แค่เสียใจไม่พอ ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

แค่เสียใจไม่พอ ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

บนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์นับแต่ก่อเกิด ‘รัฐ’ บนดินแดนที่เรียกว่าราชอาณาจักรไทย

นอกเหนือจากการรบพุ่งมุ่งปกป้องอาณาเขตและอำนาจอธิปไตยในเส้นชายแดน การปราบปรามที่รัฐกระทำต่อผู้คนในประเทศตัวเอง ผู้คนที่ล้วนมีบัตรประชาชนไทย ก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายต่อหลายครั้ง

และแน่นอนว่า แม้มีความพยายามลบความทรงจำ จงใจทำให้ถูกลืม อาจไม่ปรากฏในแบบเรียน อาจถูกบิดเบือนในคำตอบที่ถูกต้องของข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทว่า ประชาชนไม่เคยลืม

“รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ”

Advertisement

คำตอบฉบับเต็มที่มากกว่าคำว่า ‘จำไม่ค่อยได้’ ของ Tony Woodsame หรือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อถูกถามในแอพพลิเคชั่น ‘คลับเฮาส์’ ห้อง ‘ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้’

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์อย่างกว้างขวาง ทะลักออกมานอก ‘คลับเฮาส์’ สู่เทรนด์ทวิตเตอร์ #ตากใบจำค่อยได้ ทั้งยังปรากฏข้อเขียนของบุคคลต่างๆ แชร์สนั่นผ่านเฟซบุ๊ก

แค่เสียใจไม่พอ ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

Advertisement

เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่ย้อนกลับไปค้นคว้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านไปแล้ว 17 ปี ในขณะที่ภาพทุกฉากยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยในพื้นที่มีการจัดงานรำลึกในแต่ละปี เกิดอนุสรณ์สถานพับนกสันติภาพ และแม้กระทั่งในการชุมนุมของเยาวชนตั้งแต่ยุคแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัย สกายวอล์ก และถนนราชดำเนิน เหตุการณ์นี้ก็กึกก้องบนเวทีปราศรัย

จับ สอบ ยิง เคลื่อนย้ายผู้ต้องหา สู่โศกนาฏกรรมจำไม่ลืม

จุดเริ่มต้นของสถานการณ์ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมอย่างคาดไม่ถึง มาจากการชุมนุมของคนนับพันที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ซึ่งถูกทางการตั้งข้อหา พร้อมคุมขังระหว่างการสอบสวนนานกว่าสัปดาห์ ด้วยข้อสงสัยว่ามีการพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป แต่ชาวบ้านเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ผิด

การชุมนุมดำเนินต่อไป กระทั่งการเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับข้อสรุป เกิดการขว้างปาสิ่งของ ผู้ชุมนุมพยายามเข้าไปภายใน สภ.อ.ตากใบ เพื่อเจรจาอีกครั้ง กระทั่ง แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม เริ่มจากการฉีดน้ำใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา ตามมาด้วยการยิงตอบโต้นาน 30 นาที

ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ สูญหาย 7 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์

2 พฤศจิกายน 2547 หลังเหตุการณ์ราว 1 สัปดาห์ มี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 แต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อสอบข้อเท็จจริง

ปรากฏข้อมูลเผยแพร่ในฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ตอนหนึ่งว่า

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ

“อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้”

ส่วนเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น คือช่วงเช้าของวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยในครั้งนั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการนับ 10 จุด ของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายราย ส่วนผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ราย กว่า 30 รายถูกสังหารในมัสยิดกรือเซะ

ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวว่าฝีมือของกลุ่มโจรกระจอกและพวกขี้ยา เช่นเดียวกับเหตุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าทั้งการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ การเผาโรงเรียน และการวางระเบิดหลายครั้ง ในขณะที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทักษิณกล่าวว่า การโจมตีในครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมซึ่งได้รับการฝึกฝนในต่างประเทศ หลังเกิดเหตุไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างตัวว่าเป็นผู้ลงมือ และไม่มีหลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ

เยียวยาด้วยเงิน ไม่ได้เยียวยาทางกฎหมาย คนผิดยัง ‘ลอยนวล’

ย้อนกลับมาที่ปรากฏการณ์อันสืบเนื่องจากคลับเฮาส์ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ภรรยา ทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้สูญหาย โพสต์ข้อเขียนขนาดยาวผ่านเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งว่า

อย่างไรก็ดีคุณทักษิณได้พูดออกมาคำหนึ่งว่า “ตอนนั้นมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก” ซึ่งแกนนำการล่ารายชื่อยกเลิกกฎอัยการศึกช่วงนั้น คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มฆ่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ก่อนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเหตุการณ์กรือเซะ

คุณทักษิณเคยกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้ถูกบังคับสูญหาย และต่อมารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ได้ให้การชดใช้เยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัว พร้อมๆ กับการเยียวยาผู้เสียหายทางการเมืองในเหตุการณ์ปี 53 ด้วยเหตุผลว่า ‘เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ’ ซึ่งจำได้ว่าสร้างความไม่สบายใจแก่หน่วยงานความมั่นคงอย่างมาก อย่างไรก็ดี การเยียวยาด้วยตัวเงินครั้งนั้นไม่ได้นำสู่การเยียวยาทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและครอบครัว จึงทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

อังคณา วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วยว่า ความที่คุณทักษิณเป็นตำรวจ อาจทำให้มีความเชื่อมั่นและไว้ใจในการทำงานของตำรวจ ให้อำนาจแก่ตำรวจมาก จนปราศจากการตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘รัฐตำรวจ’ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่หากสังเกตจะพบว่าแม้คุณทักษิณจะถูกฟ้องร้องหลายต่อหลายคดีจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่อัยการไม่เคยฟ้องคุณทักษิณกรณีกรือเซะ ตากใบ หรือสงครามยาเสพติด และการอุ้มหายประชาชนจำนวนมากในช่วงนั้น หรืออาจเป็นเพราะกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเหล่านี้มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง ตำรวจ และ ทหาร ที่ทุกวันนี้ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนยศเหมือนไม่เคยได้กระทำผิดใดๆ มาก่อน

เหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้ว 17 ปี อายุความเหลือ 3 ปี ในส่วนของคดีความ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากให้เหตุผลว่า ‘ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต’ ในขณะที่การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ ตามกฎหมายสากล แต่กรณีการบังคับสูญหายหลายคดี รวมถึงคดีสมชาย นีละไพจิตร ที่เป็นคดีพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็มีคำสั่งงดการสอบสวนด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เนื่องจาก ‘ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด’ ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้ก็มีความพยายามอย่างมากในการลบชื่อบุคคลสูญหายในประเทศไทยจากรายชื่อคนหายของสหประชาชาติ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยไม่มีคนหาย

‘17 ปีที่ผ่านมา จึงไร้ซึ่งความยุติธรรม และการเปิดเผยความจริง เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่สังคมไทยควรชำระประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆ เสียที ทั้ง 6 ตุลา พฤษภา 35 พฤษภา 53 กรือเซะ ตากใบฯ เพื่อไม่ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ต้องย้อนกลับไปหาข้อมูลในกูเกิลเพื่อศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้คงต้องฝากคำถามถึงนายกฯประยุทธ์ และรองฯประวิตร ว่า กล้าไหม

แค่เสียใจไม่พอ ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

การรักษาความทรงจำของเหยื่อ เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แต่เราทุกคนจึงควรร่วมกันจดจำ และแม้จะไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่การเรียนรู้อดีตจะทำให้เราสามารถป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผู้กระทำผิดทุกคนต้องได้รับโทษ เพื่อยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทย’ อังคณาย้ำ

ตีความซ้ำ ย้ำความจริง เมื่อคนรุ่นใหม่อยากได้สังคมที่ดีกว่า

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้เปิดประเด็นด้วยคำถามต่ออดีตนายกทักษิณ รวมถึงผู้ขยายต่อประเด็นจากคำตอบที่ได้มา คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่หันมาย้อนประวัติศาสตร์ ตั้งคำถามต่อความรุนแรงจากภาครัฐ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และความมั่นคง มองว่า จริงๆ แล้วเวลาเราพูดถึงความรุนแรงทางการเมือง เป็นการตีความซ้ำเพื่อหาความจริง โดยเฉพาะเมื่อมองปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ อาจไม่ได้ย้อนหาความจริงในแง่การตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงของเหตุการณ์ตากใบมีลักษณะของความพยายามตั้งคำถามต่อโครงสร้างของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่พยายามแสวงหาสังคมที่ดีกว่า เช่นเดียวกับ ‘คลับเฮาส์’ อันเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ค้นหาความจริงได้ในแบบของตัวเองโดยไม่มีอะไรปิดกั้น

ส่วนคำตอบของ ทักษิณ ที่จำไม่ค่อยได้ แต่ ‘เสียใจ’ นั้น ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ มองว่า เป็นความพยายามลืมความจริงบางเรื่อง ที่สำคัญคือ ความจริงบางเรื่อง เป็นความจริงจากใคร เหตุการณ์นั้นเกิดจากอะไรกันแน่

