ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ผ่าหัวใจ ‘กรุงเทพฯ’ 100 ปีแรกตั้ง เปิดหนังสือ ‘วัดเกาะ’ วรรณกรรมราษฎร

จากซ้าย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ ใน 'ขรรค์ขัย สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว' ตอน สำเพ็ง ไชน่าทาวน์ เก่าสุดในกรุงเทพ'

น่องยังแข็ง แรงยังไม่ตก แม้เดินทางมาไกลถึงช่วงท้ายปี สำหรับรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ซึ่งขยับเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ทว่าประเด็นประวัติศาสตร์ยังคงร้อนแรงแข่งสายลมแห่งเหมันตฤดู ในตอน ‘สำเพ็ง ไชน่าทาวน์ เก่าสุดในกรุงเทพฯ’

เผยแพร่ให้รับชมกันถ้วนหน้าเป็นที่เรียบร้อย ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี

ฟังเผินๆ คล้ายเนื้อหาเบาสบาย แต่ไม่ใช่กับอดีตสองกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ไม่ติดกระดุมบน ศิลปินแห่งชาติที่ไม่รับทั้งตำแหน่งและเงินเดือน ผู้พร้อมวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยในทุกหลืบตำรา โดยในตอนที่ว่านี้ ไปถ่ายทำกันที่ ‘วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร’ หรือวัดเกาะ บนถนนทรงสวัสดิ์ ย่านสำเพ็ง แหล่งการค้าส่งสำคัญของกรุงเทพฯในปัจจุบัน

“เมืองไม่มีตลาดไม่ได้ ไม่มีแล้วจะเอาอะไรกิน ไม่เจริญ แต่ประวัติศาสตร์ไทยพูดถึงเมือง เห็นแต่ยอดเจดีย์ ไม่มีตลาด นี่คือปัญหาใหญ่ ทำให้ไม่เข้าใจชีวิตคน ตลาดกรุงเทพฯสมัยแรก ช่วงรัชกาลที่ 1 แบ่งเป็นตลาดในเมือง และตลาดนอกเมือง

Advertisement

ตลาดในเมืองอยู่ไหน เสาชิงช้า ตลาดนอกเมืองอยู่ไหน สำเพ็ง!” สุจิตต์ลั่น

ฟาดไม่ฟาด คิดดู

ว่าแล้ว มาเล่าถึงวัดสัมพันธวงศ์ฯ หรือวัดเกาะ อารามเก่าแก่ในย่านสำเพ็ง ซึ่งมีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา

Advertisement

“เราอยู่ที่วัดเกาะ แต่ชื่อทางการคือวัดสัมพันธวงศาราม ตรงนี้เกือบเรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กของไชน่าทาวน์ อาจเป็นจุดที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาหลายๆ แห่ง

ภาพถ่ายเก่าวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร หรือวัดเกาะ อารามสำคัญย่านสำเพ็ง

ชื่อวัดสัมพันธวงศาราม เป็นนามที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานจากเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเชื่อพระวงศ์ผู้ใหญ่ คือ พระสัมพันธวงศ์ หรือ พระเจ้าหลานยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) ต้นตระกูลมนตรีกุล เป็นแม่กองบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเกาะ ซึ่งเป็นวัดเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ย่านนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางกอกที่มีมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา วัดนี้อยู่ในเรือกสวนเมืองบางกอก

ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ก็คงเป็นวัดในเรือกสวนเหมือนเดิม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมา แน่นอนว่าต้องมีการย้ายศูนย์อำนาจมาอยู่ที่ฝั่งตะวันออก จึงโปรดให้อพยพโยกย้ายผู้คนในย่านบางจีน แถบพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันมายังบริเวณสำเพ็ง แสดงว่าย่านนี้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และสมัยกรุงธนบุรี และน่าจะมีแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่จะเป็นชุมชนใหญ่ขนาดไหนไม่ทราบ ไม่มีหลักฐาน เรารู้แต่ว่าชื่อสำเพ็ง มีมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์” สุจิตต์ร่ายยาว จากนั้น เปิดบันทึกสำคัญย้อนเรื่องราวภายในพระอุโบสถหลังเก่าที่ถูกรื้อถอนแล้ว โดยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปบรรจุพระอังคารพระสัมพันธวงศ์ แม่กองบูรณะวัดแห่งนี้ กล่าวคือ ครั้งหนึ่งในการทำบุญ มีเชื้อสายของเจ้าฟ้ากรมขุนพิทักษ์มนตรี มาบอกเจ้าอาวาสว่าจะทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษ ทำบุญ ‘พระอังคาร’ (เถ้ากระดูก) ของเจ้าฟ้ากรมขุนพิทักษ์มนตรี เจ้าอาวาสไม่ทราบว่า พระอังคารอยู่ที่ไหน เจ้านายองค์นี้คือ หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ จึงบอกว่า อยู่ในพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งพระอุโบสถหลังเดิมมีพระประธานสร้างจากไม้ คว้านไส้กลวง ถือปูนทับ ส่วนพระพุทธรูปองค์ล่างสุดซึ่งอยู่เป็นชุดพระประธาน มีพระอังคารบรรจุอยู่นั่นเอง

