สื่อ ‘ไขว่ห้าง’ สะท้านทำเนียบ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่?

สื่อ ‘ไขว่ห้าง’ สะท้านทำเนียบ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่?

“เธอเอาขาลงไม่ได้เหรอ นั่งไขว่ห้างกับฉันเนี่ย เอาขาลงได้มั้ยเธอ ขาเธอ เท้าเธอ”

ประโยคเด็ด ประโยคเดียว จากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมสีหน้าไม่พอใจ ก่อนถอนหายใจในวงสัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อประเด็นให้ถูกจุด ลุก ลามไปร้อนแรงต่อในทุ่งโซเชียล

เมื่อมีความเห็นจาก บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่เสริมความผ่านสเตตัสเฟซบุ๊ก ว่า การให้เกียรติแหล่งข่าว เป็นมารยาทของสื่อมืออาชีพ

Advertisement

“ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนจาก ‘อนาล็อก’ เป็น ‘ดิจิทัล’ ไปแล้วก็ตาม วัฒนธรรมอันดีงามของไทยไม่เคยเปลี่ยนและยังคงอยู่อย่างมีคุณค่า คือความนอบน้อมต่อผู้อาวุโสกว่า เช่นเดียวกับนักข่าว พึงให้เกียรติสถานที่และแหล่งข่าวทั้งการแต่งกายและกิริยาท่าทางตามกาลเทศะ”

กรรมการจริยธรรมแห่งสมาคมสื่อ กล่าวไว้ในยุค 2021 สมัยที่สตรีนั่งไขว่ห้างอย่างตะวันตกเป็นเรื่องปกติ จนไม่น่าจะหยิบยกมาเป็นสาระ

สังคมออนไลน์แห่แชร์ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งไขว่ห้าง ขณะให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ ที่งาน “Asia Society” เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 26 ก.ย. 2562 

ก่อนเอิกเกริกไปกับกระแสการปรับทัศนคติ “นักข่าวสาว” รายดังกล่าว เพราะทำท่านผู้นำฉุนจัด จนถูกสั่ง “ห้ามเข้าทำเนียบรัฐบาล” แต่น่าฉงน ที่กลับไม่ปรับทัศนคติผู้ที่โยนกล้วย และฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่หน้านักข่าว

Advertisement

คืออีกครั้งที่สื่อถูกเพ่งเล็งและทวงถามหา “จรรยาบรรณ” กันยกใหญ่

ในเวลาที่องค์กรวิชาชีพสื่อเอง ก็ยังก้าวไม่พ้นความเป็นไทย

ขณะที่ผู้นำ หลงระเริงในอำนาจ

ตำรวจทางจริยธรรม

ไม่ยักห้าม ‘สื่อ’ ปลุกความเกลียดชัง

“บรรยงค์ก็เป็นมืออาชีพในแง่จริยธรรม คอยตักเตือนสื่อว่าไม่ควรทำงั้น ทำงี้ เช่นอย่าละเมิดสิทธิเด็กหรือคนที่ตกเป็นข่าว

ดีอยู่หรอกครับ แต่ไม่ยักห้ามสื่อที่ปลุกความเกลียดชัง หรือห้ามไม่ได้
ไม่ยักห้ามสื่อที่ขายข่าวแบบลุงพล แต่ไปประณามลุงพล

ไม่ยักปกป้องสิทธิของประชาชนที่ถูกกระทำ ม็อบถูกสลายด้วยความรุนแรง”

อธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์อาวุโส ชี้ว่า คำกล่าวของ บรรยงค์ครั้งนี้ ยิ่งแสดงกรอบทรรศนะที่แคบอย่าง “คนดีตกยุค”

เพราะหากเป็นนักข่าวของตนนัดสัมภาษณ์พิเศษประยุทธ์ตัวต่อตัว ก็จะบอกว่า “นั่งไขว่ห้างก็คงไม่เหมาะ ต้องให้เกียรติแหล่งข่าวทำตัวให้เหมาะกาลเทศะ ฯลฯ

