‘บันทึกประเทศไทย 2563’ หมายเหตุแห่งศตวรรษ จาก ‘โควิด’ สู่เศรษฐกิจ การเมือง

(จากซ้าย) ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ, นพ.ทศพร เสรีรักษ์, ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

“ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ผมว่าปี 2563 สำหรับคนไทยและทั่วโลก ท้าทายต่อมวลมนุษยชาติอย่างมาก เพราะเจอการระบาดใหญ่ทั่วโลก รอบแรกในศตวรรษ ซึ่งไปแทบทุกทวีป จึงไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ระหว่างรับมือ ก็ใช้องค์ความรู้เมื่อ 100 ปีเป็นหลัก

แต่มีข่าวดีที่วงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก เราเริ่มทยอยฉีดวัคซีนแล้ว แต่เชื้อไม่ได้ไปไหน อย่างไข้หวัดใหญ่ H1N1 ก็ยังคงอยู่ จนพัฒนากลายเป็นไข้หวัดหมู สู่ไข้หวัดนก เราจึงต้องตระหนักเสมอว่าเชื้อไม่ไปไหน และจะวนมาเรื่อยๆ”

ถ้าโชคร้ายเชื้อกลับมาก่อน ถ้าเราโชคดี คือได้ยาต้านก่อน

ถ้อยคำของ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์แห่ง สวทช. ผู้เขียนหนังสือ “COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ” ตอกย้ำว่าปีก่อน “สาหัส” ในด้านโรคอุบัติใหม่จะไม่หายไปไหนง่ายๆ

Advertisement

บ่ายวันพุธ 11 กุมภาฯ ณ มติชนอคาเดมี ประชาชนผู้กังวลอนาคตของชาติหลั่งไหลมาร่วมฟังเสวนา “Matichon Book Talk” เปิดตัว “บันทึกประเทศไทย ปี 2563” หนังสือใหม่เล่มสำคัญ ในฐานะหลักฐานที่จดจารประวัติศาสตร์ จากการเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลมติชน และสำนักพิมพ์มติชน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์และพิธีกรฝีปากกล้า พา 3 วิทยากรผู้คร่ำหวอดใน 3 แวดวง ร่วมล้อมวงสรุปประเด็นและเหตุการณ์ร้อนแรงแห่งปี”63 ที่ต่างก็ล้วนผสมรวมกันแบบแยกไม่ขาด ทั้ง “โควิด เศรษฐกิจ การเมือง”

นพ.ทศพร เสรีรักษ์

หนึ่งในวิทยากรขวัญใจเยาวชนกลุ่มผู้ชุมนุม อย่าง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ นักสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมือง ก็มาร่วมกระตุ้นเตือนความทรงจำทางการเมืองในปีก่อนแบบถึงแก่น คู่ขนานกันไปทั้งในและนอกสภา ที่เมื่อพิจารณาไล่เรียงจากการย้อนมองข้อมูลพื้นฐานใน “บันทึกประเทศไทย” เล่มนี้ จะพบว่ามาจากจุดเริ่มต้นที่โครงสร้างพื้นฐานและการบริหารงานไม่แข็งแรงพอจะรองรับแรงกระแทก ไม่ว่าจะโควิดสู่พิษเศรษฐกิจ ไปจนถึงส่วนสำคัญอย่างความชาญฉลาดในการแก้ไขปัญหาของท่านผู้นำ

Advertisement

หนนี้จึงขอหยิบยกส่วนที่เป็นต้นตอของความกังวลมาขยายให้พินิจร่วมกัน

อย่าบูชาเลขศูนย์

แนะ ‘สุ่มตรวจ’ แบบแอ๊กทีฟ

เมื่อ “ศิโรตม์” ถามว่า อะไรจะเป็นเข็มทิศในการเดินหน้าประเทศไทยได้?