พระพุทธรูปในโบสถ์เก่าวัดเกาะ บรรจุพระอังคารพระสัมพันธวงศ์

สำหรับที่มาของชื่อ ‘วัดเกาะ’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ บอกว่า ภูมิทัศน์เดิมมีน้ำล้อมรอบ เมื่อพระสัมพันธวงศ์มาบูรณะ จึงปรับนามเป็น วัดเกาะแก้วลังการาม โดยคำว่า แก้ว เป็นนามพระมารดา จากนั้น ไปสู่ประเด็นการขยายเมืองบางกอก

“สำเพ็ง เป็นการขยายเมืองครั้งแรกของบางกอก หรือกรุงเทพฯ เลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศใต้ ซึ่งเป็นการขยายตัวตามเส้นทางการค้าสู่ทะเล ออกอ่าวไทย เราจะพบว่า 100 ปีแรกของกรุงเทพฯหัวใจสำคัญอยู่ที่สำเพ็งและตามมาด้วยเจริญกรุง

ถ้าดูแผนที่เก่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 สำเพ็งอยู่นอกเมือง แต่ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการขยายเมือง ขุดคลองผดุงกรุงเกษม ปากคลองทางทิศใต้ อยู่บริเวณสำเพ็งพอดี

สำเพ็งคือไชน่าทาวน์เก่าสุดของกรุงเทพฯ คงเป็นชุมชนใหญ่พอสมควร ไม่อย่างนั้นรัชกาลที่ 1 คงไม่โปรดให้ปฏิสังขณ์วัดสำเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา และวัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์” สองกุมารสยามยังเปิดหลักฐานคือแผนที่กรุงเทพฯสมัยต่างๆ เปรียบเทียบพัฒนาการที่น่าสนใจยิ่ง

ลายปูนปั้นงดงามบนตึกเก่าย่านไชน่าทาวน์ยุคแรกของกรุงเทพ

“แผนที่กรุงเทพฯสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2430 ถนนเยาวราชยังไม่มี เพราะยังไม่ได้ตัด ต่อมาในรัชกาลเดียวกัน มีการตัดถนนเยาวราช ซึ่งใช้เวลานานถึง 9 ปี

แผนที่สมัยรัชกาลที่ 6 สะท้อนว่ามีการตัดถนนมากแล้ว ตัดกันเป็นตาราง ความเจริญหนาแน่น เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก แต่ในประวัติศาสตร์ เวลาพูดถึงถนน เราจะลืมแม่น้ำ การขยายตัวของกรุงเทพฯ ตัวนำ คือแม่น้ำ

ยุคผมกับคุณขรรค์ชัยเกิด ราชวงศ์เป็นย่านร้านอาหาร ย่านผู้ดี เศรษฐีทั้งหลายต้องมากินข้าวในย่านนี้กัน” สุจิตต์กล่าว

(ขวา) ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรมนำชมถนนวานิช 1 และตรอกสะพานญวน

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของ ‘โรงพิมพ์วัดเกาะ’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ’ ซึ่งสุจิตต์เล่าว่า สมัยหนุ่มๆ เคยซื้อหนังสือของโรงพิมพ์นี้อ่านบ้าง แต่ไม่บ่อย เพราะความเป็น ‘เด็กวัด’ กินข้าวก้นบาตรภิกษุสงฆ์ที่วัดเทพธิดาราม ย่านประตูผี ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนมาทำบุญมากมาย หนึ่งในข้าวของถวายพระก็คือหนังสือแนวจักรๆ วงศ์ๆ ของโรงพิมพ์วัดเกาะ ซึ่งตอนนี้ราคาสูงลิบลิ่ว ต่างจากอดีต ซึ่งหาได้ทั่วไปในราคาย่อมเยา

จากนั้นถึงคิว ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วย บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พร้อมด้วย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวี พาชมโรงพิมพ์วัดเกาะเดิมที่เลิกกิจการแล้ว บนถนนวานิช 1

