สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุนนางผู้ ‘ทรงอิทธิพล’ แห่งรัตนโกสินทร์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ช่วงสิ้นปีมักมีการจัดอันดับต่างๆ ว่า พ่อค้าที่รวยที่สุด, ผู้นำที่แย่ที่สุด, สตรีที่สวยที่สุด ฯลฯ แล้วหากเรามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ “ขุนนางผู้ทรงอิทธิพลที่สุด” แห่งรัตนโกสินทร์ ก็น่าจะเป็นของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, 2351-2425)

เรื่องนี้ต้องตามอ่านในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2564 ที่ วิภัส เลิศรัตนรังษี ค้นคว้าข้อมูลมาเรียบเรียงไว้ในบทความที่ชื่อว่า “อวสานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)”

แต่ก่อนจะไปดู “ตอนอวสาน” ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เราไปดูตอนอื่นที่วิภัส เลิศรัตนรังษี นำเสนอก่อน เริ่มจาก “ฐานที่มั่น” สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาฯ บิดาของท่านคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมุหพระกลาโหมใน สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อบิดาท่านสิ้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ว่าราชการกรมพระกลาโหมแทน

Advertisement

ปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค, 2334-2400) ถึงแก่พิราลัย และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (2351-2408) สวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขณะเป็น “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” สามารถรวบอำนาจการนำในรัฐบาลได้สำเร็จ

เมื่อรัชกาลที่ 4 สวรรคต วันที่ 1 ตุลาคม 2411 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่เพียงหนึ่งเดียวควบคุมการเปลี่ยนผ่านจากรัชกาล ที่ 4 เป็น “รัชกาลที่ 5”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 

Advertisement

ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทั้งยังประชวรหนัก ราชสำนักจึงขาดผู้นำ ที่ประชุมเจ้านาย เสนาบดี และพระราชาคณะ จึงตกลงให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็น “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ไปจนกว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา

เมื่อตำแหน่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขยับไป ตำแหน่งข้าราชสำนักอื่นๆ ก็ขยับ และเป็นการขยับตาม

“เจ้าคุณทหาร” – เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)

ตำแหน่งสมุหพระกลาโหมของท่านก็มอบให้ “เจ้าคุณทหาร” หรือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายได้สืบตำแหน่งต่อ, เสนาบดีกรมท่าเดิม กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ว่าราชการอยู่ แต่มีเรื่องขัดแย้งกับท่าน จึงมอบให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) น้องชายต่างมารดาของท่าน แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ว่าราชการเพียง 1 ปี ก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) น้องชายต่างมารดาอีกคนของท่านเป็นเสนาบดีแทน

นอกจากขุนนางระดับเสนาบดีจตุสดมภ์แล้ว ก็ยังมี “คนสนิท” ดูแลทั้งหมด, ในราชสำนักก็มีเส้นสายวางไว้ ฯลฯ

ปี 2411 สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอายุ 60 ปี ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการยุคปัจจุบัน คือ ปีที่เกษียณอายุ แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทน 5 ปี

“เจ้าคุณกรมท่า” – เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)

เมื่อถวายอำนาจคืน รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็น “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” ที่เป็นบรรดาศักดิ์สูงสุดของเสนาบดีในสมัยนั้น (เกียรติยศเทียบเท่าพระองค์เจ้าต่างกรม), โปรดให้มีอำนาจสั่งประหารชีวิตได้เทียบเท่าพระเจ้าอยู่หัว, เรียกขานว่า “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ต่อไปได้อีก และที่สำคัญคือ อยู่ในฐานะ “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” (จนถึงแก่พิราลัย) ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือ “หัวหน้าเสนาบดี”

รวมเวลาตั้งแต่เป็นผู้สำเร็จราชการ, ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน คือ 14 ปี หรือ 1 ใน 3 ของระยะเวลาที่รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ (2411-2453) สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงมีทั้งอำนาจและบารมีเป็นที่ยำเกรง, แรงกดดัน ฯลฯ ดังที่เจ้านายหลายพระองค์บันทึกเรื่องนี้ไว้ เช่น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2403-2464) ตรัสเล่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ย่ำแย่ระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาฯ กับบรรดาพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ว่า “เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของพวกเราเป็นครั้งแรก คนผู้เคยนับถือและฝากตัวก็จืดจางไป คนที่เราไม่เคยเกรงก็ต้องเกรง…สมัยที่พวกเรามาถึงเข้าบัดนั้น ชั่งเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร (2399-2474) ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ของพระองค์ ดังที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกไว้ว่า “เรากลัวเขาจริง พอคลานผ่านที่เขา [สมเด็จเจ้าพระยาฯ] เอกเขนกอยู่ละก็ เราหมอบกราบกันราบเทียว”

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัยซึ่งเกิดไม่ทันเหตุการณ์ ในยามที่ สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นหัวหน้าเสนาบดีสร้างอำนาจบารมีเหนือพระเจ้าอยู่หัวเป็นเช่นไร และยากที่จะเชื่อ

