‘ปีศาจ’ ชื่อ ‘สาย สีมา’ จากนิยายที่เกือบไม่ได้พิมพ์สู่มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ฉากอมตะ สาย สีมา กล่าววาทะบนโต๊ะอาหารหรู ‘ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า’

2496 คือปีที่อักษรตัวแรกของนวนิยายซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ปีศาจ’ ถูกตีพิมพ์บนหน้ากระดาษของนิตยสาร ‘สยามสมัย’ เล่าเรื่องราวเข้มข้นผ่านตัวละครเอก ‘สาย สีมา’ ทนายหนุ่ม ผู้แน่วแน่ซึ่งอุดมการณ์ และ ‘รัชนี’ สตรีผู้เติบโตและใช้ชีวิตในสังคมชั้นสูง

มาถึงวันนี้ ย่อมรู้กันดีว่า ปีศาจ ไม่ใช่เรื่องผี ความสัมพันธ์ระหว่าง สาย สีมา และ รัชนี ก็ไม่ใช่เพียงเรื่องรักโรแมนติก หากแต่สะท้อนอย่างเข้มข้นถึงประเด็นของ ‘ชนชั้น’ และแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านการถูกกดขี่

ผลงานที่กลั่นกรองจากความคิด สู่ปลายปากกาของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นตำนาน เฉกเช่นเดียวกับวรรณกรรมมากมายที่กลายเป็นอมตะ

จากการพิมพ์เป็นตอนๆ ในช่วงราว 1 ปีเศษ สู่การรวมเล่มครั้งแรกใน พ.ศ.2500 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง ของ ลาว คำหอม และ ดำเนิน การเด่น

Advertisement

สั่งคัต! แล้วตัดฉากมาในพุทธศักราช 2564 อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประกาศ 11 รายชื่อ ‘มรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563’ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา

‘สาย สีมา นักสู้สามัญ’ คือหนึ่งในนั้น

นิตยสาร BR โปรโมตภาพยนตร์ นำแสดงโดย โปรยชัย ชโลมเวียง นามแฝงของ ประจวบ มงคลศิริ รับบท สาย สีมา

แม้ไม่ทราบมาก่อน ก็คงคาดเดาไม่ยาก ด้วยชื่อเรื่องซึ่งมาจากตัวเอกในนวนิยายปีศาจ ว่าภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างจากวรรณกรรมเรื่องเดียวกัน เมื่อ พ.ศ.2524 หรือ 40 ปีที่แล้ว โดยกลุ่มนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์

Advertisement

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ คือชื่อที่ปราฏว่าเป็น ‘ผู้สร้าง’ ในวันนั้น

ระหว่างไทม์ไลน์ 7 ทศวรรษ หรือถ้าพูดให้ชัดคือ 68 ปี นับจาก พ.ศ.2496 ถึงวันนี้ สาย สีมา และรัชนี โลดแล่นผ่านยุคต่างๆ ในประวัติศาสตร์สังคม การเมืองไทยร่วมสมัย

จากนวนิยายในทศวรรษ 2490 ที่แทบหาผู้จัดพิมพ์ไม่ได้ สู่ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกนับสิบครั้งโดยหลากหลายสำนักพิมพ์ ทั้งยังมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

จากภาพยนตร์ซึ่งมีคนดูรอบแรกที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมไม่ถึง 15 คน รอบสอง 8 คน และรอบสาม 5 คน ไม่ต้องขยายความก็รู้ว่าขาดทุนย่อยยับในวันนั้น สู่การขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติในวันนี้

เป็น 1 ในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ทั้งผู้ที่บอกใครๆ ว่า ‘รักชาติ’ และผู้ที่ถูกแปะป้ายว่า ‘ชังชาติ’

และเป็นภาพยนตร์ที่คนไทยควรรับชมไปพร้อมๆ กับความเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่

รัชนี และ สาย สีมา

รักข้ามชนชั้น รัชนี-สาย สีมา

ลูกหลานราษฎรสามัญ

‘…เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง รูปร่างของเขาไม่มีลักษณะอะไรดีเด่นเป็นพิเศษที่อาจจะมองเห็นได้ทันทีจากกลุ่มคนธรรมดาสามัญทั้งหลายและก็ไม่มีอะไรวิปริตผิดปกติที่จะสังเกตได้ง่าย ส่วนสูงต่ำก็อยู่ในขนาดผู้ชายไทยสันทัดธรรมดาทั่วไป พื้นเพทางวงศ์วานว่านเครือ ก็มาจากครอบครัวของคนสามัญที่ถ้าจะพูดตามอย่างที่ครอบครัวของหล่อน (รัชนี) เรียกก็จัดอยู่ในจำพวกคนไม่มีสกุลรุนชาติ…’

