เปิดความจริง ‘ระหว่างบรรทัด’ 30 บาทรักษาทุกโรค ถึง 30 บาทรักษาทุกที่

ไม่ว่าจะเป็น “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” เชื่อว่าเป็นชื่อที่คนไทยรู้จักกันดี เพราะเป็นโครงการ เป็นนโยบายสาธารณะที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ถือเป็นการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และสำเร็จผลเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน

ล่าสุด เรื่องราวความสำเร็จต่างๆ ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ จึงถูกนำมาถ่ายทอดและบอกเล่าผ่านหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” โดยมีการเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่อาคารสำนักงาน บริษัทมติชน ในโอกาสครบรอบการกดปุ่มให้บริการโครงการดังกล่าวแก่ประชาชนชาวไทยในวันที่ 1 เมษายน

ทั้งนี้ ในเวทีเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับเกียรติจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน และร่วมเสวนาพิเศษ “ร่วมทางเดียวกัน จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่”

อนุทินได้บอกเล่าประสบการณ์ตรงที่ได้เคยร่วมงานกับ สปสช.ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวว่า ต้องขอบคุณผู้เขียนหนังสือระหว่างบรรทัด ที่ได้บอกเล่าความเป็นมาของ สปสช. และต้นกำเนิดของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ทำให้วันนี้เรามีระบบบริการสุขภาพพื้นฐาน ที่เอื้อประโยชน์กับประชาชนในประเทศอย่างมากที่สุด

Advertisement

ถ้าให้พูดถึงประเทศไทย มองว่าระบบสุขภาพของเรา คือ อันดับ 1 ของโลก และจะต้องดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

อนุทินกล่าวว่า หากจะให้เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องพูดถึง “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ที่เป็นผู้ริเริ่มกำเนิดนโยบาย

“ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมเคยร่วมงานกับ สธ. ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ ต่อจาก นพ.สุรพงษ์ ซึ่งเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญมากในการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของประเทศ เพราะประเทศไทยต้องมีความมั่นคงในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเงิน ความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้คนในประเทศมีพื้นฐานสุขภาพที่ดี เข้าถึงระบบสุขภาพได้”

Advertisement

อนุทินกล่าวว่า เกลียดที่สุด คือ การที่เห็นเพื่อนร่วมชาติถูกเขียนใบผู้ป่วยว่า ผู้ป่วย/คนไข้ “อนาถา”

“คำนี้มันแสบหัวใจเหลือเกิน แต่เมื่อเรามีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ทำให้ประชาชนที่เข้ารับบริการเกิดสิทธิรักษาที่เท่าเทียมทุกคน เพียงเท่านี้ก็ทำให้เจตนารมณ์ของโครงการประสบความสำเร็จแล้ว” อนุทินกล่าว

อนุทินบอกว่า มีโอกาสเกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ ในขณะที่โครงการเริ่มตั้งไข่ มีรัฐบาลให้การดูแล จึงไม่กังวลว่าเกิดภาวะล้มละลายในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการปรับปรุงพัฒนาระบบของโครงการ จนเป็นที่มาของคำว่า 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะการรักษาทุกโรคอย่างเดียวไม่พอ ต้องรักษาทุกที่ด้วย เพื่อให้เข้าถึงมากขึ้น

“โครงการนี้ทำเพื่อประโยชน์ประชาชนมากที่สุด ถือเป็นพื้นฐานที่ดี วันนี้ เรามีหน้าที่ต้องต่อยอด และสังคมไทยต้องไม่ลืมคนให้กำเนิดโครงการนี้ และเราต้องทำโครงการนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ให้ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย และแม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่มา แต่ก็ยังต้องสืบทอดโครงการนี้ต่อไป เพราะถูกฝังเป็นระบบของสาธารณสุขไปแล้ว หรือต่อให้มีอุปสรรคก็ไม่มีใครกล้ายกเลิก เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวัน” อนุทินกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า ตอนที่เข้าไปรับช่วงต่อจาก นพ.สุรพงษ์ โครงการกำลังเป็นโมเมนตัมที่แกว่งไปมา อาจจะมีหลุมอากาศบ้าง แต่ก็สามารถแก้ไป ไม่ใช่เรื่องใหญ่

“ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ตอนแรกโครงการรักษาทุกโรค ก็ไม่ได้รักษาได้ทุกโรค ยังรักษาเฉพาะโรคส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วย แต่ในตอนนี้เมื่อเวลาผ่านไป มันสามารถรักษาทุกโรคได้แล้วจริงๆ อาจจะใช้เวลา 10-20 ปี แต่ก็ทำให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของโครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ทุกวันนี้แม้กระทั่งโรคหายาก (Rare Disease) ก็สามารถรักษาได้” อนุทินกล่าว

อนุทินกล่าวว่า เข้ามาทำงานในรัฐบาลชุดนี้ ตั้งใจเป็นอันดับแรกว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. และคนแรกที่ติดต่อไปหลังทราบผลการเลือกตั้ง คือ นพ.สุรพงษ์ โดยความตั้งใจแรกหากดูแลกระทรวงนี้ คือ การพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ดีขึ้น ให้เข้มแข็ง ให้มั่นคงขึ้น แม้ช่วงแรกอาจเกิดความขัดแย้งบ้าง แต่เป้าหมายของการขัดแย้ง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ความตั้งใจแรกคือ การนำ สปสช.เข้ามาทำงานร่วมกับ สธ. ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเห็นด้วยร่วมกัน ระหว่างรัฐมนตรี ข้าราชการ สธ. และเจ้าหน้าที่ สปสช. ความล้มเหลวจะไม่เกิดขึ้น ผมบอกทุกคนว่า วันนี้ใช้งานผมให้มากที่สุด เพราะว่าตอนนี้กระทรวงมีความสำคัญต่อประชาชนมาก ผมเป็นพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ต้องได้รับความเกรงใจระดับหนึ่ง จะเป็นผลดีในการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ควบคุมอยู่ได้ มีหลายคนที่บอกว่า สปสช.เป็นแดนต้องห้าม แต่ผมก็ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ ที่สำคัญ ผมยืนอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีควบคู่ประธานบอร์ด สปสช. ระหว่าง 2 หน่วยงาน จะทะเลาะกันไม่ได้ สิ่งเดียวที่ต้องทำคือ ร่วมมือกันทำงาน เพียงแต่ว่าจะต้องแยกบทบาทให้ถูกต้อง” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว

สำหรับเวทีเสวนา “ระหว่างบรรทัด” ลัดเลาะเรื่องร้อยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 ทศวรรษ ที่ผลิบานในโมงยามแห่งความหวัง บรรดาผู้เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วย

“นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวว่า 20 ปีที่แล้ว หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า เป็นเหมือนเรื่องเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่หากจะให้สรุปเป็นคำ 1 คำ คือ “ลิขิตฟ้า” และ “มานะคน” หลายสิ่งหลายอย่าง เกิดขึ้น ณ จุดตัดของการเวลา ปี 2544 โครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ การปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 การเมืองเข้มแข็ง พรรคการเมืองเข้มแข็ง การชนะการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย นำจุดแข็งของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มานำเสนอเป็นนโยบายต่อประชาชน มีการสนับสนุนของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” มีปลัด สธ.ที่ต้องการทำเรื่องนี้ แล้วที่สำคัญก็คือ มีข้าราชการ สธ. ซึ่งหากมองกลับไป ขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งอาจ
จะไม่เกิดขึ้น

นพ.สุรพงษ์บอกว่า ระหว่างบรรทัดของหนังสือเล่มนี้ คือ “การเมือง” ทุกๆ จุด ไม่ว่าจะจุดของการเกิดขึ้นของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า พัฒนา ความล้มเหลวในบางช่วง

