อันเนื่องจากแฮชแท็ก#นิติจุฬา กลุ่มไลน์ส่องหญิงละเมิดสิทธิ ‘ถ้ามองเป็นเรื่องธรรมดา นั่นคือสังคมมีปัญหา’

ภาพจากข่าวสด

ถือเป็นประเด็นร้อนแรงที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่บนโลกออนไลน์ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เมื่อชาวเน็ตจำนวนมากพากันติดแฮชแท็ก #นิติจุฬา จนทะยานสู่อันดับ 1 บนเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังจากมีผู้ใช้นำแชตที่มีการพูดคุยในกลุ่ม ‘ลอว์เมน (Lawmen)’ ที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนชายที่เพิ่งผ่านการสอบคัดเลือกเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการพูดถึงนิสิตหญิงคณะต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มไลน์ของคณะอื่นๆ เพื่อเก็บข้อมูลการติดต่อนิสิตหญิง แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน

เมื่อเกิดเสียงสะท้อนรุนแรงเช่นนี้ นิสิตชายตัวแทนกลุ่มลอว์เมน ก็ได้ออกมาขอโทษที่แคปข้อมูลส่วนตัวโดยพลการ ไม่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัว ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอึดอัด และไม่ปลอดภัย รวมถึงได้ขอโทษทางคณะ ขณะที่นิสิตชายบางส่วนในกลุ่มไลน์ก็ได้ออกมาขอโทษที่ไม่ได้มีการห้ามปรามเพื่อน

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเรียกร้องให้คณะและมหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างเร่งด่วน หลายภาคส่วนและกลุ่มองค์กรพากันออกแถลงการณ์ประณามการกระทำเช่นนั้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้หญิงถูก ‘ละเมิด’ กระทั่ง ‘คุกคาม’ ผ่านสังคมออนไลน์ จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลเหล่านั้นถูกคาดหวังเป็นอนาคตของชาติในฐานะนิสิตใหม่ในคณะวิชาด้านกฎหมายในสถาบันการศึกษาอันดับต้นๆ ของไทย

Advertisement

ออกแถลงการณ์กลางดึก

‘คณบดีนิติจุฬาฯ’ เร่งตรวจสอบ ยัน ‘ไม่นิ่งนอนใจ’    

เวลาตีหนึ่งของวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแถลงการณ์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างทันท่วงที ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมเร่งตรวจสอบและดำเนินการต่อไปโดยเร็ว

ความว่า

Advertisement

“ด้วยความปรากฏต่อคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่านักเรียนชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเพิ่งผ่านการสอบคัดเลือก เพื่อเข้าเป็นนิสิตใหม่ในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ประจำปีการศึกษา 2564 ได้กระทำการอันไม่เหมาะสมซึ่งมีลักษณะล่วงละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวและอาจเข้าข่ายพฤติการณ์ล่วงเกินทางเพศ ผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ต่อนิสิตคณะอื่น

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อนิสิตที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมยิ่งของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งอาจจะเข้ามาเป็นนิสิตใหม่ในความดูแลของคณะนิติศาสตร์

ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์มิได้นิ่งนอนใจ จะเร่งสอบหาข้อเท็จจริงและดำเนินการต่อไปโดยเร็ว รวมทั้งจะได้ประสานงานและติดตามรายงานความคืบหน้ากับคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้จากแถลงการณ์ซึ่งเลือกใช้คำว่า ‘กลุ่มนักเรียนชาย’ แทนการระบุว่าเป็น ‘นิสิต’ ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คณะอาจอยู่ในระหว่างพิจารณาบทลงโทษ รวมถึงพิจารณาสิทธิในการเข้าศึกษาต่ออีกด้วย

ธงทอง จันทรางศุ

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ราชสำนัก นักเขียน คอลัมนิสต์ชื่อดัง และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของตน ซึ่งเตือนใจถึงการเคารพศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยระบุว่า

‘จะเป็นนักเรียน เป็นนิสิต นักศึกษา หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ โปรดอย่าทอดทิ้งความเป็นมนุษย์ที่เคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะถ้าเป็นมนุษย์ที่ดีไม่ได้เสียแล้ว ก็เป็นอะไรต่อไปไม่ได้ทั้งนั้น’

แม้ไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์ใดโดยตรง แต่ชวนให้เชื่อมโยงได้ว่า น่าจะสื่อถึงกรณี #นิติจุฬา ที่เป็นปมร้อน

รุมประณาม ‘ไม่อาจยอมรับได้’

ทวงถามมาตรการความเท่าเทียมบนพื้นที่ปลอดภัย

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นันท์นภัส แสงแก้ว และ ธีรพันธ์ อัครเดชากร หัวหน้านิสิตชั้นปีที่ 2 และคณะกรรมการจัดงานรับน้อง ฬ 64 ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ คณะกรรมการจัดงานรับน้อง ฬ 64 ลงวันที่ 6 มิถุนายน เวลา 04.34 น. โดยในเนื้อความสำคัญระบุว่า

การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจยอมรับได้ ทั้งในสายตาของกฎหมาย บรรทัดฐานสังคม และเป็นการไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงสิทธิส่วนบุคคลซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมี

ทางคณะกรรมการได้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐานจากผู้เสียหายที่จะเป็นประโยชน์แก่กระบวนการของกิจการนิติศาสตร์ จุฬา

ขณะที่ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ไม่ยอมรับและขอประณามการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ

‘เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และเกิดความเสียหายต่อสภาพจิตใจและความปลอดภัยในชีวิตของผู้ที่ถูกพาดพิงในกลุ่มสนทนานั้น พฤติกรรมดังกล่าวยังถือเป็นการขัดต่อหลักการและบรรทัดฐานอันเป็นที่ยอมรับระดับสากลหลายประการ ได้แก่ หลักความเสมอภาคทางเพศ บรรทัดฐานสิทธิมนุษยชน และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น’

สโมสรนิสิตจุฬาฯ ยังเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยมีมาตรการรองรับเมื่อเกิดเหตุการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นในระดับระหว่างนิสิต อาจารย์ หรือบุคลากร ทั้งในด้านการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไข รวมถึงกระบวนการร้องทุกข์และช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อสร้างจุฬาฯให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกัน

จากฝั่ง ‘คนใน’ ยังมีแถลงการณ์จาก ‘พรรคโดมปฏิวัติ’ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านการคุกคามทางเพศและอำนาจนิยม

‘เนื่องจากประเด็นอื้อฉาวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในกรณีของคณะนิติศาสตร์จุฬา dek64 หรือกิจกรรมรับน้องของคณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคโดมปฏิวัติใคร่ขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการสืบสวนและลงโทษ รวมถึงการชี้แจงจุดยืนกับสังคมในกรณีที่เกิดขึ้น

พรรคโดมปฏิวัติในฐานะสมาชิกสภานักศึกษา จะติดตาม ดูแล และป้องกัน ไม่ให้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนถูกปฏิบัติประหนึ่งเป็นดั่งวัตถุที่จะถูกกดทับจากใครไม่ว่าจะด้วยประการใดก็ตาม ทั้งนี้ พวกเราหวังอย่างยิ่งว่า ต้องไม่มีเรื่องในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือรั้วสถานศึกษาอื่นใด’

คุณธรรมทางเพศในระบบการศึกษา

สิ่งที่ขาดหายในสังคมชายเป็นใหญ่

จากเหตุการณ์นี้ เมื่อสอบถามไปยัง รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับคำตอบผ่านมุมมองชวนขบคิดที่ว่า สิ่งที่ชัดเจนคือ ‘การไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคล’ ของกลุ่มนิสิตชาย และหากสังคมมองว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ หรือ ‘ผู้ชายก็อย่างนี้แหละ’ ถือว่าเข้าข่าย ‘ต้องระวัง’ เพราะสะท้อนว่า ‘ปิตาธิปไตย’ เข้าครอบงำสังคมแล้ว

“ถ้าบอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดานั่นคือปัญหา และนั่นคือสังคมชายเป็นใหญ่ หรือปิตาธิปไตยเข้าครอบงำสังคมแล้ว เพราะการคุกคามทางเพศผู้หญิงเป็นเรื่องที่ไม่ควร”

รศ.ดร.ยุกติ ยังกล่าวถึงในประเด็น ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ในสังคมว่า ต้องมีการปลูกฝังเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และรัฐก็สามารถทำเรื่องนี้ได้แต่ก็ยังไม่ทำ และเราสามารถเห็นได้ว่า เรื่องการที่ผู้หญิงถูกแทะโลม ทั้งด้วสายตาและวาจาต่างๆ แม้แต่ผู้นำประเทศในกรณีที่มีการข่มขืนชาวต่างชาติ นายกฯก็มักจะให้ความเห็น วิพากษ์การแต่งตัวของชาวต่างชาติคนนั้นว่าเป็นอย่างไรซึ่งในลักษณะนี้ก็เป็นการโทษเหยื่อเป็นอย่างแรก

“ทัศนคติเช่นนี้มันไม่ควรจะอยู่ในสังคมปัจจุบัน และต้องตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดให้ชัดเจนขึ้น อย่างผมที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ จะไปให้ความเห็นการแต่งกายของนักศึกษาก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะมันผิดในแง่จรรยาบรรณ”

