บันทึกประเทศไทย 2563 เรื่องต้องจำ ในศักราชแห่งความเปลี่ยนแปลง

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตลอด 365 วัน ในพุทธศักราช 2563 เกิดปรากฏการณ์สำคัญขึ้นอย่างมากมาย สร้างความเปลี่ยนแปลงจากการถือกำเนิดและแพร่กระจายของไวรัสร้าย โควิด-19 นำมาซึ่งชีวิต ‘วิถีใหม่’ ที่ชาวโลกรวมถึงสังคมไทยต้องทำความรู้จัก ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก็เข้มข้นบนเส้นทางการเรียกร้องประชาธิปไตยของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ขยับขยายทะลุเพดาน แบบที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ก่อนที่โควิดจะกลับมาระบาด ‘รอบใหม่’ ในช่วงปลายปี และทำท่าพุ่งไม่หยุด ฉุด (ยัง) ไม่อยู่จนถึงขณะนี้

‘บันทึกประเทศไทย ปี 2563’ คือ หนังสือเล่มคุณภาพที่เครือ ‘มติชน’ จัดทำขึ้นโดยรวบรวมข่าวและประเด็นไฮไลต์ตลอดห้วงเวลาดังกล่าว เปรียบเสมือน ‘จดหมายเหตุ’ ฉบับประชาชนบนความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม เป็นบันทึกจากข่าวรายวัน ถ้อยคำสัมภาษณ์ คำคมแห่งปี อีกทั้งเกร็ดข้อมูลความรู้ที่เชื่อมโยงด้วย QR CODE ไปยังสื่อออนไลน์ในเครือ รวมถึงบทความจากนักวิชาการแนวหน้าของประเทศ อย่าง ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

และนี่คือส่วนหนึ่งของบันทึกประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมากมายใน 552 หน้า อันคุ้มค่าในทุกตัวอักษร

มกราคม-มีนาคม
‘ปฐมบทโคโรนา จ่าทหารกราดยิง ยุบอนาคตใหม่’

Advertisement

เดือนแรกของปี ในวันที่ไทยยังเรียกโควิด-19 ว่า ‘ไวรัสโคโรนา’

13 มกราคม ไทยพบผู้ป่วยรายแรก เป็นหญิงชาวจีน มาจากเมือง ‘อู่ฮั่น’

28 มกราคม รัฐบาลตั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล นั่งเก้าอี้หัวหน้าทีมสู้โคโรนา

Advertisement

31 มกราคม พบรายแรกติดเชื้อโคโรนาในไทย

4 กุมภาพันธ์ ขน 138 คนไทยในอู่ฮั่นกลับประเทศ

8 กุมภาพันธ์ จ่าทหารกราดยิง 29 ศพ

21 กุมภาพันธ์ ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิยาว 10 ปี

1 มีนาคม คนไทยเสียชีวิตรายแรก

เป็นชายไทย อายุ 35 ปี ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต่อมามีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย

รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร แม้ตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากปอดเสียหายมากจึงต้องใช้เครื่องเอคโม่ หรือปอดเทียมตลอดเวลา กระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 10 ที่มีผู้เสียชีวิต

4 มีนาคม ‘ผีน้อย’ หรือผู้ลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ กลับไทย 193 ราย

12 มีนาคม พบผู้ติดเชื้อในผับย่านทองหล่อ

13 มีนาคม เวทีลุมพินี แพร่เชื้อกลุ่มก้อน โดย ‘แมทธิว ดีน’ ดารานักแสดงและเจ้าของค่ายมวยได้ประกาศในอินสตาแกรม

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีตั้งแต่กุมภาพันธ์ สถานการณ์โควิดควบคู่แฟลชม็อบไล่เผด็จการในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เกิดแฮชแท็กประจำมหาวิทยาลัย อาทิ #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม กระทั่งกลางเดือนมีนาคม กระแสจี้แก้รัฐธรรมนูญเข้มข้นขึ้นตามลำดับ โดยนักวิชาการกลุ่ม ครช.เดินขบวนเรียกร้อง ในขณะที่ฝ่ายค้านเปิดซักฟอกนอกสภา แฉกระบวนการ ‘ไอโอ’ และ ส.ส.อดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบตบเท้าลงทะเบียนเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล โดย พิธาลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำทีมลงสมัครอย่างเป็นทางการ และมีการประชุมสามัญพรรคเป็นครั้งแรก

ปลายเดือนมีนาคม บางจังหวัดประกาศ ‘ปิดเมือง’ รัฐวอนอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ต้านโควิด ปิดผับบาร์ 14 วัน

