เส้นทางรัฐประหารในประวัติศาสตร์พม่า

ประชาชนชาวพม่าเดินขบวนต่อต้านการรัฐประหารในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2021 (ภาพจาก Ye Aung THU/AFP)

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ, ควบคุมตัว นางออง ซานซูจี ขณะที่ประชาชนชาวพม่าก็ออกมาประท้วงต่อต้านคณะรัฐประหาร แต่ทหารและตำรวจพม่าก็ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน 2564 จึงได้นำเสนอบทความ “วิเคราะห์รัฐประหารพม่า เสนาธิปัตย์บนเส้นทางประวัติศาสตร์” ของ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสืบค้นเส้นทางรัฐประหารในพม่า โดยย้อนกลับไปดูจุดกำเนิดของกองทัพ, การก่อรัฐประหาร และการปกครองภายใต้กองทัพ

ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ พม่าคือรัฐที่มีการแทรกแซงการเมืองสูง การเมืองพม่ายุคหลังเอกราช มีการรัฐประหารเกิดขึ้นใน ค.ศ.1958, 1962, 1988 ทหารพม่าเคยปกครองประเทศเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และรัฐประหาร ค.ศ.2021 เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 4

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย และ นาง ออง ซาน ซูจี จับมือกันหลังการประชุมที่สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุดในกรุงเนปยีดอ เมื่อวันที่2 ธันวาคม 2015 (ภาพจาก Phyo Hein Kyaw/AFP)

ไม่ว่าการรัฐประหารแต่ละครั้งจะถูกผลักดันด้วยเงื่อนไขและบริบทอะไร แต่รัฐประหารทุกครั้งก็สร้างมรดกประวัติศาสตร์ ที่ทำให้อำนาจอิทธิพลการเมืองของกองทัพถูกส่งผ่านไปสู่การเมืองยุคหลัง ซึ่งหนุนให้พลังกองทัพฝังรากลึกลงไปบนสังคมการเมืองพม่ายิ่งขึ้น

Advertisement

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะการแทรกแซงการเมืองของทหารพม่าจนเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐได้เมื่อ ค.ศ.1958 อันเป็นต้นแบบของการรัฐประหารครั้งต่อๆ มา

กองทัพพม่าสมัยใหม่มีกำเนิดมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยขบวนการชาตินิยมพม่าพยายามหาความช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกฝนทางทหาร กลุ่มตรีทศมิตรที่ประกอบด้วย ออง ซาน และคณะที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้เดินทางไปฝึกอาวุธที่เกาะไหหลำภายใต้การอำนวยการของทหารญี่ปุ่น ถือเป็นต้นกำเนิดของกองทัพเอกราชพม่า ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.1941

พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย (ซ้าย) และ (ขวา) พลเอกรองอาวุโส หม่อง เอ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2006(ภาพจาก STR/AFP)

ต่อมาก็มีคนหนุ่มจำนวนมากสมัครเข้าเป็นทหารจนกองทัพเอกราชพม่าขยายตัวอย่างรวดเร็ว กองทัพมีกำลังพลถึงราว 23,000 คน ระหว่าง ค.ศ.1942-43 กองทัพปฏิบัติงานใกล้ชิดกับญี่ปุ่นและถูกปรับโครงสร้างองค์กรใหม่อยู่เป็นระยะโดยเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพป้องกันพม่า และกองทัพแห่งชาติพม่า

Advertisement

กองทัพพม่าเกิดขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากการต่อสู้กู้เอกราชของขบวนการชาตินิยม ตลอดจนจากระเบียบวินัยที่เข้มงวดแข็งกร้าวของทหารญี่ปุ่นและจากระบบการปกครองแบบทหารเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่า ต่อมากองทัพพม่าหันไปร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อรุกรบต่อต้านญี่ปุ่น ช่วงการต่อสู้และเจรจาเพื่อเอกราชนี้ กองทัพมีประสบการณ์ทั้งในด้านการรบและการเมือง ในกลุ่มอำนาจในกองทัพ ออง ซาน ซึ่งเคยเป็นผู้นำก่อตั้งกองทัพ เริ่มมีบทบาทหนักทางด้านการเมืองและการเจรจาขอเอกราชคืนจากอังกฤษ จึงทำให้ภารกิจกองทัพตกอยู่ใต้การควบคุมของ เน วิน หนึ่งในผู้นำทางทหารของกองทัพพม่าเป็นหลัก

นายพล ออง ซาน ภาพถ่ายที่ลอนดอน เมื่อ ค.ศ. 1940 (ภาพจาก AFP)

