ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : จากความไม่รู้ เรื่อง 6 ตุลาคม 2519

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : จากความไม่รู้ เรื่อง 6 ตุลาคม 2519

  • แขวนที่ประตูแดง

ถ้าข้ออ้างในการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 มาจากภาพการแสดงละครแขวนคอที่ลานโพธิ์ โดย คุณอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาธรรมศาสตร์ ต้นธารของการแสดงในวันนั้นก็มาจากเหตุการณ์จริงของการสังหาร 2 พนักงานการไฟฟ้านครปฐม ที่ร่วมกันไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของ “ทรราชจอมพลถนอม” แล้วนำศพไปแขวนไว้ที่หน้าประตูแดงหน้าสวนแห่งหนึ่งที่ตำบลพระประโทณ จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้า 24 กันยายน หรือเพียง 12 วันก่อนเกิดทุ่งสังหารที่ธรรมศาสตร์

ขณะนั้น ผมเป็นนักเรียนประถมชั้น ป.7 โรงเรียนวัดไผ่ล้อม ซอย 5 ในเทศบาลเมืองนครปฐม บ้านผมก็อยู่ตรงข้ามเจดีย์พระประโทณ เรียกได้ว่าไม่ไกลจากประตูแดงที่เกิดเหตุสักเท่าไหร่ แต่ผมไม่มีความรับรู้ในเหตุการณ์ดังกล่าวเลย ไม่เคยได้ยินการพูดถึงเรื่องนี้จากผู้ใหญ่จากครูและจากเพื่อนใดๆ ทั้งสิ้น โลกของผมยังคงเป็นโลกแห่งความสนุก ปีต่อมาขึ้นชั้น ม.ศ.1 ที่พระปฐมวิทยาลัย เพลงที่ผมจำได้ว่าร่วมร้องและเพื่อนตีกลองสนุกมากคือท่อนที่ร้องว่า “คนเช่นนี้ เป็นคน หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน”

เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ผมได้ดูหนังสั้นสารคดีเรื่อง “สองพี่น้อง” ที่ทีมงาน “บันทึก 6 ตุลา” ติดตามสืบค้นว่าพนักงานไฟฟ้า 2 คนที่ถูกสังหารในครั้งนั้นคือใคร มีครอบครัวเครือญาติที่ไหนอย่างไร เขามีชีวิตกันอย่างไรในยุคนั้น พี่น้องที่ยังมีชีวิตคิดและรู้สึกอย่างไรต่อเขาทั้งสองที่ได้ตายจากไป เป็นอีกครั้งที่ทำให้ผมรู้สึกเพิ่มมากขึ้นว่า เราได้ผ่านเลยความเป็นมนุษย์ของพวกเขา จดจำเป็นเพียงแค่ตัวเลข 2 เท่านั้น เพราะทั้งสอง วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย เป็นคนบุรีรัมย์และอุบลราชธานี ที่ได้มาเป็นเพื่อนกันที่โรงเรียนเทคนิคโคราช แล้วมาทำงานด้วยกันที่นครปฐม ทั้งสองน่าจะอายุเพียงต้นๆ 20 ปีเท่านั้น

วันนี้ การสืบค้นภาพและเนื้อหาใน Google เกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่มีมากขึ้น รวมทั้งการเผยแพร่ใน Facebook ทำให้ผมได้พบหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งของเรื่องนี้ที่น่าสนใจ เช่น นสพ.ไทยรัฐ พาดหัวตัวใหญ่สุดว่า “2 ช่างตรีปิดโปสเตอร์ ‘ต้าน’ ถนอม ถูกฆ่าทารุณ จับแขวนคอ” และ นสพ.ไทยรัฐ ถัดมาอีก 4 วัน พาดหัวตัวใหญ่สุดว่า “ผู้เห็นเหตุการณ์เผยนาทีฆ่า 2 ศพ ตร.ซ้อมสลบ รัดคอจนตาย” ต่อมามีข่าวว่าจับ 7 ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าครั้งนี้ แต่การสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ ก็ทำให้เรื่องตำรวจที่เป็นผู้ร้ายก็สูญหายจบสิ้นไปหลัง 6 ตุลาคม ด้วยเช่นกัน