ดร.นำชัย เริ่มต้นขยี้ปมสำคัญในปี”63 ว่า มีบางเรื่องที่เราทำได้ค่อนข้างดี แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับ

ก่อนถอยมองภาพรวมพบปัญหาใหญ่สุดคือ การนำข้อมูล ความรู้ และความจริง มาใช้ในการรับมือน้อยกว่าที่ควร

เพราะเมื่อเจอปัญหาใหม่ ปัญหาใหญ่ รัฐและเอกชนเสียเงินไปโดยไม่จำเป็นจากความกลัว เอาน้ำยาฆ่าเชื้อมาฉีดพ่นที่พื้น ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เป็นการกระทำที่มีประโยชน์น้อยมาก เนื่องจาก “ไวรัส” โดนแดดไม่ถึงชั่วโมงก็ตาย กลับกัน ภายใน (Indoor) ตามพื้นผิวมีความจำเป็น ส่วนการตรวจวัดอุณหภูมิ หรือตั้งด่านตรวจก็เกินเลยความจำเป็นไปมาก เพราะใช่ว่าทุกคนที่ติดจะมีไข้ ซึ่งท้ายที่สุด เราพบตำรวจที่ด่านตรวจติดเชื้อ เพราะอยู่ดีๆ ก็ให้เขาไปรับเชื้อ

“ส่วนใหญ่ทำได้ดี แต่ก็มีหมัดชกพลาด มีลูกเตะที่ทำให้เข้าประตูอยู่บ้าง” ดร.นำชัยวิเคราะห์ ก่อนจะชี้หมัดพลาด

“อย่างการบูชาเลขศูนย์ ทำไมจะต้องให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์ และเราเชื่อด้วยว่าเป็นไปไม่ได้ สำคัญคือการดูแลไม่ให้มีผู้ป่วยหนักเกินจำนวนห้องรับรองผู้ป่วยมากกว่า ไม่เช่นนั้นระบบจะพังทลาย ต้องควบคุมจำนวนให้ได้มากที่สุด ที่ควรทำคือการ สุ่มตรวจแบบแอ๊กทีฟ แล้วเราจะรู้ว่าความจริงมีคนติดเชื้ออยู่มากน้อยแค่ไหน เพราะกว่า 80% ไม่มีอาการ จึงแพร่กระจายเป็นระยะ เพราะเขาไม่รู้ว่าติดแล้ว” ดร.นำชัยเน้นย้ำ

‘โจ๊กแค่ในวงเหล้า’ จวกวลี ‘ได้ช้าดีแล้ว’

แนะเอาเงินแจกไปหนุน ‘ฉีดวัคซีน’

ตอบคำถามเรื่องความกลัวประสิทธิผลของวัคซีน

ดร.นำชัยยกตัวอย่างย้อนไปเมื่อครั้งเป็นเด็ก

“ตอนฉีดวัคซีนกลัวไหม? พ่อแม่เคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าไม่ให้ฉีด มีคนไทยน้อยมากที่ไม่เชื่อมั่นในวัคซีน”

แต่ใช่ว่าจะดีไปหมด คนที่ฉีดแล้วป่วยก็มี เพราะทุกคนมีเงื่อนไขทางร่างกาย บ้างก็แพ้วัคซีน หรือมีโรคประจำตัว

เช่นนี้ จึงสำคัญที่ การให้ความรู้ประชาชน คนกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องฉีด แต่ใครเป็นคนเสี่ยงบ้าง?

“ข้อมูลรัฐที่ต้องให้ควรมาเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจ ไม่สามารถบอกว่า “เราได้ช้าดีแล้ว จะได้ดูคนฉีดไป” ไม่ควรเอามาพูดเล่น เพราะไม่โจ๊ก โจ๊กแค่ในวงเหล้า เราต้องเร่งทำ คำถามคือแล้วทำไมวัคซีนต้องเลือกบางเจ้า ทำไมไม่ทำให้เร็วที่สุด ซึ่งมีคำอธิบายอยู่ แต่เราใช้ความรู้ประกอบการตัดสินใจและบอกประชาชนน้อยไปนิดหนึ่ง” คุณหมอนำชัยค่อนข้างซีเรียส ณ จุดนี้

ชกไม่เข้าเป้า ดีขึ้นอย่างช้าๆ

สัญญาณ ‘มี’ แต่อ่อน

ถามว่าในปี 2564 มองอนาคตประเทศไทยศักราชนี้ จะดีขึ้น หรือแย่ลง?

