวชน” ร่วมขบวนมากมาย เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ที่นักเรียนไทยทั่วประเทศลุกจากเตียงมาแต่ง “ไปรเวต” พร้อมจี้กระทรวงศึกษาธิการเร่งขจัดอำนาจนิยมผ่านระเบียบวินัย ปฏิรูปหลักสูตรให้ทันสมัย ปรับจูนทัศนคติยุคไดโนเสาร์ให้เข้าสู่ยุค 4.0

ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่มีความเห็นหลากหลาย บ้างก็ถึงขั้นขับไล่เลือดเนื้อเชื้อไขออกจากอ้อมอกเพียงเพราะคิดต่าง บ้างก็จูงมือมารับ-ส่งถึงม็อบ “ราษฎร” ที่มีพี่เป็ดเหลืองยิ้มรับ

Advertisement

ในวันที่เยาวชนไทยได้รับ “หมายเรียก” ส่งตรงถึงบ้าน

ในวันที่คนรุ่นใหม่ต้องเป่าเค้กวันเกิดอายุ 18 หน้าสถานีตำรวจ

ในวันที่นักเรียนถูกห้ามไม่ให้เข้าห้องเรียนเพราะไม่แต่งเครื่องแบบ

บรรทัดต่อจากนี้คือส่วนหนึ่งของปากคำเยาวชน (และอาจารย์) ต่อสถานการณ์สังคม ต่อวิกฤตในชีวิตตัวเอง ต่อเส้นทางการต่อสู้ในครั้งนี้

ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ

ภาคีนักเรียน KKC

“สุดท้ายยังไงครูก็ไม่มีสิทธิห้ามเข้าเรียน”

ภาพจาก Backpack Journalist

การที่โรงเรียนไม่ให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวตเข้ารับการศึกษา และมีการกักขังหน่วงเหนี่ยว มันเป็นเรื่องไม่สมควร ตามปกติแล้ว โรงเรียนสามารถทำได้เพียงแค่ใช้กฎของโรงเรียนคือหักคะแนน ว่ากล่าวตักเตือนก่อนเท่านั้น และสุดท้ายยังไงครูก็ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้นักเรียนเข้าไปเรียนในห้องเรียน เพราะอย่างนั้นการที่โรงเรียนไม่ให้เด็กเข้าเรียน ผมคิดว่าโรงเรียนกำลังทำผิด

ถามว่าจะมีการประนีประนอมเข้าหากันคนละครึ่งทางหรือเปล่าในเรื่องของการแต่งชุดไปรเวต ผมว่ามันต้องตั้งโต๊ะอย่างเป็นทางการ มีทุกฝ่ายมาร่วมคุยกันก่อน แต่ก็ค่อยว่ากันอีกทีหลังจากที่เราได้คุยเรื่องเหตุผลกันไปแล้ว เช่น เรื่องที่ให้แต่งไปรเวตได้แต่ต้องให้ติดบัตรก็ด้วย เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องความปลอดภัย

ส่วนประเด็นที่กระทรวงศึกษาธิการจะปิดเว็บไซต์นักเรียนเลว และยังเล็งดำเนินคดีกับนักเรียน ผมว่ามันไม่ถูก เพราะการออกมาเคลื่อนไหวเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร และกระทรวงศึกษาก็ไม่ควรคุกคามนักเรียนด้วยเช่นกัน

การเคลื่อนไหวต่อจากนี้ ภาคีนักเรียน KKC อาจจะยื่นหนังสือให้แต่ละโรงเรียนเพื่อให้ทดลองเกี่ยวกับการแต่งชุดไปรเวต แล้วจะยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อไป

 

เพลงพิณ สุชนวนิช

นักเรียนไทยในต่างประเทศ

“โมโหทุกครั้งที่กลับมาประเทศไทย”

ช่วงนี้สถานการณ์โควิดในประเทศที่เรียนอยู่ค่อนข้างแย่ เลยกลับมาไทย ตั้งใจว่าจะอยู่สัก 1 ปี ทำให้ได้ไปร่วมกิจกรรมการชุมนุมและเป็นนักกิจกรรมเรื่องของเฟมินิสต์ในกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กิจกรรมแรกที่ทำคือการแสดงสีดาลุยไฟ พยายามไปทุกม็อบที่สามารถไปได้ แต่ครอบครัวเป็นห่วงเลยอาจไม่ได้ไปทุกม็อบ

ด้วยการที่ไปเรียนต่างประเทศมาเกือบ 10 ปีแล้ว ได้มีโอกาสไปอยู่ในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่านี้ มีเสรีในการพูดและแสดงออกมากกว่านี้ และเรื่องการเมืองที่เป็นพื้นฐานคือด้านคมนาคมก็ดีกว่า ทำให้รู้สึกโมโหทุกครั้งที่กลับมาประเทศไทย ว่าทำไมบ้านเราถึงได้เพียงเท่านี้ ทั้งที่มีทรัพยากร มีศักยภาพหลายอย่าง