แต่ในห้องแถลงข่าวไม่จำเป็น เพราะมีนักข่าวเต็มไปหมด ไม่ใช่จะต้องรักษาบรรยากาศ

“คือถ้าจะพูดแบบกลวงๆ กลางๆ ก็พูดได้ว่า ไม่น่านั่งไขว่ห้างหรอก แต่ไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่โตคอขาดบาดตาย สมควรหรอกที่โดนทัวร์ลงถอนหงอก” ใบตองแห้ง ฝากข้อคิด

กระทั่ง ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ หัวหน้าพรรคก้าวล่วง ก็ออกมาแซะ กก.จริยธรรม สมาคมสื่อ ว่า

“นักข่าวโดนกระสุนยาง = เงียบเป็นเป่าสาก นักข่าวนั่งไขว่ห้าง = ตักเตือน”

เพราะเรื่องเล็กเก็บมาคิด เรื่องใหญ่ไม่อยากพูดถึง

หากแต่เป็น “ตำรวจทางจริยธรรม” เป็น “ครูฝ่ายปกครอง” ที่คอยตรวจเล็บ ตรวจผม นักข่าว

ภาพบาดแผล ของ “ผู้สื่อข่าวประชาไท” จากการถูกกระสุนยางยิงเข้าบริเวณหลัง ขณะทำการถ่ายทอดสดสถานการณ์ บริเวณปากซอยข้าวสาร ใกล้กับสี่แยกคอกวัว

เปิดมุมมอง ย้อนคิด

สิ่งที่รัฐ ทำต่อ ‘สื่อ’

หากพิจารณาอย่างรอบด้าน ด้วยการเปรียบเทียบ ประกอบกับการฟัง “เสียงวิพากษ์” ที่เริ่มหนาหู และย้อนดูอดีต มีหลายกรณีที่นักข่าวเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ไม่เคยได้รับการปกป้องจากองค์กรวิชาชีพ

ย้อนไปปี 2563 ในเหตุการณ์สลายชุมนุม 16 ต.ค. ผู้สื่อข่าวประชาไท มีป้ายห้อยคอเเละปลอกเเขน ถูกเจ้าหน้าที่ไม่ให้ถ่ายรูป และเข้ามาควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขัง ก่อนที่จะพาตัวไปที่ สน.ปทุมวัน และย้ายไป ตชด.ภาค 1

13 ก.พ. สลายชุมนุม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” ของ กลุ่มราษฎร นำมาซึ่งการบาดเจ็บ ทั้งตำรวจ ผู้ชุมนุม กระทั่งสื่อมวลชนที่รายงานสถานการณ์

28 ก.พ. กลุ่ม REDEM ชุมนุมที่ “ราบ 1” นักข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า ถูกคุมตัวขณะรายงานเหตุสลายการชุมนุม ใกล้กับ สน.ดินแดง ไปยัง ตชด.ภาค 1 ในเบื้องต้น ถูกแจ้งข้อหาเดียวกันกับผู้ชุมนุม เเละให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน

จนถึงการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อ 20 มีนาคม กระสุนยางมุ่งตรงไปยังนักข่าวและช่างภาพ ขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุม จนบาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย

1.ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกกระสุนยางเข้าที่บริเวณหลัง ขณะถ่ายทอดสด รายงานสถานการณ์ที่ปากซอยข้าวสาร

2.ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกกระสุนยางเข้าเหนือขมับด้านขวา ขณะกำลังยืนปฏิบัติหน้าที่ บริเวณแยกคอกวัว

พร้อมกับ 3.ผู้สื่อข่าว “ข่าวสดออนไลน์” ถูกกระสุนยางยิงแฉลบเข้าที่ขาอ่อนข้างซ้าย

(จากซ้าย) ผู้สื่อข่าว “ข่าวสด” และช่อง 8 ถูกกระสุนยางจากเหตุการณ์สลายชุมนุม เมื่อ 20 มี.ค. 2564