Advertisement

  • กระซิบเล่าในรั้วธรรมศาสตร์

ผมได้เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ปี 2524 เป็นสิงห์แดง คณะรัฐศาสตร์ เป็นเพื่อนใหม่เดินเข้าธรรมศาสตร์วันแรกทางประตูหอใหญ่ สนามหลวง ก็พบแผ่นป้ายผ้าขึงขวางถนน เขียนว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” สิ่งแรกที่ผมรู้สึกต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือ ประหลาดๆ ดี

ชีวิตในธรรมศาสตร์ 4 ปี คือการได้ฟังเรื่องกระซิบเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลา แถมยังมีวันที่ธรรมศาสตร์ถูกทหารยึด วันที่ธรรมศาสตร์ถูกบุกเผา แถมยังมีเรื่อง นายปรีดี พนมยงค์ กับการเป็น “ปีศาจ” และการลี้ภัยต่างประเทศ เรื่องกระซิบเล่าต่างๆ เหล่านี้ บอกเล่าโดยรุ่นพี่กิจกรรมทางสังคม ในวาระสำคัญ 6 ตุลา บางองค์กรก็ชวนรุ่นพี่รุ่น 6 ตุลามาบอกเล่า คนหนึ่งนั้นเป็นคนที่เคยไปอยู่ป่าเขา เสียงเล่านั้นดัง มีพลัง หัวเราะอร่อย ชื่อ เกษียร เตชะพีระ ตอนนี้เป็นศาสตราจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์แห่งนี้ อีกสองนั้นเป็นอดีตนักโทษติดคุก 2 ปี คนหนึ่งเล่าอย่างให้อารมณ์และตั้งคำถามคือ ธงชัย วินิจจะกูล ตอนนี้เป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์อยู่ที่มหาวิสคอนซิน สหรัฐ อีกคนเล่าแบบวิเคราะห์มีหลักฐานมากมายคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ต่อมาเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ ตอนนี้เป็นผู้ลี้ภัยการเมืองไทยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ทั้งสามคนรุ่นพี่นี้จะชวนให้เรามองเห็นอีกด้านหนึ่งของสังคมไทยที่เราถูกทำให้เห็นแต่สิ่งที่ดีและสวยงามด้านเดียวตลอดมา

Advertisement

เรื่องเล่าเกี่ยวกับป่าเขาของพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มถูกพูดเล่าถึงอย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2525 เมื่อมีการเปิดคอนเสิร์ตคาราวานฟอร์ยูนิเซฟที่หอประชุมใหญ่ วงดนตรีเพลงประหลาดๆ นี้ เป็นวงที่ผมได้ฟังแล้วก็ทึ่ง ทึ่งในเรื่องเล่าการต่อสู้ของนักศึกษาในช่วงสามปีก่อน 6 ตุลา และการตัดสินใจเข้าสู่ป่าเขา แต่แล้วก็กลับมา “คืนรัง” กิจกรรมในธรรมศาสตร์จะมีดนตรีเพื่อชีวิตที่เป็นเพลงรุ่นกิจกรรมนักศึกษาเฟื่องฟูให้ฟังอยู่เสมอๆ

เรื่องกระซิบเล่า 6 ตุลา รวมทั้งการรับรู้จากกิจกรรมต่างๆ ในรั้วธรรมศาสตร์ในรอบ 4 ปีนั้น จบลงด้วยว่า 6 ตุลา คือการนองเลือด การปราบนักศึกษา โดยใช้การแสดงละครที่ลานโพธิ์เป็นข้ออ้างว่านักศึกษามีเจตนามุ่งร้ายต่อสถาบันชาติ แล้วนักศึกษาก็พากันหนีเข้าป่าจำนวนมากไปร่วมต่อสู้เพื่อชิงอำนาจรัฐร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ไม่กี่ปีต่อมา พวกเขาก็กลับคืนเมือง กลับมาเรียนหนังสือกันต่อจนจบปริญญาตรี เรื่องกระซิบเล่านี้ยังไม่ทำให้ผมเข้าใจการเมืองไทยยุค 14 ตุลา 16 ถึงยุค 6 ตุลา 19 นั้นสักเท่าไหร่นัก มันเหมือนเป็นตอนๆ ดูมันจะมีเรื่องเยอะจนสับสนวุ่นวายไปหมด

