พรุ่งนี้ของ ‘สุวรรณภูมิ’ ความท้าทายในโจทย์ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ ‘ขึ้นหิ้ง’

พรุ่งนี้ของ ‘สุวรรณภูมิ’ ความท้าทายในโจทย์ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ ‘ขึ้นหิ้ง’
กลองมโหระทึกพบใหม่ ที่บ้านโพน อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เมื่อ พ.ศ.2563 (ภาพจากกรมศิลปากร)

หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกพูดถึงและให้ความสำคัญมากขึ้นทุกทีในแวดวงโบราณคดีหนีไม่พ้น ‘สุวรรณภูมิ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามเชื่อมโยงศาสตร์หลากหลายที่มักใช้คำว่า ‘บูรณาการ’ เพื่อจุดมุ่งหมายในการศึกษาผ่านแขนงวิชาต่างๆ ทั้งสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จนถึงขั้นสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ‘จิสด้า’ มาลุยเองในปี 2558

ตัดฉากมาในวันนี้ เมื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ตัดริบบิ้นเปิด วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Science Humanities and Arts) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ธัชชา’ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อเกิดโครงการและกิจกรรมมากมายที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ขยันกดปุ่มไฟเขียว สุวรรณภูมิ คือ 1 ใน 5 สถาบันใต้ร่มเงาธัชชา โดยมี นายแพทย์ บัญชา พงษ์พานิช นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการ

ล่าสุด จัดเสวนา ‘สุวรรณภูมิกับความท้าทายใหม่’ โดยรับหน้าที่ถือไมค์ในฐานะผู้ดำเนินรายการ

เสวนา ‘สุวรรณภูมิกับความท้าทายใหม่’ (จากซ้าย) ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์, ผศ.ชวลิต ขาวเขียว, นพ.บัญชา พงษ์พานิช, ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุธ และ ศ.พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม

“ทำไมถึงใช้หัวข้อความท้าทายใหม่ เพราะปกติเวลาพูดถึงสุวรรณภูมิ ก็มักมี 2-3 โจทย์ คือ หนึ่งกระโดดไปเรื่องพระพุทธศาสนา อีกโจทย์บอกว่าเป็นเรื่องตำนาน คำบอกเล่า ซึ่งไม่จริง ส่วนโจทย์วันนี้คือ สุวรรณภูมิมีจริงหรือไม่ อะไรที่เรารู้บ้างอะไรที่เรายังไม่รู้ และควรทำอย่างไรให้รู้ และ (วิทยากร) แต่ละท่านมีมุมมองใดที่คิดว่าท้าทาย ถ้ามาศึกษาเรื่องนี้จะเกิดประโยชน์อะไรกับโลก อาเซียนและท้องถิ่น” นายแพทย์บัญชา ผอ. สถาบันสุวรรณภูมิศึกษาเกริ่น ก่อนตามมาด้วยถ้อยคำที่พรั่งพรูจากผู้ทรงคุณวุฒิ

Advertisement

เปิดแผน ไทยแลนด์ ‘ฮับ’ อาเซียน แลก
เปลี่ยนวิชาการ ‘สุวรรณภูมิศึกษา’

ศาสตราจารย์ พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม

เปิดเวทีด้วย ศาสตราจารย์ พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้เสมือนเป็นองค์ปาฐก กล่าวปาฐกถาเกียรติยศ ย้อนทบทวนวรรณกรรมและพัฒนาการด้านสุวรรณภูมิศึกษา ตั้งแต่ยุคศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี, อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้เป็นบิดา จนถึง เอียน ซี โกลเวอร์ (Ian C. Glover) นักโบราณคดีชาวอังกฤษผู้บุกเบิกการศึกษาแหล่งโบราณคดียุคโลหะที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

