โควิด รถเมล์ หนอนแมลงวันลาย กับ 5 นวัตกรรมแก้โจทย์ชีวิตไทยๆ ในปีที่โลกยังถูกท้าทาย

ตลอดปี 63 สังคมไทยต้องเจอกับปัญหาและความท้าทายหลากหลายประเด็น

เช่นเดียวกับปี 64 ที่โลกก็ยังไม่ผ่านพ้นไปจากวิกฤตโควิด-19 ไวรัสตัวใหม่ที่อุบัติขึ้นในพื้นพิภพ

มนุษยชาติ พากันคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ชีวิตในรูปแบบของตัวเอง

สำหรับประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมนวัตกรรมของประเทศ ก็พยายามสร้างสรรค์แพลตฟอร์มและเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทั้งในระดับเมืองและชนบทให้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นทั้งการสร้างความเท่าเทียม การเข้าถึงโอกาสและรายได้

Advertisement

พร้อมสนับสนุนปัจจัยที่คนไทยยังไม่ได้รับอย่างเต็มที่ เช่น สุขภาพและการแพทย์ บริการสาธารณะ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และอีกมากมาย

แน่นอนว่า ประเด็นต้องโฟกัสให้ชัดเจนในปีนี้ และอนาคตอันใกล้ หนีไม่พ้น การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ปัญหาโรคอุบัติใหม่ ความเท่าเทียมของคนในสังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงในด้านความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรม

ล่าสุด มีการเปิดเผยถึงข้อมูลด้านนวัตกรรมน่าสนใจจากการเฟ้นหาสตาร์ตอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มในด้านดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายอย่างเข้มข้น ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน และโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้น่าอยู่กว่าที่เคย

Advertisement

1.ห้องความดันลบ ‘ถอด-ประกอบได้’ ลดอัตรากระจาย ‘โควิด’

เริ่มที่สถานการณ์สำคัญอย่างการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ซึ่งโรงพยาบาลและบุคลากรทางแพทย์จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ เครื่องมืออย่างเพียงพอ โดยเฉพาะห้องแยกผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในโรงพยาบาลต่างๆ มีห้องแยกผู้ป่วยไม่เพียงพอ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จึงสนับสนุนการพัฒนาห้องแยกผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศแบบถอดประกอบได้สำหรับผู้ป่วยหนักจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ห้องที่ว่านี้ มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งจุดเด่นคือ สามารถถอดและประกอบได้ ภายในมีระบบระบายอากาศเพื่อความคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่ได้มาตรฐาน ส่วนกระบวนการผลิตนั้นทำได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียง 2-4 สัปดาห์ หากติดตั้งเรียบร้อยสามารถนำเตียง และอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปติดตั้งในห้องความดันลบได้เลยในทันที โดยขณะนี้ได้มีการส่งมอบให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันจักรี นฤบดินทร์ เพื่อใช้รองรับผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2.ลู่วิ่งในน้ำ ขานรับสังคมสูงวัย

ตามมาติดๆ ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยได้เป็นอย่างดี นั่นคือ “ลู่วิ่งในน้ำเพื่อการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นเครื่องช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ พัฒนามาจากลู่วิ่งสายพานในน้ำที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อสะโพกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูหลังผ่าตัด หรือผู้สูงอายุ การฟื้นฟูในน้ำจะช่วยเรื่องการรองรับน้ำหนักตัว และการทรงตัว ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ แม้กล้ามเนื้อจะไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถปรับความชัน และความเร็วของลู่วิ่ง เพื่อให้เหมาะกับการฟื้นฟูแต่ละชนิด

 

โครงสร้างทำจากกระจกใสที่สามารถมองเห็นได้จาก 3 ด้าน ทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สามารถสังเกตการเคลื่อนที่ของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์อาการได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถเก็บข้อมูล สำหรับการประเมินในระยะยาว โดยผลงานดังกล่าวออกแบบโดย บริษัท เพ็ททาเนียร์ จำกัด

