ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทวง ‘เครดิต’ คืนภาคประชาชน จากทับหลังนารายณ์ฯถึงหนองหงส์-เขาโล้น

“สิ่งแรกที่ผมคิดว่าสำคัญ คือ เรามักถูกหลอกอยู่ตลอดเวลา ว่าการทวงทับหลัง คือ ราชการทวง ขอประทานโทษนะครับ การทวงทับหลัง ทั้งครั้งแรกและครั้งหลัง ภาคประชาชนเป็นตัวเริ่มต้น”

แซ่บตามสไตล์ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ รายการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่แค่ทอดน่อง หากแต่เปิดมุมมองกว้างๆ อย่างที่อาจไม่เคยมองเห็น พร้อมกันนั้นก็เจาะลึกในหลากประเด็นประวัติศาสตร์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ดังเช่น ในตอนล่าสุด ‘ไทย-กัมพูชา ปวศ.เครือญาติ ทับหลัง ประชาชนทวงคืนสหรัฐ’ อันสืบเนื่องมาจากการได้คืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว จากสหรัฐอเมริกาอีกระลอก หลังเคยได้คืน ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ เมื่อ พ.ศ.2531 หรือเมื่อ 33 ปีก่อน

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ ไม่เพียงร่วมกันเปิดประเด็นประวัติศาสตร์เครือญาติของไทยและกัมพูชา เพื่อนบ้านแนบแน่นในแดนอุษาคเนย์ ทว่า ยังย้อนเล่าเรื่องราวอย่างเจาะลึกถึงปฏิบัติการ ‘ทวงทับหลัง’ เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้วว่ากว่าจะได้คืนมา ต้องอาศัยขุมพลังอันแรงกล้าจากมวลมหาประชาชนคนไทยในสหรัฐ โดยเฉพาะชิคาโก ซึ่งเป็นแกนหลักในการประสานงาน แต่เมื่อภารกิจประวัติศาสตร์สำเร็จเสร็จสิ้น กลับไม่ได้รับ ‘เครดิต’ อย่างที่ควรเป็น

“เวลาพูดถึงการทวงทับหลัง บทบาทภาคประชาชน มักไม่ถูกพูดถึง แต่ยกประโยชน์ไปให้ราชการหมด ซึ่งไม่เป็นธรรม” สุจิตต์โวย ก่อนย้อนเล่าไทม์ไลน์ของทับหลังนารายณ์ฯ ซึ่งสันนิษฐานว่า ถูกมือมืดโจรกรรมไประหว่าง พ.ศ.2503-2508 ในช่วงสงครามเวียดนาม

Advertisement

“ถามว่าทำไมจึงไปอยู่ที่นั่นได้ สันนิษฐานว่าถูกขโมยไป สมัยนั้นการเข้าไปปราสาทพนมรุ้ง ลำบากมาก ตอนผมเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ที่ศิลปากร อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พาไปที่อำเภอนางรอง บุรีรัมย์ จะเข้าไปปราสาทพนมรุ้ง เข้าไม่ได้ ตำรวจห้ามหมด ถามว่าทำไม เพราะเป็นเขตสีแดงชายแดนกัมพูชา สมัยนั้นไม่มีถนน มีแต่ทางเกวียน โดยทั่วไปไม่มีใครเข้าถึง คนที่จะเข้าถึงได้คือ ทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน และนักสำรวจแล้วเอาไปได้อย่างไร แน่นอนต้องมีใบสั่ง ครั้นทับหลังออกนอกประเทศไทยไป สุดท้ายโผล่ที่สหรัฐ ณ สถาบันศิลปะที่ชิคาโก”

ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เสด็จไปเลคเชอร์ที่อเมริกาแล้วพบเข้า จากนั้น รัฐบาลไทยจึงทำหนังสือขอทวงคืนตั้งแต่ พ.ศ.2516 แต่กินแห้วต่อเนื่องยาวนาน 15 ปี กระทั่งปลายปี 2530 คณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร รื้อฟื้นประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วกดดันรัฐบาลให้ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม 2531 แต่ก็ยังคงไม่สำเร็จ

Advertisement

“เอกชนกลุ่มเล็กๆ จึงปรึกษากัน ว่าถ้าขืนปล่อยรัฐบาลดำเนินการอย่างเดียว ไม่สำเร็จแน่ สื่อมวลชนก็หารือกัน นักข่าวอาวุโสท่านหนึ่ง จึงไปคุยกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เกิดบรรยากาศความร่วมมือในการทวงคืน ตีข่าวทั่วโลก”

