การเมืองเรื่อง‘เพศหลากหลาย’ จากจูบกลางสภาถึงม็อบตุ้งติ้ง 1 ปีที่ยังไปไม่ถึงไหน?

มถือเป็นช่วงเวลาที่ประเด็นมากมายในสังคม ถูกนำขึ้นมาพูดถึงผ่านการเรียกร้องทางการเมืองอย่างจริงจังตลอดปี 2563 หนึ่งในนั้นคือ ‘ความหลากหลายทางเพศ’

เกิดม็อบไม่มุ้งมิ้ง แต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล เมื่อเดือนกรกฎาคม ก่อนจัดรอบ 2 ในธีม ‘ไพร่พาเหรด’ เคลื่อนขบวนไปสีลมเมื่อเดือนพฤศจิกายน

เกิดการชุมนุมที่กลุ่ม ‘ผู้หญิงปลดแอก’ ซึ่งต่อมาปรับเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เฟมินิสต์ปลดแอก’ มีบทบาทสำคัญในการนำปมปัญหาต่างๆ ออกมาตีแผ่ผ่านการปราศรัย

เกิดการร่วมปักธงสีรุ้งของเหล่าไพรด์ในสถานที่สำคัญต่างๆ

Advertisement

นอกจากประเด็นสิทธิ ความเท่าเทียม ยังมีแง่มุมสำคัญด้านกฎหมายอย่างกรณี ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อช่วงกลางปี โดยกลุ่ม ‘แอลจีบีที’ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยืนยันว่า ‘ไม่เท่ากับ สมรสเท่าเทียม’ จึงเดินหน้าเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด และ ‘เจมส์’ คนรัก ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในนามแกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก เข้ายื่นหนังสือเกี่ยวกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อการคุ้มครองการสมรสในครอบครัวเพศหลากหลาย ก่อนเกิดฉาก ‘จูบกลางสภา’ สร้างความฮือฮาเป็นข่าวดัง

ในช่วงเวลามากกว่า 365 วัน ท่ามกลางบรรยากาศการเรียกร้องที่ไม่หยุดยั้ง และมีผู้ร่วมออกมาส่งเสียงมากขึ้นทุกที จากวันนั้น จนถึงวันนี้ มีความก้าวหน้าไปเพียงใด หรือสุดท้ายยังย่ำอยู่กับที่ ?

1 ปี จูบกลางสภา ‘ไปไม่ถึงไหน’

ในสิทธิ ‘แอลจีบีที’ ?

“สิทธิของ LGBTQ+ ยังไม่คืบหน้าไปไหน อีกทั้งรัฐบาลยังพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตซึ่งไม่ใช่การสมรสเท่าเทียม เข้าสภาทั้งๆ ที่ก็รู้กันดีว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ตอกย้ำความเป็นพลเมืองชั้นสองของ LGBTQ+ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพวกเราผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรับรู้ว่าไม่อาจฝากความหวังและความไว้วางใจให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจและไร้วิสัยทัศน์ในการผลักดันวาระที่ก้าวหน้าได้อีกต่อไป”

เป็นความเห็นของ ฟอร์ด ทัตเทพ ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การจูบกลางสภา ซึ่งเกิดขึ้นหลังการร่วมกับกลุ่มภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ แห่งสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีสิทธิตามกฎหมายอย่างเสมอภาคกับชายหญิงทั่วไป เช่น
การสมรส การรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น

“วันนั้นได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการจูบเพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมทางเพศที่ทำให้ LGBTQ+ เป็นพลเมืองชั้นสองผู้ไร้ซึ่งสิทธิที่ควรจะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมและถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะไม่ได้มีเพศสภาพหรือเพศวิถีตามขนบหรือจารีตดั้งเดิม

แน่นอนว่าการจูบในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายกรอบความคิดแบบอนุรักษนิยมทั้งในเรื่องการตีตราว่า LGBTQ+ เป็นผู้ที่ผิดปกติทางเพศ และการแสดงออกซึ่งความรักที่เรามักถูกสอนให้ต้องหลบๆ ซ่อนๆ คนจำนวนมากบอกว่าการกระทำของเรานั้นผิดกาลเทศะ แต่สำหรับผมและเจมส์การแสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศตามกฎหมายนั้น ไม่มีที่ไหนเหมาะสมไปกว่ารัฐสภาแล้ว เพราะรัฐสภาเป็นที่ทำงานของผู้แทนราษฎรที่ประชาชนให้ความไว้วางใจให้ไปใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน จึงถือเป็นสถานที่ซึ่งแทนสัญลักษณ์ทางอำนาจของประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดและมีสิทธิในการเรียกร้องความเท่าเทียมซึ่งถือเป็นหนึ่งในคุณค่าสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การจูบเพื่อประท้วงไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ต้องกล่าวคำขอโทษใดๆ แต่ควรยืนยันว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้” ฟอร์ด ทัตเทพย้ำ

ความหลากหลายจาก ‘โลกออนไลน์’

สู่พื้นที่เคลื่อนไหวทาง ‘การเมือง’

อีกหนึ่งแง่มุมสำคัญที่ต้องหันมาพิจารณา คือบทบาทของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยที่แม้จะถูกมองว่าเปิดกว้างมากขึ้นทุกที แต่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีไม่น้อยมักโดนจำกัดให้เป็นตัวตลกอย่างที่ได้เห็นกันในภาพยนตร์ ซีรีส์ และในชีวิตจริง แม้เป็นประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การเมือง’ เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ

เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA) กล่าวในงานเสวนาวิชาการ #ถ้าการเมืองดีเพศจะหลากหลายและเท่าเทียมกันอย่างไร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเดือนสุดท้ายของปี ในตอนหนึ่งว่า พื้นที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประเด็นความหลากหลายทางเพศ เป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงความมั่นใจ ภาคภูมิใจในซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างการตระหนักรู้ร่วมกันในสังคมได้