ประเด็นสำคัญ คือ ทุกครั้งมีการ สั่งห้ามสื่อมวลชนบันทึกภาพขณะสลายการชุมนุม

กระทั่ง 28 มี.ค. วันที่ คฝ.เข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ที่สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อเคลียร์ทางให้ ครม.ได้ถ่ายรูปประดับตึกไทยคู่ฟ้า ก็มีการกันนักข่าวไม่ให้บันทึกเหตุการณ์สลายชุมนุมเช่นกัน

ในมุมนักกฎหมาย อย่าง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ มองว่า

“ตำรวจมาแผนใหม่ จริงจังมากในการกันนักข่าวและคนที่จะถ่ายรูปออกไป รู้อยู่แล้วว่าการจับผู้ชุมนุมที่นั่งและนอนอยู่โดยสงบเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี (ผิดกฎหมายด้วย) แทนที่จะเลือกไม่จับ กลับเลือกพยายามไม่ให้มีภาพ พวกเขาทำสำเร็จระดับหนึ่ง มีภาพและคลิปออกไปน้อยกว่าครั้งอื่น แต่ก็ยังมีบ้าง”

หรือต้องสักคำว่า ‘สื่อ’ กลางหน้าผาก?

หลากคำวิพากษ์ หลัง ‘องค์กรวิชาชีพสื่อ’ ออกแอ๊กชั่น

เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นในมุมผู้สื่อข่าว เมื่อ “องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน” มีท่าทีต่อกรณีการชุมนุม 20 มีนา เป็น “ครั้งแรก” ออกแถลงการณ์ความว่า มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น และไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ พร้อมแนะฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่า

1.การชุมนุมของประชาชน หากสงบ ย่อมเป็นสิทธิ

2.การสลายการชุมนุมควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน โดยแจ้งให้ผู้ชุมนุมและสื่อรับทราบอย่างชัดเจน

3.ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ต้องปฏิบัติตาม “แนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤต” โดยเคร่งครัด

4.องค์กรสื่อต้นสังกัด ต้องร่วมประเมินสถานการณ์ และเน้นย้ำให้บุคลากรในสังกัดใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่สิ่งที่คาใจ คือการเน้นย้ำปิดท้ายว่า

“แต่ต้องเข้าใจว่า ปลอกแขนดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือในการป้องกันกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด จะต้องประเมินสถานการณ์และปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตด้วย”

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์ขนานใหญ่ “ที่โดนเมื่อคืนก็ใส่ปลอกแขนคร้าบ หมวกเซฟตี้ที่ใส่กันก็แสดงตนว่าเป็นนักข่าวคร้าบบบบ // กุมขมับ” นักแสดงหญิง ฉายาแม่ยกแห่งชาติ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ออกแอ๊กชั่น โพสต์ข้อความ

ณัฐกานต์ พรชีวางกูร อดีตนักข่าววอยซ์ ทีวี ที่แม้จะไม่ได้เป็นสื่อแล้ว แต่โกรธแทนพี่น้องนักข่าว โพสต์ข้อคิดเห็นใจความว่า สมาคมนักข่าวแถลงแบบนี้ อย่าแถลงดีกว่า

แนะว่า สิ่งที่ต้องทำลำดับแรก คือ “ประณามรัฐและเจ้าหน้าที่ ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน และถามหาความรับผิดชอบจากคนยิงและคนสั่ง ให้เกิดการคุกคามทำร้ายนักข่าวระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ไม่ใช่มาบอกให้ใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ เพราะที่โดนยิง ก็โดนยิงกันคาปลอกแขน คาเสื้อ Press ทั้งนั้น”

พร้อมทิ้งคำถามสุดแสบคัน “สมาคม ไปมุดรูไหนอยู่ ถึงไม่รู้ไม่เห็นกัน ถึงได้ออกแถลงการณ์นี้มา”

ชาวเน็ตบางรายถึงขั้นถาม ต้องให้สักคำว่า “เป็นสื่อ” ไว้กลางหน้าผากเลยไหม ?

ประณาม ‘ปัดความรับผิดชอบ’

เสรีภาพอยู่ไหน ‘สื่อ’ มีไว้ทำไม?