มันก็เป็นคำถามว่าคนไทยกินข้าวกันเกือบทั้งประเทศ ทำไมเกษตรกรอยู่ในชนชั้นล่าง ทำไมเขาถึงไม่มีเงิน ทำไมเขาต้องอดตายทั้งๆ ที่เขาปลูกข้าวให้เรากิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้โมโหและอึดอัดใจว่ามันไม่เมกเซนส์ เลยทำให้เราอยากออกมา

‘เพชร’

นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะ

“ถ้าแพ้ก็แค่ติดคุก อย่างน้อยก็ได้สู้แล้ว”

ตอนนี้อายุ 17 ปี โดนแล้ว 3 หมาย จากการชุมนุมที่แยกบางนาและนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนไปรายงานตัวที่ สน.บางนา และช่วงบ่ายวันเดียวกันไปที่ศาลเยาวชน ก็ได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ ตอนอยู่ที่ศาลถูกฝากขังเพื่อรอการประกันตัว ช่วงเวลาราวชั่วโมงครึ่งที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ได้นั่งอ่านข้อความบนกำแพงว่าเขาเขียนอะไรบ้าง เขาสลักชื่อตัวเองลงบนกำแพง บอกรัก บอกว่าคิดถึงเพื่อน ในนั้นมีทุกอย่างรวมกันทั้งที่นอน ห้องน้ำ ไม่มีช่องแสงให้มองเห็นข้างนอกได้เลย ตอนนั้นเดินเข้าไปแล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ! เรามาถึงจุดนี้แล้วเหรอ ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งต้องเข้าห้องขัง ก็ตื่นเต้น ตกใจ มีทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทนายถามว่า ไม่กลัวใช่ไหม ก็ตอบเขาว่า ไม่กลัวๆ เอาสักตั้ง แต่จริงๆ ก็กลัวนิดหนึ่ง ด้วยความที่โดน ม.116 ซึ่งค่อนข้างเป็นคดีที่แรง เลยแอบกังวล แต่ได้กำลังใจจากคนรอบข้าง ยืนยันว่าจะสู้ต่อ เมื่อได้หมายแล้วก็คงให้เป็นประกาศนียบัตรของบ้าน (หัวเราะ) และยังคาดหวังว่าสังคมไทยจะมีความยุติธรรม

ตัวเองเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้อง 4 คน พอโดนคดีก็ต้องให้ครอบครัวเดินทางไปด้วย มีค่าใช้จ่ายและค่ารถที่เราต้องให้เขาเพราะเขาหยุดงาน ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นภาระให้ทางบ้าน ทำงานพิเศษดูแลตัวเอง

เยาวชนหลายคนที่โดนคดีก็คงรู้สึกกลัว แต่เชื่อว่าไม่มีความกล้าไหนที่ไม่มีความกลัวอยู่ในนั้น เราจะกล้าเสียสละออกมาไหม ซึ่งเราเป็นคนที่กล้า และคิดว่าทุกเสียงมีความหมาย อยากบอกว่าเราไม่ได้ไปฆ่าใครตาย แค่ออกมาเรียกร้อง ไม่ได้ผิดอะไร แต่มีคนชอบทำให้เราดูเป็นคนผิด

ปราศรัยครั้งแรก ถ้าจำไม่ผิดคือหน้า สน.บางเขน ไปฐานะผู้ชุมนุม แล้วเขาให้ฟรีไมค์ มีอะไรอยากจะพูดก็พูด จากนั้นก็จับไมค์ตลอดมา ตอนแรกๆ ก็พูดติดๆ ขัดๆ พูดไม่เป็น แค่พูดในสิ่งที่คิด

แรงผลักดันที่ทำให้ต้องออกมาคือสิ่งรอบข้างที่บีบคั้น ทั้งความไม่เป็นธรรมในสังคม โครงสร้าง ระบบการศึกษา การทำงาน รัฐสวัสดิการ เราตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันว่าทำไมเป็นแบบนี้ แล้วไปหาข้อมูลความรู้จากโลกโซเชียล และในหนังสือว่ามันเกิดอะไรกับสังคม

การออกมาเคลื่อนไหว ทางครอบครัวมีอุดมการณ์เดียวกับเรา แต่ไม่อยากให้เราออกมา เขาเป็นห่วงในฐานะที่เราเป็นลูก แต่ต้องยอมรับว่าเลือดการเมืองมันแรง (หัวเราะ)

ส่วนอาจารย์ที่วิทยาลัย ไม่รู้ว่าเขาโอเคไหม แต่ให้เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อนก็ค่อนข้างโอเค เข้าร่วมชุมนุม ตัวเองเป็นคนแรกในห้องที่ออกมาในช่วงที่คนยังไม่ค่อยตื่นตัวเท่าไหร่ แต่พอมีการสลายชุมนุมโดยการฉีดน้ำก็มีความตื่นตัวมากขึ้น เพื่อนก็ออกมามากขึ้น ด้านการเรียน จากนี้อาจเปลี่ยนไปเรียนนอกระบบ เพราะตัวเองมีเรื่องค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ไม่ได้ขอพ่อแม่ เลยอยากได้เวลาในการทำงาน และทำกิจกรรมตรงนี้ ก็ต้องเลือกทางออกที่ดีที่สุด ถึงจะเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยอยากเลือกสักเท่าไหร่ อาจควบกับการลงเรียนที่รามคำแหง อยากเรียนรัฐศาสตร์ เพราะชอบการเมือง

