แกะรอยภารกิจติดตามสมบัติแห่งชาติ…เส้นทางจากอเมริกากลับสู่มาตุภูมิ เมษายน 2564

โบราณวัตถุ 3 ชิ้น จากจำนวน 13 ชิ้น (จากซ้าย) พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี และ พระพุทธรูป 2 องค์ในยุคร่วมสมัยอยุธยา

หลายๆ ท่านคงได้ยินการแถลงข่าวเรื่องการขอคืนวัตถุโบราณของไทยที่มีผู้ครอบครองในสหรัฐฯ ซึ่งได้มา อย่างไม่ถูกต้อง และประเทศไทยกำลังจะได้รับคืนวัตถุโบราณจำนวนหนึ่งในเร็ววันนี้กันมาแล้ว ซึ่งเบื้องหลังของกระบวนการต่าง ๆ นั้นมีความซับซ้อน ลำบาก และใช้เวลาและความพยายามอย่างที่หลายท่านคงคาดไม่ถึง เพราะวัตถุโบราณต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของเอกชน หรือบุคคลที่ซื้อต่อ ๆ กันมาด้วยราคาแพง การจะให้คืนกันง่าย ๆ ฟรี ๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมกันได้ง่ายนัก

ดังนั้น นอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานในไทยแล้ว การทำงานของสถานเอกอัครราชทูตและ สถานกงสุลใหญ่ของไทยในฐานะหน่วยงานด่านหน้าตั้งแต่การเริ่มเจรจากับฝ่ายต่างประเทศ การดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายของต่างประเทศ การดูแลรักษา ไปจนถึงการขนส่งมายังแผ่นดินไทย ก็ถือเป็นส่วนที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันที่ทำให้สามารถนำพาสมบัติแห่งชาติอันประเมินประมาณค่ามิได้เหล่านี้กลับคืนสู่อ้อมอก พวกเราชาวไทยได้สำเร็จ

และเพื่อให้เห็นภาพความทุ่มเทที่ว่านี้ วันนี้เลยจะพาท่านผู้อ่านไปตามแกะรอยภารกิจล่าสุดของสถานกงสุลใหญ่ของไทยสองแห่งในสหรัฐอเมริกาที่นครนิวยอร์กและนครลอสแอนเจลิสกันแบบรวบรับกระชับความว่า ในการติดตามและนำโบราณวัตถุของไทยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ไกลถึงสองเมืองใหญ่ของอเมริกากลับประเทศไทยนั้น จะต้องฝ่าฟันกับอะไรกันบ้าง แต่ละด่านจะหินสักแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ การประสานงานแต่ละเรื่องยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

นิวยอร์กเป็นมหานครใหญ่ที่เต็มไปด้วยศิลปวัตถุจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกและขึ้นชื่อลือนามเรื่องการซื้อขายของเก่าและการจัดแสดงข้าวของสารพัดสารพันในพิพิธภัณฑ์และสถานที่แสดงงานศิลปะทั่วเมืองตลอดปี ดังนั้น การจะเสาะหาว่าโบราณวัตถุของไทยอยู่มุมใดของเมืองใหญ่แห่งนี้บ้างย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การมีเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็งของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กจึงเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจครั้งล่าสุดนี้ ที่ในเร็ว ๆ นี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ กำลังจะรับมอบคืนโบราณวัตถุถึง 13 ชิ้น (และอยู่ในระหว่างการเจรจาขอคืนอีกหลายสิบชิ้น แต่คดียังไม่สิ้นสุด) จากสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กและหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations: HSI) รวมมูลค่าจากการประเมินเบื้องต้นเกือบ 20 ล้านบาท

Advertisement

โบราณวัตถุทั้งหมดนี้เป็นพระพุทธรูปของไทยในปางต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ ช่วงศตวรรษที่ 7-16 ทรงคุณค่าทั้งในแง่ของงานศิลป์และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เปล่งประกายอารยธรรม จากวันวาน แต่กลับถูกลักลอบนำเข้ามาในนครนิวยอร์กพร้อมกับวัตถุโบราณจากประเทศอื่น ๆ รวมกว่า 2,000 ชิ้นโดยขบวนการข้ามชาติขนาดใหญ่และทรงอิทธิพลในวงการค้าศิลปวัตถุของโลก

นายฟาบิโอ จินดา กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กได้ทำงานร่วมกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์ก ที่นำโดยนาย Matthew Bogdanos หัวหน้าหน่วยต่อต้านการลักลอบนำเข้าวัตถุโบราณอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางติดตามนำเอาโบราณวัตถุในกลุ่มดังกล่าวที่เป็นของไทยกลับคืนสู่ประเทศไทยให้ได้ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นหลายตอน ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโบราณวัตถุแต่ละชิ้น การพิสูจน์แหล่งที่มาจนมั่นใจได้ว่า เป็นของที่ลักลอบขนออกจากประเทศไทยจริง การทำงานด้านเอกสารที่ต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องของนิวยอร์ก การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันกับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ การทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศที่ไทยชนิดข้ามวันข้ามคืน นอกจากนี้ ยังมีภารกิจแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับส่งศิลปโบราณวัตถุกลับไทยในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งรวมถึงการหาบริษัทขนส่งที่มีความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ

