ขายเครื่องดื่ม-เบเกอรี่ ทางเลือกสู้ยุคโควิด-19

บรรยากาศการเวิร์กช็อป

ไม่มีอะไรน่าหดหู่ใจไปมากกว่าการตกงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกแล้ว แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยา ก็เป็นเพียงการบรรเทาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตจิตใจฟื้นคืนกลับ คือ การมีงานทำ

อาชีพขายอาหารเครื่องดื่ม ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายคนสนใจ เพราะไม่ว่ายังไงคนเราก็ต้องกินต้องใช้

ก่อนที่จะหมดปีไปอย่างหดหู่ไปกว่านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท พรีเซิร์ฟฟู้ด สเปเชียลตี้ จำกัด เจ้าของแบรนด์ดัง “คอฟฟี่ ดรีมมี่” ได้มองเห็นโอกาสของตลาดเครื่องดื่ม-เบเกอรี่ ที่ยังมีช่องทางเติบโต จึงเข้ามาร่วมวงคิดหาทางออกจากวิกฤตนี้ ด้วยการจัดเวิร์กช็อป “อร่อยยุคใหม่สไตล์ Dreamy” ที่ มติชน อคาเดมี ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน

เวิร์กช็อปครั้งนี้สอนการใช้วัตถุดิบ 2 อย่าง คือ วิปปิ้ง ครีม และครีมชีส ที่กำลังอินเทรนด์ในเมนูเครื่องดื่มและเบเกอรี่ในเวลานี้ ซึ่งไอเดียใหม่ที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึงโอกาสการทำเงินด้วยนั่นเอง

Advertisement
ภาพร มหัทธโนบล

ภาพร มหัทธโนบล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีเซิร์ฟฟู้ด สเปเชียลตี้ จำกัด กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดงาน เนื่องจากหลังปี’63 มีวิกฤตเศรษฐกิจมากมายที่สืบเนื่องมาจากโควิด ทำให้พ่อค้าแม่ขายที่เป็นลูกค้าของเราพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เราเลยคิดว่าควรจัดเวิร์กช็อปเพื่อให้ความรู้ในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ เป็นการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการ

การเวิร์กช็อปในครั้งนี้ได้เลือก 3 เมนูที่กำลังอิน เทรนด์มาสอนกัน ได้แก่ “ชาใต้ครีมชีส” “นมคาราเมล บราวน์ชูก้าร์ วิปปิ้งครีม” และ “เค้กบลูเบอรี่ครีมชีส”

“ตอนแรกเราไปหาข้อมูลว่าจะทำชาผลไม้ แต่พอลงลึกเข้าไป มีการสอบถามแม่ค้าที่ขายจริง เรากลับต้องมาคิดว่าต้องใช้อะไรที่เป็นวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในร้านจะสามารถต่อยอดได้มากกว่า และเป็นการสร้างมูลค่าให้กับเมนูนั้นจริงๆ เราก็เริ่มต้นที่ชาไทยที่ทุกร้านมีอยู่แล้ว แล้วสามารถเพิ่มมูลค่าในการใส่ท็อปปิ้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นจุดที่ทำให้เมนูนั้นรสชาติดีขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับแก้วนั้น” คุณภาพรกล่าว

คุณภาพรยังทิ้งท้ายด้วยว่า เดิมทีกิจกรรมที่บริษัทได้จัดขึ้นจะเน้นกลุ่มลูกค้าบีทูบี แต่ในปีหน้า 2564 มีความตั้งใจจะลงลึกระดับคอนซูมเมอร์จริงๆ ทั้งที่อยู่ใน กทม.และต่างจังหวัด เราพยายามจะจัดกิจกรรมรูปแบบใหม่ออกมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจรายย่อยจริงๆ

ขณะที่เชฟสอนทำเครื่องดื่ม ดาติน พันธุ์สุขโต เชฟจากร้าน Aorabikacoffee เมืองสมุทรสาคร มาสอนเมนู ชาใต้ครีมชีส กล่าวว่า หลักสูตรที่เลือกมาสอนวันนี้เป็นหลักสูตรที่สามารถใช้สำหรับร้านทั่วๆ ไป โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์มากมาย ตัววัตถุดิบครีมชีสก็สามารถใช้ได้ง่ายๆ กับทุกร้านทุกเมนู ต้นทุนที่ไม่สูงมาก และที่สำคัญกำลังเป็นเทรนด์

“มองว่าหากใครคิดจะทำร้านเครื่องดื่ม จุดแข็งตอนนี้น่าจะอยู่ที่โปรโมชั่นของร้าน และวัตถุดิบที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าต้นทุนไม่สูงมากก็มีโอกาสเติบโต
เพราะลูปความนิยมเครื่องดื่มจะวนอยู่เรื่อยๆ อย่างตอนนี้ครีมชีสมาแรง แล้วเราเข้าใจวิธีใช้ เช่น ประยุกต์ใส่ชาไทยที่ขายกันปกติอยู่แล้วก็จะทำให้เพิ่มยอดให้แก้วนั้นๆ และทำให้ประสบการณ์ในการดื่มชาของลูกค้าหลากหลายขึ้น”