คือคำบรรยายถึง ‘สาย สีมา’ ผู้ชายธรรมดาที่ปรากฏวรรณกรรม

ที่มาของชื่ออันเรียบง่าย ทว่า ชวนให้จดจำนี้ สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เขียนไว้ในคำนำของการพิมพ์ครั้งล่าสุด โดย สำนักพิมพ์มติชน ซึ่งพิมพ์เผยแพร่นวนิยายดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา จวบจนวันนี้ นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 5 ในห้วงเวลาแห่งความอลหม่านของการเมืองไทย โดยอ้างอิง ‘การสนทนาเป็นส่วนตัว’ กับ เสนีย์ เสาวพงศ์ ว่า นามสกุล สีมา เกิดขึ้นจากการเอาคำว่า สี กับ มา มาต่อกัน เพื่อแสดงว่าเป็นลูกหลานของ ‘ตาสี ตาสา ยายมา ยายมี’ อันมีความหมายโดยปริยายในภาษาปากว่าเป็นชาวนาหรือชาวบ้านนอกธรรมดาที่ไม่มีความหมายอะไรกับใคร

“เสนีย์ เสาวพงศ์ เลือกที่จะใช้วิธีเอาชื่อบรรพบุรุษมาเป็นนามสกุลแบบเดียวกับที่พวกชนชั้นสูงใช้ ความต่างนั้นอยู่ตรงที่ว่า สกุลสีมา ไม่ได้อวดอ้างไปถึงความวิเศษวิโสของใคร แต่กลับชี้ไปในทางตรงกันข้ามว่าเป็นเทือกเถาเหล่ากอที่ไม่ได้มีสกุลรุนชาติอะไร

เมื่อเราเข้าใจที่มาของนามสกุลสีมา เราก็จะเข้าใจได้ว่า ชื่อ สาย ที่เขาใช้ฝีมือการประพันธ์วางไว้อย่างแนบเนียนนั้น ไม่ใช่ ‘ยาม สาย’ แต่คือเชื้อสาย : สาย สีมา ก็คือลูกหลานเชื้อสายของราษฎรสามัญคนหนึ่ง” บก.ศิลปวัฒนธรรมระบุ

คนรุ่นใหม่สะพายกระเป๋าสกรีนภาพปก ‘ปีศาจ’ ร่วมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา ที่ ม.ธรรมศาสตร์

‘ผมคือปีศาจ’ จากเดือนตุลาถึง ‘คนรุ่นใหม่’

สลับฉากอีกครั้ง จากปากคำของผู้เขียน มาสู่บทสนทนาในห้วงเวลาปัจจุบัน ซึ่ง ‘ปีศาจ’ ไม่เพียงอยู่บนชั้นหนังสือ หากแต่อยู่ในปรากฏการณ์ทางการเมืองแม้แต่ในงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา

“งานรำลึก 6 ตุลา คือปีศาจที่ชนชั้นนำจะต้องหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่าวันที่เราสามารถชำระประวัติศาสตร์ได้จะมาถึง และจะมาเป็นโดมิโน่ มีอีกหลายส่วนที่รอชำระ”

เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในเสวนาออนไลน์ ‘จากพยานเหตุการณ์สู่ผู้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ เมื่อเขม่าปืนไม่อาจกลืนความจริง’ ผ่านแฟนเพจ ‘ศิลปะนานาพันธุ์’ ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่งานรำลึกในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินอยู่คู่ขนานหลังลุ้นตัวโก่งว่าจะได้จัดหรือไม่

โรม บอกว่า ภาคภูมิใจในการเป็นปีศาจ เคยอ่านหนังสือเรื่องปีศาจเมื่อปี 2558 ครั้งถูกจองจำอยู่ในคุก พี่น้องประชาชนคงคิดว่าจะท้อแท้ใจ จึงส่งหนังสือปีศาจเข้ามาให้อ่าน

“ผมคือปีศาจ การถูกกักขังเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว แต่สุดท้าย หยุดยั้งไม่ได้”

โรมยังเล่าถึงฉากประทับใจ ทว่า ไม่ใช่ฉากคุ้นหูอย่างวาทะของ สาย สีมา ต่อท่านเจ้าคุณบนโต๊ะอาหารที่ว่า

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว…ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”

ปกหนังสือปีศาจในการพิมพ์แต่ละครั้ง จากนิทรรศการ ‘ปีศาจแห่งกาลเวลา’ ที่สวนครูองุ่นฯ วันนี้ถึง 14 ตุลาคม

