จาก ‘สวัสดีวันจันทร์’ ถึง ‘คลับเฮาส์’ เจาะปมฮิต เปิดคะแนนความรู้ทัน กับวันพรุ่งนี้ของ ‘พลเมืองดิจิทัล’

‘สวัสดีวันจันทร์’

เช้านี้ท่านได้รับภาพดอกไม้พร้อมข้อความคุ้นตาแล้วหรือยัง ?

ท่ามกลางโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลก้าวไกลและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อวิถีชีวิต การทำงาน และธุรกิจอุตสาหกรรมในสังคม อีกทั้งไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนสไลด์มือถือเสพข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นซึ่งหากใช้อย่างสร้างสรรค์ย่อมเกิดประโยชน์มหาศาล ทว่า ในทางกลับกัน ยังมีคอนเทนต์ประเภท ‘ข่าวปลอม’ ลามก บูลลี่ หลอกลวง ส่งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ล่าสุด มีข้อมูลน่าสนใจ จาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเผยผลสำรวจ สถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัลของคนไทย ปี 2563-2564 ชี้ประเด็นการเข้าถึงสื่อ การประเมินวิเคราะห์ และการสร้างอยู่ใน ระดับดี แต่ที่น่าห่วงคือกลุ่ม ‘ผู้สูงวัย’ ที่เสี่ยงถูกหลอกลวงซื้อสินค้าด้านสุขภาพ

Advertisement

ประชาชนไทยได้เกรด ‘ระดับดี’

ประเมินถูก วิเคราะห์ได้ จัดไป 70%

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน

มาลงลึกในรายละเอียด ซึ่ง ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การสำรวจที่ว่านี้ดำเนินผ่านช่องทางออนไลน์ มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 5,239 คน ผลสรุปพบว่า ประชาชนไทยมีคะแนนการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับดี (70%) โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การเข้าถึงอยู่ในระดับดี (66%) การประเมินวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข่าวสารอยู่ในระดับดี (74%) และการสร้างสื่อด้วยความตระหนักถึงผลที่จะตามมาอยู่ในระดับดี (71%)

“ผลการสำรวจชี้ให้เห็นความสำคัญของการตระหนักรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ต่อไปอาจใช้วิธีให้ Influencer ที่มีอิทธิพลเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชนในการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์และสื่อดั้งเดิม อย่างโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ การเปิดช่องโทรทัศน์ดาวเทียมเพื่อเป็นอีกช่องทางในการถ่ายทอดเนื้อหาการรู้เท่าทันสื่อ การให้ข้อเท็จจริง และแนะนำการใช้อินเตอร์เน็ตแก่ประชาชน รวมถึงแผนในอนาคตจะมีการพัฒนาเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น “รู้เท่าทันสื่อ” (Media Information and Digital Literacy Assessment : MIDL-A) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน มีการประเมินระดับการรู้เท่าทันสื่อด้วยตนเอง พร้อมรายงานผล และได้รับใบรับรองเมื่อผ่านการประเมินตลอดจนการแนะนำสิ่งที่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมจากผลการประเมิน” ผศ.ดร.สุภาภรณ์ระบุ

นิทรรศการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ เมื่ือปี 2562

เด็ก-เยาวชน รู้เท่าทันกว่าผู้ใหญ่

ใช้ช่องทางหลากหลาย ‘ค่าเน็ต’ พุ่ง!

นอกจากประชาชนทั่วไป ยังมีการสำรวจในกลุ่ม ‘เด็กและเยาวชน’ ซึ่งน่าสนใจว่า ได้คะแนนสูงกว่าประชาชนทั่วไปเสียอีก คือ 72%

