200 ผลงานจาก 29 ศิลปินแห่งชาติ นิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ หลากนิยามศิลปะใน ‘ธรรม+ชาติ’

แม้นิยามความเป็น ‘ชาติ’ ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างเข้มข้น

ไม่พ้นรวมความไปถึงการตั้งคำถามต่อศิลปินแห่งชาติ จากความคิดต่างทางการเมือง

แต่ไม่ว่าอย่างไร 29 National Artists 29 Baramee of Art ก็ยังเป็นนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าพลาด เมื่อกว่า 200 ผลงานของ 29 ศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงร่วมกัน ณ หอธรรมพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา

สวัสดิ์ ตันติสุข, ชลูด นิ่มเสมอ, นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ปรีชา เถาทอง, ทวีรัชนีกร, นิธิ สถาปิตานนท์, สมชาย แก้วทอง, พิบูลศักดิ์ ละครพล, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, ปัญญา วิจินทนสาร, เดชา วราชุน, อิทธิพล ตั้งโฉลก และอีกมากมาย ซึ่งทางหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งนี้เปิดเผยถึงคำปรารภจากศิลปินหลายท่านว่า

Advertisement

‘เป็นการแสดงผลงานครั้งสำคัญ ที่อาจพูดได้ว่าไม่เคยมีมาในอดีต’

โดยหอธรรมพระบารมีระบุว่า เป็นความตั้งใจอย่างยิ่งให้การแสดงครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด งานหลายๆ ชิ้นไม่เคยถูกแสดงมาก่อน เพราะไม่มีโอกาสในการแสดง อาจด้วยเป็นสมบัติที่ศิลปินและทายาทที่หวงแหน เก็บรักษาไว้

Advertisement

และเหตุผลอีกหลากหลายประการจากเงื่อนไขการแสดงงานทั่วๆ ไป แต่อาจเป็นด้วยศิลปินทุกท่าน และทายาทผู้รักษาผลงานทุกท่าน เห็นแนวทางที่แน่ชัดของหอธรรมพระบารมีที่ประสงค์ให้เกิดประโยชน์สาธารณะอย่างสูงสุดโดยไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง

งานทุกชิ้น จึงเดินทางมาพบกันในครั้งนี้ จากการเริ่มติดตั้งงาน พบว่าถึงแม้ผลงานมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็สามารถประสานสร้างพลังอย่างแข็งแรงยิ่ง

นอกจากผลงานศิลปะในนิทรรศการแล้ว ที่น่าสนใจคือ ‘คำนิยาม’ ของศิลปะของศิลปินแห่งชาติแต่ละท่าน ที่ทางหอศิลป์นำมาเผยแพร่ผ่านเพจ ‘Baramee of Art’

สะท้อนความคิดส่วนบุคคล ทั้งนิยามขนาดยาวที่ถูกพรรณนาอย่างละเอียดลออและความหมายสั้นๆ เพียงไม่กี่ประโยค ทว่า กินความกว้างไกล

‘พอใจกับสิ่งที่มี

มีใจกับสิ่งที่ทำ

ธรรมใจกับสิ่งที่เป็น

เป็นธรรมคือสิ่งประจำใจ’

คือถ้อยคำเพียง 4 วรรคจาก ปรีชา เถาทอง

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2552

ในขณะที่ นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย ) ประจำปีพุทธศักราช 2545 อธิบายความอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ย้อนเล่าถึงชีวิตการทำงาน

ความว่า

‘งานศิลปะเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ผลงานออกมาตามยุคตามสมัย ตามกาลเวลา ตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เป็นตัวตนของผู้สร้างสรรค์ ไม่มีของใครดีกว่าใคร ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนที่สร้างสรรค์ และขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนที่มองดู ของคนที่เสพงานศิลปะ

กระผมมิได้เป็นศิลปินเขียนภาพมืออาชีพ เพิ่งมาเขียนภาพจริงจัง เมื่อเกษียณจากการทำงานตอนอายุ 65 ปี ไม่เคยขายต้นฉบับเลยเพราะรักและเสียดายงานทุกชิ้นที่ทำ ได้นำผลงานต่างๆ เหล่านี้มาพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะคิดว่าการเผยแพร่ออกมาในรูปหนังสือ เด็กนักเรียนนักศึกษาจะศึกษาหาประโยชน์ต่อไปได้นาน และนี่คือความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานของผมแล้ว

