ผลพวง แรงต้าน ปรากฏการณ์ ‘ความไม่กลัว’

“การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ เป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับขบวนการเคลื่อนไหว เด็กรุ่นนี้กล้าที่จะแสดงออกมากขึ้นกว่าในอดีต กว่ารุ่นคนเสื้อสี ยุคนี้ความกลัวของเขาหมดไปแล้ว ไม่กลัวมาตรา 112 อย่างที่คิด

เขากล้าพูดในสิ่งที่แม้แต่รัฐเองยังไม่กล้าพูด”

คือเสียงของ นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ที่มองว่า ลูกปืนหรือกฎหมายก็ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขากลัว ทว่า กลับสร้างความท้าทาย

ท่ามกลาง ม.112 ที่รัฐบาลแจกเยาวชน แกนนำ “ราษฎร” แบบเหมาเข่ง จากเดิมทีจะแจกเป็นรายปัจเจก นำไปสู่ความกังวลในมุมมองของ “ผู้ใหญ่”

Advertisement

“แต่เราก็ไม่อยากเห็นการเสียเลือดเนื้อเหมือนกัน ในเชิงการใช้กำลังของรัฐ ล่าสุดที่ใช้แก๊สน้ำตา จะเห็นว่าสังคมประณามการทำงานของรัฐ เพราะอยากจะเห็นสังคมที่ถูกยกระดับการต่อสู้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างจริงจัง

ขอฝากชีวิตและความตั้งใจของน้องๆ ให้เดินหน้าต่อไป และพวกเราจะหนุนช่วย” ตัวแทนชาวสลัมบอกเล่าความในใจบนเวทีเสวนา “การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่กับความรุนแรงที่ถูกสร้างขึ้น” ณ ตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้

เพราะ ‘รุนแรง’ เชิงโครงสร้าง

จึง ‘อยู่เป็น’ แบบแหกกะลา

ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

“1-2 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ของนักศึกษาที่ไม่สามารถจัดการได้ คือการขยายตัวของการใช้สื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคณาจารย์ตามไม่ทัน บ่อยครั้งที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งท้ายที่สุด สังคมเข้าข้างนิสิต-นักศึกษา ในสิ่งที่เขาทำ”

Advertisement

คือเสียงของ ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ รองคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ร่วมเผยความเห็นในมุมบุคคลผู้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมากว่า 10 ปี ว่า “ตกใจกับสถานการณ์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ และปรับตัวไม่ทันอย่างหนักหน่วง” ทั้งอาจารย์ ผู้บริหาร ว่าจะสื่อสารกับนิสิตนักศึกษาอย่างไร

แต่ยืนยันว่าเด็กสมัยนี้มี “ความอยู่เป็นสูง” รู้ว่าอาจารย์คนนี้ชอบแบบไหน ก็เขียนรายงาน ยกมือตอบให้ตรงใจเพื่อได้คะแนน อะไรที่อาจารย์ไม่ชอบอย่าไปพูด เอาเกรดไว้ก่อน ซึ่งสมัยก่อนอยากจะไปเรียนต่างประเทศต้องได้ทุนหลวง อาจารย์และคณะเป็นคนเสนอ แต่หากตั้งคำถามไม่ตรงใจ โอกาสอาจจะหลุดลอยไป

เราจะเห็นการ “อยู่เป็น” เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่ใช่ว่าเด็กไม่รู้ เด็กรู้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วเพราะมีอินเตอร์เน็ต และทุกวันนี้ทุนมีจากแหล่งอื่น ไม่จำเป็นต้องพึ่งมหาวิทยาลัย

อย่างการจัดงาน “สโมสรของรัฐศาสตร์” ที่ไม่ได้รอแต่งบประมาณ แต่ไปหาเงินจากข้างนอก ด้วยการ “ทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง” ซึ่งก็เริ่มมีคนพูดมากขึ้น เริ่มมีคนเห็นด้วย บวกกับอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกัน

ซึ่งสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังเรียกร้องไม่ใช่แค่เครื่องแบบ แต่เกิดขึ้นจากผู้บริหาร จากผู้ใหญ่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ และเจเนอเรชั่น X ที่เมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยเอาหัวฝังทรายไว้ ไม่ยอมรับว่าโลกยุคนี้ไปถึงไหนแล้ว จนมาถึงวันที่ต่างประเทศออกข่าวมากมาย ก็มาบอกว่า “ทักษิณซื้อไปหมด”

“ถึงจุดนี้ เด็กไม่ยอมทำเป็นไม่รู้ อยู่ในกรอบอีกต่อไป เพราะโอกาสในชีวิตของเขาส่วนใหญ่ไม่ใช่โอกาสจากรัฐที่จะมีให้ได้ แต่มาจากโลกภายนอก ความเป็นสากล ซึ่งความรุนแรงที่เริ่มเห็นในทุกวันนี้เป็นผลมาจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ผู้ใหญ่บีบให้เด็กอยู่ในกะลามาตลอด จนไม่สามารถแก้ไขได้ หากผู้ใหญ่ไม่เรียนรู้ที่จะออกนอกกะลาแบบที่เด็กเขาออกมา” อ.วาสนาย้ำชัด

