‘คน’ต้องได้อยู่กับป่า ชีวิตบนเส้นแบ่ง ในกำแพงอำนาจรัฐ

หมึกปากกายังไม่แห้งดี หลังรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ในนาม “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” (พีมูฟ) ลงนามในบันทึกข้อตกลง กับชนพื้นเมืองเชื้อสายกะเหรี่ยง

ให้สัญญาว่าจะเลิกคุกคาม เผาบ้าน ทำลายยุ้งฉางและข้าวของ

ให้ 36 ครอบครัว เดินเท้ากลับหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินที่เคยอยู่กินมาชั่วอายุคน ได้อย่างไม่ต้องระแวดระวัง

แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง เมื่อชาวบางกลอยเดินทางกลับจากการปักหลักหน้าทำเนียบ ก็มีการตั้งด่านสกัดทางขึ้น “ใจแผ่นดิน” อีกครั้ง

Advertisement

5 วันถัดมา 22 กุมภาพันธ์ คือวันที่ยุทธการ “พิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” เกิดขึ้นอีกหน เฮลิคอปเตอร์ขับวนหลายสิบรอบ กวาดกลุ่มชาติพันธุ์ลงมาจากพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากบ้านโป่งลึก บางกลอย บนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อจับมือเซ็นเอกสารของทางการ ที่คาดป้ายไว้แล้วว่า “ผู้ต้องหา”

แม้จะอยู่มาก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติก็ตามที แต่ด้วย “กฎ ระเบียบ นโยบาย” ที่ภาครัฐใช้ในการอนุรักษ์ จัดการ ไร้ความสอดคล้องกับวิถี-ประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าไทย

ด้วยการขับไล่ให้กลายเป็นอื่น

Advertisement

ป่าปลอดคน (จน)

ประวัติศาสตร์อัปยศ ประชาชนเป็น ‘ศัตรู’

“รากเหง้าของปัญหานั้น มีอยู่เพียงประการเดียวคือ ความล้าหลังตกยุคของการจัดการอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ที่ยังคงใช้แนวทางที่วางอยู่บนการใช้ความรุนแรงในการขับไล่และกีดกันชนพื้นเมืองออกจากป่า”

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์

โดยชี้ให้เห็นตัวแบบการจัดการป่าอุทยาน ประเภท เป็นศัตรูกับประชาชน ว่า ไม่มีที่ทางอยู่ในการจัดการป่าอุทยานของโลกอีกต่อไป

แต่กลับเป็นใจกลางสำคัญของวิทยาศาสตร์การจัดการป่าอุทยานในไทย อย่าง “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” แห่งแรกที่ไทยภาคภูมิใจ ได้ลอกเลียนการจัดการ มาจากอุทยาน Yellow Stone ของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อัปยศของการขับไล่ชนพื้นเมือง ที่บรรพบุรุษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตป่ามายาวนานไม่น้อยกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 14 ด้วยการใช้กองกำลังทหารบริหารจัดการกว่า 30 ปี ก่อนถ่ายโอนอำนาจให้กับหน่วยงานอุทยาน

เช่นกันกับไทย ที่ “ปิ่นแก้ว” บอกว่า ป่าอุทยานแห่งชาติถือกำเนิดขึ้นโดยรัฐราชการ ที่ใช้อำนาจเผด็จการในการแย่งชิงอำนาจ โดยใช้ประโยชน์จากประชาชนมาไว้ในมือของกลุ่มข้าราชการ เทคโนแครตของกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน ภายใต้แนวคิด ป่าปลอดคน

หากแต่ ปลอดเฉพาะคนจน หรือ คนชายขอบ

เพราะในขณะที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า อุทยานกลับเปิดทาง อนุญาตให้ชนชั้นกลางได้ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอย่างรื่นรมย์

“ประวัติศาสตร์ของการจัดตั้งป่าอุทยานทั้งในไทย และในที่อื่นๆ ทั่วโลก จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการเบียดขับทางชนชั้นที่เข้มข้นและรุนแรง ซึ่งแน่นอน เต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างไม่ยอมถอยของกลุ่มชนพื้นเมืองที่สูญเสียแผ่นดินของตน” ปิ่นแก้วยืนยัน