Advertisement

ดร.ธนากร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า กลุ่มเด็กและเยาวชน มีคะแนนการรู้เท่าทันสื่อสูงที่สุดอยู่ในระดับดี (72%) และมีพฤติกรรมการใช้สื่อหลากหลายช่องทาง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าการใช้สื่อหลายช่องทาง มีแนวโน้มการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศดีขึ้น ดังนั้นแนวทางการพัฒนาควรยกระดับส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีการรู้เท่าทันสื่อเพิ่มขึ้นให้อยู่ในระดับดีมาก (80% ขึ้นไป) โดยการเสริมเนื้อหาการรู้เท่าทันสื่อในหลักสูตรการจัดกิจกรรมส่งเสริม อาทิ กิจกรรมฝึกฝนทักษะการใช้สื่อ การประกวดผลิตสื่อ

ดร.ธนากร ศรีสุขใส

“การศึกษานี้เน้นเรื่องภัยสื่อลามก การบูลลี่ การหลอกลวง และการละเมิดข้อมูลนำข้อมูลคนอื่นมาใช้ ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนจะต้องเข้าใจข้อมูล และใช้สติในการเสพข้อมูล ไม่หลงเชื่อเฟคนิวส์ ส่วนปัญหาของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่พบ คือ ค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต จึงควรสนับสนุนบริการอินเตอร์เน็ตจากทั้งภาครัฐและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต สำหรับกลุ่มคน ‘วัยทำงาน’ มีคะแนนการรู้เท่าทันสื่ออยู่ในระดับดี (64-70%) ส่วนใหญ่พบปัญหาการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว จึงควรส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้กับบุคลากรในหน่วยงาน ส่งเสริมให้เข้าใช้เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นรู้เท่าทันสื่อ จัดการอบรมให้ความรู้โดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น การอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และภาครัฐให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่นิติบุคคล หรือบริษัทที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้” ดร.ธนากรแนะ

ผู้สูงวัย หลงเชื่อง่าย

เสี่ยงถูกหลอกซื้อยา-สมุนไพร

มาถึงกลุ่มสุดท้าย นั่นคือ ‘กลุ่มผู้สูงอายุ’ ซึ่งมีคะแนนการรู้เท่าทันสื่อต่ำที่สุด อยู่ในระดับพื้นฐาน (63%) สื่อสังคมออนไลน์ที่ฮิตมาก คือ เฟซบุ๊ก และไลน์ ในการรับชมสื่อ ติดต่อสื่อสาร และค้นหาข้อมูลออนไลน์เป็นหลัก มีความเสี่ยงสูงในการหลงเชื่อ ไปจนถึงการถูกหลอกลวงได้ โดยเฉพาะประเด็นเนื้อหาด้านสุขภาพ เช่น กินยา หรือสมุนไพรนี้แล้วจะหายจากโรค ทั้งที่ไม่เป็นจริง หรือการถูกหลอกลวงขายสินค้า ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุยังขาดประสบการณ์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุ เช่น เริ่มจากส่งเสริมภายในชุมชน โดยการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) เป็นตัวแทนถ่ายทอดความรู้ต่อให้ผู้สูงอายุในชุมชน และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่างเยาวชน และผู้สูงอายุ เน้นให้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจ รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ผ่านสื่อดั้งเดิมด้วยเนื้อหาที่ผู้สูงอายุสนใจ เพื่อป้องกันการหลงเชื่อ ถูกหลอกลวงจากสื่อออนไลน์

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผนึกพลังความร่วมมือลงนาม MOU 5 องค์กร ประกอบด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์, สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัลของคนไทย รองรับสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างมีคุณภาพ โดยทั้ง 5 องค์กรจะร่วมมือกันในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ พร้อมก้าวเข้าสู่เป้าหมาย “ความเป็นพลเมืองดิจิทัล” (Digital Citizenship)

‘คลับเฮาส์’ ทำไมฮิต?

เสียงคือพลัง ‘ข้อจำกัด’ ยิ่งทำให้เลอค่า?