3.‘ถุงน้ำยาล้างไต’ สู่แฟชั่นสายอีโค่

ยังอยู่ที่ประเด็นชิดใกล้กับสุขภาพ ทว่า เป็นนวัตกรรมที่ดัดแปลงอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เป็นงานแฟชั่นสุดเก๋ เพื่อสร้างคุณค่าให้ขยะเหลือทิ้ง นั่นคือ ‘ผลิตภัณฑ์จากถุงน้ำยาล้างไต’ ซึ่งเนรมิตขึ้นภายใต้ความร่วมมือของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และบริษัท เอคโคแลบ ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด ในการพัฒนากระบวนการจัดการแปรรูปถุงน้ำยาล้างไตเทียมที่ใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนหนังเทียมที่มีความคงทนและมีความสวยงามแปลกใหม่ เช่น กระเป๋า แฟ้มเอกสาร ซองใส่เครื่องเขียน เป็นต้น

เริ่มตั้งแต่การจัดกระบวนการทำความสะอาดถุงน้ำยาล้างไตอย่างถูกวิธีไปจนถึงกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนหนังเทียมด้วยกรรมวิธีที่ผ่านการวิจัยมาแล้ว และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับชุมชนเคหะดินแดง 1 เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ร่วมโครงการ แถมได้แจ้งเกิดไอเท็มเก๋ๆแนวอีโค่ รักษ์สิ่งแวดล้อมแปะป้ายเมดอินไทยแลนด์อีกด้วย

4.ผลผลิตจากขยะอินทรีย์ เมนูโอชะ ‘หนอนแมลงวันลาย-สาหร่ายโปรตีนสูง’

อีกหนึ่งนวัตกรรมมาพร้อมแนวคิดน่าสนใจ อย่างการเล็งเห็นว่าเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ควรได้รับพื้นที่ในการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การนำสิ่งของเครื่องใช้เข้าไปบริจาคเป็นครั้งคราว แต่การหยิบยื่นโอกาสในการสร้างงานสร้างรายได้ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน

ศูนย์เยาวชนเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อ.แม่จัน จ.เชียงราย จึงได้ริเริ่ม “นวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสาหร่าย และหนอนแมลงวันลาย” ขึ้น ด้วยการใช้ผลผลิตที่ได้จากการย่อยสลายขยะอินทรีย์ มาเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายและสาหร่ายโปรตีนสูง ซึ่งเป็นอาหารสัตว์คุณภาพดีอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะปลานิลอินทรีย์

เด็กๆ ชาว ‘อาข่า’ ในอำเภอแม่จัน สามารถนำผลผลิตจากขยะที่ว่านี้ไปเลี้ยงหนอนและสาหร่ายแล้วนำไปขายสำหรับผู้เลี้ยงปลานิลและสัตว์ชนิดอื่นๆ สร้างทั้งรายได้และการเรียนรู้ในบริบทสังคมปัจจุบัน

5.รถเมล์สาย 12 นำร่อง จีพีเอส ‘พิษณุโลก’

ปิดท้ายด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งถึงเวลาสร้างความเท่าเทียมกันได้แล้วสำหรับเมืองหลวงและจังหวัดต่างๆ ทั้งประเทศ อาจเริ่มจากนวัตกรรมเล็กๆ แต่มีประโยชน์ในชีวิตจริงอย่างมาก สำหรับ ‘ระบบระบุตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะ’ ซึ่งปัจจุบันนำร่องใช้กับรถโดยสารสาธารณะ สาย 12 ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ระบบดังกล่าวจะช่วยให้การคมนาคมในพื้นที่มีความสะดวกมากขึ้น สามารถวางแผนการเดินทางผ่านแอพพลิเคชั่นระบุโดยตำแหน่งรถโดยสาร และเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากข้อมูล GPS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก และนักท่องเที่ยว รองรับการพัฒนาด้านดิจิทัลของจังหวัดนำมา ซึ่งการลดการใช้พลังงานในการเดินทางได้อย่างเป็นรูปธรรม

เป็น 5 นวัตกรรมที่น่าจับตาสู่การพัฒนาต่อยอดสังคมไทยในปีที่โลกยังถูกท้าทาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image