หวั่น ‘รุนแรงนอกระบบ’

แนะช่วยชาวบ้าน ‘เข้าใจภาพรวม’

สมบูรณ์ คำแหง

ด้าน สมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ มองการเคลื่อนไหวของเด็กในยุคนี้ว่า “น่าสนใจในหลายเรื่อง” ทั้งเทคนิค วิธีการ ขบวนการที่ขับเคลื่อน บวกกับเรื่องของ “ความทันสมัย” ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารได้อย่างมีพลัง

“เหมือนเป็นการกลั่นกรอง ถอดบทเรียนจาก ‘รูปแบบเดิม’ แต่โดยรวมการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ไปไกลมาก เขาไม่สนใจว่าพรุ่งนี้ หรือวันมะรืนจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่ ไปได้เรื่อยๆ ซึ่งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้และผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว อยู่ที่ แรงกดดัน กับ ข้อเรียกร้อง ว่าจะสร้างได้มากขนาดไหน แต่ไม่น่าจะมีครั้งใดที่การเรียกร้องทะลุเพดานเท่านี้ ซึ่ง ผลพวง+แรงต้าน ตามมาในรูปแบบต่างๆ อย่าง “ฝ่ายรัฐ” จะใช้กฎหมาย แต่เด็กไม่ได้กลัว ไม่ได้สนใจ ม.116 ม.112 แล้ว

สมบูรณ์ มองด้วยว่า สำหรับสิ่งที่ผู้ใหญ่กังวลอย่างเดียวคือ ความรุนแรงนอกระบบ และมือที่สาม ที่อาจเข้ามาสวมรอย แต่เด็กๆ ไม่กลัวอะไรแบบนั้น เขาข้ามพ้นอะไรหลายอย่างไปแล้ว

“ปัญหาต่อไปคือคนที่ ตามไม่ทัน อาจจะมีพวกเราด้วย รวมถึงกลุ่มชาวบ้าน เราให้ข้อมูลกับชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน ซึ่งชาวบ้านก็มีความคิดของเขา ไม่ใช่เราเลือกเอาข้อมูลที่อยากจะให้ใส่ไปอย่างเดียว ต้องเอาสถานการณ์ความเป็นจริงในสังคมใส่ให้เขาด้วย คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้ ผู้ใหญ่-คนแก่ที่เป็นชาวบ้าน ตั้งคำถามกับเด็กที่ออกมาเคลื่อนไหว นี่เป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกันได้ แต่ต้องใช้ความพยายาม

ต้องช่วยกัน เพราะถ้าหากคนไม่เข้าใจจะยิ่งไปกันใหญ่” สมบูรณ์คิดเห็นเช่นนั้น

ซัดรัฐ ‘เพิกเฉย’

มองคนเห็นต่างเป็น’ศัตรู’

อังคณา นีละไพจิตร

สำหรับ อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิเคราะห์ด้วยมุม “สิทธิ”

“เวลาที่เกิดความขัดแย้ง เด็กๆ ที่มีความเชื่อแบบใหม่กลับต้องมาเจอกับความแตกต่างทางความคิดที่สร้างให้ดูน่ากลัว รุนแรง บางเรื่องถูกทำให้ไม่สามารถพูดได้ ทำให้คนที่เห็นต่างเป็นคนที่ ‘น่ากลัว'”

ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการของรัฐเองไม่มีเหตุที่จะใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม เพราะ “ไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง” แต่อย่างใด

อังคณา ชี้ว่า ผู้ใหญ่ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ ด้วยการ “เปิดใจให้กว้าง” รับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ มองว่าคนที่อยู่ในชาติเดียวกันเป็นมิตร เป็นพี่น้องกัน

สืบเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ และ วันสิทธิมนุษยชน กลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” พร้อมด้วย มวลชนราษฎร แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และร่วมยื่นข้อเรียกร้อง ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทย ยกเลิก ม.112 และ ยุติดำเนินคดีแกนนำราษฎร เมื่อ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา

“เพราะการมีความคิดเห็นแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา การคิดเหมือนกันนั่นแหละเป็นสิ่งที่ผิดปกติ” อังคณา ย้ำ

ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงหนึ่งความละเลย คือการที่ “ภาครัฐเพิกเฉย” ไม่พยายามทำความเข้าใจกับสังคม

“เราไม่เห็นเลยว่ารัฐจะออกมาปกป้อง กลับมองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู มีตัวอย่างให้เห็นจากกลุ่มนักเรียนเลวที่ถูกคุกคามทางเพศ แทนที่สังคมจะช่วยกันปกป้อง แต่กลับกลายเป็นการเรียกร้องใช้ความรุนแรงทางเพศซ้ำอีก ถามว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่คัดกรองหายไปไหนหมด กระทรวงต่างๆ ไม่มีใครมาปกป้อง ปล่อยปละละเลยมาก

หากเรายืนหยัดในหลักเสรีภาพ คนที่เห็นต่างไม่ควรจะอยู่ร่วมกันหรือ? เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐลำเอียง มองคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู เสียงจะเพิ่มมากขึ้น ผู้คนจะไม่กลัว” นักสิทธิมนุษยชนกล่าวทิ้งท้าย