“การเมืองมีบทบาทสำคัญ เป็นประตูบานสุดท้าย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องการการเมืองที่ดี แล้วหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วชีวิตของคนไทยจะดีขึ้น มาวันนี้ ถ้าการเมืองนิ่ง ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสสำคัญ โอกาสที่ดีที่จะ speed up พัฒนา สปสช. และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นพ.สุรพงษ์กล่าว และว่า ในเรื่องของ mindset ของ สปสช.ต้องปรับเปลี่ยนจากความรู้สึกเป็นเจ้าของเงิน สู่การเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ที่ทำอย่างไรให้คนร่วมแพลตฟอร์มทุกคนมีความสุข วิน-วิน ทุกคนได้ประโยชน์ อยากให้ สปสช.เป็น smart organization ทุกอย่างพร้อมแล้ว ระบบนิเวศพร้อมแล้ว 100 วันแรกของเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ เราคงได้เห็นอะไรที่เป็นรากฐานของ smart organization ตั้งเป้าหมายให้สูงว่า เราต้องเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก

ด้าน “นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ถ้าวันนั้นเราไปผิดทาง คือ เชื่อตามเวิลด์แบงก์ จิม คิม เขาบอกว่า ประเทศไทยหัวแข็ง ไม่เชื่อคำทัดทานของเวิลด์แบงก์ว่า ประเทศจะล้มละลาย ถ้าทำบัตรทองแล้วเป็นไปไม่ได้ เราบอกเป็นไปได้ เป็นหน้าที่ของเรา ไม่ใช่หน้าที่คุณ it’s our business เป็น national sovereign แล้วก็ against advice ของเวิลด์แบงก์

“แต่เราก็ทำมา ผลการศึกษาที่ตามมาก็คือ คนจนได้ประโยชน์ เพราะว่า 47 ล้านคน ที่เป็นสมาชิกบัตรทอง ประมาณ 50% อยู่ที่ 20% เป็นคนจนที่สุด ถ้าเราเรียงคน 67 ล้านคน จากจนที่สุดไปถึงรวยที่สุด แล้วแบ่งเป็น 5 ตอน สมาชิกบัตรทองอยู่ในตอนที่จนที่สุดและจน 40-50% เพราะฉะนั้น อมาตยา เซน เขาอ่านงานเขียนของคนต่างชาติที่มาประเมินบัตรทองของเราว่า มันลดช่องว่างของการตายของเด็กต่ำกว่า 5 ปี หลังมีบัตรทอง เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นอิมแพคที่มีผลอย่างยิ่ง เวิลด์แบงก์ก็เอาไทยเป็นกรณีศึกษา ผมคิดว่าเราทำวิจัยไปด้วย มีทางการเมือง endorse ทั้ง implementation มีการเตรียมพร้อม เมื่อมีสิ่งนี้ จึงมีสิ่งนี้” นพ.วิโรจน์กล่าว

“นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา” อดีตเลขาธิการ สปสช. บอกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานมีอยู่ 4 ข้อ คือ 1.การบริหารจัดการแนวใหม่ 2.ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ลดคราบไคลของความเป็นผู้ป่วยอนาถา หรือผู้ป่วยสงเคราะห์ 3.สิทธิรักษาพยาบาลที่สัมผัสได้จริง ไม่ได้ล่องลอย 4.ความเป็นเจ้าของร่วมออกแบบนโยบายของทุกคน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้และใช้หลักการตรงนี้มาทำงาน

ขณะที่ “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการ สปสช. ได้เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ สปสช.ในวาระที่จะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของ สปสช.ว่า ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ในการขับเคลื่อนระบบ “หลักประกันสุขภาพ” จนประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก

“แต่อย่าเรียนรู้จากความสำเร็จ จงเรียนรู้จากความล้มเหลว วันนี้ ยังมีปัญหาประชาชนหลายคนยังเข้าไม่ถึงบริการหลักประกันสุขภาพ และเป็นจุดอ่อน ของ สปสช.ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และหากเราไม่สร้างกลไกเชิงรุกที่จะรับรู้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น เราจะเสียโอกาสในการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีในอนาคตได้ ดังนั้น ต้องเร่งถอดบทเรียนจากความผิดพลาดมาเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ สปสช.ทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะนำประโยชน์สูงสุดไปสู่ประชาชน”
นพ.จเด็จกล่าว

“ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะบรรณาธิการหนังสือระหว่างบรรทัด กล่าวว่า ครั้งที่เข้ามาทำงานใน สปสช. เมื่อปี 2547 ได้เห็นโลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การรักษาอาการเจ็บป่วยของคนไข้บนวอร์ด แต่เป็นการทำงานเชิงนโยบายหลังบ้านของระบบหลักประกันสุขภาพ ได้เห็นความสำเร็จของการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อประชาชน ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพ การที่ระบบหลักประกันสุขภาพจะเข้มแข็งและเดินทางไปหน้าได้อย่างมั่นคงนั้น ประชาชนต้องรู้สึกว่าเขาคือ เจ้าของระบบ จึงเป็นที่มาของหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” ที่ตีแผ่ถึงเรื่องราวระหว่างเส้นทางในการดำเนินงานของ สปสช. ผ่านการบอกเล่าของกลุ่มผู้บุกเบิก ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่าน มาให้แง่คิด วิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานตลอด 18 ปีที่ผ่านมา

“เรียกได้ว่า เป็นแหล่งรวบรวมและตีแผ่การแก้ปัญหาครั้งสำคัญต่างๆ ของปัญหาสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน เป็นคำภีร์ที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพที่ทำให้วงการสาธารณสุขไทยก้าวหน้าจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศจนถึงทุกวันนี้” ทพ.อรรถพรกล่าว

และปิดท้ายที่ “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช.กล่าวว่า “บัตรทอง” เป็นระบบสวัสดิการแห่งรัฐ อาจจะเรียกว่าเป็นระบบเดียวที่ทำได้สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เรื่องการศึกษา ระบบยุติธรรม ยังมีปัญหามากมาย แต่ระบบนี้ทำสำเร็จได้ และที่ทำสำเร็จก็ได้มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก ซึ่งได้เขียนสรุปไว้ในปัจฉิมบทอยู่แล้ว

“คิดว่าสิ่งที่เราน่าจะเรียนรู้จากเรื่องบัตรทอง ยังไม่อยากมองไปไกลกว่านี้ เพราะทำมาได้ขนาดนี้ ถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว ความพยายามทำอะไรที่เลยไปจากนี้ จะเป็นเรื่องที่ยาก และอาจจะสะดุดขาตัวเอง ทำไมเราถึงทำมาได้ขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ผมก็ได้พูดถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2475 เรื่องสุขภาพไม่อยู่ในหลัก 6 ประการ แต่จอมพล ป. ตั้งกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2485 พร้อมกับเห็นว่าสุขภาพของคนไทยเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็สามารถที่จะสร้างโรงพยาบาลจังหวัดครบทุกจังหวัด อันนี้คือพื้นฐานสำคัญ จากนั้นพูดถึงสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสรรงบประมาณให้กับเรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นก้อนใหญ่ที่สุด เป็นงบรักษาฟรี ต่อมาเป็นสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งตอนนั้นเราประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องลดค่าเงินบาท ขณะนั้น พล.อ.เปรมได้ใช้ภาวะผู้นำ บอกว่าประเทศไทยหากจะพัฒนาอย่างมั่นคงเข้มแข็งต่อไป สุขภาพของประชาชนต้องดี ต้องลงทุนด้านสุขภาพ ทำให้มีการตัดสินใจสร้างโรงพยาบาล ให้ครบทุกอำเภอ ครบทุกตำบล ในประเทศไทย ทั้งหมดนี้คือ การตัดสินใจที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่มีพื้นฐานเหล่านี้ วันนี้ประชาชนไม่มีทางเข้าถึงบริการได้” นพ.วิชัยกล่าว

ตอกย้ำชัดว่า ผู้บริหารของ สธ.ทุกยุคทุกสมัย มีสายตาที่ยาวไกล มองเห็นว่าเรื่อง “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” เป็นเรื่องสำคัญ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image