นอกจากนี้ การปลูกฝังแนวคิดคุณธรรมทางเพศในระบบการศึกษาแทบจะไม่มีให้เห็น หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน มีการหยอกล้อ การแซวผู้หญิงของพิธีกรชาย แม้กระทั่งการเหยียดเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือการที่คนภาคกลางหรือคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เหยียดคนในภูมิภาคอื่นๆ

“ถ้ามีการพูดถึงเรื่องรูปลักษณ์ รูปร่าง หน้าตา เรือนกาย ก็เป็นไปได้ที่จะกล่าวในแนวทางนั้น ถือว่าเหยียดได้เช่นกัน เพราะทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ และมองไม่เห็นถึงคุณค่าที่มีอยู่มากกว่านั้นแต่ถ้าจะถามว่าการมองความงามในแง่ของเรือนร่าง มันเป็นการเหยียดเพศเสมอไปหรือเปล่า จุดนี้ก็ต้องต้องคุยกันให้ละเอียด อย่างเช่น ภาพนู้ด หรือภาพโป๊ ในสังคมตะวันตกกับตะวันออกมันไม่เหมือนกัน

ในสังคมตะวันตก เราเห็นได้จากงานศิลปะ ผู้หญิงเป็นวัตถุถูกมองมากกว่าผู้ชาย การโป๊ของผู้ชายกับผู้หญิงก็จะต่างกัน เพราะลักษณะการโป๊ของผู้ชายคือการแสดงให้เห็นถึงความกำยำ ล่ำสัน และมองเห็นจากด้านหลังมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงจะกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง และสามารถบอกได้เลยว่าการมองภาพโป๊ของผู้หญิงนั้นเกิดจากมายาคติสายตาของผู้ชาย

ดังนั้นประเด็นที่ผมมองก็คือว่า ผู้หญิงนั้นถูกมองในลักษณะไหน และในกรณีนิสิตชายที่สร้างกลุ่มไลน์ขึ้น แม้ว่าจะนำผู้หญิงมามองในลักษณะไหน ก็อาจจะเป็นการเพ่งเล็งไปเฉพาะบางจุดหรือไม่ หรือว่าเป็นลักษณะของมุมมองของผู้ชายที่จะมองในเชิงเพศเชิงกามอารมณ์ อย่างเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็สามารถระบุได้ว่า ยังเป็นการมองผู้หญิงแบบเหยียดอยู่ดี” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

ชำแหละความรุนแรงเชิงระบบ

หยุดส่งต่ออำนาจนิยมจากรุ่นสู่รุ่น

ระหว่างที่กระแสสังคมดำเนินไป มีบางส่วนเกิดความเห็นแย้งในแง่มุมที่ว่า การกระทำของกลุ่ม (ว่าที่) นิสิตชายคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นเพียงการ ‘ละเมิด’ ยังไม่ถึงขั้น ‘คุกคาม’

ประเด็นนี้ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ วาดดาว จากกลุ่ม ‘เฟมินิสต์ปลดแอก’ แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า นี่คือการคุกคามทางเพศ ซึ่งมีหลายระดับ ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้คือ ความรุนแรงทางเพศ

“การที่นำรูปที่ไม่ได้รับอนุญาตมาหยอกล้อ เสียดสี อ้างว่าจะทำเรื่องนี้ นั่นคือความรุนแรงที่เกิดขึ้น และสิ่งที่กลุ่มนิสิตชายกระทำนั้น ก็เรียกได้ว่า เป็นการคุกคามทางเพศอย่างเต็มที่ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว ไม่สบายใจ การคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ หรือ Cyber Harassment ซึ่งจะแตกต่างจาก Physical Harassment คือการจับเนื้อต้องตัว แต่ในกรณีนี้จัดเป็น Cyber Harassmentเพราะเกิดจากการใช้ข้อความ ใช้รูป ส่งต่อผ่านทางด้านออนไลน์ หรือผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งสังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก

นอกจากนี้ ประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการละเมิดพื้นที่ส่วนตัว ทั้งหมดนี้มันเป็นการสร้างบรรยากาศ และความรุนแรงทางเพศให้เกิดขึ้น ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้มีโอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทางร่างกายได้ เพราะมีการวางแผน แสดงความคิดเห็น แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ยังไม่ได้แสดงออกไป

นี่คือสิ่งหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดการคุกคามทางด้านร่างกายตามมา และสุดท้ายมันคือพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในระบบการศึกษา และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เด็ก และเยาวชนทำเพิ่มขึ้นเท่านั้น ระบบนี้มันเป็นระบบวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ถูกส่งทอดกันมานาน” วาดดาวกล่าว

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

สำหรับการแก้ไขเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น วาดดาว แนะว่า เบื้องต้น สถาบันการศึกษาต้องตั้งการไต่สวนอย่างเป็นธรรมกับคนที่นำรูปไปแสวงใช้ผลประโยชน์