ล้าหลัง-สวนกระแส

โลกหนุนชนเผ่า ไทยเอาความรุนแรง

อาจารย์ปิ่นแก้วยังเปิดเผยด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางการจัดการอุทยานทั่วโลก คือการประกาศใช้ “กระบวนทัศน์ใหม่” ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ วางอยู่บนหลักการของการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าอนุรักษ์ ให้เขาใช้ประเพณีและความรู้พื้นเมือง ดูแลและจัดการป่า และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อีกด้วย

อย่างใน “ออสเตรเลีย” มีป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมือง Indigenous Protected Areas (IPAs) กว่า 72 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด

“แคนาดา” มีการจัดรูปแบบการจัดการป่าแบบ ICCAs ในหลากหลายลักษณะ ร่วมกันจัดการระหว่างรัฐกับชนพื้นเมือง “ฟินแลนด์” ก็เช่นกัน

คือแนวทางหลักในการจัดการป่าอุทยานของโลกในปัจจุบัน แม้สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของไทย ก็ยังมีความก้าวหน้า ด้วยการการออกกฎหมาย Tribal Self Governance Act (1994) รับรองสิทธิในการจัดการพื้นที่ของชนพื้นเมือง ซึ่งเปิดให้ชนพื้นเมืองสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง เช่น Yosemite, Redwood, Mount Rainier

อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐ Jonathan Jarvis เคยกล่าวไว้ว่า การห้ามมิให้ชนดั้งเดิมในป่าได้ใช้ประโยชน์จากป่านั้นเป็นสิ่งที่ผิด และจำเป็นต้องมีการแก้ไข โฆษกของกรมอุทยานแห่งชาติได้ระบุถึงท่าทีของผู้บริหารกรมอุทยานฯ ว่า

ผู้อำนวยการ Jarvis มีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งในการทำงานในป่าอุทยานที่ซึ่งความผูกพัน ระหว่างชนพื้นเมืองอเมริกันและแผ่นดินที่ปัจจุบันกลายมาเป็นอุทยานฯ ดำเนินมาอย่างไม่เคยขาดสะบั้น ท่านเชื่อว่า “การรักษาความผูกพันดังกล่าวไว้ จะสามารถเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า ในขณะที่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า และยังเปิดโอกาสให้กับชาวอเมริกัน ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองอเมริกันได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย” อาจารย์ปิ่นแก้วเล่า

ก่อนย้อนมองกรณีไทย ปรับโฟกัสไปที่ “การใช้กฎหมายล้าหลังของกรมอุทยานแห่งชาติ” และ “การผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากร” เป็นต้นตอที่ทำให้ป่าตกอยู่ในมือของรัฐราชการมาเป็นเวลานาน ถูกทำให้แย่ลงด้วยรัฐประหารซ้ำซาก นำไปสู่การนำแนวทางให้ทหารมาขับไล่และใช้ความรุนแรง

“เป็นการจัดการอุทยานถอยหลังไปยังประวัติศาสตร์ในยุคการล่าอาณานิคมโดยแท้ ในขณะที่ทั่วโลกหันมาใช้แนวทางการคืนสิทธิให้กับชุมชนในการจัดการป่าอุทยาน

นักป่าไม้ไทยกลับสวนกระแสโลกด้วยการรวมศูนย์อำนาจ ยึดเกาะอยู่กับโมเดลป่าปลอดคนของโลกเก่า ทำให้ป่ากลายเป็นพื้นที่แห่งการกดขี่ทางชาติพันธุ์ บ่มเพาะความขัดแย้งทางสังคม ถอนรากถอนโคนชนพื้นเมืองออกจากแผ่นดินที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิต และเป็นพื้นที่แห่งการสืบสานจิตวิญญาณของพวกเขา”

อาจารย์ปิ่นแก้วจึงมองว่า ป่าประเภทนี้ไม่ใช่ป่าอุทยานที่ให้ร่มเงาแก่ชีวิตของผู้คนในความหมายร่วมสมัย หากแต่เป็นป่าช้า และสุสานที่รัฐราชการยัดเยียดให้กับกลุ่มชน

กรณีบางกลอย จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากปฏิบัติการที่สะท้อนวิธีคิดของรัฐไทย ที่มีต่อชนพื้นเมืองชายขอบ

เมื่อก่อน ‘คนอยู่ในป่า’