ในช่วง 6 ปีที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่าจนถึงช่วงที่พม่าประกาศเอกราชจากอังกฤษ ได้เกิดกลุ่มอำนาจและองค์กรการเมืองมากมาย บางกลุ่มก็พยายามยึดอำนาจรัฐทั้งประเทศ บางกลุ่มก็ระดมมวลชนเพื่อครอบครองดินแดนบางส่วนในพม่า ในบรรดากลุ่มเหล่านี้ กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ กลุ่มสันนิบาตเสรีภาพต่อต้านฟาสซิสต์, กลุ่มกองทัพพม่า, กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า, กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ฯลฯ

ท่ามกลางความร่วมมือและการแข่งขันเชิงอำนาจ กลุ่มกองทัพพม่าถือเป็นขั้วอำนาจที่โดดเด่นที่สุด

อาจารย์ดุลยภาคกล่าวว่า กองทัพแห่งชาติได้พัฒนาตัวเองใน 2 ลักษณะ คือ

นายกรัฐมนตรี อู นุ ภาพถ่ายที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1955 (ภาพจาก AFP)

“ประการที่ 1 นายทหารและกำลังพลเริ่มมีประสบการณ์ในการทำงานกู้ชาติเคียงข้างประชาชน จึงทำให้ทหารพม่าต้องศรัทธาต่อความเป็นเอกราชแห่งรัฐและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

ประการที่ 2 กองทัพรู้สึกว่าจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อแข่งขันกับกลุ่มการเมืองอื่น โรงเรียนฝึกหัดนายทหารในช่วงสงครามได้ผลิตนายทหารออกมาหลายรุ่น ซึ่งได้รับการฝึกอบรมตามแบบฉบับกองทัพญี่ปุ่น หากแต่ทหารอีกหลายนายก็แอบศึกษาภาษาจีนและอ่านข้อเขียนของฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงทำให้รับรู้ถึงธรรมชาติกองทัพประชาชน ด้วยเหตุนี้ นายทหารระดับนำจึงมีเป้าหมายด้านการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับประชาชนด้วย”

บทบาทของกองทัพพม่าในทางการเมืองจึงมีให้เห็นเป็นระยะ

ประชาชนชาวพม่าเดินขบวนไปตามถนนใกล้เจดีย์ซู่เล ในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2021 เพื่อแสดงการต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพพม่า (ภาพจาก AUNG THU/AFP)

เดือนมกราคม ค.ศ.1948 พม่าได้รับเอกราช กลุ่มสันนิบาตเสรีภาพเป็นกลุ่มอำนาจหลักในการบริหารประเทศใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อู นุ แต่ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น (ระหว่าง ค.ศ. 948-52) กลุ่มการเมืองในพม่าแตกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่เพราะมีกองทัพและ เน วิน ช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาล อู นุ ในการต่อสู้กับกลุ่มอำนาจอื่นที่ขยายกำลังเข้ามาแย่งชิงรัฐโดยเฉพาะกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ทำให้ เน วิน เข้าไปมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทย และรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยรัฐบาล อู นุ โดยไม่ต้องเล่นการเมือง

นั่นทำให้เป็นรากฐานที่ส่งผลให้ทหารเป็นองค์กรที่มีกำลังแทรกแซงการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

เดือนเมษายน ค.ศ.1958 กลุ่มสันนิบาตฯแตกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ “กลุ่มสันนิบาตสะอาด” นำโดยนายกรัฐมนตรี อู นุ กับ “กลุ่มสันนิบาตเสถียร” นำโดย บา ส่วย ทั้งสองขัดแย้งแย่งชิงมวลชนกันจนทำให้เกิดความแตกแยกตั้งแต่การเมืองส่วนกลางไปจนถึงการเมืองท้องถิ่น

ทหารพม่ายืนรักษาการณ์บนถนนปิดกั้นการเดินทางไปยังอาคารรัฐสภาในกรุงเนปยีดอเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หลังคณะรัฐประหารที่นำโดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ายึดอำนาจรัฐ (ภาพจาก STR/AFP)

กลุ่มสันนิบาตสะอาดมักหวาดระแวงสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดระหว่างกลุ่มสันนิบาตเสถียรกับกองทัพพม่า เนื่องจาก บา ส่วย มีสายสัมพันธ์ทางครอบครัวกับกลุ่มอำนาจในกองทัพและแนวคิดการเมืองของกลุ่มสันนิบาตเสถียรมีลักษณะเอียงขวาหรือค่อนมาทางอนุรักษนิยมซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการเมืองของกองทัพ

ดังนั้น กลุ่มสันนิบาตสะอาดมักกล่าวโจมตีกองทัพว่าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มสันนิบาตเสถียรและเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลกลุ่มสันนิบาตสะอาด นโยบายปกครองของกลุ่มสันนิบาตสะอาดก็สร้างความหวาดระแวงต่อกองทัพ ตัวอย่างเด่นชัด คือ ข่าวลือที่รัฐบาล อู นุ จะนำกลุ่มผู้นำการเมืองและเหล่านักรบจรยุทธ์ของฝ่ายคอมมิวนิสต์เและกองกำลังชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแห่งชาติ, ความพยายามของนักการเมืองในกลุ่มสันนิบาตสะอาดที่จะลดอำนาจกองทัพ

ภาวะแตกแยกในพรรคสันนิบาตฯ จะส่งผลให้กลุ่มอำนาจพลเรือนอ่อนแอลง ขณะที่กองทัพที่เข้ามาพยุงรัฐในช่วงสงครามกลางเมือง ขยายอำนาจไปตามพื้นที่สู้รบเพื่อปราบกบฏและช่วงชิงมวลชน ทำให้มีฐานมวลชนสนับสนุนที่กว้างขวางขึ้น กองทัพยังมีประสบการณ์สู้รบกับคอมมิวนิสต์และชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนี้รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถปราบกบฏและจำเป็นต้องพึ่งกำลังกองทัพเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย อิทธิพลของกองทัพ, เน วินจึงมีความแข็งแกร่งในการแทรกแซงการเมือง

เดือนกันยายน ค.ศ.1958 เกิดเหตุพลิกผันทางการเมือง มีข่าวลือว่าทหารที่กุมกำลังรบจากกองทัพภาคเหนือและกองทัพภาคใต้ เคลื่อนรถถังและรถหุ้มเกราะลำเลียงพลเข้าประชิดกรุงย่างกุ้ง ผู้นำทหารฝ่ายเสนาธิการ เช่น พันเอก หม่อง หม่อง และ พันเอก ออง จี พยายามต่อรองกับนายกรัฐมนตรี อู นุ ให้ลงจากอำนาจและเปิดทางให้ทหารเข้าบริหารประเทศอย่างสงบ วันที่ 26 กันยายน อู นุ ประกาศลงจากอำนาจ

ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม รัฐบาลพลเรือนถ่ายโอนอำนาจให้กองทัพที่นำโดย นายพล เน วิน เพื่อตั้งรัฐบาลรักษาการวันที่ 1 พฤศจิกายน 1958 รัฐบาล เน วิน เข้าบริหารรัฐอย่างเป็นทางการ โดยมีภารกิจหลักคือ ยุติความขัดแย้ง ฟื้นฟูปฏิรูปเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากภาวะสงครามกลางเมือง และเตรียมจัดเลือกตั้งใหม่ตามวิถีประชาธิปไตย

หากพิจารณาการแทรกแซงการเมืองของทหารพม่า จะเห็นว่าทหารพม่าค่อยไต่ระดับ จาก “ผู้ไกล่เกลี่ย” ถ่วงดุลที่กดดันต่อรองกับพลเรือนเป็นครั้งคราวใต้ระบอบประชาธิปไตย ไปสู่ทหาร “ผู้พิทักษ์คุ้มครองรัฐ” ที่เข้ามาปกครองประเทศและสร้างเอกภาพรัฐในช่วงสถานการณ์พิเศษ และความแข็งแกร่งของกองทัพที่ผ่านสงครามกลางเมือง การสะสมอำนาจการเมืองในกลุ่มชนชั้นนำทหาร ทำให้ทหารพม่ากลายเป็น “ผู้ปกครอง” แกนนำจัดตั้งรัฐบาลรักษาการสำเร็จ

ที่กล่าวมาเป็นเพียงการรัฐประหารครั้งแรก ส่วนการรัฐประหารที่เหลือในปี 1962, 1988 และ 2021 นั้น โปรดอ่านใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายนนี้ ว่าในการเมืองรัฐประหารแต่ละครั้ง ทหารพม่ามีลักษณะการยึดอำนาจและแสดงพลังเสนาธิปัตย์ออกมาอย่างไร, มรดกของรัฐประหารแต่ละครั้งได้ทับถมต่อยอดจนกองทัพพม่ากลายเป็นสถาบันการเมืองที่แข็งแกร่งมั่นคงได้อย่างไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image