  • ธรรมศาสตร์ Walking Tour

เมื่อผมเรียนจบปริญญาตรี ผมก็ยังมีชีวิตอยู่ในธรรมศาสตร์ ช่วยงานวิจัยการเมือง “บันทึกการเมืองไทย” ของ อาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ คณะรัฐศาสตร์ เพื่อศึกษาการเมืองในสนามเลือกตั้งทุกจังหวัดปี 2529 ต่อมาจึงเรียนต่อปริญญาโทประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ โดยมุ่งความสนใจค้นคว้าไปเรื่องปฏิวัติ 2475 คณะราษฎร และการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างระบอบใหม่กับระบอบเก่า เรียนจบชีวิตก็ยังอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตอนนั้นเป็นคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้นำการเดินท่องเที่ยวโดยรอบธรรมศาสตร์มาเป็นวิธีการแนะนำมหาวิทยาลัยต่อนักศึกษาที่เข้ามารุ่นใหม่ๆ ผมได้เป็นวิทยากรในทีมอาจารย์ด้วย จากแรกๆ ก็ถือโทรโข่งให้อาจารย์ ต่อมาก็ได้ช่วยบรรยายจุดนั้นจุดนี้ร่วมกับอาจารย์ การได้ฟังได้พูด ธรรมศาสตร์ Walking Tour ที่เริ่มต้นที่ลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ ทำให้เริ่มมีรายละเอียด มากขึ้นว่าเกิดอะไรที่ลานโพธิ์บ้าง เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ก็ต้องเป็นเรื่องที่ผมต้องอ่านข้อมูลมากขึ้น ในส่วน 14 ตุลา มีงานเขียนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีมาก แต่ 6 ตุลา ยังเป็นเรื่องเล่าและบทความจากคนนั้นนิดคนนี้หน่อย ต้องค่อยๆ จับมาเรียงลำดับมาใคร่ครวญแบบวิเคราะห์และสร้างภาพเชื่อมโยงด้วยตนเองมากขึ้น

แม้ว่าผมจะได้ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ผมก็ยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรเพื่อบอกเล่า ธรรมศาสตร์ Walking Tour ในวาระต่างๆ อยู่ต่อมาอีกหลายปี วันหนึ่ง อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งสำนักเรือนอินทร์ ก็บัญชาการว่าผมต้องเขียนหนังสือเรื่องนี้แบบแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในธรรมศาสตร์ แล้ว “ข้าจะพิมพ์ให้” เพื่อตอบรับคำบัญชา หนังสือ ธรรมศาสตร์การเมืองไทย : จากปฏิวัติ 2475 ถึง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ก็จัดพิมพ์ออกมาโดยสำนัก
ศิลปวัฒนธรรม มติชน ในปี 2547

  • การเมืองเรื่องจดจำ

ก่อนหน้านั้น ปี 2539 คนรุ่น 6 ตุลา ได้กลับมารวมตัวจัดงานในวาระ 20 ปี 6 ตุลา แบบเปิดเผยและใหญ่มากที่ธรรมศาสตร์เป็นปีแรก พวกเขาตัดสินใจที่จะไม่อยู่แบบหลบซ่อนอีกต่อไป พวกเขาต้องการสร้างความจำให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทางสังคม ทั้งพวกเขาซึ่งมีอาชีพอยู่ในแวดวงต่างๆ ยังคงฝันและใฝ่ต่อการสร้างบ้านเมืองไทยให้ดีขึ้น พวกเขาไม่ใช่พวกภัยสังคม แต่พวกเขาคือวีรชนของชาติไทย นับจากนั้น ข้อมูล บทสัมภาษณ์ หนังสือเกี่ยวกับ 6 ตุลาก็มีมากขึ้น

ทั้งพวกเขาได้ผลักดันให้มีการสร้างประติมากรรมที่เปิดเผยตรงไปตรงมาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูหอใหญ่ที่มองแวบก็เข้าใจ ในขณะที่ฝ่ายรัฐไทยอยากปกปิดไว้ต่อไป ปฏิมากรรมนี้เป็นแท่นหินยาว 6 เมตร ทำเป็นข้อเขียนเพียงว่า “6 ตุลา 2519” มีภาพใบหน้าบุคคลที่ถูกทำร้ายหลากแบบในเหตุการณ์วันนั้นประดับไว้ มีรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมดจารึกเปิดเผยไว้ที่ฐานด้านหลัง เพราะคนตายทุกคนมีชื่อ มีความเป็นคน และเป็นผู้สูญเสียจากรัฐทหารศักดินาไทย