“เวลาที่เราออกมาเคลื่อนไหวกันในฐานะที่เราเป็น LGBTQ+ ก็มีคนแห่แหนออกมามาก โดยเฉพาะมาจากออนไลน์ ฉะนั้นพื้นที่แรกที่คนออกมาพูดถึงปัญหาของตัวเองก็จะเป็นพื้นที่ในโลกออนไลน์ เขารู้ว่าจะใช้พื้นที่ตรงนั้นในการสื่อสารกับสังคมอย่างไรในประเด็นปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่ พูดเรื่องที่ไม่เคยพูดกับใคร เลือกที่จะพูดกับคนไม่รู้จัก อย่างทวิตเตอร์ ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เราเห็นได้ดีว่า สังคมในประเทศเรา ไม่ได้เปิดกว้างให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงออกหรอก โดยเฉพาะการแสดงออกถึงปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และต้องทำให้เกิดการยอมรับ” เคทยกหลักฐานการไม่เปิดกว้างของสังคมไทยอย่างที่มักเข้าใจกัน ทั้งที่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น

บนความมุ่งหวัง ‘กฎหมายเปลี่ยน’

วัฒนธรรมเปลี่ยนตาม

มาถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่าง แรปเตอร์ สิรภพ อัตโตหิ นิสิตจุฬาฯ จากกลุ่ม ‘เสรีเทยฺย์พลัส’ ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวประเด็นความหลากหลายทางเพศผ่านการชุมนุมในปี 2563 อย่างมีสีสัน และยิ่งไปกว่านั้นคือเนื้อหาสาระในข้อเรียกร้อง โดยเชื่อว่าถ้าการเมืองดี ตัวแทนของผู้ความหลากหลายทางเพศจะสามารถเข้าไปอยู่ในสภาได้ แล้วเสียงจะได้รับการได้ยินมากขึ้น ถูกสะท้อนในสภามากขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในที่สุด

“เราเล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มเสรีเทยฺย์พลัส เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งก็คือการทลายโครงสร้างปิตาธิปไตยและสะท้อนเสียงของคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้ถูกรับฟังมากยิ่งขึ้นจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภา เพราะตอนนี้เราก็จะเห็นว่าในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางวัฒนธรรมหรือทางกฎหมายก็ตาม คนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเท่าเทียมเท่ากับเพศชายหรือเพศหญิง เพราะฉะนั้น เราคิดว่าถ้าเสียงของเราถูกผลักดันในสภา มันจะทำให้เกิดตัวกฎหมายใหม่ และทำให้กฎหมายเดิมต้องเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับสิทธิทางกฎหมายเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าเมื่อตัวกฎหมายเกิดความเท่าเทียมชัดเจน วัฒนธรรมก็จะเปลี่ยนตาม” แรปเตอร์วิเคราะห์

เหยียดหยาม เหลื่อมล้ำ การคุกคามในรั้วโรงเรียน

ด้าน โฟลค คณะราษแดนซ์ ที่มีอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็น ‘ครูฝึกสอน’ สะท้อนประสบการณ์ส่วนตัวว่า สถานการณ์การ ‘เหยียด’ ในโรงเรียนมีอยู่จริงตั้งแต่ระดับอนุบาล ในนามของคำว่า ‘เอ็นดู’

“ตอนโฟลคไปสอนโรงเรียนรัฐบาลกับเอกชน มีความเหลื่อมลํ้าเยอะมาก แน่นอน โรงเรียนรัฐมีปัญหาเยอะมากๆ มีครูบางคนที่เหยียดเด็ก ครูจะเรียกสิ่งที่ตัวเองทำว่าเอ็นดู แต่จริงๆ แล้วคำที่เขาใช้คือ ดำ อ้วน ซึ่งนี่เป็นการเรียกเด็กอนุบาลนะครับ เด็กบางคนที่มีความหวาน แค่นิดเดียว คุณครูก็เรียกเขาว่าเป็นตุ๊ดแล้ว ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่ควรเรียกเขาแบบนั้นหรือเปล่า เรียกชื่อเขาก็ได้”

และนี่คือเหตุผลที่โฟลคตัดสินใจออกมาร่วมเรียกร้อง ทั้งที่ครอบครัวมีความพร้อม มีบ้านอยู่ มีรถขับ มีการศึกษาที่ดี

ในขณะที่ วาดดาว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่ม ‘เฟมินิสต์ปลดแอก’ กล่าวถึงประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศ และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนออกมาเปล่งเสียงของตัวเอง

“การคุกคามทางเพศมันเกิดขึ้นกับทุกคน เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกพื้นที่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แม้กระทั่งอุดมการณ์ทางการเมืองไหนหัวใจใหญ่ที่เราพยายามสร้างในตอนนี้ก็คือพื้นที่ที่ปลอดภัย เราต้องสร้างพื้นที่เพื่อให้คนได้ออกมาพูดมากที่สุดโดยที่เขายังปลอดภัย ตั้งแต่จัดกิจกรรมมา ทำไมถึงมีคนออกมาพูดมากขึ้น
มากขึ้นในพื้นที่ม็อบ ทำไมมีคนลุกขึ้นมาแล้วชูป้ายว่า ฉันถูกคุกคามทางเพศ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พวกเขาจะทำแบบนั้น” วาดดาวเล่า ก่อนย้ำว่า รัฐที่เพิกเฉยต่อเสียงของเรา คือรัฐที่ข่มขืนเรา

เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในปีนี้ และความคาดหวังที่ปักธงในปีหน้า ในมุมมองของความหลากหลายในเพศและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image