เมษายน
‘เคอร์ฟิวทั่วประเทศ โควิดวาระแห่งชาติ’

2 เมษายน ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ขสมก.-บีทีเอส ปรับเวลา ทางด่วน ปิด 4 ทุ่ม-ตี 4 ทุกวันรถไฟฯ หยุดวิ่งเที่ยวกลางคืน บขส.หยุดวิ่งทั่วไทย

3 เมษายน ทหารสั่งห้ามชุมนุม-มั่วสุม

6 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พร้อมทั้งรับพระราชทานพระบรมราโชบาย และรับพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์

7 เมษายน รัฐบาลประกาศว่า สถานการณ์โควิดเป็น วาระแห่งชาติ
สำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยออกประกาศเรื่องห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 2 เพิ่มเติม ตั้งแต่วันดังกล่าวเวลา 00.01 น.จนถึงวันที่ 18 เมษายน เวลา 23.59 น.

11 เมษายน ไทยติดเชื้อ 68 จังหวัด รัฐบาลสั่งเลื่อนฉลองเทศกาลสงกรานต์

17 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ขอ 20 เจ้าสัวร่วมสู้โควิด

พฤษภาคม-มิถุนายน
‘คลายล็อก ตกงาน 4 แสน บิ๊กป้อมนั่งหัวหน้า พปชร.’

ต้นเดือนพฤษภาคม คลายล็อกขายเหล้า คนแห่ซื้อตุนแน่น

สายการบินเริ่มกลับมาบิน

6 พฤษภาคม ข้อมูลเผยจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนตกงาน 4 แสนคน

7 มิถุนายน นักศึกษาชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หน้าลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

15 มิถุนายน ยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ
นักศึกษาประชาชนจี้รัฐไทย-กัมพูชาตามหา วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกอุ้มหายตัวจากกรุงพนมเปญ เมื่อ 4 มิ.ย.

17 มิถุนายน บิ๊กตู่ประกาศไทยชนะโควิดแล้ว

27 มิถุนายน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตามโผ หลัง 18 กรรมการบริหารยื่นลาออก
เมื่อ 1 มิถุนายน

กรกฎาคม
‘วีไอพีอียิปต์ทำวุ่น นายกฯขอโทษ ม็อบล้นอนุสาวรีย์ ปชต.’

13 กรกฎาคม แถลงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ในสถานกักกันโรคของรัฐ

14 กรกฎาคม บิ๊กตู่ขอโทษกรณีนายทหารอียิปต์นายหนึ่งมีเชื้อ
โควิด และออกไปนอกพื้นที่โรงแรมในจังหวัดระยอง สั่งรื้อสิทธิวีไอพี

16 กรกฎาคม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อม 4 กุมาร ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่

อุตตม สาวนายน รมว.การคลังและอดีตหัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ, กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

18 กรกฎาคม ม็อบ ‘ปลดแอก’ ชุมนุมล้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง 3 ประการ 1.ยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันเดียวกัน และในช่วงเวลาถัดมา เกิดม็อบนักเรียนนักศึกษาอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

24 กรกฎาคม ตำรวจชี้แจงปมเพิกถอนหมายจับ บอส อยู่วิทยา หลังเกิดกระแสวิพากษ์อย่างหนักจากสังคม

สิงหาคม
‘ม็อบยกระดับ เสนอปฏิรูปสถาบัน ไทยภักดีเปิดตัว’

3 สิงหาคม อานนท์ นำภา จัดม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย

5 สิงหาคม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก
(ผบ.ทบ.) เอ่ยวาทะ

“โรคโควิดนี้เป็นแล้วหาย แต่ที่เป็นแล้วไม่หายคือโรคชังชาติ” ในวันเดียวกัน มีการเปิดตัว “กลุ่ม Free People คณะประชาชนปลดแอก”

7 สิงหาคม จับ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกที่ศาลอาญา มวลชนรวมตัวให้กำลังใจ วันรุ่งขึ้น ศาลให้ประกันตัว

10 สิงหาคม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดงาน “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เสนอ 10 ข้อเรียกร้อง
ปฏิรูปสถาบัน

12 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จ
พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นำคณะรัฐมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเข้าเฝ้าฯ จำนวน 7 คน เพื่อถวายสัตย์

16 สิงหาคม ชุมนุมแน่นถนนราชดำเนิน โดยมีทั้งฝ่ายหนุนประชาธิปไตย และฝ่ายกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ต่างฝ่ายปราศรัยดุเดือด

19 สิงหาคม นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม เปิดตัวกลุ่มไทยภักดี

30 สิงหาคม ไทยภักดีรวมตัวครั้งแรก ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

กันยายน
‘ปักหมุดคณะราษฎร 63 สนามหลวง’

