13 เมษา วันผู้สูงอายุ ‘มหิดล’วิจัยเชิงนโยบาย ปรับนิยาม เสนอขยายวัยเกษียณ

วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือการเป็น Active Aging หรือ “สูงวัยอย่างมีพลัง” ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงทำงานพึ่งพาตนเอง เป็นการทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการได้ทำงาน อยู่อย่างมั่นคง และมีคุณค่า แต่กลับพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุไทยทำงานน้อยลงเรื่อยๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) เปิดเผยว่า ผลจากงานวิจัยของสถาบัน IPSR พบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันมีจำนวนถึงประมาณ 12 ล้านคน หรือร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด มีอัตราการทำงานเพียงประมาณ 1 ใน 3 โดยมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ หลังเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไปใน
วัยผู้สูงอายุ ตามการนิยามผู้สูงอายุของไทย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมโนคติที่ว่า เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ถึงเวลาหยุดทำงานมาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่กับลูกหลาน โดยมีรายได้หลักเพียงจากทรัพย์สินที่ตนออมไว้ และการเกื้อกูลจากลูกหลานในครอบครัว หรือเงินบำเหน็จบำนาญ เฉพาะในกลุ่มข้าราชการ พนักงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ประกันตน ประกันสังคมที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์

แต่ด้วยภาวะทางประชากรที่เปลี่ยนไป พบว่าประชากรไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานิยมเป็นโสด แต่งงานและมีลูกกันน้อยลง จนส่งผลให้มีจำนวนอัตราการเกิดที่ต่ำลงด้วย จึงทำให้ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันไม่สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมั่นคงด้วยเพียงการเกื้อหนุนจากลูกหลานเป็นหลักเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีความมั่นคงทางรายได้จะทำให้เกิดพลังชีวิต หรือ Active ลดลง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตอีกด้วย

“ในจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย เพียงร้อยละ 10 เป็นแรงงานในภาครัฐ การขยายอายุเกษียณควรขึ้นอยู่กับบริบทการทำงานในแต่ละกลุ่มประชากร จะแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะงาน โดยที่ผ่านมาพบว่ามีข้าราชการเพียง 2 กลุ่มที่ได้รับการขยายอายุเกษียณ คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งได้รับความมั่นคงจากระบบบำเหน็จ-บำนาญ นอกจากนั้นอยู่ในภาคเอกชนซึ่งได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม และที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองการทำงานในรูปแบบใดๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และแรงงานภาคเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในสัดส่วนจำนวนมากในปัจจุบัน

Advertisement

จากการวิจัยประชากรในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย เพื่อให้มีการปรับนิยามผู้สูงอายุ กำหนดกลุ่มเป้าหมายของการขยายอายุเกษียณ และการให้การคุ้มครองการทำงานที่ชัดเจน จากข้อมูลทางด้านสุขภาพพบว่า กลุ่มประชากรที่อยู่ในวัย 60-64 ปี ยังคงมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ตลอดจนมีความพร้อมทางด้านสติปัญญา และมากด้วยประสบการณ์ ถือเป็น Active Aging ซึ่งมีศักยภาพที่จะทำงานตามเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต่อไปได้” รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image