ด้าน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน บอกว่า ในขณะที่เรากำลังหาทางออกวิกฤตให้กับสังคมจากการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ จะมีเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งกำลังเดินสาย วิ่งเต้น เพื่อเข้าไปเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็น ส.ส.ร. แต่ไม่เคยถามว่าคนที่กำลังต่อสู้อยู่อยากให้คุณเข้าไปหรือไม่

“ที่พูดถึงเอ็นจีโอเพราะรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมายังมีคนอีกหลายคนที่ไม่ยอมสรุปบทเรียนของตัวเองในการทำผิดพลาดต่อสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้ และคนแบบนั้นก็ยังเหยียบหัวคนอยู่ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสะท้อนให้เห็น” หัวหน้าพรรคสามัญชนเผย

สันติวิธีที่ ‘ผิดกฎหมาย’

พลังต่อรอง-หนทาง ‘ปลุกสังคม’

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ รั้วจุฬาฯ เล่าย้อนความรุนแรง และการรับมือของรัฐในอดีต ผูกโยงถึงปัจจุบัน ว่า

ประเด็น ความรุนแรงในเชิงวิชาการ เป็นแนวทางการต่อสู้ที่ใช้กำลังและอาวุธ มุ่งยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจ เช่น ขบวนการปลดปล่อยประชาชาติในอดีต, ขบวนการของพรรคคอมนิวนิสต์ หรือขบวนการในประเทศละตินอเมริกา ก่อนเข้าสู่ยุคใหม่ (1980-1990) จะมีลักษณะเช่นนั้น ซึ่งหากมองในเชิง วิธีการเคลื่อนไหว เช่น มีการใช้วิธีการแบบกองกำลัง การทำลายล้าง เรื่องเผาเมือง หรือการจราจล ซึ่งต้องเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมากในยุคสมัยที่เรียกว่า ยังไม่เป็น รัฐสมัยใหม่ แต่ในช่วงหลัง เมื่อประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐาน จะเห็นถึงพัฒนาการของสังคมไทยที่วิธีการใช้ความรุนแรงค่อยๆ หายไป นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า ยุทธวิธีไร้ความรุนแรง (Non-Violence)

“นี่เป็นลักษณะเด่นและสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงปัจจุบัน ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้จะต้องยึดสันติวิธี หรือยุทธวิธีแบบไร้ความรุนแรง เพราะขบวนการเหล่านี้ ไม่ว่าจะกลุ่มราษฎร กลุ่มปลดแอก ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ระบบการเมืองอำนาจนิยม ระบบการศึกษา และวัฒนธรรมที่กดทับผู้คนในสังคม เนื่องจากอยู่ในสังคมที่ยอมรับค่านิยมประชาธิปไตย ฉะนั้น หลักการพื้นฐานในเรื่องของการเคารพต่อหลักกฎหมาย จึงเป็นเส้นพื้นฐานสำคัญสำหรับขบวนการสมัยใหม่

แต่คนเหล่านี้มองอย่างเข้าใจในเชิงการสร้าง พลังการต่อรอง จึงไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่การเมืองแบบปกติ เช่น การเมืองแบบเส้นสาย อยู่ในขอบวงได้”

รศ.ดร.ประภาสชี้ว่า สิ่งสำคัญอันเป็นหัวใจของการสร้างพลังอยู่ที่ การดึงเอาผู้คนในสังคมเข้ามา ให้ 1.เห็นปัญหา และสาเหตุของปัญหาจากระบบที่เป็นอยู่ 2.ทำไมเราจะต้องร่วมกันออกไปจากระบบความอยุติธรรมของสังคมเช่นนี้

ให้คนสนอกสนใจเข้ามาร่วมถกเถียง เข้ามาเห็นด้วย เข้ามาสนับสนุน ร่วมเคลื่อนไหว เปลี่ยนจากความกลัวให้เป็นความหวังที่จะเกิด “สังคมที่ดีงาม” เราจึงจะเห็นการเคลื่อนไหวบ่อยครั้งใช้คำว่า อารยะขัดขืนยืน อยู่บนประเด็นสำคัญ เพื่อเข้าไปดิสรัปต์อะไรบางอย่าง

“ที่เราพูดกันก็ผิดกฎหมายทั้งนั้น แต่อาศัยการนี้เพื่อที่จะปลุกมโนสํานึกของผู้คนในสังคมให้เข้ามาเห็นด้วยในสิ่งที่เคลื่อนไหว เห็นปัญหา สาเหตุ และมาร่วมกันหาทางออก

ขบวนการแบบนี้จะต้องเน้นเรื่อง ‘สันติวิธี ที่ทำผิดกฎหมาย’ เพราะไปนั่งกราบไหว้รัฐบาลอยู่หน้าทำเนียบก็ไม่เป็นผล” รศ.ดร.ประภาสว่าอย่างนั้น

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน พร้อมด้วย ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง , ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มคณะราษฎร และ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม ในคดีการชุมนุม “คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ” เมื่อ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ สภ.เมืองนนทบุรี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image