คล้อยหลังแถลงการณ์ ของ “องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน”

ภาคีนักเรียนสื่อ 5 มหาวิทยาลัย ไม่รอช้า ร่วมกันออกแถลงการณ์ จี้รัฐ-องค์กรสื่อ 4 ข้อ ให้คุ้มครองเสรีภาพ-ความปลอดภัย

“ภาคีนักเรียนสื่อ” ยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรียกร้องการคุ้มครองสื่อมวลชน

เพราะมองว่าเป็นการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ เเละสวัสดิภาพของสื่อมวลชน ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 35 ความว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”

พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใด “สมาคม” ไม่มีท่าทีประณาม อย่างกรณีลุงพลทำร้ายนักข่าว หรือนี่กำลังสะท้อนภาพองค์กรสื่อมวลชนว่า ให้ความสำคัญกับกรณีลุงพลมากกว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดหลักสิทธิมนุษยชนกับประชาชน?

จนทำให้ “ภาคีนักเรียนสื่อ” ต้องมานั่งย้อนคิดว่า อุดมการณ์การทํางานของสื่อมวลชนคืออะไร ทำงานเพื่อใคร?

ทั้งยังคาใจในแถลงการณ์ข้อ 3 และ 4 ว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบให้แก่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ

“การที่เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่สื่อที่สวมปลอกแขนสื่อแล้ว เป็นสถานการณ์ที่ผู้สื่อข่าวไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ และอยู่เหนือการควบคุม

องค์กรวิชาชีพสื่อไม่ส่งเสียงประณามต่อการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงต่อสื่อ แม้จะใส่ปลอกแขน ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพึงกระทำ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐออกมารับผิดชอบ มีมาตรการเยียวยาผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเหมาะสม”

เมื่อถามหา “เสื้อเกราะ” ป้องกันความปลอดภัย สมาคมนักข่าวฯ เปิดเผยว่า มีความพยายามที่จะต่อรองกับหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาต ยังคงพยายามอยู่ตลอด

ภาคีนักเรียนสื่อเน้นย้ำว่า อะไรที่ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ต้องเสนอกันอย่างตรงไปตรงมา การออกมาเรียกร้องนี้ไม่ใช่สร้างความเกลียดชัง แต่เพื่อถ่วงดุลเพื่อให้เกิดการแก้ไขพัฒนา

เพราะเสรีภาพของสื่อ ย่อมเท่ากับเสรีภาพในการรับรู้ของประชาชนจึงควรส่งเสริมให้สื่อมี “เสรีภาพ”

และอยากให้สมาคมนักข่าวฯ ตรวจสอบการทำงานของหนังสือพิมพ์ กรณีการพาดหัวข่าว และภาพที่เกินกว่าข้อเท็จจริง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยจัดกิจกรรม “สื่อมีไว้ทำไม” ถือป้ายเบิ้ม “สื่อไทยรับใช้เผด็จการ” ด้วยมองว่า การรายงานข่าวเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อ 28 ก.พ. สื่อบางสำนักรายงานเนื้อหาที่บิดเบือน

ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการสื่อที่เข้าข้างอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง ไม่ได้ต้องการสื่อที่เป็นกลาง หากแต่ต้องการสื่อที่รายงานตามข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและตามหลักการประชาธิปไตย

“หากวันนี้เราเอาเเต่ติดอยู่กับข้อจำกัดเเล้ว เราจะมองเห็นความเป็นไปได้ที่สื่อจะน้อมนำสังคมได้อย่างไร เพราะข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน รอบด้าน และเป็นธรรม คือพื้นฐานของกระบวนการสันติวิธี ที่สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดขึ้นได้” ภาคีนักเรียนสื่อกล่าวทิ้งท้าย

นักวิชาการ เห็นใจสื่อ

แนะ ‘เทรนการทำงานม็อบ’