หาก “คำตอบ” ของกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร คงทำให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศสมัย และใครอื่นที่ไม่เชื่อกระจ่าง เมื่อตรัสว่า “มึงอย่าอวดดีไปหน่อยเลย ถ้าเอ็งเกิดทัน เอ็งก็กลัวเขาเหมือนกัน”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยืนยันตามว่า “จริงของท่าน [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร] นะ พ่อเคยเห็นคนมามากแล้ว ไม่เห็นใครมีสง่าเหมือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนนี้ ถ้าเดินมาในที่ประชุม คนทั้งร้อยก็กลัวทั้งร้อย ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร”

กับรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็มีการ “กระทบกระทั่ง” อยู่เป็นระยะ แม้ไม่เคยมีครั้งใดที่จะเกิด “แตกหัก” เพราะส่วนใหญ่มักจบลงด้วยการประนีประนอม แต่บางครั้งก็มีเหตุน่า “ระทึก” เช่นกัน อย่างเรื่อง “สร้างกองทัพสมัยใหม่”

สมเด็จเจ้าพระยาฯ และรัชกาลที่ 5 “เห็นตรงกัน” แต่วิธีการจะสร้างกองทัพกลับ “ต่างกัน” กองทัพสมัยใหม่ของ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็คือกองทัพไพร่ติดอาวุธ แต่รัชกาลที่ 5 ทรงต้องการให้เปลี่ยนเป็นการเปิดรับสมัครทหาร และมีการเปิดรับสมัครทหารใหม่ กว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ จะรู้ก็ผ่านพ้นไปหลายเดือนแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะกราบบังคมทูลขอไพร่เหล่านั้นกลับคืนในทันที

แต่คราวนี้รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิเสธ และทรงยืนกรานที่จะไม่คืนไพร่ โดยทรงให้เหตุผลว่าไพร่เหล่านี้ถูกพระยาเพชรบุรีน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เบียดเบียนจนต้องหนีมาสมัครเป็นทหารที่กรุงเทพฯ หากพระองค์บังคับให้กลับไปก็เป็นการซ้ำเติมไพร่เหล่านี้

เหตุครั้งนี้สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธเคืองและไม่พอใจมาก สถานการณ์คงจะตึงเครียด ถึงขั้นมีข่าวลือในกรุงเทพฯว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ ชักชวนให้เจ้าคุณทหาร “ก่อการกบฏ”

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงบางส่วนที่คงพอทำให้เห็นว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็น “ข้าราชการที่ทรงอิทธิพล” เพียงใด ส่วนตอน “อวสานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)” ที่ผู้เขียน (วิภัส เลิศรัตนรังษี) ตั้งไว้เป็นชื่อบทความนั้น โปรดอ่านเพิ่มเติมจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมกราคมนี้ เพราะแม้จะเป็นตอน “อวสาน” แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯที่สูงวัยก็เปรียบเสมือน “ขิง” ที่ “ยิ่งแก่ ยิ่งเผ็ด”


19 มกราคม วันพิราลัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรคนใหญ่ของสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน เกิดในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2351 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 9 คน

บรรพบุรุษของตระกูลบุนนาคเป็นเสนาบดีคนสำคัญ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับราชการแผ่นดินสืบทอดต่อกันมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่างๆ เป็นอย่างดี เนื่องจากบิดาของท่านเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีที่ว่าการต่างประเทศและว่าการปกครองหัวเมืองชายฝั่งทะเลมาก่อน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจในภาษาอังกฤษ สามารถพูด และอ่านตำราภาษาอังกฤษในสมัยนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านได้คบหากับชาวตะวันตก ที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยนั้น โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาและทำสัญญากับชาติตะวันตก ที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 โดยตลอด นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการต่อเรือแบบฝรั่ง จนสามารถต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายลำท่านยังมีความสนใจในความรู้อื่นๆ เช่น วรรณคดี การค้าการปกครอง เป็นต้น โดยได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 2 และรับราชการมาโดยตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีตำแหน่งราชกาลในระดับสูงคือ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ 4 และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังจากที่ลาออกจากราชการในบั้นปลายชีวิต ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึงแก่พิราลัย นับเป็นมหาบุรุษคนสำคัญของประเทศชาติที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรและธิดารวมกัน 4 คน ในบั้นปลายชีวิตของท่านมักจะพักอยู่ที่เมืองราชบุรี และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมบนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน ราชบุรี รวมอายุ 74 ปี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2425

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามีการจัดงานรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันพิราลัยทุกปี เนื่องจากที่ตั้งของสถาบันการศึกษาดังกล่าวเคยเป็นที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นักศึกษาและบุคลากรขนานนามว่า ‘เจ้าพ่อ’ และเรียกตนเองว่า ‘ลูกสุริยะ’ ตามตรามหาสุริยมณฑลอันเป็นตราประจำตัวซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image