ดร.นำชัยชี้ว่า ในปีนี้ถ้ามองในมุมวิทยาศาสตร์ ในที่สุดเราจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน เมื่อคนภูมิต้านทานมากขึ้นและติดเชื้อน้อยลง คนเกิดความมั่นใจ เศรษฐกิจจะหมุนโดยไม่ต้องพึ่งเงินแจกแบบให้เปล่า หลายแสนล้านบาท ในขณะที่งบฯจัดการโรค 45,000 ล้าน ปัจจุบันใช้ไปเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

“เงินแจกฟรีทำให้เกิดผลลัพธ์น้อยมาก ขณะเดียวกันถ้าเอาไปสนับสนุนการฉีดวัคซีน สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำวัคซีนจากใบยาสูบ หมดโควิด เรามีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนอะไรก็ได้ในอนาคต นี่คือโอกาสทอง ถ้าเอาเงินใส่เข้าไป จะทำให้เร็วขึ้นมากมายมหาศาล ที่อยากถามคือ ทำไมมันช้า ทำไมเงินน้อย ทำไมเราไม่ลงทุน เราเสียโอกาสมาก ดังนั้น คำตอบของปี”64 คือเราจะดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามภาวะโลก ซึ่งน่าเสียดาย เราควรจะดีขึ้นได้เร็วตามความสามารถที่ทำได้” คือข้อห่วงใยจากผู้คนในแวดวงการแพทย์

อย่างไรก็ดี ดร.นำชัยเห็นว่า สัญญาณการปรับตัวมี แต่สัญญาณอ่อน ต้องเดินหาสัญญาณ

“ผมเห็นความพยายามของรัฐบาลในการออกมาตรการอยู่ เปรียบเหมือนกีฬาโอลิมปิก เขาแค่ดูว่าชกเข้าหาเป้าไหม แต่ผมว่าเรายังชกไม่ได้คะแนน”

เก่ง-ฉลาด ไม่สำคัญ

ปรับตัวเท่านั้น จึงจะอยู่รอด

แล้วต่อไปนี้ อะไรคือสิ่งที่ควรทำ?

ดร.นำชัยมองว่า ส่วนที่อยากให้เปลี่ยนคือการมาเล่นบทบาท Thailand Medical Hub ซึ่งความจริงเราเข้มแข็ง แต่ต้องวางแผนอย่างมาก จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะลงทุนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์

“ความจริงในวงการรู้กันว่าเรามีศักยภาพที่จะทำให้ค่ายาในประเทศลดลง ในภาวะพิเศษอย่างนี้รัฐบาลมีอำนาจสั่งการได้ แต่สงสัยว่าการอนุมัติทำไมไม่เร็วขึ้น เมื่อรัฐมีอำนาจขนาดนี้แล้ว”

ดร.นำชัยยังชี้ด้วยว่า ยุคนี้ Reskill ไม่พอ ต้อง Upskill กล่าวคือ ยุคนี้สู้ด้วย 1.การทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น กับ 2.ทำที่เหมือนคนอื่น แต่ทำอย่างประณีตบรรจง ทำอย่างเยี่ยมยอด แบบที่คนอื่นทำไม่ได้

“ความสามารถจะที่คว้าโอกาสได้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือทักษะอย่างหนึ่ง หวังว่าประเทศไทยจะโชคดีมากพอที่ผู้นำเห็นโอกาสและคว้าไว้ ประชาชนและภาคธุรกิจก็เช่นกัน ยังมีโอกาสอยู่ แต่ทุกคนก็ต้องปรับตัว ผู้ที่จะอยู่รอดคือคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด ไม่ใช่คนที่เก่ง หรือฉลาดมากที่สุด” ดร.นำชัยกล่าวทิ้งท้าย

ส่องเศรษฐกิจปี’63

รัฐกระชับอำนาจ กลับขั้วบทบาท ‘ราชการ-เอกชน’

หันไมค์มาทาง ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ เจาะปม “ดิสรัปชั่น” ที่เรามักหวั่นกันมา 2-3 ปีแล้วว่าจะมีผลกับธุรกิจอย่างมาก ส่วนที่ไม่สามารถเข้าสู่ดิจิทัลได้จะล้มหายตายจาก หลายอาชีพดาวรุ่ง แอร์โฮสเตส นักบิน กลับร่วงไป ที่คิดว่าจะร่วงอย่างไปรษณีย์ไทย แต่โควิดมาทำกำไรได้มหาศาล รวมทั้งหลายคนที่ตกงานก็สามารถใช้ทุนที่ตัวเองมีอย่างรถมอเตอร์ไซค์ ก็พอไปได้