“สถาบันการศึกษาต้องตั้งการไต่สวนอย่างเป็นธรรมกับคนที่นำรูปไปแสวงใช้ผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นการไต่สวนที่จะเกิดขึ้นเราต้องรู้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นใครทำอะไรบ้าง และใครเป็นผู้ถูกกระทำบ้าง และต้องอนุญาตให้ผู้ถูกกระทำได้เข้าร่วมดำเนินการเพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในความรู้สึกของพวกเขา และต้องเน้นย้ำในเรื่องของความยุติธรรมสำหรับประเด็นการคุกคามทางเพศ และความรุนแรงทางเพศ ความยุติธรรมที่กลุ่มเฟมินิสต์พูดถึงไม่ได้หมายความว่าการเข้าคุกเข้าตาราง แต่สุดท้ายคนที่รู้สึกว่าเขากำลังถูกคุกคามและถูกล่วงละเมิดนั้นได้รู้ว่าอะไรคือความยุติธรรมที่เขาต้องการ บางครั้งอาจจะเป็นไปในลักษณะของการขอโทษในที่สาธารณะ บางครั้งอาจเป็นการขอโทษในพื้นที่ส่วนตัว หรือในรูปแบบของการที่สถาบันมีมาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อปกป้องไม่ให้คนอื่นโดนเช่นนี้อีก”

ทุกมหา’ลัย ทุกโรงเรียน ต้องมีการพิจารณากฎระเบียบว่าครอบคลุมถึงเรื่องเหล่านี้แล้วหรือยัง และต้องทำการศึกษา หาผู้เชี่ยวชาญและใฝ่เรื่องจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา หรือครู จะต้องมีจริยธรรมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม”

วาดดาว ยังระบุว่า มาตรฐานและมาตรการนี้ไม่จำเป็นต้องอ้างว่าเป็นนักนิติศาสตร์หรือคนที่กำลังจะเรียนเพื่อไปสู่การทำงานแบบทนายหรือกระบวนการยุติธรรม แต่จิตสำนึกของการไม่กระทำความรุนแรงและการคุกคามทางเพศกับคนอื่นต้องถูกใช้ในทุกกลุ่มไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพไหนหรืออยู่ในมหาวิทยาลัยใด

สำหรับในส่วนของการวางแนวทางแก้ไขปัญหา ต้องมีการทำงาน ‘เชิงโครงสร้าง’ เช่น สื่อมวลชน ต้องมีการตั้งคำถาม และให้ความรู้พร้อมทั้งปกป้อง และสนับสนุนสิ่งดีๆ ในเยาวชน ที่จะไม่นำพฤติกรรม หรือการกระทำที่ละเมิดระหว่างการศึกษา

“ถ้าหากมีระบบการศึกษาที่ดี และทำความเข้าใจมากพอว่า นี่คือรูปแบบความรุนแรง เด็กและเยาวชน เขาก็จะไม่ทำ

นอกจากนี้เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราสะท้อนกลับไปแบบไม่ต้องโครงสร้างไหนเลย อย่างในฐานะสื่อมวลชน เราคิดว่าสื่อจำเป็นมากที่ต้องตีแผ่เรื่องนี้ เพื่อให้คนตระหนักว่ามันเกิดขึ้นจริงในสังคม เพื่อดูว่าวิธีการที่ควรจะเป็นไปต้องดำเนินไปทางไหน สื่อต้องชี้ให้เห็นในทางเชิงลึกมากกว่านี้ ต้องทำให้สังคมปกป้องร่วมกันว่า เหตุการณ์แบบนี้เรายอมให้เกิดขึ้นไม่ได้” วาดดาวกล่าว และย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความรุนแรงเชิงระบบ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว พฤติการณ์เหล่านี้มันเป็นการส่งต่อของระบบอำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่ที่อนุญาตให้รุ่นต่อรุ่นใช้ความรุนแรงรูปแบบเดียวกันซ้ำๆ ได้ จึงเกิดปัญหาไม่จบไม่สิ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สังคมมีความเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมทั้งทางเพศมากขึ้น

“ต้องยอมรับว่ามากขึ้น เพราะปรากฏการณ์นี้ที่เรารู้กันว่ามันเกิดขึ้นทุกปี มันมีรูปแบบที่ใช้รูปแบบนี้กันทุกปี เพียงแต่ว่าปีนี้เริ่มมีความตระหนักมากยิ่งขึ้นเพราะ ฉะนั้นสังคมจึงลุกขึ้นมาปกป้องคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ ไม่ได้ปกป้องคนที่มีอภิสิทธิ์ชายเป็นใหญ่เหมือนเดิม”

การละเมิดสิทธิ และคุกคามทางเพศ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่หมุดยุคของการปล่อยผ่าน นิ่งเฉย จนกระแสเจือจางไป ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นจนชินชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image