ด้าน ณัฐนรี จันทเปรมจิตต์ เจ้าของเพจ เชฟนุ่น so sweet by chefnun ที่มาสอนการทำเค้กบลูเบอรี่ครีมชีส กล่าวว่า ที่เลือกสอนตัวนี้เพราะครีมชีสมาแรง กำลังบูม ส่วนรสบลูเบอรี่เป็นอะไรที่รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย ยิ่งเรามาปรับเป็นรูปทรงใหม่ๆ ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับขนมเราได้

เชฟนุ่นมองว่า สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำเบเกอรี่นั้นไม่ยาก อยู่ที่การฝึกฝนล้วนๆ แต่ต้องฝึกบ่อยๆ ครั้งแรกอาจจะล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อฝึกบ่อยๆ รู้มือจะทำได้เอง

บรรยากาศการเวิร์กช้อป

“การทำเบเกอรี่พูดตรงๆ คือเงินดี เพราะวัตถุดิบต่อ 1 ถุง เราสามารถทำได้เยอะมาก และเก็บไว้ได้นาน
เบเกอรี่ตอนนี้ใครๆ ก็อยากทำ ทำให้การแข่งขันเยอะ ข้อแนะนำที่จะให้คืออดทน พัฒนาฝีมือตัวเองเรื่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้แปลกใหม่ เราจะเป็นผู้นำเทรนด์ ช่วงโควิดที่ผ่านมาเบเกอรี่ก็โตกว่าธุรกิจอื่นๆ และจริงๆ เบเกอรี่คือความผ่อนคลายอย่างหนึ่ง บางคนเครียดจากงานประจำได้กลับมาทำเบเกอรี่เขาชอบก็สบายใจมากขึ้น”

ส่วนผู้ที่มาเวิร์กช็อปครั้งนี้มีหลากหลายอาชีพ มีทั้งคนที่จะนำเมนูไปต่อยอดร้านตัวเอง และมีทั้งคนที่มาเรียนเพิ่มเติมความรู้เป็นอาชีพเสริม

บุษกร อังคณิต

บุษกร อังคณิต โปรดิวเซอร์รายการสารคดีทางช่องไทยพีบีเอส หนึ่งในผู้ที่มาเวิร์กช็อป กล่าวว่า ได้เห็นโฆษณาว่าจะมีเวิร์กช็อปจากหน้าเฟซบุ๊กของเพื่อน จริงๆ พื้นฐานชอบทำกับข้าว ทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหวาน หรือเครื่องดื่ม ซึ่งช่วงนี้กำลังอินกับเบเกอรี่และเครื่องดื่ม เพราะเราชอบทาน และอยากจะรู้ว่าถ้าจะทำให้อร่อยจริงๆ ได้มาตรฐานนั้นทำยังไง

บุษกรบอกว่า ทุกวันนี้เรามีอาชีพเดียวเราไม่พอแล้ว จึงอยากจะสะสมเพิ่มพูนความรู้ อย่างตนเองนั้นทำงานสื่อมาตลอด แล้วเห็นเพื่อนสื่อหลายคนโดนเลย์ออฟ บางคนช็อก เพราะทำงานสายนี้มาสิบปียี่สิบปี ไม่รู้ว่าออกไปแล้วจะทำอะไร เราเห็นตัวอย่างคนอื่นก็มีความรู้สึกว่าถ้าเรามีสกิลที่แตกต่างจากสายงานที่เรามีอยู่ ถ้าเป็นคนก็เหมือนมีหลายขาให้เรายืน เวลาเราเจอวิกฤตเราก็อาจจะเจอโอกาสในนั้นได้เลยชอบสะสมความรู้ เผื่อวันหนึ่งไม่มีใครจ้าง เราก็ขยับทำอย่างอื่นได้ และมองว่าธุรกิจอาหาร มองว่าเศรษฐกิจแย่ยังไงคนก็ต้องกิน แต่เราก็ต้องคิดว่าเราจะทำอะไร และต้องทำให้อร่อย ก็เลยมาหาความรู้ แล้วถ้าเราชอบเราสนุกก็จะต่อยอดได้

“การมาเวิร์กช็อปดีอย่างหนึ่งคือสามารถได้รายละเอียดที่มากกว่าการดูยูทูบ ถ้าเราสงสัยเราถามเชฟที่เป็นครูเราได้เลย วันนี้ที่ชอบมากที่สุด คือ เชฟจะแนะนำวัตถุดิบที่ดี และราคาเหมาะสำหรับธุรกิจของเรา ถือเป็นความรู้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่เวลาทำต้องวัตถุดิบที่แพงที่สุด ดีที่สุด แต่เราสามารถหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดในราคาพอดีและเหมาะกับร้านของเราได้ ก็เป็นทริคที่ได้ในวันนี้ แถมยังสนุกสนานได้เจอคนเยอะด้วย” บุษกรกล่าว

