เครือมติชน-BEM มอบ ‘PETE เปลปกป้อง’ 5 รพ. คุ้มกัน ‘ด่านหน้า’ ช่วยผู้ป่วยโควิด

จากซ้าย : อัลวิน จี ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และปานบัว บุนปาน

กว่า 1.6 ล้านราย คือจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 จนถึงต้นเดือนตุลาคมนี้

เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่ใช่แค่ตัวเลขหรือสถิติ แต่คือชีวิตที่จากไปท่ามกลางความสิ้นหวังและความเจ็บปวด การมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างเต็มความสามารถ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อทุกวินาทีคือชีวิต ทีมนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนานวัตกรรม “PETE เปลปกป้อง” (Patient Isolation and Transportation Chamber) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ที่ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อระหว่างด่านหน้ากับผู้ป่วย แต่ยังช่วยให้ด่านหน้าปฏิบัติงานอย่างมั่นใจ ไร้กังวล ยิ่งขึ้น

เพราะนวัตกรรมต้องใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ระหว่างที่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผู้นำสื่อชั้นนำของเมืองไทยที่ยืนหยัดเคียงข้างสังคมทุกห้วงเวลา ผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำจัดงาน “Healthcare วัคซีนประเทศไทย” #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ระหว่างวันที่ 18-22 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ร่วม 20,000 รายต่อวัน เครือมติชนได้ร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) สนับสนุนการมอบ PETE เปลปกป้องจำนวน 10 ตัว รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท แก่โรงพยาบาล 5 แห่งแห่งละ 2 ตัว เสริมทัพด่านหน้าในการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด

Advertisement

เริ่มต้นที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อด้วย รพ.สนามธรรมศาสตร์ รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลปิดท้ายที่ รพ.จุฬาภรณ์

ทยอยส่งมอบอย่างฉับไว ทันท่วงที เพื่อให้ PETE เปลปกป้อง มีส่วนช่วยชีวิตทุกคนมากที่สุด

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ และผู้บริหารเครือมติชน-BEM

ลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด

“MTEC ทำงานร่วมกับ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล รพ.ราชพิพัฒน์ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เพื่อเก็บข้อมูลผู้ใช้งานจริงมาผลิตเปลความดันลบ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุของ MTEC เป็นที่มาของ PETE เปลปกป้อง ที่ภายในมีระบบกรองเชื้อไม่ให้เล็ดลอดออกมา ช่วยลดความเสี่ยงของด่านหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วย และช่วยลดความเสี่ยงของผู้คนที่อยู่ในเส้นทางลำเลียงผู้ป่วย” ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ MTEC ถ่ายทอด

Advertisement

จากนั้น ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อํานวยการ MTEC ร่วมขยายความว่า เปลดังกล่าวใช้วัสดุในประเทศเป็นหลัก มีน้ำหนักเบา พับเก็บและขนย้ายได้ง่าย ไม่ใช้วัสดุที่เป็นโลหะ เพื่อให้เข้าเครื่องเอกซเรย์ได้ ที่สำคัญคือมีต้นทุนราว 250,000 บาท ขณะที่เปลนำเข้าอยู่ที่ 600,000-700,000 บาท ทำให้ รพ.ต่างๆ เข้าถึงง่ายขึ้น

ด้าน ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม MTEC ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมนักวิจัย PETE เปลปกป้อง อธิบายจุดเด่นของเปลว่า อยู่ที่ “แคปซูล” หรือห้องแยกผู้ป่วย รับน้ำหนักได้สูงสุด 250 กิโลกรัม มีช่องร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือ และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 8 จุดรอบเปล มีกล่องเล็กๆ ใช้สร้างความดันลบ กรองอากาศที่ผู้ป่วยหายใจ ฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี-ซี ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก เมื่อใช้เปลเสร็จ สามารถพ่นน้ำยาทำความสะอาด ทิ้งให้แห้งราว 5 นาที ก็นำมาใช้ใหม่ได้

PETE เปลปกป้อง ยังใช้กับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ซาร์ส ฯลฯ ได้ด้วย ขณะนี้กำลังพัฒนาคุณภาพให้ดีกว่าเดิมและในต้นทุนที่ต่ำลง เพราะหลาย รพ. มีความต้องการใช้ แต่ไม่มีกำลังพอจะจัดซื้อ