“โรงพิมพ์นี้ มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ.2432-2510 รวม 78 ปี ที่อยู่บริเวณหน้าวัดเกาะ แล้วย้ายไปตรอกจันทน์ เลิกกิจการช่วง พ.ศ.2520 จุดเริ่มต้นของโรงพิมพ์ อยู่ในตึกแถวคูหาเดียว ซึ่งตอนนี้คือบ้านเลขที่ 472 ในอดีตใช้เป็นหน้าร้านสำหรับขายหนังสือ โดยมีโรงพิมพ์อยู่ในตึกแถวอีกแห่งลึกเข้าไปในตรอกสะพานญวน กระทั่ง พ.ศ.2510 ต้นๆ ย้ายไปย่านตรอกจันทน์ กระทั่งเลิกกิจการในราว พ.ศ.2520” ธัชชัย หรืออาจารย์โหน่งเล่า พร้อมพาเดินเท้าชมบรรยากาศชวนจินตนาการถึงวันวานอันรุ่งโรจน์ของกิจการพิมพ์เมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านพ้น

ตัดภาพกลับไปยัง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ที่นั่งรออยู่ในวัดเกาะที่เก่า พร้อมสะกิดเกาปมร้อนสะเทือนวงวรรณคดีกระแสหลักในอดีตเมื่อครั้ง ‘วรรณกรรมวัดเกาะ’ บุกชิงพื้นที่การอ่านของราษฎรในช่วงหัวเลี้ยว ‘อ่านด้วยหู’ และ ‘อ่านด้วยตา’

ปกหนังสือวัดเกาะ วรรณกรรมประชาชน โดยโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ของการพิมพ์ไทย (ภาพจาก www.sac.or.th)

สุจิตต์ถามว่า ทำไมโรงพิมพ์วัดเกาะ ใช้ชื่อว่า ราษฎร์เจริญ ซึ่งหมายถึง ‘ราษฎร’ เจริญ ก่อนตอบเองว่า ไม่มีใครรู้ นอกจากเจ้าของโรงพิมพ์ คือ นายสิน ละมุนทรัพย์ ชาวสิงห์บุรี ซึ่งเข้ามาบางกอก เป็นลูกจ้างค้าขายอย่างอื่นก่อน ต่อมา จึงทำโรงพิมพ์วัดเกาะ

“ผมได้แต่เดาว่า ยุคนั้นเป็นยุคแรกๆ ของการมีโรงพิมพ์โดยประชาชนทั่วไป จากยุคเริ่มต้นครั้งหมอบรัดเลย์และหมอสมิธบุกเบิกกิจการโรงพิมพ์ในสยาม หมอบรัดเลย์พิมพ์ตำราหมอ ครรภ์ทรักษา หมอสมิธพิมพ์หนังสือประโลมโลกย์ เช่น พระอภัยมณี จนร่ำรวย

ในพระบรมมหาราชวังมีการตั้งโรงพิมพ์หลวง ผมจึงเดาว่า โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตั้งชื่อเพื่อสื่อความหมายว่าไม่ใช่โรงพิมพ์หลวง”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ยังเล่าถึงข้อมูลน่าสนใจ โดยในเชิงอรรถอ้างอิงให้พร้อมสรรพว่าประมวลรวบดึงมาจาก วิทยานิพนธ์ของ สุรพงษ์ จันทร์เกษมพงษ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“โรงพิมพ์นี้ มีนักเขียนประจำคือ 1.นายบุศย์ คนกรุงเทพฯ ภูมิลำเนาย่านถนนจักรเพชร สะพานหัน อาชีพแต่งหนังสือขายเฉพาะนายสิน เจ้าของโรงพิมพ์ ชอบแต่งทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ตัวอย่างผลงานเด่นคือการนำนิทานพื้นบ้าน ตำนานมาแต่งใหม่ เช่น แก้วหน้าม้า ไกรทอง พญากง พญาพาน แต่งนิราศรถไฟ นิราศชมตลาดสำเพ็ง พ.ศ.2455 สมัยรัชกาลที่ 6 เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ ชอบเอากลอนสวด มาแต่งบทใหม่ แทรกความรู้ เสียดสีการบ้านการเมือง มีการแต่งลำตัดด่า เป็นคนทันสมัยในยุคนั้น มีการกล่าวถึงความเป็นชาติ

2.นายเจริญ 3.นายพลอย เป็นทหารมหาดเล็ก 4.แม่มณฑา เป็นเชื้อสายเจ้านาย

ผลงานโรงพิมพ์วัดเกาะ โดยเฉพาะของนายบุศร์ ทำให้คนต่างจังหวัดที่จะร้องลิเก และการแสดงอื่นๆ เอาบทไปท่อง แล้วเล่นได้