สามารถ อินทรลิตร

ด้าน คุณหนุ่ม-สามารถ อินทรลิตร เจ้าของร้านน้ำปั่นคุณหนุ่ม อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ บอกว่า ที่มาเรียนเพราะอยากเพิ่มเมนูในร้าน คือที่อำเภอที่ร้านที่ตลาดจะมีคู่แข่งเยอะขึ้น ถ้าเราไม่มีเมนูที่แปลกใหม่เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็จะไม่เข้าร้านเรา

“ล่าสุดลองใช้ครีมชีส ลูกค้าโอเค เสียเงินเพิ่มเขาก็เอา แล้วพอเราเห็นว่ามีคอร์สสอนการใช้ครีมชีสก็เลยมาเรียนเพื่อรู้ว่าใช้งานจริงๆ ยังไง เราทำเองตามข้างถุงอาจจะยังไม่เป๊ะ วันนี้มาเรียนก็ชัดเจนขึ้น หรืออย่างวิปครีมเราได้รู้ว่าเราปรับใช้ได้โดยไม่ต้องมีถังน้ำแข็ง ผมมองว่าตอนนี้เราต้องพัฒนาตลอด ถ้าเรามีแค่กาแฟเย็น กาแฟโบราณ ลูกค้าเจนใหม่อยากกินแบบใหม่แล้วร้านเราไม่มี ร้านอื่นมี เด็กเจนใหม่ซึ่งจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ก็จะหายไปจากเรา ผมว่าตลาดเครื่องดื่มมองว่ายังมีโอกาส แต่สิ่งที่ต้องเน้นคือคุณภาพ ราคา และความซื่อสัตย์”

ถือเป็นโครงการดีๆ มาส่งท้ายปี เพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่อะไรก็ไม่แน่นอน ดังนั้น การมีความรู้ทักษะใหม่ๆ ในห้วงยามวิกฤตเช่นนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง!
มติชนอคาเดมี

นมคาราเมล บราวน์ชูก้าร์วิปปิ้งครีม กับ ชาใต้ครีมชีส

เปิดร้านเล็กๆ หน้าบ้าน
อาชีพเสริมต้นทุนต่ำ

มณลักษณ์ อัศวศิลปกุล ผู้จัดการการตลาด บริษัท พรีเซิร์ฟฟู้ด สเปเชียลตี้ จำกัด
บ้านเราเป็นเมืองร้อน และร้อนขึ้นทุกวัน คนไทยก็ติดรับประทานเครื่องดื่มเย็นๆ ตอนบ่าย กินสดชื่นแก้ง่วง มองว่าตลาดเครื่องดื่มยังมีช่องว่างอีกเยอะ

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของดรีมมี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดขึ้นมาเพื่อช่วยลดต้นทุนอยู่แล้ว เพราะวัตถุดิบบางอย่างในการมาทำเครื่องดื่มกับเบเกอรี่บางทีราคาสูง การที่คนจะออกมาสร้างอาชีพตัวเองเล็กๆ ประกอบการรายย่อย เริ่มต้นแล้วต้องใช้วัตถุดิบแพงขนาดนั้นเกิดยาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ของดรีมมี่จึงมาช่วยตอบโจทย์นี้ เราคิดว่าน่าจะเป็นการดีว่าถ้าเรามีโปรเจ็กต์เหล่านี้ขึ้นมา

มณลักษณ์ อัศวศิลปกุล

เมนูที่เราเอามาเวิร์กช็อปเราคัดมาแล้วว่าเงินลงทุนไม่เยอะ และเมนูที่เรียกว่าแปลกใหม่ น่าจะถูกปากคนไทย เมนูแรกคือ ชาใต้ครีมชีส และนมคาราเมลบราวน์ชูก้าร์วิปปิ้ง เพราะคนไทยชอบความเย็นสดชื่นหวานมันหอม ก็คิดว่าน่าจะตอบโจทย์สำหรับเมนูเครื่องดื่ม ซึ่งร้านเล็กๆ สามารถทำได้ เพราะว่าบางทีในร้านก็มีวัตถุดิบชาใต้อยู่แล้ว เราใส่ครีมชีสเข้าไป เพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องดื่มแก้วนี้ได้เยอะเลย
สำหรับการเวิร์กช็อปครั้งนี้ถือเป็นไพล็อตโปรเจ็กต์ เพราะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเวิร์กช็อปครั้งแรกของเรา ก็ผลตอบรับดีพอสมควร ปีหน้าเราก็จะพิจารณาว่าจะมีอีกไหม ครั้งนี้จัด 1 วัน เช้าเป็นเครื่องดื่ม บ่ายเป็นเบเกอรี่ เป็นกิจกรรมที่บริษัทอยากให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับความรู้ไปต่อยอดในการสร้างอาชีพ และสำหรับผู้ที่สนใจอยากประกอบธุรกิจนี้

เรื่องการลงทุนมองว่าไม่ยาก อาจมีเรื่องสถานที่ ถ้าเปิดเองเล็กๆ ค่าแรงก็ไม่ต้องนับ ค่าวัตถุดิบเข้าร้าน และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ ต้องมองว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ถ้าเป็นร้านเล็กๆ หน้าบ้าน บอกเลยว่าส่วนที่เป็นวัตถุดิบน่าจะน้อยที่สุด และเป็นตัวที่เทิร์นเงินให้เราทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image