ทว่า กลับเป็นฉากการพูดคุยระหว่าง รัชนี และ คนขับรถ

“รัชนีโดนรายงานว่าไปกินข้าวกับผู้ชาย รัชนีจึงตำหนิคนขับรถที่ไปรายงานคุณตา เขาบอกว่า ถึงไม่ทำก็จะมีคนอื่นไปบอกอยู่ดี คนขับรถพูดว่า เขามีลูก ตัวเองยอมแล้ว เป็นขี้ข้า เป็นคนรับใช้ แต่เขาจะไม่ยอมให้ลูกเป็นขี้ครอกแบบตัวเองอีกเด็ดขาด” โรมเล่า

โลกเก่าปะทะโลกใหม่ ปัญหา ‘ข้ามยุคสมัย’

วรรณกรรมที่มาก่อนกาล

ในงานเสวนาเดียวกัน รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้สังเกตถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า หนังสือปีศาจที่นำมาพิมพ์ใหม่โดย สำนักพิมพ์มติชน ขายดีมาก คนรุ่นใหม่ติดตามหาซื้อ เข้าร้านหนังสือวันก่อนคนยังหยิบมาอ่าน นี่คือปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ก่อนเกิด 14 ตุลาคม 2516 เพียง 2-3 ปี ปีศาจก็ถูกนำมาพิมพ์ หลังเกิด 6 ตุลาคม 2519 ปีศาจกลายเป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของคนหนุ่มสาว

หากย้อนกลับอ่าน ‘คำนำเสนอ’ ในการพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2563 รศ.ดร.ประจักษ์ลงลึกในรายละเอียดว่า หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปีศาจ กลายเป็นวรรณกรรมยอดนิยมของคนหนุ่มสาวผู้ตื่นตัวและเร่าร้อนอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จากวรรณกรรมที่เกือบหาผู้จัดพิมพ์ไม่ได้ในทศวรรษ 2490 กลับกลายเป็นงานที่ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยระหว่าง 14 ตุลา-6 ตุลา ปีศาจ ถูกตีพิมพ์อย่างน้อย 4 ครั้งเป็นอย่างต่ำ

ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์มติชน

‘น่าแปลกที่นิยายบางเล่มก็สำแดงพลังของมัน มิใช่ในทันทีที่มันคลอดออกมาครั้งแรก หากต้องรออีกนานพอสมควร นิยายของเสนีย์ นับว่าอยู่ในข่ายนี้ เหตุที่หนังสือเล่มนี้ทรงพลังและได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นเพราะมันสื่อสารประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในลักษณะข้ามยุคสมัย นั่นคือ การปะทะกันระหว่างโลกเก่า กับ โลกใหม่

ในขณะที่สาย สีมา และเพื่อนของเขาคือภาพตัวแทนของโลกใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความฝันที่จะเห็นสังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างเสมอภาคและทุกคนมีศักดิ์ศรีอันเท่าเทียม พ่อของรัชนีก็คือภาพตัวแทนของโลกเก่าที่มองความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ว่าเป็นสิ่งที่น่าตระหนกตกใจ เพราะมองว่าคนชั้นล่างที่ไม่มี หัวนอนปลายเท้า ที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น มีฐานะดีขึ้นกำลังลุกขึ้นมาตีตนเสมอ ผู้ดีคนชั้นสูงอย่างตน นอกจากนั้น เด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมหาญกล้าลุกขึ้นท้าทายอำนาจของผู้ใหญ่ จนพานให้เกิดความรู้สึกว่าโลกที่ตนเคยมีอภิสิทธิ์ควบคุมและครอบงำได้ทุกอย่างกำลังพังทลายลง’

อาจารย์รัฐศาสตร์ท่านนี้ยังระบุด้วยว่า ปีศาจ คือหนังสือที่มาก่อนกาล เพราะพูดถึงพลังของหนุ่มสาวในการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคที่ขบวนการของคนหนุ่มสาวยังไม่ปรากฏและความตื่นตัวของจิตสำนึกยังซบเซา มันจึงเป็นหนังสือที่ผู้เขียนเขียนขึ้นมาจากความหวัง ความเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการฝันไปข้างหน้าว่าสักวัน “โลกใบใหม่” จะก่อตัวขึ้นที่เส้นขอบฟ้า…ไม่ว่าจะต้องอาศัยเวลายาวนานเท่าใดก็ตาม

จากปีศาจ ถึง ‘สาย สีมา’

เรื่องแรกและเรื่องเดียว ของ ‘พิฆเณศภาพยนตร์’

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ ‘ปีศาจ’ ก่อนถูกฉายในชื่อ ‘สาย สีมา นักสู้สามัญชน’