สอบถามไปยัง อดีตนายกสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย

ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บอกว่า “ผมเห็นใจผู้สื่อข่าวมากๆ ที่ต้องลงพื้นที่ เพราะเนื้อหาสื่อในปัจจุบันเป็นการช่วงชิงคอนเทนต์ที่ทันเหตุการณ์ นอกจากเป็นความจริงแล้ว จะต้องเร้าใจ เพื่อดึงเรตติ้ง ใครได้เนื้อหาที่ดี ภาพที่ชัด จะได้รับความชื่นชม ผู้สื่อข่าวจึงต้องเต็มที่ แต่บางครั้งสถานการณ์หน้างานสามารถพลิกผันได้ทุกนาที มีโอกาสพลาดได้

“ผมติดตามลูกศิษย์หลายคนที่จบการศึกษา หลายคนไปอยู่ในสื่อหลายช่อง ถามว่าได้มีการฝึกภาคสนามหรือไม่ เขาบอกว่า ใช้จากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวและจากคำบอกเล่า แต่ไม่มีการเทรนอย่างจริงจัง”

ดังนั้น สิ่งที่สมาคมวิชาชีพได้วางไว้ ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ แต่อยากให้มีการเทรนนิ่งเพิ่มขึ้นสำหรับการปฏิบัติตนหน้างาน สมาคมอาจจะต้องเทรนการทำงานม็อบ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า

โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งจากทหาร องค์กรตำรวจ หากหน้างานอาจมีความรุนแรง จะต้องหลบหลีกอย่างไร ป้องกันตัวอย่างไร วิธีการเซฟตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อถูกน้ำผสมสารเคมีต้องดูแลอย่างไร เมื่อถูกกระสุนยาง ระเบิดปิงปอง จะต้องทำอย่างไร

สำหรับ “ผู้สื่อข่าว” พยายามอย่าเน้นง่าย ควรจะต้องเป็นคนที่ผ่านกระบวนการ มีความเชี่ยวชาญพอสมควร ทั้งนี้ ในความเป็นจริงสื่อมีมาก และสถานการณ์จริงก็กว้างขวาง มีหลายซอกมุม ดังนั้น จึงค่อนข้างยากที่จะทำให้ทุกคนมีเกราะป้องกันได้

“ส่วนตัวเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อองค์กรวิชาชีพเริ่มทำหน้าที่ ก็อยากให้มีอะไรเช่นนี้เพิ่มขึ้น”

ถามถึงกรณีสั่งห้ามสื่อถ่ายภาพสลายการชุมนุม ผศ.ดร.ทัณฑกานต์คิดเห็นว่า ถ้ามีการร้องขอโดยผู้ชุมนุมว่าไม่ให้ถ่าย หรือ หากเจ้าหน้าที่ร้องขอ โดยหลักจรรยาบรรณแล้ว ก็ไม่ควรถ่าย หากจำเป็นจริงๆ ควรแจ้งผู้ให้ที่อยู่ในเหตุการณ์รู้ก่อน

ผศ.ดร.ทัณฑกานต์บอกด้วยว่า หน้าที่หลักขององค์กรวิชาชีพสื่อ คือ

1.ดูแลให้สื่อมวลชนทุกสำนัก เกิดความร่วมมือไปในทางที่อยู่ภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ แม้แต่สื่อที่เกิดขึ้นใหม่ รณรงค์ให้ทุกสื่ออยู่ภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพให้ได้

2.ให้การสนับสนุนสื่อมวลชน ซึ่งองค์กรวิชาชีพน่าจะเกิดความร่วมมือทำให้สื่อเท่าทัน ให้สื่อที่ศักยภาพไม่สูงนัก ได้มีศักยภาพเท่าเทียมกันมากขึ้น

หากหน้าที่ของ “องค์กรวิชาชีพสื่อ” คือแนวทางตามนี้ ก็น่าจะมุ่งทำงานตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

พัฒนาองค์กรสื่อที่มองว่าจรรยาบรรณยังไม่ถึงขั้นที่หวัง

เพื่อที่ “สื่อ” และ “องค์กรวิชาชีพสื่อ” จะได้ไม่ถูกประณาม และเพื่อให้ “สื่อมวลชน” ภาคสนาม ไม่รู้สึกว่า “ถูกซ้ำเติมกันเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image