“เอาเข้าจริงๆ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ การบอกว่าจำไม่ค่อยได้ คือการบ่ายเบี่ยงความจริงอีกแบบหนึ่ง คืออยากลืมความจริงบางอย่าง เหตุการณ์ตากใบ การใช้กลไกภาครัฐ การปลุกระดม หรือการตีความเหตุการณ์ดังกล่าว มีความพยายามอธิบายว่า นั่นคือการขุดหลุมล่อให้ภาครัฐใช้ความรุนแรง มีคนบอกว่า เมื่อไหร่ที่ความรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อนั้นความจริงตายทันที คลับเฮาส์ทำให้ความจริงคืนชีพขึ้นมาใหม่”

ศัตรูต่อรัฐ ปรปักษ์ต่ออุดมการณ์ กลไกความรุนแรงต่างระดับ

ถามว่า คำอธิบายในช่วงเวลานั้น กับการตีความในช่วงเวลานี้ เหมือนและต่างอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อข้อมูลตกตะกอน และแนวโน้มการตัดสินใจของภาครัฐในอนาคต ระวังตัว รอบคอบมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยเห็นความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน

“คำพูดของคุณทักษิณกรณีตากใบในยุคนั้น เน้นคำว่า โจรกระจอก หรือ โจรห้าร้อย แต่ต่อมาภาครัฐพยายามขอโทษชาวมุสลิมที่เคยใช้ความรุนแรง ใช้ กำปั้นเหล็ก ในหลายโอกาส คุณทักษิณก็ออกมาขอโทษเองด้วยซ้ำไป โดยสถานะของคุณทักษิณในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีอำนาจทางการเมือง การตอบคำถามที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การตีความเรื่องการมองประเด็นกรือเซะตากใบในอดีต พร่าเลือนไปพอสมควร

ส่วนมาตรการของรัฐ ถ้าจะนำความรุนแรงในกรือเซะตากใบ มาเทียบกับความรุนแรงทางการเมืองในกรณีอื่นๆ มองว่าเป็นบริบทคนละแบบ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะ กึ่งสงครามกลางเมือง แม้ประเทศไทยไม่ได้ใช้คำนี้ แต่ด้วยรูปแบบมีลักษณะที่ถูกมองว่าเป็น ‘ศัตรูต่อรัฐ’ โดยตรง ภาครัฐมองว่าเป็นศัตรูอย่างชัดเจน

ต่างจากความรุนแรงจากการสั่นคลอนอุดมการณ์ทางการเมือง คือภาครัฐกำลังมองประชาชนบางส่วนอย่างไม่เป็นมิตรนัก แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นศัตรูคุกคามอธิปไตยของประเทศในขั้นแบ่งแยกดินแดน กลไกในการใช้ความรุนแรงตรงนี้ สำหรับกรณีแรก คิดว่าความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังคงอยู่ แต่กรณีที่ 2 ในปัจจุบัน ความยับยั้งชั่งใจหรือการคำนวณว่าถ้าภาครัฐใช้ความรุนแรงจะเกิดอะไรขึ้น แนวโน้มกรณีนี้อาจดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้กฎหมาย คิดว่าในช่วงหลังมีการคำนวณข้อได้-ข้อเสียทางการเมืองมากพอสมควร” คือคำตอบของนักวิชาการรัฐศาสตร์

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

ปราบ ‘อารยะขัดขืน’ ไม่รุนแรงแบบซึ่งหน้า เน้นปะทะผ่าน ‘กฎหมาย’

ครั้นมองภาพกว้างทั้งระยะใกล้และไกลในต่างประเทศ ที่สามารถเทียบเคียงเป็นกรณีศึกษากับไทย ทั้งการแก้ปัญหา และการเยียวยาจากภาครัฐ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ ชวนให้ลองพิจารณาตั้งแต่จีน ฮ่องกง จนถึงเมียนมา

“ปกติคนทั่วไปมักมองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐโดยเฉพาะอารยะขัดขืนในกรณีของประเทศเพื่อนบ้าน อาจเป็นกระแสหนึ่งที่ประเทศซึ่งต้องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยพยายามใช้ต่อต้านภาครัฐ และตั้งแต่กรณีของฮ่องกงเรื่อยมาจนถึงไทย และเมียนมาในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เราตั้งคำถามก็คือ ระบอบอำนาจนิยมเองก็เลือกใช้วิธีการปราบคนที่แตกต่างออกไปจากอดีต ในอดีต จีนที่จัดการกับม็อบฮ่องกง ไทยที่จัดการกับม็อบเยาวชนในประเทศ กลไกรัฐระบอบอำนาจนิยม จะไม่ใช้ความรุนแรงแบบซึ่งหน้า แต่จะใช้ความรุนแรงผ่านระบบกฎหมาย เพราะฉะนั้นเป้าในการใช้ มักมุ่งไปที่ผู้นำในการประท้วงต่อต้านรัฐ ไม่ใช่มวลชนขนาดใหญ่ เพราะระบอบอำนาจนิยมก็พัฒนาตัวเองในการปราบหรือใช้ความรุนแรงต่อมวลชนด้วยเช่นเดียวกัน”