“ต้องขอบคุณเครือมติชนและพันธมิตรที่สนับสนุน ทำให้เราสามารถกระจายความช่วยเหลือไปได้เยอะขึ้น” ดร.ศราวุธ บอก

ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ และวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการอำนวยการ นสพ.มติชน

นวัตกรรมของคนไทย

ต้องช่วยทุกคนได้ในยามวิกฤต

ในวันที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักแข่งกับเวลา สั่งสมความเหนื่อยล้าทั้งกายใจ การมี “อุปกรณ์” ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการทำงานช่วงโควิดจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่ง ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการเครือมติชน เห็นว่า PETE เปลปกป้อง ตอบความต้องการทุกอย่างครบถ้วน

“นวัตกรรมจะไม่มีความหมายเลยหากไม่นำมาใช้ เครือมติชนเห็นว่า นวัตกรรมของคนไทยต้องช่วยทุกคนได้ในยามวิกฤต จึงสนับสนุน PETE เปลปกป้อง ที่นอกจากช่วยด่านหน้าแล้ว ยังทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเข้าเครื่องเอกซเรย์ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเปล”

ขณะที่ อัลวิน จี รองกรรมการผู้จัดการ BEM ก็เห็นว่า วิกฤตโควิดเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมาก การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมวงกว้างจึงสำคัญมาก และพร้อมร่วมมือกับเครือมติชน เพื่อส่งมอบ PETE เปลปกป้อง ให้ รพ. ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด

นำสู่การมอบ PETE เปลปกป้อง แก่ รพ. 5 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้ง จ.ปทุมธานี จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่สีแดง เพื่อให้ทุกคนฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร กล่าวถึงประโยชน์ของ PETE เปลปกป้อง

เพิ่มความมั่นใจให้ด่านหน้า

เมื่อพันธมิตรทุกฝ่าย ทั้งเครือมติชน BEM และ MTEC พร้อมเดินหน้าเต็มที่ ภารกิจส่งมอบ PETE เปลปกป้อง แก่ รพ. 5 แห่ง แห่งละ 2 ตัว จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

วันที่ 24 สิงหาคม มอบแก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี รับมอบ

วันที่ 7 กันยายน มอบแก่ รพ.สนามธรรมศาสตร์ มี ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.รพ.สนามธรรมศาสตร์ และ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดมผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รับมอบ

วันที่ 10 กันยายน มอบแก่ รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) มี นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผอ.รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) รับมอบ

จุดเด่นของ PETE เปลปกป้อง คือไม่ใช้โลหะ ทำให้นำเปลเข้าเครื่องเอกซเรย์ได้เลย

วันที่ 17 กันยายน มอบแก่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มี รศ.นพ.ธีระกลลดาเรืองไกร  ผอ.ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกฯ รับมอบ

วันที่ 30 กันยายน มอบแก่ รพ.จุฬาภรณ์ มี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รับมอบ

ผศ.นพ.ฉัตรชัย เล่าว่า รพ.สนามธรรมศาสตร์ รองรับผู้ป่วยโควิดระดับสีเหลืองได้ 400 เตียง และประสานความร่วมมือกับ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการส่งต่อผู้ป่วยระดับสีแดง ปัจจุบันแม้วิกฤตจะคลายลงแล้ว แต่ รพ. ยังต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น โดยเฉพาะเปลความดันลบ เพื่อใช้กับผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยโรคอื่นๆ การได้รับมอบ PETE เปลปกป้อง จากเครือมติชนและพันธมิตรจึงมีประโยชน์อย่างมาก

เช่นเดียวกับ ศ.นพ.นิธิ ที่เห็นว่า เปลความดันลบมีประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด และสามารถป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคลากรการแพทย์และบุคคลทั่วไปที่อยู่ในเส้นทางเคลื่อนย้าย การได้รับมอบ PETE เปลปกป้องครั้งนี้ จะช่วยให้ รพ.รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งหมดเพื่อประคับประคองสังคมไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปได้อย่างแข็งแกร่ง 

สาธิตการประกอบเปลที่ รพ.รามาธิบดี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image