ที่พื้นโดยรอบประติมากรรม มีข้อความแนวคิดสำคัญของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ครั้งนั้น ต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา จารึกไว้ว่า “ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพ ก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมูนิสต์ ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป”

ประติมากรรมนี้ คนรุ่น 6 ตุลา สามารถเปิดได้ปี 2543 เป็นหมุดหมายกิจกรรมแห่งการสร้างวันรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมนี้ทุกปีแต่นั้นมา ประติมากรรม 6 ตุลานี้เป็นส่วนหนึ่งของสวนประวัติศาสตร์ “สายธารประชาธิปไตย” จากปฏิวัติ 2475 ถึง 14 ตุลา และ 6 ตุลา

  • บ้านเมืองของเราลงแดง

ต่อมา อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ชวนให้ผมเป็นบรรณาธิการร่วมในการจัดทำหนังสือรวมบทความที่ชื่อน่าสับสนสำหรับคนทั่วไปว่า “จาก 14 ถึง 6 ตุลา” พิมพ์ในวาระ 25 ปี 14 ตุลา เมื่อปี 2541 ภารกิจของผมคือพิสูจน์อักษรบทความต่างๆ ให้ละเอียด รวมทั้งคำบัญชาให้หารูปประกอบมาใส่ให้เยอะๆ แล้วเขียนคำบรรยายใต้รูปให้มากๆ เพื่อให้คนมีเวลาน้อยได้อ่านภาพก็เข้าใจเรื่อง ทำให้ผมต้องอ่านค้นคว้าเรื่องทั้งสองเหตุการณ์อย่างลึกมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

บทความอาจารย์ป๋วยที่ได้อ่านแล้วชัดเจนมากต่อ 6 ตุลา คือบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นและการเชื่อมโยงไปยังบุคลและหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก เรื่อง “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” รวมทั้งการชี้ให้รำลึกถึงตั้งแต่ต้นว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์นี้เกิดขึ้นในความรับผิดชอบของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถึงวันนี้ บทความนี้จะทำให้ผมอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ ว่ามันมีอะไรคล้ายคลึงกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดงเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ อย่างไร

บทความแปลที่อ่านยากมากแต่กระชากอารมณ์ให้กระเจิดกระเจิงเป็นของ เบเนดิก แอนเดอร์สัน เรื่อง “บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” ร่วมกันแปลโดย เกษียร เตชะพีระ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์เบนเริ่มเปิดย่อหน้าแรกด้วยการชี้ว่า รัฐประหารคือแบบฉบับวิธีการรักษาอำนาจของรัฐทหารศักดินาในการเมืองไทย แต่การสังหารได้เปลี่ยนไปจากแบบรายบุคคลและเก็บตายอย่างเงียบๆ มาเป็นสังหารหมู่อย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งกลางกรุงเทพฯ เพื่อการฟื้นฟูกลับคืนสู่ความสงบแบบรัฐทหารศักดินาที่เคยครองความเป็นเจ้าตลอดนับศตวรรษ หลังจากปล่อยให้คนชั้นกลางใจแตกหลงระเริงไปกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอยู่สองปี

  • ข้ออ้างรัฐประหาร

ความชัดเจนเรื่องรัฐทหารศักดินากับรัฐประหารในการเมืองไทยของผมมีมากขึ้นเมื่อได้เขียนบทวิเคราะห์ในหนังสือ “ข้ออ้างการปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่” (2550, 2561) ที่ทำให้ผมมองเห็นภาพรวมระยะยาวถึงหนึ่งศตวรรษ จากปฏิวัติ ร.ศ.130 (2454) มาถึงปฏิวัติ 2475 จนถึงปัจจุบัน

รัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้ง หรือมีรัฐประหารทุก 6 ปีครึ่ง รัฐทหารศักดินาจะต้องกระชับ “ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ทางอำนาจหนึ่งครั้ง

กบฏหรือรัฐประหารล้มเหลว 11 ครั้ง แต่ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา รัฐทหารศักดินาทำให้พลังกลุ่มอำนาจในกองทัพไม่อาจขึ้นมาทำกบฏได้ สรุปคือกองทัพเข้มแข็ง