“สำหรับผม สุวรรณภูมิหมายถึงเอเชียอาคเนย์ทั้งหมด ประกอบด้วยผืนแผ่นดินใหญ่ และหมู่เกาะ เป็นเรื่องเส้นทางการค้าระยะไกลในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 การศึกษาสุวรรณภูมิ ต้องไม่ไปเน้นเรื่องศาสนาอย่างเดียว” ปู่ครูของวงการย้ำ

ในขณะที่คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว อธิบายเพิ่มเติมว่า สุวรรณภูมิคือหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคเหล็กและทวารวดี โดยเห็นด้วยกับศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร ว่าสุวรรณภูมิ คือทั้งภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดที่ตะวันออกพบตะวันตก เหนือพบใต้ มีการผสมผสานภูมิปัญญาจากภายนอก อยู่กับความหลากหลายและพัฒนาตัวเอง ส่วนทรัพยากรก็มากมาย ทั้งแหล่งเกลือในอีสานของไทย ไหนจะเขาวงพระจันทร์ ลพบุรี แหล่งผลิตทองแดงขนาดใหญ่ ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราว 2-3 พันปีที่แล้ว

Advertisement
นกยูงสำริด พบที่บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี (ภาพจากกรมศิลปากร)

นอกจากนี้ ยังหยิบยกหลักฐานที่อาจคัดง้างความเข้าใจเดิมในเรื่องแหล่งผลิตกลองมโหระทึกอีกด้วย

“เราเคยคิดว่ากลองมโหระทึกมาจากจีน แต่ปัจจุบันพบหลักฐานที่โนนหนองหอ มุกดาหาร เจอเบ้าหล่อ และกลองเล็กๆ เหมือนของชำร่วย ทฤษฎีตีกลับ ผมเคยไปจีน ไปคุยกับภัณฑารักษ์ที่คุนหมิง ถามว่าแหล่งผลิตอยู่ไหน เขาบอกไม่รู้ ยังหาอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราทำแล้วส่งกลับไป”

ส่วนประเด็นความท้าทายตามโจทย์เสวนา คณบดีคณะเดียวในประเทศ บอกดังนี้

“ความท้าทายของผมในเชิงโบราณคดีคือ การแกะภูมิปัญญาจากร่องรอยที่เหลืออยู่เพื่อศึกษาในเชิงลึก และนำไปต่อยอดสู่อนาคต และอีกหนึ่งความท้าทายคือการทำให้คนในประเทศรับรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ว่าเราไม่ได้เพิ่งมายิ่งใหญ่ตอนอยุธยา สุโขทัย แต่ยิ่งใหญ่มาเป็นพันๆ ปีแล้ว ต้องเอาภูมิปัญญาตรงนี้ไปให้คนรุ่นใหม่รับรู้มากขึ้น อย่างที่สี จิ้นผิง ประกาศปฏิวัติประเทศโดยเอาวัฒนธรรมมานำ”

สำหรับแผนระยะสั้นและยาว ผศ.ชวลิตแย้มว่า ศิลปากรวางแผนเป็น ‘ฮับ’ ของอาเซียนในการศึกษาและเปลี่ยนทางวิชาการด้านสุวรรณภูมิศึกษา

“โครงการล่าสุดที่เสนอคือจะเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์ โบราณคดี พานักโบราณคดีในภูมิภาคอาเซียนมาฝึก มาเรียน มาประชุม ทำเวิร์กช็อป แลกเปลี่ยนนักวิชาการกัน จริงๆ จะทำตั้งแต่ปีนี้ แต่ติดโควิด แผนระยะยาวไม่ใช่แค่คุยกันเฉพาะในอาเซียนแต่รวมถึงออสเตรเลีย และ ม.ปักกิ่ง โดยมีไทยเป็นตัวกลาง เดิมมีวิธีคิดเรื่องสุวรรณภูมิว่าใครเก่ากว่า แต่ปัจจุบัน เป็นการร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ที่จะพัฒนาร่วมกัน”

ชิ้นส่วนแม่พิมพ์กลองมโหระทึกจากแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ มุกดาหาร (ภาพจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