มาถึงประเด็นการเข้าสู่โลกภาพยนตร์ ซึ่ง พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู เผยแพร่บทความ ‘เมื่อปีศาจออกอาละวาดในโลกภาพยนตร์’ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผ่านเว็บไซต์หอภาพยนตร์ โดยย้อนเล่าบรรยากาศช่วงต้นทศวรรษ 2520 ซึ่งตัวแทนจำหน่ายหนังฮอลลีวู้ดงดส่งหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย เพื่อประท้วงรัฐบาลไทยที่ขึ้นอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหนังต่างประเทศสูงมากจากเมตรละ 2.20 บาท เป็น 30 บาท เป็นเหตุให้การสร้างหนังไทยเฟื่องฟู และเกิดผู้สร้าง ‘เฉพาะกิจ’ จำนวนมาก นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งนำโดย เจญ เจตนธรรม หรือ เจน จำรัสศิลป์ และ ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ ผู้เพิ่งก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนในปี 2521 คว้านวนิยาย ‘ปีศาจ’ มาสร้างภาพยนตร์

โดยตัดสินใจใช้นักแสดงนำหน้าใหม่ทั้งหมด บท สาย สีมา นำแสดงโดย ประจวบ มงคลศิริ นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในนามแฝงว่า โปรยชัย ชโลมเวียง ส่วนบท รัชนี ซึ่งใช้นามแฝงว่า ศรอนงค์ นวศิลป์ รับบทโดย สมรศรี มานิกพันธุ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนผู้กำกับใช้นามแฝงว่า หนุ่ม’22 โดยเหตุที่ต้องใช้นามแฝง เพราะถ่ายทำหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่นาน

ไตเติ้ลภาพยนตร์ สาย สีมาฯ

ถ่ายทำในปี 2522 ออกฉายในปี 2524 อย่าง ‘สร้างความบอบช้ำให้แก่ผู้สร้าง’ กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก และเรื่องเดียวของ ‘พิฆเณศภาพยนตร์’

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิชาการด้านวรรณกรรมชื่อดัง ได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้ว่า

‘เมื่อครั้งที่การนำนวนิยายเล่มนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ มีเรื่องเล่าขานกันว่า ในการจัดฉายหนังเรื่องนี้ให้ตัวแทนสายหนังต่างจังหวัดดูก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ เถ้าแก่สายหนังท่านหนึ่งได้เปรยขึ้นหลังจากดูจบว่า เป็นหนังผีที่ไม่สนุกเอาเสียเลย

“ใบเสร็จออกมา หงายหลังตึง ต้องผ่อนใช้หนี้เป็น 10 ปี เพื่อนฝูงช่วยขึ้นเช็คจนมือเปื่อย โดนเกือบ 10 ล้าน เป็นบทเรียนที่แสบเพราะทำเรื่องไม่ถนัด”

คือคำกล่าวของ ขรรค์ชัย ที่อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับ 100 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ เมื่อปี 2561 ที่บอกด้วยว่า เฉพาะฉากเผาค่ายกองทัพญี่ปุ่นนั้น หมดงบประมาณไปถึง 8 แสนบาท

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ‘สาย สีมา’ เป็นทนายความ ที่คอยช่วยว่าความให้แก่คนยากคนจน

พุทธพงษ์ ระบุว่า แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเมื่อตอนออกฉาย แต่ถือเป็นมรดกจากความกล้าหาญของนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์อันเต็มไปด้วยอุดมคติอันแรงกล้า ในขณะเดียวกันยังเป็นตัวแทนในโลกภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวของวรรณกรรมอมตะที่ทรงอิทธิพลต่อบรรดานักคิดนักเขียนไทย และสิงสถิตอยู่ในความคิดอ่านของหนุ่มสาวผู้รักความเป็นธรรมมาทุกยุค รวมทั้งแฝงไปด้วยบรรยากาศและจิตวิญญาณแห่งการเป็น ‘ปีศาจของกาลเวลา’ ไม่ต่างไปจากบทประพันธ์

ด้วยคุณค่าอันไม่สูญเปล่าของ สาย สีมาฯ หอภาพยนตร์นำกลับมาฉายเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกครั้ง ในปี 2556 เป็นต้นมา นับเป็นการฉายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี หลังได้รับการบริจาคฟิล์มของหน่วยบริการหนัง ‘พนงค์ภาพยนตร์’ เมื่อปี 2541 โดยมีการนำฟิล์มมาสแกนภาพใหม่ให้คมชัดและบูรณะสีสันบางส่วน

ก่อน ‘สาย สีมา นักสู้สามัญชน’ ถูกประกาศขึ้นหิ้งในฐานะมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

สาย สีมา ไม่เคยตาย เช่นเดียวกับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ยังคงดำเนินต่อไป และปีศาจแห่งกาลเวลาก็ยังวนเวียนหลอกหลอนไม่เคยจางหาย ตราบใดที่วาทะคนเท่ากัน ยังคล้ายกับความฝันที่ยังรางเลือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image