อย่าปล่อยกำแพงบังตา

แก้วใส

“ข้อแรก คุณเป็นถึงรัฐบาล รัฐมนตรี โดยปกติคุณมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนอยู่แล้ว แล้วคุณก็เซ็นลงนามด้วยปากกา ด้วยน้ำหมึกของพวกคุณเอง แต่สุดท้ายคุณก็ลบลายเซ็นที่ให้สัญญากับพี่น้อง สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกก็คือ ‘โกหกประชาชน’ แล้วจะให้เราไว้ใจได้อย่างไรว่ากรณีอื่นๆ พวกเขาจะไม่ทำอย่างนี้อีก คนที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน กลับเป็นคนผิดสัญญาเอง อย่างนี้ก็ไม่มีความเชื่อถืออีกต่อไป ที่รัฐบาล รวมถึงคณะทำงานของรัฐบาลนี้จะอยู่ต่อ”

ณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ “แก้วใส” นักร้องและมือกีตาร์วงสามัญชน เผยความรู้สึกขณะร่วมเดินทะลุฟ้า กับ “ราษฎร” และเครือข่าย “People go network” ในวันที่ 8 ก่อนจะซัดต่อว่า หลายแห่งชาวบ้านอยู่มาก่อน แต่อุทยานฯ ไปขีดแผนที่ทับ ใช้มาตรการไล่คนออกมาอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการอ้างว่าป่าหายไป แต่ประเด็นคือ เขาอยู่มาก่อน แต่คุณไปขีดทับเขา แล้วคุณก็บังคับเขา

“เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ คนกับป่า อย่ามาอ้างเรื่องทำลายป่า ถามว่าสมัยก่อนใครเป็นคนทำลาย ‘รัฐบาล’ ไปไล่จับคนให้สัมปทานจะดีกว่า เพราะพื้นที่พี่น้องทำกินก่อนหน้านั้นก็ไม่มีอะไร แต่พอจะประกาศเป็นมรดกโลกเท่านั้นแหละ กุลีกุจอไปเอาเขาออกมา บังคับเขาออกมา แล้วการที่เขาต้องลงมาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ก็ไม่สามารถอยู่ได้จริง เขาไม่ได้สบายใจที่จะอยู่ตรงนั้นเลย” แก้วใสเล่า

แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้นำมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาใช้เป็นแนวทาง ประกอบการวินิจฉัยการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อุทยาน

ก่อนชี้ว่า บางกลอย-ใจแผ่นดิน ถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกากะญอ และพลิกคำตัดสินเดิม ให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีความผิด

แต่จากการลงพื้นที่ “แก้วใส” บอกว่า เห็นชาวบ้านต้องขออนุญาตทุกอย่างหากจะทำอะไร แม้มีบางองค์กรลงไปช่วยเหลือ ก็เป็นเพียงการเอาพระบังหน้า บางองค์กรเข้าไปก็กดเขาไว้ เหมือนตรงนั้นเป็นสวนสัตว์ มีการสร้างพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พยายามให้ดูเป็นพื้นทางวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้า แต่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านจริง จะทำอะไรก็ลำบาก รายได้น้อย สำคัญคือที่นั่นปลูกข้าวได้ยากมาก เอาอะไรไปยัดให้เขาก็ไม่รู้ให้เขาไปปลูกโดยที่ไม่ใช่วิถีของเขา

“ไม่แน่ใจว่าคนเมืองที่ชอบสีเขียวของป่าจะเข้าใจได้หรือไม่ ว่าความเป็นคน ความเป็นมนุษย์มันสำคัญแค่ไหน มากกว่าแค่ต้นไม้ คุณไปละเมิดเขา ไม่แปลกที่พี่น้องต้องออกมาเรียกร้อง สิ่งที่ต้องยืนยันคือ เป็นสิทธิที่เขาควรจะอยู่ได้ แต่รัฐเองเป็นคนตระบัดสัตย์ เป็นคนโกหกประชาชน รัฐเองที่เป็นคนสร้างความไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก นี่คือความเป็นจริง คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นี่คือคนที่มีเลือดเนื้อเหมือนกัน

“คนในประเทศนี้ก็เป็นชาติพันธุ์ทั้งนั้น ในพม่าก็มีหลากหลาย ชาติพันธุ์ก็คือคน ความหมายของคนก็คือ เท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะทำอะไรก็เข้าใจความเป็นคนหน่อย เคารพศักดิ์ศรีกันหน่อย มีหัวจิตหัวใจกันหน่อย ไม่ใช่ว่าอยากจะทำอะไรกับใครก็ได้ กรีดเลือดกรีดเนื้อออกมาก็มีเลือดเหมือนกัน ขอให้มองตรงนี้บ้าง อย่าไปมองแค่ตัวเลขในเชิงเศรษฐกิจ แค่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่คุณจะได้มา อย่ามองเขาเหมือนสัตว์ เหมือนตัวอะไรที่จะฆ่าก็ได้