ในบางช่วงบางตอน ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ซึ่งนั่งฟังอย่างตั้งใจหน้าเวที ยกมือขอคอมเมนต์แบบที่ต้องกดไลค์ ความว่า

“ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ไทย สมัยผมเรียน เข้าใจว่าเริ่มจากสมัยสุโขทัย นักเรียนส่วนใหญ่ก็คงเข้าใจอย่างนั้น”

ผศ.ชวลิต กระซิบผ่านไมโครโฟนว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังรื้อประวัติศาสตร์ใหม่ โดยเชิญอาจารย์คณะโบราณคดีไปร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม คณบดีโบราณคดีบอกว่า ยังมีกับดัก “อยู่ที่ตัวอักษรและจารึก กล่าวคือ ถ้าเจอจารึก มีการใช้ตัวอักษร จึงจะนับเป็นสมัยประวัติศาสตร์ ก่อนหน้ามีตัวอักษรใช้ จะถูกนับให้เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงก้าวไม่ข้าม’

“ไม่ใช่แค่ทวารวดี สุโขทัย แต่ควรให้เด็กเรียนตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ความรู้สร้างคน สร้างความภูมิใจ”

เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา แต่ ‘บูรณาการ’ ยากมาก
กรอบนโยบาย-ตัวชี้วัดปัญหาใหญ่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ชงมาแนวการศึกษาขนาดนี้ ศาสตราจารย์ พิเศษ เอนก เจ้ากระทรวง อว. ซึ่งรับบทผู้ฟังนั่งแถวหน้าพร้อมปากกาและสมุดจด ป้อนคำถามว่า เป็นไปได้ไหมว่า การศึกษาของเราจะปรับปรุงโดยนำเรื่องราวของสุวรรณภูมิมาเป็นเนื้อหาให้มากขึ้น

ประเด็นนี้ ผู้มีคำตอบน่าสนใจ ไม่มีอ้อมค้อมคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมองว่า สุวรรณภูมิมีความคิดที่แตกต่างกันในเรื่องนิยามในเชิงพื้นที่และเวลา แต่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบูรณาการให้นักศึกษาเป็นเรื่องยากเพราะถูกตีกรอบด้วยนโยบายและตัวชี้วัดต่างๆ ค่อนข้างเยอะ การมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ก็ใช้พับลิเคชั่น การตีพิมพ์ผลงานเป็นตัวตั้ง ตัวชี้วัดก็เน้นแรงกิ้ง (อันดับ) เป็นหลัก

“บูรณาการยากครับ เพราะข้างบนสั่งมาว่าถ้าไม่ได้ตัวชี้วัดอย่างนี้ งบประมาณไม่ไป ทุกคนก็ต้องกลับมาวิ่งร่องเดิม นี่คือปัญหาใหญ่”

แม้มีอุปสรรคขวากหนามด้านบูรณาการ แต่รองอธิการบดีสงขลานครินทร์ ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อทั้งในด้านหลักสูตร และการศึกษาวิจัย

“สิ่งที่คิดว่าจะทำ คือ 1.ภาคใต้จะเป็นสะพานเชื่อมสุวรรณภูมิ 2.เชื่อว่าพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ เป็นอู่อารยธรรม เราคิดถึงการจัดทำหลักสูตร สร้างนักประวัติศาสตร์ มีเครือข่ายนักวิชาการมาทำวิจัย มีฐานข้อมูล”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ

ส่วนประเด็นเรื่องเทคโนโลยี ไม่ใช่ปัญหา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพบอกว่า ดร.แอนนา เบนเน็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหะวิทยา ยังคอนเฟิร์มถึงความทันสมัยของเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ที่สำนักสงขลานครินทร์