‘เมาหมัด’ ข้อมูล ทำตัดสินใจพลาด ย้ำปมอ่อนไหว ฟันธงไม่ได้ในปัจจัยเดียว

แม้เคยถูกถอดบทเรียนมาแล้วหลายรอบ แต่เมื่อเป็นประเด็นปะทุใหม่ ก็ต้องถามอีกครั้ง ถึงบทเรียนจากโศกนาฏกรรมกรือเซะ-ตากใบ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ กล่าวว่า บทเรียนประการแรก คือ การประเมินความมั่นคงโดยเฉพาะภัยคุกคามความมั่นคงของภาครัฐ มีการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง เรียกได้ว่า เมาหมัด ด้วยสถานะในการตัดสินใจ ผู้ที่กุมอำนาจรัฐ จะมีวิธีการตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง บนพื้นฐานของข้อมูลจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ตอนนั้นคุณทักษิณอาจเชื่อข้อมูลที่มาจากฝ่ายตำรวจก็ได้ จึงใช้ กำปั้นทุบเหล็ก ในบริบทปัจจุบัน การบอกว่า จำไม่ค่อยได้ อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณทักษิณก็ได้

อย่างที่ 2 การโยกย้ายข้าราชการไปใน 3 จังหวัดภาคใต้ คงไม่ใช่พื้นที่ที่โยกย้ายข้าราชการไร้ความสามารถอีกต่อไป เพราะประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน ส่วนอย่างที่ 3 บทเรียนของสังคมไทย กรณีของความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งความรุนแรงทางการเมือง มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน ไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เช่น ปัจจัยจากอุดมการณ์สุดโต่ง ปัจจัยเรื่องสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ ปัจจัยเรื่องกลไกรัฐที่มีปัญหา ดังนั้น กรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัด และกรณีกรือเซะ ตากใบ ไม่สามารถฟันธงได้ในปัจจัยหนึ่งปัจจัยเดียว แต่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อสังเกตว่า กรณีกรือเซะ ตากใบ เหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะได้สร้าง ‘นักรบเยาวชน’ คนรุ่นใหม่ที่พร้อมใช้ความรุนแรงกับคนที่มีความเชื่อแตกต่างกันได้อย่างมากมาย

“อย่างกรณี ‘มะรอโซ’ นักรบ อาร์เคเค ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ตอนไปชุมนุมร่วมที่ตากใบ เยาวชนหลายคนแค่ไปดู หรือให้กำลังใจ ไปร่วมม็อบเฉยๆ แต่กลับเจอสถานการณ์ความรุนแรง มีคนตายนับร้อยต่อหน้าต่อตา ถูกกลไกภาครัฐกระทำ ความอยากล้างแค้นก็เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้กลุ่มขบวนการที่อาจไม่ปรารถนาดีต่อความแตกต่างหลากหลายของผู้คนใช้โอกาสนี้ดึงคนไปร่วมได้มากขึ้น”

กลับมาที่การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ความทรงจำในครั้งนี้ อาจารย์รัฐศาสตร์ย้ำว่า การรื้อฟื้นความเจ็บปวด มองได้ 2 แบบ แบบหนึ่ง คือ ความพยายามผ่องถ่ายความรู้สึกเจ็บปวดในอดีต แบบที่ 2 ความรู้สึกอยากล้างแค้น สังคมไทยต้องตระหนักว่าเราจะต้องไม่นำไปสู่ความรู้สึกนี้

ส่วนภาครัฐก็ต้อง ‘เลิกดื้อ’ เปิดใจรับแนวทางการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ

นอกเหนือจากคำว่าเสียใจทั้งจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หยาดน้ำตาในทุกการร่ำไห้ของครอบครัว ความหนักอึ้งบนความรู้สึกเจ็บปวดของสังคมไทยโดยเฉพาะผู้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบันทึกไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ความทรงจำของสามัญชน การรื้อฟื้นเพื่อค้นหาความจริง การนำผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการกฎหมาย และการหาทางออกร่วมกัน คือสิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลงลืม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image