หนักกว่านั้น พิมพ์ขุนช้าง ขุนแผน ซึ่งเป็นฉบับที่ต่างจากฉบับอื่น สะท้อนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชื่อบ้านนามเมือง”

ปัจจุบันของตึกแถวเลขที่ 472 ที่ตั้งแรกของโรงพิมพ์วัดเกาะ

สุจิตต์บอกด้วยว่า ในทรรศนะของปัญญาชน ชนชั้นนำสมัยก่อน หนังสือวัดเกาะเป็นหนังสือขยะ ผมคิดว่าในทางหนังสือของวัดเกาะ มันเป็นการเชื่อมต่อวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมเก่า คือ อ่านด้วยหู คือ ให้คนอื่นอ่านให้ฟัง หรือฟังเพลง ดูละคร แต่พอฝรั่งนำแท่นพิมพ์เข้ามา วัฒนธรรมการอ่านด้วยตาจึงเริ่มขึ้น

“ระดับรากหญ้าตัวแท้คือหนังสือวัดเกาะ เข้าถึงชาวบ้าน ปู่ย่าตายาย คนบ้านนอกบ้านนาที่ไม่เคยเห็นสมุดข่อย ก็ได้หนังสือวัดเกาะ ซึ่งพิมพ์ด้วยกระดาษฝรั่ง ไปให้ลูกหลานอ่านให้ฟัง เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่เข้าถึงประชาชน อย่างนี้เรียกว่าวรรณกรรมประชาชน ถามว่ามีอิทธิพลสูงไหม ไม่ทราบ แต่ส่งผลสะเทือน ทำให้เกิดวรรณคดีสโมสร ส่งเสริมวรรณคดีชั้นสูง ตำหนิวรรณคดีประเภทวัดเกาะ”

พูดง่ายๆ ว่า ‘กระแสหลัก’ หวั่นไหว เกรงว่างานดีๆ จะไม่มีคนอ่าน โดยกล่าวโทษว่าหนังสือประเภทนี้ไม่น่าอ่าน สำนวนไม่ดี ลอกเลียนสำนวนฝรั่ง

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ย้ำว่า หนังสือวัดเกาะคือประวัติศาสตร์การพิมพ์ยิ่งใหญ่ที่คนไทยลืมไปแล้ว ไม่ใช่หนังสือขยะดังที่คนบางกลุ่มในอดีตหรี่ตามองอย่างดูแคลน

มาถึงวันนี้ ขรรค์ชัยยังท่องกลอนที่ใช้ในการโฆษณาหนังสือวัดเกาะได้เป็นอย่างดี ความตอนหนึ่งว่า

‘ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี’

จำแม่น อ่านไว ราวกับเพิ่งเปิดหน้ากระดาษอ่านครั้งสุดท้ายเมื่อวานนี้

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่มติชน ถือต้นฉบับเอกสารเตรียมเผยประวัติศาสตร์ 100 ปีแรกของกรุงเทพ

หัวเรือใหญ่ค่ายมติชนยังเล่าว่า ย่านวัดเกาะ สำเพ็งในอดีตก่อนกลายเป็นแหล่งขายส่งสินค้าอย่างทุกวันนี้ ยังเป็นตลาดเพชรพลอย อัญมณี ใครจะซื้อหาต้องมาดูแถวนี้ ร้านรวงเปิดมากมาย บรรยากาศคล้ายตลาดนัด การค้าเจริญรุ่งเรือง ผู้คนจับจ่ายใช้สอย ตัวเองในวัยเด็กยังเคยเดินเท้าทอดน่องจากบ้านย่านบางขุนเทียน มายัง ‘วัดไตรมิตรฯ’ เพื่อกราบสักการะพระพุทธรูปทองคำ แล้วเดินเท้ากลับ ด้วยเหตุว่า

“ตอนนั้นมีแรง แต่ไม่มีตังค์” ขรรค์ชัยกล่าวก่อนหัวเราะครึกครื้น นอกจากนี้ เมื่อมาเยี่ยมเยือนชุมชนจีนเก่าแก่ทั้งที ประธานค่าย ‘มติชน’ ยังเปิดเผยด้วยว่า ตนมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว โดยทางปู่ ‘แซ่ตั้น’ ส่วนทางตา ‘แซ่ลี้’ แต่พูดภาษาจีนไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึก ‘เสียดาย’ อยู่เช่นกัน

สำหรับโปรแกรมทอดน่องในเดือนสุดท้ายของปี ขรรค์ชัย-สุจิตต์จะปิดท้ายกันที่ไหน จะขุดคุ้ยนวดเค้นประเด็นประวัติศาสตร์ใด อดใจไม่นานเกินรอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image