‘หลง เงา รัก’ คว้านวนิยายยอดเยี่ยม รางวัลชมนาด สะท้อนชีวิตนางแบบอาชีพ โรคคลั่งผอม

หนังสือ 3 อันดับจะได้ตีพิมพ์

“…นวนิยายเรื่องนี้จะว่าเป็นแนวโรแมนติก มันก็โรแมนติก เนื้อเรื่องอาจจะฟังดูเหมือนไกลตัว แต่จริงๆ แล้วไม่ไกลตัว เป็นการสะท้อนสังคม

ตัวเอกของเรื่องเป็นนางแบบแต่ผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ใช่นางแบบก็สามารถเข้าถึงได้ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบูลลี่ออนไลน์ด้วย เพราะนางแบบเขาจะเป็นคล้ายๆ กับเป็นโรคคลั่งผอม รักษาหุ่น..”

ชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง กล่าวถึง “หลง เงา รัก” นวนิยายที่เธอเป็นผู้ประพันธ์ และได้รับ “รางวัลยอดเยี่ยม” รางวัลชมนาด ครั้งที่ 10 ในการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (FICTION) ของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ซึ่ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดขึ้น เพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล พร้อมกับมีงานมอบรางวัลที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม

ก่อนการมอบรางวัล ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า รางวัลนี้จัดขึ้นเพื่อนักเขียนสตรี เพราะต้องการส่งเสริมบทบาทของสตรีในด้านงานเขียนให้มากขึ้น จะเห็นว่าผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน และซับซ้อน มีแง่มุมในความคิดในการเขียนที่น่าสนใจ ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นแนวทางโปรโมทให้ผู้หญิงเข้าสู่การทำงานวรรณกรรมมากขึ้น ธนาคารกรุงเทพ และ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เป็นพันธมิตรที่ทำโครงการร่วมกันมาหลายเรื่อง และโครงการรางวัลชมนาดก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทำร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องจนก้าวสู่ครั้งที่ 10 ในปีนี้

Advertisement
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กล่าวเปิดงาน

“…ก้าวย่างของรางวัลชมนาดเติบโตขึ้นและมีการรับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นวนิยายบางเรื่องก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ นี่คือเป้าหมายหลักในการทำงานร่วมกันของเรา”

คุณสกุล บุญยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคณะกรรมการรอบตัดสิน

ปีนี้คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วย นรีภพ จิระโพธิรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือก ส่วนคณะกรรมการ ได้แก่ ดร.พรธาดา สุวัธนวนิช, ตรีคิด อินทขันตี, อุมาพร ภูชฎาภิรมย์ , จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร ทุกคนลงมติคัดเลือกผลงานต้นฉบับผ่านเข้ารอบตัดสินจำนวน 8 เรื่อง จากผลงานทั้งหมด 26 เรื่อง เพื่อเข้าชิงรางวัลชมนาดครั้งที่ 10 ได้แก่ กาลครั้งหนึ่งที่โคชนะ, หลงเงารัก, ปริศนาบรรณกร, โศกนาฏกรรมนอกเล่ม…นิยาย, ดานิกามาลีรินทร์, ผงปรุงรส…ชีวิต, ปล่อย และ รอยเท้าบนกลีบดอกไม้ และเมื่อมาถึงรอบสุดท้ายชิงชนะเลิศ คณะกรรมการ ได้แก่ เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ประธานรอบตัดสิน, สกุล บุญยทัต, รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, รศ.ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ และ นรีภพ จิระโพธิรัตน์ ก็ลงมติเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง “หลง เงา รัก” ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เป็นงานที่เกลี้ยงที่สุด

นวนิยายเรื่อง “หลง เงา รัก” ผลงานของ ชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง เป็นเรื่องราวของนางแบบอาชีพที่ต้องกลายเป็นโรคบูลิเมียในช่วงขาลง และต้องพยายามเอาชนะความอยากอาหารของตัวเอง ซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึกผิดที่ต้องคอยปฏิเสธอาหารของคนรักที่เป็นเชฟ รวมทั้งการนอกใจตัวเองด้วย ถือว่าคนเขียนมีองค์ความรู้ในบริบทต่างๆ ดี แม้จะเป็นเรื่องที่เปิดเปลือย โดยผู้เขียนเลือกใช้ฉากในต่างประเทศ แต่ก็มีแก่นความคิดของตัวละครที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด่นที่สุด