ต่อยอด ไม่ใช่ ‘ขึ้นหิ้ง’
โลเกชั่นยูนีค ในเส้นพรมแดนที่พร่าเลือน

ปิดท้ายด้วยมุมมองที่ต้องไฮไลต์ ศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ จาก University of California, San Diego (UCSD) ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งมองสุวรรณภูมิศึกษาผ่านเลนส์นักเศรษฐศาสตร์

“อยากให้ช่วยกันตอบ 2 คำถาม เรื่องแรก คือ ศึกษาไปทำไม หลายคนอาจจะคิดว่ามันคือเรื่องอดีต แต่จริงๆ แล้ว อดีต ปัจจุบัน และอนาคต มันร้อยเรียงกันอยู่ อนาคตกับอดีต ไม่ได้ต่างกันมากเท่าที่เราคิด แต่มีดีเอ็นเอที่อยู่ในภูมิภาคนี้

เรื่องที่ 2 คือประเด็นเศรษฐกิจ สุวรรณภูมิศึกษา ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่เป็นงานวิจัยที่เอาไปต่อยอดเอาไปทำให้เกิดประโยชน์ สร้างความกินดีอยู่ดี ให้คนพื้นที่นี้ อาจไม่ใช่เมืองไทยอย่างเดียว แต่คือภูมิภาค” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กล่าว ก่อนย้ำว่า สุวรรณภูมิคือโลเกชั่นที่ยูนีคมาก

“อย่างที่อาจารย์ศรีศักรพูดว่า สุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการค้าซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง 2 คาบสมุทร ในอดีตเป็นอย่างนั้น ในปัจจุบันมันก็กำลังจะเป็นอย่างนั้นเช่นกันในเรื่องของความร่วมมือในภูมิภาค”

ศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎ์เลิศ ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นของพรมแดนซึ่งในอดีตครั้งยังไม่เกิดรัฐชาติ ผู้คนเดินไปมาหาสู่โดยไม่ต้องขอวีซ่า โดยระบุว่าปัจจุบันโลกก็กำลังย้อนกลับไปสู่ความจางลงของเส้นพรมแดน

“ตอนนี้โลกเสรีมากขึ้น พรมแดนหายไปมากขึ้น ทั้งการเคลื่อนที่ของสินค้า บริการ คนเคลื่อนย้ายไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น เรากลับไปสู่โลกที่พรมแดนจางลงเยอะ อนาคตจะย้อนกลับไปคล้ายอดีตมากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่คนอาจไม่ได้มองเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เริ่มโผล่คือ โปรดักชั่น เดิมเรามองว่าที่นี่เป็นเทรดฮับ (ศูนย์กลางการค้า) สิ่งที่เห็นในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาเป็นศูนย์กลางการผลิตของเอเชียอีกแล้ว เพราะอยู่ระหว่างตลาดใหญ่ 2 ตลาด คือตะวันออกและตะวันตก ซึ่งกลับไปเหมือนเดิมว่า ทำไมกลองมโหระทึกผลิตตรงนี้แล้วส่งไปที่อื่น”

ซอฟต์เพาเวอร์มีมูลค่า พูดภาษาทุนนิยม
‘ถ้าจะยั่งยืน ต้องมีแรงจูงใจ’

ประเด็นต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎ์เลิศ เริ่มต้นด้วยคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรกับมันต่อ?

“นี่คือคำถามที่ 2 ของสุวรรณภูมิศึกษา ผมมองว่างานวิจัยนำมาต่อยอดได้ซึ่งต้องกลับไปที่คำถามของคุณหมอบัญชาว่าความท้าทายคืออะไร ผมมองว่า ความท้าทายคือ เราจะสร้างมูลค่ามันได้อย่างไร

“อย่างแรก ต้องให้คนตระหนักรู้ถึงคุณค่า แต่คิดว่า คนจะตระหนักรู้มากขึ้น ถ้าเขาได้อะไรจากมัน พูดในภาษาทุนนิยมเลยคือ เราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถทำกำไรจากองค์ความรู้ตรงนี้ได้ อาจเป็นเชิงพาณิชย์ อาจารย์ศรีศักรอาจไม่ถูกใจ”

ศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

กล่าวจบ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ ยังบอกพร้อมกลั้วหัวเราะเบาๆ เช่นเดียวกับวงเสวนาทั้งบนเวทีและผู้ฟังเบื้องล่าง ยืนยันหนักแน่นว่า เคารพอาจารย์ศรีศักรมาก แต่คิดว่าถ้าจะยั่งยืน ต้องมีแรงจูงใจ

“ผมคิดว่า คัลเจอร์ คือ ซอฟต์เพาเวอร์ซึ่งมีมูลค่า ไม่ใช่แค่องค์ความรู้อยู่ลอยๆ ทำไมเราถึงไปจ่ายเงินทานอาหารมื้อละเป็นหมื่นกับมิชลิน สตาร์ รับประทาน 1 คำ แต่ก่อน 1 คำ คนมาเล่าสตอรี่สารพัด สุวรรณภูมิเป็นเรื่องราวที่สร้างมาจากองค์ความรู้ทางวิชาการ อาจเรียกว่าจับต้องได้ก็ได้ จะทำอย่างไรกับมันต่อ”

จากนั้น ยังอธิบายลงรายละเอียดว่า ในการต่อยอด ตนมอง 2 เรื่อง อย่างแรกคือ ทุนวัฒนธรรม การต่อยอดด้านเศรษฐกิจ ขยายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่ 2 คือ การทูตเชิงวัฒนธรรม

“ผมชอบที่อาจารย์ศรีศักรพูดว่า สุวรรณภูมิ มันคือภูมิภาค ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้”

ศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎ์เลิศยังบอกด้วยว่า การนำอดีตมายกระดับสู่คนรุ่นใหม่ คือประเด็นน่าสนใจ นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งสนใจเรื่องความกินดีอยู่ดีของคน คงอยากถอดรหัสว่าภูมิภาคนี้มีดีอะไรที่ทำให้เป็นศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางการผลิต ตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต บทบาทนั้นคงไม่เปลี่ยน

“อยากเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกจริตคนรุ่นใหม่ ให้เขาบริโภคได้ ให้เขาอยากมาฟังเรื่องสุวรรณภูมิ ทำอย่างไรให้เขาอยากเห็นสุวรรณภูมิ ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีช่วยได้เยอะ อยากให้มีศาสตร์และศิลป์ในการทำวิจัยและนำเสนอ”

ย้ำอีกรอบว่า โลเกชั่น หรือที่ตั้งนั้นคือสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ ชวนให้ศึกษาว่าบทบาทของภูมิศาสตร์มีผลกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร

“สำหรับการท่องเที่ยว ถ้าไม่มองว่าเป็นแค่การท่องเที่ยวอย่างเดียว ยกระดับ พัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยอาจมีองค์ความรู้ตรงนี้ป็นแกน แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวสามารถเกาะติดกับการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิได้ คงไม่ใช่แค่ไปดูหลุมขุดค้น หรือพิพิธภัณฑ์ แต่เอาองค์ความรู้ไปฝัง และไม่ใช่แค่จุดเดียว แต่เป็นเครือข่ายแพคเกจ กึ่งๆ เช็กลิสต์ เช่น ลูกปัดที่เจอหลายแห่ง จะไม่ใช่แต่มาเที่ยวที่เดียวจบ หรือแม้แต่สินค้าพื้นบ้าน มีแกนที่เป็นตัวนำในการเป็นจุดขาย”

แม้เสวนาจบ แต่ยังไม่มีคำตอบสุดท้าย หากแต่มากมายด้วยประเด็นให้ ‘คิดต่อ’ เช่นเดียวกับการศึกษาอันเกี่ยวเนื่องกับสุวรรณภูมิที่ยังต้องศึกษาต่อยอดในแง่มุมต่างๆ อย่างเข้มข้นบนโจทย์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายของวันพรุ่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image