อีกส่วนที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปคือ วิกฤตด้านสาธารณสุข “โควิด-19” ที่ไม่คิดว่าจะดิสรัปต์ได้ กลับไม่เพียงกระทบสุขภาพ แต่ยังรวมถึงการรับมือในด้านอื่นๆ ของประเทศ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดทำให้ 1.รัฐกระชับอำนาจมากขึ้น เพราะอนุญาตให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2.รัฐบาลสามารถสร้างเครือข่ายกับท้องถิ่นในการคุมโควิด อปท. อสม. คนที่ถูกละเลยก็กลายมามีบทบาทสำคัญในการรับมือ” ผศ.อัครพงษ์ชี้

ก่อนจะบอกเล่าถึง “กระบวนการเศรษฐศาสตร์” ซึ่งมีส่วน 4 คัญที่ทำให้ธุรกิจของชาติหมุนได้คือ 1.การบริโภค 2.การลงทุน 3.การใช้จ่ายภาครัฐ 4.การส่งออกและนำเข้า

ซึ่ง 1.การบริโภค น้อยมาก เพราะคนไม่มีสตางค์ 2.การลงทุน ตกต่ำ 3.การใช้จ่ายภาครัฐที่มาสนับสนุนก็กลายเป็นรัฐบาลโพธิสัตว์ รัฐกระชับอำนาจ ยังไม่พูดถึงวินัยทางการคลังที่ต้องกู้จนเต็มเพดาน

เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ “power shift” ที่คิดว่าเอกชนจะมีบทบาท กลายเป็นราชการที่มีบทบาทมากขึ้น แม้จะเริ่มคำนึงถึงแรงงาน แต่ขณะเดียวกันก็กระชับอำนาจ และใช้เป็นช่องทางทำมาหากินของรัฐราชการมากขึ้น

ตอบข้อสงสัย

ถังแตกไหม? ในปี’64

เมื่อถามว่าในปี 2564 หากประเมินเม็ดเงินภาครัฐ ยังพอรองรับการกระแทกเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เราถังแตกแล้วหรือยัง?

ผศ.อัครพงษ์มองว่า “ยังพอไปได้เรื่อยๆ” เงินสำรองระหว่างประเทศยังมีไม่น้อย มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พอใช้ได้

จากที่เห็นในเวลานี้รัฐบาลจะอยู่ได้อีกนานหรือไม่ ก็ตราบเท่าที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ แต่อีกแง่ ยังไม่เห็นว่ารัฐจะเตรียมการด้านเศรษฐกิจ หากกลับมาสู่ภาวะปกติแล้วจะทำอะไรต่อ?

“ภาคส่วนสำคัญของไทยคือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ชึ่งแย่มาก รัฐมองเพียงว่าจะชดเชยอย่างไร จนลืมการสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งให้กับคน

ถ้าเศรษฐกิจจะไปได้ รัฐตัองหันกลับมาดูความสามารถของบุคลากรในชาติ เมื่อชดเชยแล้วก็ต้องไปส่งเสริม เช่น อาชีพไกด์ เพิ่มความสามารถด้านภาษาตอนที่ต้องอยู่บ้าน หรือแม้แต่การท่องเที่ยว รัฐได้คิดปรับปรุงแหล่งมรดกโลกบ้างหรือไม่ คนกลุ่มไหนจะเข้ามาหลังจบโควิด ศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว คือสิ่งที่ไม่เห็นในปีที่ผ่านมา ดังนั้น อาจจะเป็นลูกคนรวย ใช้เงินในการแก้ปัญหา” ผศ.อัครพงษ์ว่าอย่างนั้น

ยังไม่ถึง ‘ทางตัน’ แต่อย่าขังลูกหลาน

ประนีประนอม คืนศักดิ์ศรีความเป็นคน

ถามต่อว่าประเทศไทยในปี 2564 จะถึงทางตันหรือไม่?