มาถึงประเด็นของแอพพลิเคชั่นที่ฮิตหนักมากในไทยแลนด์เวลานี้ จะเป็นแอพพ์ใดไปไม่ได้นอกจาก ‘คลับเฮาส์’ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสร้างห้องสนทนา แล้วตั้งหัวข้อต่างๆ ที่ต้องการจะพูดคุย เพื่อให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันเข้ามาฟังหรือร่วมพูดคุยด้วย ภายในห้องจะมีพิธีกร (Moderator) ที่สามารถอนุญาตให้ผู้ฟังมาเป็นผู้พูด (speaker) ร่วมสนทนาได้

คลับเฮาส์ เป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีคนดังอย่าง อีลอน มัสก์, แม้แต่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก รวมถึงดารา และบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ใช้พูดคุยในหลากประเด็น จึงทำให้เป็นกระแสความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจสิ่งแปลกใหม่ ทำให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก สำหรับเมืองไทย ก็มี ‘พี่โทนี่’ ซึ่งมีชื่อจริงว่าทักษิณ ชินวัตร เคาะประตูห้องสร้างความฮือฮามาแล้วหลายรอบ

อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดคือยังไม่รองรับระบบแอนดรอยด์ และต้องให้ผู้ที่มีบัญชีผู้ใช้อยู่ก่อนแล้วเป็นผู้เชิญเข้ามาจึงจะสามารถใช้งานได้ และจำกัดเชิญได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กูรูด้านการประชาสัมพันธ์ อธิบายว่า คลับเฮาส์ สามารถใช้สร้างความสัมพันธ์ และชุมชนของตัวเองได้ การจำกัดการเข้าใช้งานทำให้คลับเฮาส์ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้น การสนทนาในคลับเฮาส์ต่างจากพ็อดคาสต์ตรงที่เป็นการสื่อสารสองทาง (two-way communication) ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังแบบเรียลไทม์ มีการถามตอบ แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ทันที โดยพิธีกรมีบทบาทสำคัญมากในการใช้ทักษะปฏิภาณไหวพริบในการทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น จากประสบการณ์ของคนที่เข้าใช้แอพพลิเคชั่นนี้พบว่า คุณภาพเสียงมีความชัดเจน มีเสียงก้องและเสียงรบกวนน้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น

นอกจากการพูดคุยในประเด็นหลากหลายของบุคคลทั่วไป ดร.ดนัย ยังมองว่าคลับเฮาส์ ยังมีประโยชน์ในด้านการตลาด การสื่อสารของแบรนด์สินค้า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้วก็ตาม

“แบรนด์สามารถสร้างชุมชนของตัวเองด้วยการตั้งหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ เช่น เรื่องสุขภาพ การออกกำลังกาย การพัฒนาตนเอง การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์ ผลลัพธ์ที่ได้คือ จะทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น ถือเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ สามารถนำมาทดแทนการจัดงานสัมมนา การจัดการประชุม ระดับใหญ่ ที่มีห้องสัมมนาย่อยหลากหลายหัวข้อและผู้บรรยาย เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเลือกเข้าฟังในหัวข้อที่สนใจได้ และยังควบคุมทิศทางการสื่อสาร โดยขณะนี้มีสื่อและองค์กรหลายแห่งเริ่มนำคลับเฮาส์มาใช้ในการจัดกิจกรรม เช่น การแถลงข่าว งานเสวนา เพราะพิธีกรของห้องสนทนาแต่ละห้องมีอำนาจในการกำหนดว่าผู้ฟังหรือผู้เข้าร่วมห้องสนทนาคนไหนสามารถพูดได้ สามารถปิดเสียงคนที่กำลังพูดอยู่ได้ จึงสามารถควบคุมสถานการณ์และทิศทางการสนทนาได้ง่ายกว่า ขึ้นอยู่กับทักษะปฏิภาณไหวพริบของพิธีกรด้วยที่จะทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น”

สำหรับผู้ใช้คลับเฮาส์ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ ดร.ดนัยแนะว่า ควรฝึกการพูดและการใช้เสียงให้มีพลังดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจน เพราะเสียงเป็นสิ่งที่ทรงพลังในคลับเฮาส์

ทั้งหมดนี้คือ สถานการณ์อัพเดตของพลเมืองดิจิทัลแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีประเด็นใหม่ๆ ให้ติดตามในทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image