ด้วยความพยายามและความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงสามารถผ่านแต่ละด่านมาได้ เป็นลำดับ และคาดว่า จะจัดพิธีรับมอบโบราณวัตถุข้างต้นจากฝ่ายสหรัฐฯ ได้ในวันที่ 22 เมษายน ศกนี้ ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก โดยมี นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตผู้แทน ถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายสหรัฐฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบ เพื่อรอเวลาส่งกลับประเทศไทยเมื่อหน่วยงานในไทยมีความพร้อม ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความร่วมมือและมิตรภาพที่ แน่นแฟ้นระหว่างสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์ก ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตเราอาจจะได้ยินข่าวดีอีกว่าจะมีโบราณวัตถุของไทยกลับคืนสู่มาตุภูมิเพิ่มเติมจากนครนิวยอร์กด้วย

Advertisement
มังกร ประทุมแก้ว กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส

ในส่วนของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส การทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อปี 2559 หลังจากที่นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดีของไทยนำเสนอข่าวว่า มีทับหลังของไทยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งนครซานฟรานซิสโก จนเป็นที่สนใจในวงกว้างที่ไทย อดีตกงสุลใหญ่ฯ ธานี แสงรัตน์ (โฆษกกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน) จึงได้ไปตรวจสอบและพบว่ามีอยู่จริง นำมาสู่การรายงานกลับไปที่ไทย และเป็นผลให้คณะกรรมการทวงโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยมีมติเมื่อปี 2560 ให้ทวงคืนผ่านช่องทางทางการทูต

ในการจะทวงคืนทับหลังทั้งสองรายการนี้ต้องพบกับอุปสรรคไม่น้อย เริ่มตั้งแต่ที่พิพิธภัณฑ์ฯ ยกข้อต่อสู้ว่า ได้รับบริจาคมานานนม ก่อนจะมีอนุสัญญาว่าด้วยวิธีการห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 (UNESCO Convention on the Means of Prohibiting and Preventing the Illicit Import, Export, and Transfer of Ownership of Cultural Property 1970) ซึ่งไทยก็มิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ด้วย อีกทั้งกระบวนทวงคืน โดยเฉพาะการฟ้องคดีต่อพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร แม้ว่า HSI จะต่อสู้ด้วยเหตุผลว่า พิพิธภัณฑ์ฯ ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาตจากกรมศิลปากรให้ส่งออกทับหลังจากประเทศไทยได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า การนำทับหลังออกจากไทยไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น

หลังการต่อสู้ทางกฎหมายที่เนิ่นนานจนถึงปลายปี 2563 ทีมอัยการสหรัฐฯ ก็ประสบความสำเร็จในการยื่นฟ้องต่อศาล ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ฯ ยินยอมให้ยึดทับหลังทั้งสองรายการ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา HSI ก็ได้เข้ายึดทับหลังดังกล่าวไว้แล้ว โดยหนึ่งในบุคคลที่ควรได้รับการชื่นชม คือ เจ้าหน้าที่พิเศษ David Keller ของ HSI ที่ค้นคว้าข้อมูลทั้งเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งการอ้างกฎหมายอนุรักษ์โบราณวัตถุของไทย โดยเห็นว่าประเทศไทยเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ลักลอบค้าโบราณวัตถุระหว่างประเทศ ซึ่งตลอดเวลากว่า 4 ปี เจ้าหน้าที่พิเศษ Keller ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางคดีและประสานงานกับทั้งหน่วยงานไทยและทีมอัยการสหรัฐฯ ในการเจรจาทั้งบุ๋นและบู๊ จนยึดคืนทับหลังได้ และจะส่งมอบให้ไทยผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสต่อไป ตามกระบวนการภายในทั้งของฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายไทย

เช่นเดียวกัน ระหว่างรอความพร้อมของหน่วยงานไทยในการรับทับหลังทั้งสองรายการ สถานกงสุลใหญ่ฯ ก็ได้เตรียมการด้านรายละเอียดต่าง ๆ เช่น การติดต่อหาบริษัทขนส่งศิลปวัตถุขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญ การประสานงานกับฝ่ายสหรัฐฯ และหน่วยงานของไทย เกี่ยวกับพิธีส่งมอบและเอกสารที่เกี่ยวข้อง งบประมาณ เพื่อให้การเดินทางกลับมาตุภูมิของทับหลังอันทรงคุณค่ายิ่งทั้งสองรายการเป็นไปอย่างสง่างามและสมศักดิ์ศรี

จากที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าภารกิจติดตามสมบัติแห่งชาติของไทยในอเมริกากลับบ้านเกิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องใช้ความพยายามและผ่านกระบวนการต่าง ๆ นานาจำนวนมาก แต่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในสหรัฐฯ ก็จะให้ความสำคัญกับการทำงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทยต่อไป พร้อม ๆ กับ การรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อภารกิจการทวงคืนโบราณวัตถุ ของไทยที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐฯ อีกกว่า 30 ชิ้น ความสำเร็จในการได้รับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของไทยคืนมาในครั้งนี้จึงถือเป็นการเปิดประตูไปสู่การติดตามโบราณวัตถุของไทยชิ้นต่อ ๆ ไปกลับคืนสู่มาตุภูมิด้วย

อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่รู้ว่ามีโบราณวัตถุของไทยอีกจำนวนเท่าไรที่ตอนนี้พลัดพรากจากแผ่นดินแม่ไปบ้าง ซึ่งอันที่จริงแล้ว คงจะเป็นการดีกว่ามากถ้าหากเราจะเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้ในประเทศให้ดี โดยไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ลักลอบนำศิลปวัตถุเหล่านี้ออกจากประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image