19 กันยายน ม็อบยึดสนามหลวง ในกิจกรรม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ตั้งเวทีในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง นอนค้างคืนก่อนปักหมุดคณะราษฎร 2563 ในวันรุ่งขึ้น และยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงองคมนตรี

22 กันยายน ตัวแทนกลุ่ม ‘ไอลอว์’ และเครือข่าย เดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน นำรายชื่อประชาชน 100,732 ชื่อ บรรทุก
รถซาเล้งไปรัฐสภา เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

24 กันยายน เลื่อนโหวตรัฐธรรมนูญตั้ง กมธ.ศึกษา ม็อบแน่นหน้ารัฐสภา ส.ว.-ส.ส.ลงเรือเลี่ยงม็อบ

25-26 กันยายน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ตุลาคม
‘ผบ.ทบ.ยันรัฐประหารเป็นศูนย์ ม็อบเจอฉีดน้ำ-แก๊สน้ำตาสลายวุ่น’

6 ตุลาคม พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ยันรัฐประหารต้องเป็นศูนย์ การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง

14 ตุลาคม ม็อบคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปล้อมทำเนียบรัฐบาล ก่อนโดนสลายชุมนุมในช่วงตี 5 ในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ประกาศห้ามไม่ให้สื่อมวลชนบันทึกภาพเด็ดขาด

16 ตุลาคม ตำรวจฉีดน้ำสลายม็อบปทุมวัน ต่อมาคณะราษฎรประกาศ ไม่มีอีกแล้วคณะราษฎร ให้คงเหลือแต่ ‘ราษฎร’ กระทั่งเกิดการชุมนุมทั่วประเทศแบบรายวัน

24 ตุลาคม บิ๊กตู่ชูสองนิ้ว ยันไม่ลาออก

26 ตุลาคม ม็อบยกระดับไปสถานทูตเยอรมัน อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องทั้งภาษาไทย เยอรมัน และอังกฤษ เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน

27 ตุลาคม เสื้อเหลืองพรึบสวนลุมพินี คัดค้านปฏิรูปสถาบัน

พฤศจิกายน
‘ปะทะเดือดแยกเกียกกาย สาดสีเอาคืน’

8 พฤศจิกายน กลุ่มราษฎรชุมนุมบนถนนราชดำเนิน เดินเท้าหย่อนจดหมายลงตู้ไปรษณีย์จำลองส่งสำนักพระราชวัง

14 พฤศจิกายน ม็อบเฟสต์ และเครือข่าย ชุมนุมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ 5,100 นาย คอยดูแลความเรียบร้อย

17 พฤศจิกายน ม็อบ 2 ฝั่งปะทะเดือดหน้ารัฐสภา มีการฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาสลายชุมนุม สภาโหวตผ่านแค่ 2 ร่างแก้ รธน. ตีตกร่างไอลอว์

18 พฤศจิกายน ราษฎรสาดสีหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เป็นการเอาคืนหลังถูกสลายชุมนุม

20 พฤศจิกายน บิ๊กตู่งัด ม.112 จัดการผู้ละเมิด

25 พฤศจิกายน ราษฎรชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ส.ศิวรักษ์ เข้าร่วม ชี้ประยุทธ์ควรลาออก หลังจากนั้นมีการชุมนุมใหญ่อีกหลายครั้ง แกนนำทยอยรับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112

ธันวาคม
‘ศาลตัดสิน บิ๊กตู่พักบ้านหลวงได้
โควิดรอบใหม่ปะทุ ล็อกดาวน์สมุทรสาคร’

2 ธันวาคม ศาลตัดสินบิ๊กตู่พักบ้านหลวงได้

6 ธันวาคม ยูเอ็นกังวลจับแกนนำกลุ่มราษฎร

10 ธันวาคม ม็อบร้องยูเอ็น-ล่าชื่อเลิก ม.112 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับม็อบเฟสต์ จัดกิจกรรม “ยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เป็นชุมนุมใหญ่ครั้งสุดท้ายของปี 2563

17 ธันวาคม พบเจ้าของแพกุ้งสมุทรสาครติดโควิด มหาชัยป่วน นำมาซึ่งการประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่ 19 ธันวาคม-3 มกราคม

เป็นไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ที่ต้องย้อนอ่าน จดจำ และบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

Pre-Order : มติชน บันทึกประเทศไทย ปี 2563
ระหว่างวันที่ 12 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2564
ราคา 400 บาท จัดส่งฟรี!
เริ่มจัดส่ง 9 กุมภาพันธ์ 2564
สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ www.matichonbook.com
หรือ https://cutt.ly/Bjce96b

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image