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยความที่เป็นแฟลชม็อบ ประเมินกันวันต่อวัน ถ้าแพ้ ก็แค่ติดคุก ไม่มีอะไร อย่างน้อยก็ได้ออกมาว่าเราสู้แล้วนะ


ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เขาเป็นโจทย์ที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยหยิบมาพูดในที่สาธารณะ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดทั้งปีนี้บรรยากาศความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนมีสูง ด้วยความเป็นเด็กนักเรียน เรื่องที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดก็คือเรื่องที่อยู่ในโรงเรียน ตั้งแต่ต้นปีมาจะเห็นการเคลื่อนไหวที่พวกเขามีส่วนร่วมขับเคลื่อนในการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจนิยมในโรงเรียนที่สอดแทรกผ่านกฎระเบียบ เช่น ทรงผม เครื่องแต่งกาย คุณภาพการศึกษา

1 ธันวาคมเป็นวันเปิดเทอมวันแรก เป็นวันที่เด็กๆ กลุ่มแกนนำมองว่าคือจังหวะที่สามารถสื่อสารข้อความและจุดประสงค์ทางการเมืองผ่านการเคลื่อนไหวได้ ว่าทำไมถึงต้องบังคับให้แต่งชุดนักเรียนทุกวัน จริงๆ แล้วในกลุ่มคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน เรามีการพิจารณาระเบียบเรื่องนี้ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกาศใช้ ซึ่งก็มีการทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน ว่าควรจะเปิดโอกาสให้โรงเรียน ในฐานะชุมชนได้มีโอกาสตัดสินใจร่วมกัน ให้มีการรับฟังเสียงเด็ก ผู้ปกครอง คุณครู และพิจารณาถึงบริบทของโรงเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจง ไม่ควรจะเป็นระเบียบที่ใช้ในส่วนกลางแบบเดียวกันทั้งประเทศ แต่ให้มีความยืดหยุ่นสูงที่สุด คำนึงถึงความหลากหลาย ความพร้อมของผู้เรียน แต่คำสั่งยังไม่ได้ประกาศใช้ เด็กๆ ก็เคลื่อนไหวก่อน เขาต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง

ผมลองพยายามฟังสิ่งที่เด็กๆ ให้สัมภาษณ์ตามรายการต่างๆ ที่มีม็อบอยู่หน้ากระทรวง เขาไม่ได้คาดหวังให้มีการยกเลิกกฎระเบียบทั้งหมด แต่อยากให้มีวันที่สามารถให้แต่งชุดไปรเวตได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ต้องมีชุดนักเรียนหลายๆ ชุด เพราะปกติรัฐบาลจะให้ชุดนักเรียนปีละหนึ่งชุด ซึ่งถ้าเขามาจากครอบครัวที่มีความพร้อม สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนั้นไหว ส่วนใหญ่จะมีชุดนักเรียนอยู่สามชุด ซักหมุนเวียนใช้ไป แต่เด็กต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อย เรื่องชุดนักเรียนกลายเป็นภาระใหญ่ของครอบครัว และยังมีชุดพละ ชุดลูกเสือ เนตรนารี ทั้งหมดคือค่าใช้จ่ายแฝง

โรงเรียนควรให้โอกาสนักเรียนได้เลือกตามที่เด็กขอต่อรอง เช่น แต่งไปรเวตสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารับฟัง ก่อนหน้านี้กรุงเทพคริสเตียนก็เคยทำ หรือในช่วง 20 ปีมานี้โรงเรียนอมาตยกุลก็ให้นักเรียนแต่งไปรเวตได้สัปดาห์ละวัน เด็กไม่ได้แต่งตัวเกินเลย ไม่ได้เป็นแบรนด์เนม ไม่ได้เป็นแฟชั่น แล้วมันก็เป็นโอกาสให้เขาได้หยิบฉวยสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่สนใจ รวมถึงได้แสดงความเป็นตัวเองด้วย

ตอนนี้เราไปคิดแต่จากมุมมองของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองของคนในเมืองที่มีความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอยจริงๆ แล้วควรหันมามองปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งระบบการศึกษา ต้องยอมรับว่าบริบทโรงเรียน 30,000 กว่าแห่งแตกต่างกันมาก

ระเบียบในความเป็นจริงมันย้อนแย้ง เพราะในโลกความเป็นจริง ปฏิบัติไม่ได้ในหลายโรงเรียน และสิ่งที่เด็กๆ ส่งเสียงขึ้นมา ผมคิดว่าเขาเป็นโจทย์ที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยหยิบมาพูดในที่สาธารณะ คือเรื่องความเหลื่อมลํ้าของโอกาส การที่เด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมองเห็นประเด็นและสื่อสารกับเพื่อนๆ เป็นสัญญาณที่ดี ว่าพวกเขาเห็นประเด็นปัญหาในสังคมที่พวกเขาอยู่

(ให้สัมภาษณ์ในรายการ Inside รัฐสภา วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 2 ธ.ค.63)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image