สุจิตต์-ขรรค์ชัย ย้อนความทรงจำ ทั้งในฐานะบัณฑิตโบราณคดี และในฐานะนักข่าวหนุ่มไฟแรงแห่งยุคสมัย

“ข่าวนี้ รู้ถึงคนไทยในอเมริกา เกิดการตื่นตัวขึ้นมา จึงรวมตัวกันที่เมืองชิคาโก มีการเดินขบวนกลางถนนทั้งที่ลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย ชิคาโก เทกซัส และเมืองอื่นๆ เต็มไปหมด แต่กลุ่มสำคัญอยู่ที่ชิคาโก ทั้งหมอ พยาบาล เจ้าของร้านอาหาร นักเรียนไทย ร่วมมือกันหมด มีเพลง เกิดเพลง เอาไมเคิล แจ็คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา ของคาราบาว กมธ. ในสภา ยกโขยงไปดูทับหลังที่ชิคาโก คนไทยในแอลเอก็นั่งหารือว่าจะทำอย่างไรดีที่จะเดินขบวนแล้วไม่ให้ตำรวจไล่จับ มีคนไทยคนหนึ่งเป็นตำรวจอยู่ที่นั่นบอกว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวจัดเองเลย (หัวเราะ)”

ไม่เพียงการเดินขบวนเท่านั้น แต่คนไทยในสหรัฐยังตั้ง คณะกรรมการรณรรงค์กรณีทับหลัง ติดต่อสมาชิกสภาเมืองชิคาโก มีมติเรียกร้องต่อสถาบันศิลปะชิคาโก ให้ส่งทับหลังคืนประเทศไทย จนทางชิคาโกยอมเจรจา

ต่อมาคณะกรรมการกิจการพิเศษ และวัฒนธรรมของสภาเมืองชิคาโก กำหนดให้มีการไต่สวนสาธารณะ ณ ศาลาว่าการเมือง หรือ City Hallในวันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2531 คนไทยในชิคาโก จึงพากันรวบรวมเงินทูลเชิญ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ เสด็จไปสหรัฐ กับข้าราชการกรมศิลปากร1 คน โดยออกสตางค์ค่าเครื่องบินทั้งไป ทั้งกลับ พร้อมค่าที่พักและค่าอาหาร เพื่อร่วมการไต่สวนสาธารณะ จนกระทั่งสหรัฐยอมคืนทับหลัง โดยต่อมา มีการนำไปติดตั้งที่ปราสาทหินพนมรุ้งดังเดิม

และเหตุการณ์นี้เอง ทั้งขรรค์ชัยและสุจิตต์ มีบทบาทในงานข่าวใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาจนถึงวันนี้

“คุณขรรค์ชัย บุนปาน และคุณพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร จ่ายสตางค์ให้ผมไปทำข่าวที่อเมริกาเอง หลักฐานเก่าสุดคือภาพถ่ายเก่าที่ใช้ยืนยันกับทางอเมริกาว่าเคยอยู่ในเมืองไทย คือเหนือกรอบประตูทางเข้ามุขตะวันออกของปรางค์ประธาน ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะรูปนี้ถ่ายที่ปราสาทพนมรุ้ง โดยอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ตอนนั้นท่านเป็นข้าราชการกรมศิลปากร อธิบดีใช้ให้ไปสำรวจโบราณสถานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากรพิมพ์ในรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2503-2504 รูปนี้จึงถูกใช้เป็นหลักฐานว่าเคยอยู่ที่นี่ก่อนถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองชิคาโก” สุจิตต์เล่า

ก่อนขยี้ปมต่อไปว่า พอได้ทับหลังคืนมา แทนที่ทางราชการจะบอกว่า พลังที่ช่วยหนุนเรียกร้องทวงคืนคือประชาชนชาวไทยในสหรัฐ โดยเฉพาะที่เมืองชิคาโก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

“หนังสือของกรมศิลปากร ชื่อ ปราสาทพนมรุ้ง พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2543 คือนานกว่า 10 ปี หลังเหตุการณ์ กล่าวถึงการทวงคืนของภาคราชการเป็นระยะๆ แต่ไม่มีข้อความให้เกียรติภาคประชาชนเลย โดยเฉพาะชาวไทยในชิคาโก”