พลังประชาชนเปลี่ยนประเทศ 2 ครั้งในรอบครึ่งศตวรรษ เฉลี่ยพลังประชาชนจะเกิดขึ้นทุก 25 ปี คือ ปฏิวัติ 14 ตุลา เป็นครั้งแรก และปฏิวัติพฤษภา 2535 เป็นครั้งที่ 2 นี่ก็ได้เวลาครั้งที่ 3 แล้ว พลังประชาชนเกิดขึ้นแต่ละครั้งจะทำให้ไทยมีระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่สูงยิ่งในโลกเอเชีย โดยมีเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญ และนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. มาจากเลือกตั้งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

แต่นักศึกษาประชาชนก็ถูกสังหารหมู่อย่างเปิดเผยด้วยกองทัพและอาวุธสงครามกลางกรุงเทพฯ 4 ครั้ง คือ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53 เฉลี่ยทุก 12 ปี รัฐทหารศักดินาได้สังหารหมู่นักศึกษาประชาชนหนึ่งครั้ง

  • คนหนุ่มสาววันนี้กับคนหนุ่มสาววันนั้น

สรุป 6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์อีกด้านหนึ่งของเหรียญ 14 ตุลา 2516 ทั้งสองเหตุการณ์เป็นสายธารประวัติศาสตร์จากปฏิวัติ ร.ศ.130 และปฏิวัติ 2475 ที่ต่างมุ่งสร้างประชาธิปไตยเพื่อให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มุ่งสร้างชาติให้พัฒนาเจริญ มุ่งให้ชีวิตประชาชนทุกคนมีความเป็นอยู่และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และคนเท่ากัน

14 ตุลา คือพลังนักเรียนนักศึกษาประชาชนล้มอำนาจรัฐทหาร ส่วน 6 ตุลา คือพลังรัฐทหารใช้ความรุนแรงเพื่อยุติพลังนักเรียนนักศึกษาประชาชน ยุติพลังประชาธิปไตยของพรรคการเมืองและ ส.ส. และเชื่อว่าจะทำลายพลังคอมมิวนิสต์ลงได้ กล่าวคือ สังหารครั้งเดียว ทำลายได้ 3 เป้าหมาย และกระชับอำนาจเข้าสู่รัฐทหารให้เบ็ดเสร็จ แต่คาดการณ์ผิด เพราะนักศึกษาประชาชนไม่ยอม แต่กลับไปจับอาวุธในเขตป่าเขาเพื่อชิงอำนาจรัฐ เป็นการโต้กลับแบบเลือดต้องล้างด้วยเลือด กระทั่งรัฐทหารต้องยอมอ่อนตัวลงและหาทางประนีประนอมว่ามาคืนดีกัน กลับคืนรังมาอีกครั้ง

คนหนุ่มสาวในยุคนี้ เช่น คณะราษฎร 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มนักเรียนเลว ก็ไม่ได้แตกต่างจากคนหนุ่มสาวทั้งรุ่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา หลักการที่ใฝ่ฝันเป็นเป้าหมายยังคงเดิม คือ อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน คนเท่ากัน สังคมยุติธรรม ทั้งยังสืบเนื่องการสร้างระบอบประชาธิปไตยสืบต่อมาจากคณะราษฎร ปฏิวัติ 2475 และระบอบพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

คนอย่าง รุ้ง เพนกวิน ไมค์ อานนท์ เนติวิทย์ และอีกมากมาย ทั้งรุ่นอายุและเป้าหมายที่ใฝ่ฝัน ก็เหมือนกับคนรุ่น 14 ตุลา ทั้งเสกสรรค์ ธีรยุทธ จิระนันท์ และก็เหมือนคนรุ่น 6 ตุลา เช่น สุธรรม จาตุรนต์ พรหมินทร์ ธงชัย สมศักดิ์เจียมฯ

ความแตกต่างที่ฝ่ายรัฐทหารใช้ในการกำกับควบคุมและจำกัดการเคลื่อนไหวของนักศึกษา สิ่งที่หายไปคือ ภัยคอมมิวนิสต์ สิ่งที่ยังคงอยู่คือ ม.112 สิ่งที่เพิ่มมาใหม่คือ กฎหมายคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยังคงฉุกเฉินสืบเนื่องมานานถึงวันนี้ จะสองปีแล้วนะ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image