วัคซีนต้องฉีด น้ำหนักต้องลด วาระแห่งชาติ ภูมิคุ้มกันชีวิต ในวันที่ ‘โควิด’ ยังอยู่กับเรา

ทยอยรับวัคซีนมากขึ้นตามลำดับ สำหรับคนไทยในวันนี้ เพื่อสกัดโรคร้ายโควิด-19 แม้มีปัจจัยแทรกซ้อนอย่างโรคเลื่อน ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา คนรอ ก็ยังคงรออย่างมุ่งมั่น ท่ามกลางกระแสข่าวชวนหวาดหวั่นถึงผลข้างเคียง จริงบ้าง ปลอมบ้าง ปั่นบ้าง นับเป็นช่วงเวลาต้องเฝ้าระวังและสร้างภูมิคุ้มกันด้านข่าวสารโดยเฉพาะจากไลน์กรุ๊ปแบบไม่ทราบที่มา

และไม่ว่าอย่างไร วัคซีน คือชุดเกราะสำคัญที่แพทย์ยืนยันและรณรงค์อย่างแข็งขันให้ผู้ที่ยังลังเลใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนพาสังคมไทยออกจากวิกฤตโควิด-19 วัคซีนคือสารชีววัตถุที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค โดยทำงานเสมือนเป็นคู่ซ้อมให้ร่างกาย ได้ฝึกฝนกลไกการป้องกันโรคตามธรรมชาติให้รู้จักและมีความพร้อมในการต่อสู้กับเชื้อโรคจริง นอกจากนี้ วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดได้รับการรับรองว่ามีประสิทธิผลในการลด “การเจ็บป่วยรุนแรงและ การเสียชีวิต” จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อในสังคมได้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องฉีด 2 เข็ม ถึงจะมั่นใจว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกัน

“การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีน เป็นภูมิคุ้มกันระดับประเทศที่ทำให้ทุกคนปลอดภัย ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยเข้ามารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการต่อไปได้ในเรื่อง อื่นๆ เช่น การเปิดประเทศ และการกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจในอนาคตเมื่อเราฉีดวัคซีนได้ครบก็จะทำให้เกิดประโยชน์ 3 อย่าง ได้แก่ 1.ตัวเองมีภูมิคุ้มกัน ไม่แพร่เชื้อให้กับคนอื่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้การติดเชื้อรุนแรงเกิดในคนไทยน้อยลง 2.เมื่อฉีดแล้วอาการจะไม่รุนแรง และ 3.เมื่อมีอาการไม่ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างแน่นอน

Advertisement

การให้คนไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.เพื่อรักษาระบบสุขภาพให้ดำเนินไปได้ โดยพิจารณาให้วัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าในการควบคุมโรค 2.เพื่อลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งจะให้วัคซีนแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง ทางเดินหายใจเรื้อรัง ปอดอุดตันและไตวายเรื้อรัง และหลังจากนี้คาดว่าในไตรมาสที่ 3 และ 4 จะมีวัคซีนเพียงพอจนสามารถขยายการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้ครบถ้วนตามลำดับต่อไปและในประชากรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับการพิจารณาร่วมกับแพทย์ที่ดูแลแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ดังนั้น จึงจำเป็นที่ทุกคนไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่จะยังต้องคงมาตรการควบคุมต่อไป” นพ.ธเรศ กล่าว

นอกเหนือเรื่องวัคซีน แน่นอนว่าการรักษาสุขภาพร่างกาย ย่อมสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่โดยภาพรวมในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวมากจนถึงภาวะโรคอ้วนหลายรายและมีอายุน้อยยังอยู่ในวัยทำงานโดยเฉลี่ยอายุ 29 ปี ต่างจากระลอกที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและยังเป็นกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือพาหะนำโรค แต่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่นิยมการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีปัจจัย เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 7 เท่า หากเป็นโรคโควิด-19

Advertisement

คนอ้วนหรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า นอกจากนี้ ภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และหากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคอาเซียนพบว่าคนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น โดยมีคนไทยอ้วนถึงร้อยละ 8.5 (ประมาณ 5.6 ล้านคน) และพบว่าคนไทยร้อยละ 0.9 เข้าเกณฑ์เป็นโรคอ้วนที่พึงได้รับการผ่าตัด (ประมาณ 6.7 แสนคน)

ดังนั้น ในสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงระลอกนี้ ทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะวัยทำงานต่างมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 หากประมาท การ์ดตก โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิต (lifestyle) ที่มักรับประทานอาหารรสจัด เน้นหวาน มัน และเค็ม ประกอบกับไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อความปลอดภัย

จึงมีข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพ 2 เรื่องคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการออกกำลังกาย โดยรับประทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ เน้นผักหลากหลายสีและผลไม้สด กินอาหารไม่หวานจัด ไม่เค็มจัดและไม่มีไขมันสูง ปรุงสุก สะอาด ปราศจากเชื้อโรคและสารเคมี ออกกำลังระดับปานกลางที่ทำให้หายใจแรงขึ้น (ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นหายใจหอบ) อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อาจออกกำลังต่อเนื่อง 30 นาที หรือแบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงละ 10-15 นาที เป็นต้น

7 ข้อ (รอ) ฉีดวัคซีนให้ ‘ปลอดภัย’

กระทรวงสาธารณสุขมี 7 ข้อแนะนำในการเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีน ได้แก่

1.ช่วง 2 วันก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ให้ งด ออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

2.วันที่ฉีดควรดื่มน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งด ชา กาแฟ หรือ ของที่มีกาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

3.ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก

4.หลังฉีดแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที

5.ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ได้ครั้งละหนึ่งเม็ด ซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด

6.การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน และ

7.ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที

การฉีดวัคซีนถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (heard immunity) แก่ประชาชนให้เกิดขึ้นโดยเร็วซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดโอกาสการเสียชีวิต ตลอดจนลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์โดยการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้น แม้ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว ก็ต้องปฏิบัติด้านสุขอนามัยควบคู่ไปกับวิธีการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอเมื่ออยู่ในที่ชุมชน หมั่นล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งของ และพยายามเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ที่สายด่วน สบส.คอลเซ็นเตอร์ 1426 และเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ https://hss.moph.go.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image