ในขณะที่ ศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ทรงกล่าวชมเชยภาคประชาชนอย่างชัดเจน

“เมื่อศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศกลับมาแล้ว มาให้ขรรค์ชัยช่วยพิมพ์หนังสือฉลองพระชนม์ 6 รอบ ทรงเขียนคำนำบอกไว้ว่า ต้องขอชมเชยคนไทยในเมืองชิคาโก ที่เห็นความสำคัญของสมบัติแห่งชาติ ได้รวมตัวกันประท้วง เดินขบวนที่หน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ชิคาโก ข้าพเจ้าเองได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย เดินทางไปเจรจา จนท้ายสุดได้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนกลับมายังประเทศไทยในที่สุด”

อดีต 2 กุมารสยาม ยังสรุปเหตุผลที่ได้คืนทับหลังนารายณ์ในครั้งนั้นรวม 4 ประการหลัก ได้แก่

1.ถูกเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจากชาวไทยในสหรัฐที่รวมตัวเป็นกลุ่มเหนียวแน่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยมีคนไทยในชิคาโกเป็นแกนกลางประสานงาน

2.สหรัฐถูกประณามจากสังคมโลก ว่าโจรกรรมทับหลังนารายณ์ฯ ไปจากไทย ซึ่งไม่ใช่แค่นารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ยังมีโบราณวัตถุจากประเทศอื่นๆ อีก จึงเกิดความละอาย

3.การเมืองท้องถิ่นที่ชิคาโกเอง

4.ชาวต่างประเทศในสหรัฐที่เคลื่อนไหวด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน หนุนช่วยทวงคืนเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาใต้ ยุโรป โลกที่สาม

ศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงชมเชยคนไทยในชิคาโกที่เห็นความสำคัญของมรดกชาติ

ตัดภาพมายังภารกิจทวงทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น ซึ่งลุล่วงไปหมาดๆ โดยเดินทางจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะชองมุนลี ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ ประเทศไทย แล้วทำพิธีบวงสรวง (พร้อมพรมน้ำอบ จนสนั่นโลกออนไลน์) ไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา รอพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตัดริบบิ้น แล้วเปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการต่อไป โดยปฏิบัติการหนนี้ก็มีภาคประชาชนเป็นผู้จุดประเด็นเฉกเช่นเดียวกัน นั่นคือ กลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’ นำโดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์, โชติวัฒน์ รุญเจริญ และ ยอดชาย อ้ายเจริญ

ก่อนที่ภาครัฐ ทั้งกรมศิลปากร และกระทรวงการต่างประเทศ จะผสานความร่วมมือผลักดันเรียกร้องจนประสบผลสำเร็จ ภายในเวลาราว 5 ปี

“รอบนี้คืนง่ายหน่อย ไม่กี่ปี รอบก่อนคืนยาก สหรัฐปรับปรุงกฎหมาย และขั้นตอนวิธีการ ทำให้การทวงคืนง่ายกว่าครั้งแรก”

นอกจากการได้คืนมาซึ่งโบราณวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ประเด็นทับหลัง ยังเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา ซึ่งขรรค์ชัยและสุจิตต์มองว่า ต้อง ‘ปรับแก้’

“ที่ผ่านมามีการใช้ประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชา ฉบับประวัติศาสตร์บาดหมาง เพื่อรักษาฐานอำนาจของชนชั้นนำ ที่อ้างกันมาคือเรื่องเชื้อชาติไทย เชื้อชาติเขมร ทั้งหมดไม่มีจริง ยิ่งพวกคลั่งชาติ ชอบพูดกันนักว่า ไทยปลดแอกจากเขมร เหตุมาจากประวัติศาสตร์ที่บอกว่ากรุงสุโขทัยคือ ราชธานีแห่งแรกของไทย มีเชื้อชาติไทย เชื้อชาติเขมร แล้วสอนกันอยู่นั่นแหละ ว่าพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาแล้วขอมแปรพักตร์ มีเมื่อไหร่กัน

มันถูกเขียนเติมขึ้นใหม่ทีหลัง แล้วเอามาขยายเป็นตุเป็นตะ ทั้งที่เป็นเท็จ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image