อยากให้ทุกคนสร้างสรรค์ผลงานที่ดีมีคุณค่า ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวช่วยเสริมสร้างศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศชาติได้ ไม่ทำงานเพียงเพื่อหวังสินจ้างรางวัลเพียงอย่างเดียว เพื่อสักวันหนึ่งผลงานเหล่านั้นจะเป็นของประเทศชาติของเรา เป็นมรดกตกทอดให้กับอนุชนรุ่นต่อๆ ไป และท้ายที่สุดจะมีคนรักหวงแหน และช่วยกันอนุรักษ์รักษาไว้อีกนานและตลอดไป’

เช่นเดียวกับ สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2560 ที่มอบนิยามคำว่าศิลปะทั้งในนามธรรมและชีวิตจริงที่ศิลปินย่อมต้องฝึกปรือฝีมืออย่างไม่ลดละ

‘ศิลปะ คือการนำเสนอความคิด ความรู้สึกที่มีต่อชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมของตัวผู้สร้างสรรค์ ผ่านสื่อวัสดุ หรือเครื่องมืออื่นใดที่นำมาใช้ ด้วยแบบอย่างที่เป็นของตัวเอง คุณค่าของผลงานขึ้นอยู่กับความจริงใจ การแสดงออก ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในเชิงการสร้างสรรค์ของตัวศิลปิน ส่วนมูลค่าขึ้นอยู่กับความต้องการ ความพึงพอใจของหมู่ชนในสังคมโลก

การได้ชี่อว่าเป็นศิลปิน ย่อมต้องมีความมุ่งมั่น จริงจัง และการทุ่มเทเวลาในการสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่อง พัฒนารูปแบบ เคารพความเชื่อ ความรู้สึกของตนเองอย่างจริงใจ งานศิลปะ เกิดขึ้นจากก้นบึ้งภายในจิตใจของผู้สร้างสรรค์ ดังนั้นต้นกำเนิดงานศิลปกรรมที่มีคุณค่า ย่อมต้องมาจากบุคคลที่ยึดถือคุณธรรม ความดีงาม ศิลปินจะประสบ ความสุข ความสำเร็จ จึงต้องมีความศรัทธา ฝึกฝน พัฒนา สร้างสรรค์อยู่เสมอ รวมทั้งการดำเนินชีวิตเรียบง่ายตามหลักธรรม’

ในขณะที่ ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2556 นำประเด็นทางมูลค่า เศรษฐกิจ คำยกย่องสรรเสริญ กับคุณค่าทางใจและผลงานมาเอื้อนเอ่ยอย่างเห็นภาพชัด

ดังความว่า

‘ศิลปะคือการแสดงออกถึงความดีงาม เป็นประจักษ์พยานถึงพุทธิปัญญาอันสูงสุดของมนุษยชาติ คุณค่าของศิลปะคือการยกระดับคุณค่าของจิตใจ ให้สูงกว่าค่านิยมทางเศรษฐกิจ ชำระล้างความเกินความจำเป็นออกจากชีวิตสู่อาณาจักรอันสูงส่งแท้จริงของมวลมนุษยชาติ

คำว่าศิลปะนั้นเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ควรสถิตอยู่ในสิ่งอันควรค่าเท่านั้นคำว่าศิลปิน เป็นคำยกย่องคนพิเศษสุด มิใช่มนุษย์ธรรมดาที่ปรารถนาแต่ลาภยศสรรเสริญ และอาณาจักรศิลปะนั้นเป็นอาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์ มิใช่ที่ผลิตเม็ดเงิน ศิลปินก็แค่ทำงานศิลปะแต่ละชิ้นให้เสร็จต่อเนื่องกันไป ไม่มีวันสำเร็จได้ในชาตินี้ ความสำเร็จของศิลปินอยู่ที่ผลงาน มิใช่อยู่ที่คำยกย่องของมหาชนที่สับสนเรื่องศิลปะกับโลภะจิต ศิลปะคือเส้นทางสู่จักรวาล ศิลปินคือนักเดินทางไม่รู้จบ’

อีกหนึ่งมุมมองน่าสนใจคือนิยามในคำกล่าวอย่างตรงไปตรงมาของ เข็มรัตน์ กองสุข

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.2555 ที่มองว่า

‘ศิลปิน เป็นนักสร้างสรรค์ต้องเข้าใจคุณค่าของวัสดุ รูปทรง เทคนิค ถ้าเอาแต่ใจ ถ้าเอาแต่ชอบอย่างเดียว ไม่สนใจสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อม จะสร้างงานศิลปะที่สมบูรณ์ไม่ได้