ผศ.อัครพงษ์คิดว่า “ไม่ถึงทางตัน” เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ที่แม้จะแพ้ แต่ก็ไปต่อได้ แม้การใช้เงินของภาครัฐจะมากมายมหาศาลด้วยการจ่าย แต่เอกชนก็ปรับตัวอย่างมาก

“ผมสอนไทยศึกษา หนังสือเล่มนี้ของมติชนต้องใช้ เพราะเป็นเรื่องความเป็นไทยซึ่งไทยต้องปรับใหม่ เป็นห้วงเวลาของความสามารถและการพิสูจน์ตนเองว่าจะปรับจากหน้ามือเป็นหลังมือได้หรือไม่

วิกฤตครั้งนี้ทำให้เราได้ล้างตา ได้เช็ดกระจกแว่น เพราะสุดท้ายมนุษย์ต้องกินอยู่ ต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่คิดไม่ถึงคือคนขายของออนไลน์ สามารถไปสร้างโซลาร์เซลล์บนดอยได้ พูดง่ายๆ รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ทั้งที่มีอำนาจเงิน และอำนาจทางราชการ

“สุดท้ายคนไทยก็ต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะเหลือง จะแดง ก็อยากให้ประเทศเจริญทั้งนั้น ฝั่งขวาบอก “อยากให้ประเทศเจริญต้องฟังฉัน” ฝั่งซ้ายก็บอก “อยากให้ประเทศเจริญต้องต้องเชนจ์” (Change) สุดท้ายคือการประนีประนอม เพราะการใช้กำลังมีปัจจัยกับต่างประเทศ เขาจะคบค้ากับคุณไหม แค่นี้เราก็ถูกซุบซิบมากมายแล้ว”

“ดังนั้น รัฐบาลต้องกลับมาพัฒนาคน เตรียมรับมือโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมื่อโควิดหาย เศรษฐกิจจะพุ่งไปเร็วมาก มีการอัดอั้นตันใจ คนจะออกมาใช้เงิน” ผศ.อัครพงษ์ไกด์ไลน์รัฐบาล

ทว่า ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่าง “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่พร้อม “คน” ที่เก่ง สำคัญที่สุดคือ การพร้อม “รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง” และที่ต้องพูดคุยกันมากขึ้น คือเรื่อง รัฐสวัสดิการ และ “เงินเดือนให้เปล่า” (UBI)

“เราอาจจะต้องคุยถึงความมั่นคงของคนในการใช้ชีวิต เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ไม่ได้ทำให้คนมีเงิน แต่คือความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากกว่า มันมีศักดิ์ศรี ที่เมื่อป่วยเดินไปหาหมอ บอกได้ว่า “ฉันมีบัตรทอง” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “บัตรคนจน” ในเรื่องศักดิ์ศรีและการกดทับ เรามองว่า ทำไมทหารสวัสดิการดี แล้วทำไมไม่ทำให้เป็นรัฐทหารไปเลย ประชาชนจะได้มีสวัสดิการ ขอเสนอที่นี่ ให้เป็น “รัฐเสนานุภาพ” อย่างเต็มตัว “พลจัตวา” ในชีวิตก็อยาจะได้ยศถาบรรดาศักดิ์กับเขาบ้าง แต่อย่าเอาความรักชาติ แล้วมากดคนอื่น มันไม่น่ารัก” ผศ.อัครพงษ์ฝากให้คิด ก่อนทิ้งทวนปิดท้าย

“เราขังลูกหลานให้อยู่ในระบบการศึกษานานเกินไป นักเรียนฉลาดกว่าอาจารย์แล้ว ที่ต้องทำคือส่งเสริมสายอาชีพให้ไปได้ไกล ให้คนเห็นคุณค่า สิ่งสำคัญที่สุด คือทำอย่างไรให้เยาวชนคนหนุ่มสาวมีทัศนคติแบบสากล (Global Mindset)

ถามว่าปี”64 ผมอยากให้ลูกอยู่ในประเทศไทย หรือไปต่างประเทศ

ถ้าโตแล้วอยากจะไป ก็ไป ผมยอมให้คนมาว่าเนรคุณแผ่นดิน ผมยอมตกนรก แต่ให้ลูกขึ้นสวรรค์”

ชมเสวนาได้ที่ https://www.facebook.com/matichonbook/videos/418623806127534


 

หนังสือปกอ่อน พิมพ์ด้วยกระดาษกรีนรีด จำนวน 552 หน้า ราคา 400 บาท

รวบรวมข่าวและประเด็นสำคัญ ประจำปี 2563 ทั้งการระบาดของโรคระบาด การเรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์

เป็นทั้งหนังสือบันทึกข่าว-วิชาการ-ประวัติศาสตร์ได้ภายในเล่มเดียว

สนใจสั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com หรือ https://cutt.ly/5kO4mev

โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350, 3360

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image