‘ชาติพันธุ์ก็คือคน’ และ ‘คุณก็คือคน’ ไม่ว่าจะเผ่าพันธุ์ไหน เราก็คือคนเหมือนกันหมด แต่ก่อนคนเราอยู่ในป่า เพียงแค่ความเจริญเข้ามา คนส่วนหนึ่งก็กระโดดจากป่าไปอยู่เมือง ไม่รู้กำแพงอะไรที่มากั้นคนกับคนเอาไว้

เพียงแค่เราอยู่กันคนละพื้นที่ กลับรังเกียจเดียดฉันท์กัน

อย่ามองเขาว่าเป็นคนอื่น ‘คน’ ไม่มีอื่น อย่าแบ่งว่าเขาคือคนป่า คนก็คือคนเหมือนกัน ทำลายกำแพงระหว่างหัวใจคน ทำลายกำแพงความเกลียด ความกลัว ทำลายม่านหมอกที่มันบังตาของเราไว้ ที่ไม่รู้ใครสร้างมาแล้วมาแบ่งพวกเราออกจากกัน แล้วเราจะกลับเข้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนเหมือนกันที่มองว่า คุณคือคน ฉันคือคน แล้วเราจะเข้าใจกัน จะมีการจัดสรรผลประโยชน์ที่เหมาะสมซึ่งกันและกัน” แก้วใสคิดเช่นนี้

ดังที่บทเพลง “ชีวิตสัมพันธ์” มักถูกขับขานโดยเหล่านักรักธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง

คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน

ต้นไม้งาม คนงดงาม งามน้ำใจ ไหลเป็นสายธาร

ชุบชีวิต ทุกฝ่ายเบิกบาน

มีคน มีต้นไม้ มีสัตว์ป่า

เหลื่อมล้ำ อำนาจ

วาระแห่งชาติ ที่ต้องทบทวน

เพราะโครงสร้างอำนาจที่เหลื่อมล้ำและผูกขาด จาก “ที่ดิน” ไปถึง “อำนาจรัฐเผด็จการ”

คือเหตุที่ “เพชร” จากองค์กร “Land Watch THAI” หนึ่งในผู้จับตาปัญหาที่ดินทั้งในเขตพื้นที่ที่ดินป่าไม้และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มาร่วมเดินทะลุฟ้าอย่างแน่วแน่

เดินเพื่อพูดความจริง เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหา เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

“เพชร” มองว่า ปัญหาพรากสิทธิที่ดิน ยิ่งวิจัย ยิ่งเก็บเกี่ยว ก็ยิ่งแยกไม่ออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

ใต้คำว่า “สิทธิชุมชน และ สิทธิมนุษยชน”

“เพชร” ชี้ว่า คนไทยกว่า 75% ไม่มีที่ดินของตัวเอง อีก 15% มีที่ดินไม่ถึง 10 ไร่ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินมหาศาล หลักหมื่น-แสนไร่

เพชร

ในขณะที่ชาวนาผู้ผลิตข้าว สร้างชื่อเสียงให้กับคนไทย แทบไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจากที่ดิน

จำกัดการอยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่หลายๆ ที่ แต่กลับให้พื้นที่เดียวกันในแบบนี้สามารถระเบิดภูเขา สร้างที่พักสวยงามบนยอด

“เราอยู่ในสังคมที่เราไม่มีแม้กระทั่งโอกาสกำหนดสีผังเมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตตัวเอง คนที่มีส่วนในกำหนดคือรัฐบาลกับนายทุนที่จูบปากกันแล้วก็หาประโยชน์ใส่กระเป๋าตัวเอง

เราอยู่ในเมืองที่ราคาที่ดินสูงลิบลิ่ว คนมนุษย์เงินเดือนหรือชนชั้นกลางทั่วไปต้องอยู่อาศัยหรือซื้อคอนโดในราคามหาศาล ตั้งคณะมาแก้ไขปัญหาแบบวนอ่างอยู่ร่ำไป

ผมคิดว่ามันต้องทบทวนกันใหม่ เป็นวาระสำคัญของประเทศชาติ ที่จะต้องจำกัดการถือครองที่ดิน จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า” เพชรเสนอแนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image