พื้นฐานหลักของประติมากรรม มีสลัก มีปั้น สลักเอาออกอย่างเดียว เอาวัสดุ เอาปริมาตรออก จนเป็นรูปทรงในความคิด สลักยากที่สุดตรงที่ไม่มีรูปทรงอื่นให้เลือก เป็นช่องทางแคบๆ ที่ต้องมีสติ มีความประณีต มีแผนงาน มีโครงสร้าง มีรูปในใจอย่างชัดเจน ต้องค่อยๆ ทำออกมา ใช้อารมณ์ไม่ได้ ก็ได้เรียนรู้ระบบกระบวนการสร้างสรรค์ที่มีโครงสร้าง เป็นช่องทางที่เป็นประโยชน์ ให้มีการทำงานอย่างมีสติ และความอดทน ความมุมานะก็จะทำให้เพิ่มเติมสาระ ทำให้การทำงานชัดเจนมากยิ่งขึ้น’

ส่วน ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พุทธศักราช 2560 ยืนยันว่า ศิลปะไม่มีคำว่า ฟลุค

‘ศิลปะเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด ภายในจิตวิญญาณของตัวเอง จากแรงบันดาลใจ ที่สะเทือนอารมณ์ ตามประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อม ตามกาลเวลา ด้วยความสุข และสนุกกับการสร้างสรรค์ ให้ศิลปะเป็นปัจจุบันชีวิต ศิลปะไม่มี ฟลุค หรือบังเอิญ ศิลปะคือ ความพอดี ศิลปิน ควรเปิดหูเปิดตาในโลกกว้าง ขยัน จริงใจไม่ยึดถือรูปแบบ มีความเป็นตัวของตัวเอง จริงใจ บริสุทธิ์ใจ กล้าคิดกล้าทำ ก้าวเลยความถูกผิด เพราะศิลปะคือความพอดี (แต่เราก็ไม่สามารถทำพอดีได้เสมอไป) ต้องสุภาพ ไม่ยิ่งผยอง ทะนงตัวเกินงาม’

จากศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม มาดูมุมมองของสาขาวรรณศิลป์กันบ้าง

‘ศิลปะใช่เพียงวิธี. แต่คือวิถี วิธีเป็นสิ่งที่เราทำ ส่วนวิถีเป็นเช่นนั้นเอง

ศิลปะคือการก้าวเดินออกไปไกลสุด. ดำดิ่งลงไปลึกสุด. และทะยานขึ้นไปสูงสุด. เพื่อหาความหมายของทุกสิ่ง. แล้วนำกลับผ่านทางประตูความงาม’

คือนิยามของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2559

ในคำสุดท้ายที่ลงท้ายด้วย ‘ความงาม’ ของศักดิ์สิริ เชื่อมโยงโดยไม่เจตนามาถึงคำกล่าวของ ปัญญา วิจินธนสาร

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2557 ที่ให้ความหมายสั้นๆ ทว่า ลึกซึ้ง

‘ศิลปะสวยได้ แต่ความสวยไม่ใช่ศิลปะเสมอไป ศิลปะงามได้ แต่ความงามต้องเข้าถึงใจ’

ปิดท้ายด้วย 2 นิยามศิลปะของ 2 ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

‘คุณค่าของงานศิลปะขึ้นอยู่กับเจตนาและอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นในแนวทางการทำงานศิลปะของตนเองอย่างบริสุทธิ์ใจ คนทำงานศิลปะจึงต้องเริ่มต้นด้วยใจรักทำงานศิลปะให้เป็นศิลปะ ไม่ยึดติดกับผลประโยชน์ขณะที่ทำ มีพัฒนาการจากทักษะฝีมือไปสู่ความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัว สิ่งที่จะได้ก็คือความสุขและความสำเร็จ’

เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์และสื่อผสม) พุทธศักราช 2550

และ เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2549 ซึ่งเล่าถึงวีธีและวิถีการสร้างสรรค์ผลงาน ว่า

‘วิธีทำงานศิลปะของข้าพเจ้าเริ่มจากการถ่ายทอดความรู้สึก ความคิด จิตใต้สำนึก จากเรื่องราวและสิ่งทั้งหลายที่มากระทบตนเอง จนเกิดเป็นพลังสร้างสรรค์…’

เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการครั้งสำคัญที่ไฮไลต์ไม่ใช่เพียงผลงานของเหล่าศิลปินแห่งชาติ หากแต่คือความเป็นมาของชีวิตที่ถูกกลั่นกรอง เรียงร้อยซึ่งวิธีคิดกระทั่งสร้างสรรค์ศิลปะอันเป็นรูปธรรมที่มีความหมายลึกซึ้งและกว้างไกลมากกว่าคำว่างดงาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image