‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ’ จากสวนสมุนไพร สู่สวนพฤกษศาสตร์มาตรฐานสากล

‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ’ จากสวนสมุนไพร สู่สวนพฤกษศาสตร์มาตรฐานสากล

นับเวลาเกือบ 40 ปีที่ ‘สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ’ โดยภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือแหล่งศึกษาเรียนรู้และวิจัยด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ ภมรประวัติ และ ศาสตราจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ในขณะนั้น ที่ตั้งใจให้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยสำหรับการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยพัฒนา ตั้งแต่ พ.ศ.2525

กระทั่งต่อมามีการขยายพื้นที่และขอบเขตการดำเนินงานเป็น ‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล’ และ ‘โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล’ ในปัจจุบัน โดยเป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชสมุนไพรไทยกว่า 800 ชนิด ในพื้นที่ 140 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่เปิดกว้างเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน ตามปณิธาน ‘ปัญญาของแผ่นดิน’

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ซึ่งเป็นองค์กรของสหราชอาณาจักร ที่มีเครือข่ายสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Advertisement

 รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ รักษาการผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากที่อุทยานฯ ได้รับการรับรองจาก BGCI นั้น นับเป็นการตอบสนองวิสัยทัศน์ของการก้าวขึ้นสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสมุนไพรและธรรมชาติวิทยาที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติซึ่งเป้าหมายต่อไป คือ การเพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชสมุนไพร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน และประโยชน์ในการศึกษาวิจัยต่อไป รวมถึงการขยายงานด้านการวิจัยและการสร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพรในระดับนานาชาติ

รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์

“พันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ ที่จัดแสดงในอุทยานฯนั้นจะต้องผ่านกระบวนการที่ได้มาตรฐานสากล คือ จะต้องมีการลงทะเบียนพันธุ์พืชก่อนนำไปปลูกพักฟื้นให้พร้อมจัดแสดงในอุทยานฯ พร้อมป้ายจัดแสดงที่ชัดเจน ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองจาก BGCI คือ การเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีงานวิจัยที่มี impact รองรับ ซึ่งอุทยานฯมีตัวอย่างสมุนไพรที่สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และได้มีการจัดทำอนุกรมวิธานพันธุ์พืชสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถนำไปใช้อ้างอิง และต่อยอดทางการศึกษาวิจัยได้อย่างหลากหลาย โดยนักวิจัยประจำอุทยานฯและจากส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนจากเครือข่ายวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

 นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้วางแผนจะเปิดหลักสูตรปริญญาโทและเอกด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ร่วมกับเครือข่ายพฤกษศาสตร์นานาชาติ และมุ่งหวังให้อุทยานฯ เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเพื่อมวลมนุษยชาติต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพกล่าว

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า การที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับการรับรองมาตรฐานโลกจาก BGCI เป็นการเปิดประตูสู่นานาชาติในการสร้างเครือข่ายด้านพฤกษศาสตร์ในระดับสากลต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตโควิด-19 หรือวิกฤตใดๆ ก็ตาม การมีสวนพฤกษศาสตร์ที่อุดมไปด้วยพันธุ์พืชซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นอาหารและยา จะสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชากรโลกได้เสมอทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ จัดสัมมนาออนไลน์นานาชาติ ‘Siree Park Webinar’ ในหัวข้อ ‘Botanical Garden Accreditation and Collection Management-ทำอย่างไรถึงได้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ระดับโลก’ ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00-15.30 น. เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแวดวงวิชาการพฤกษศาสตร์นานาชาติ ตลอดจนถอดบทเรียนเพื่อผลักดันให้สวนพฤกษศาสตร์ที่อยู่ในเครือข่ายได้ก้าวขึ้นสู่มาตรฐานระดับสากลต่อไป

พบกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสวนพฤกษศาสตร์ อาทิ Dr.Greetha Arumugam จาก BGCI และ Dr.Nura Abdul Karim จากสวนพฤกษศาสตร์ ประเทศสิงคโปร์ ร่วมด้วย ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ประเทศไทย ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์การอนุรักษ์พันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ติดตามรายละเอียด พร้อมลงทะเบียนสัมมนาออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ https://sireepark.mahidol.ac.th/webinar2021


 

 

 

ผลสำรวจเผย

‘สิ่งแวดล้อม’ คือความกังวลใจอันดับ 1 ของคนไทย

ท่ามกลางปัญหามากมาย ทั้งประเด็นร้อน และปมเรื้อรังยุ่งเหยิงในสังคมไทย สิ่งแวดล้อม คือ 1 ในความกังวลใจที่ยิ่งชัดเจนมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะเมื่อมีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ในตำราเรียนหรือสารคดี คำว่าไกลตัว จึงไม่ใช่นิยามในภาพจำอีกต่อไป

ล่าสุด ผลสำรวจที่ดำเนินการโดย ‘มาร์เก็ตบัซซ’ ร่วมกับ นักศึกษา วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ ‘คนไทยสนใจสิ่งแวดล้อมหรือไม่?’ พบว่าคนไทยจากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ทั่วประเทศ มีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษ สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นปัญหาที่ถูกเลือกถึง 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ, เพศหญิง และผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ส่วนความกังวลที่รองลงมา ตั้งแต่อันดับ 2-5 คือ ความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจ 34%, ค่าครองชีพที่สูงขึ้น 33%, สภาวะการว่างงาน 30% และปัญหาการทุจริต 24% โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้หญิงและกลุ่มที่มีอายุน้อย และมากกว่า 20% ของคนไทยมีความกังวลในเรื่องของปัญหาการทุจริต อาชญากรรม และการลดลงของศีลธรรมและจริยธรรมของผู้คน

ความกังวลเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) โดยสหประชาชาติ (UN) ในเรื่องของ ‘แผนการบริโภคและการพัฒนาที่ยั่งยืน’, ‘การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’, ‘การจ้างงานที่มีคุณภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ’ และ ‘สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก’ นับเป็นหัวข้อที่มีความโดดเด่นและเป็นที่สนใจอย่างมากโดยประชาชนชาวไทย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และคนไทยมองว่าปัญหานี้จะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ ผู้ตอบแบบสอบถาม 6 ใน 10 คน เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก และคนไทยเกือบครึ่งเชื่อว่าคุณภาพชีวิตจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกใน 5 ปีข้างหน้า

เมื่อถามถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คิดว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือ ภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ ปัญหาการจราจรยังเป็นที่พูดถึงโดยเฉพาะในผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน

ในขณะที่คนไทยบางส่วนมีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องอาศัยความร่วมมือของส่วนรวมในการลงมือทำอีกมากเพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่ชัดเจน ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ถุงหรือภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เห็นได้มากขึ้นคือการหยุดซื้อสินค้าหรือบริโภคของป่าอย่างผิดกฎหมาย และลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในบ้าน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า น่ายินดีที่เห็นว่าประชาชนทั่วไปใส่ใจถึงความสำคัญของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

“เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ นับเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตรของเรา และการที่คนไทยมีความตระหนักต่อสิ่งนี้มากขึ้น ช่วยให้เราได้ทำในสิ่งที่เราเล็งเห็นแล้วว่าเป็นความสำคัญในอันดับต้นๆ ต่อชุมชน”

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์เก็ตบัซซ จำกัด (Marketbuzzz) เสริมว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากและเราจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับหัวข้ออื่นๆ ที่คนไทยมีความกังวล หลายคนเชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นนับวันจะยิ่งเลวร้ายลงทุกวัน เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

ความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา และการลงมือปฏิบัติในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image