หลง เงา รัก โดย คุณชนินทร์ธรณ์ ชื่นโพธิ์กลาง ชนะเลิศรางวัลชมนาด ปี 2564

ขณะที่ “ชนินทร์ธรณ์” ผู้เขียนเองกล่าวว่าส่งผลงานเข้าประกวดครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะเห็นว่าเป็นรางวัลสำหรับนักเขียนหญิงจึงสนใจ ปกติก็เขียนหนังสืออยู่แล้ว พอดีว่าเป็นช่วงลาออกจากงานจึงมีเวลาว่างมาเขียนหนังสือ นวนิยายเรื่องหลงเงารัก เป็นการสะท้อนสังคม ตัวเอกของเรื่องเป็นนางแบบคล้ายๆ เป็นโรคคลั่งผอม รักษาหุ่น แล้วมีการสอดประสานเรื่องความรักให้อ่านขำๆ ไม่ได้ไกลตัวจนเกินไป อ่านเพลินๆได้ มีแง่คิดในเรื่องการใช้ชีวิต การหาความสุขให้ตัวเอง

“จริงๆ แล้ว นวนิยายเรื่องนี้อยากบอกว่าความสุขไม่ได้อยู่ภายนอกตัวเราเลย แต่อยู่ที่ตัวเรา ตัวเอกเป็นผู้หญิงยุคใหม่ใช้ชีวิตความรักแบบคนทั่วไป บางทีอาจไม่มีใครอยากยอมรับการมีแฟน มีกิ๊ก แต่ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องปกติ เพราะอยู่ในเมืองใหญ่เลยสะท้อนออกไปแบบนั้น ว่าทุกคนเหงาหมดแหละ เพียงแต่ว่าเราจะจัดการกับความเหงาของเรายังไง”

ปล่อย โดย คุณกชกร ชิณะวงศ์ รองชนะเลิศอันดับ 1

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่เรื่อง “ปล่อย” ผลงานของ กชกร ชิณะวงศ์ เป็นการเล่าถึงตัวเอกของนวนิยายที่ต้องพบกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งน้องสาวและพ่อแม่ในเวลาไล่เลี่ยกัน เธอต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตใหม่เพื่อที่จะก้าวผ่านห้วงเวลานั้นไปให้ได้ ซึ่งคณะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องที่มีอุดมคติของผู้หญิงในภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียครอบครัวอันเป็นที่รัก และในที่สุดก็เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองให้เป็นอุดมการณ์

“กชกร” เล่าถึงการเขียนเรื่องนี้ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง “ปล่อย” ของ หนุ่ม วงกะลา ซึ่งห้วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ผู้คนเครียดมาก รู้สึกว่าการใช้ชีวิตยากลำบาก ถ้าได้ปล่อยออกไปบ้างน่าจะดี และคิดว่าถ้าเราจะ “ปล่อย” อะไรสักอย่าง น่าจะเป็นเรื่องที่หนักมากสำหรับคนๆ หนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ต้องปล่อยเพื่อที่จะก้าวต่อไป

“กชกร” บอกอีกว่า การที่ได้รางวัลรู้สึกดีใจมาก เพราะตั้งใจส่งผลงานเข้าประกวดรางวัลนี้ถึงสองครั้งแล้ว เห็นว่าเป็นโครงที่ดีมากและยังเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ ให้กับผู้หญิงที่อยากจะเขียนงาน มองว่าสังคมไทยไม่ว่าอดีตหรือเดี๋ยวนี้จะมีความเหลื่อมล้ำในมิติหญิงชาย แต่รางวัลชมนาดเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพทางความคิดเห็นผ่านงานเขียน ซึ่งเรามีอิสระที่จะสร้างสรรค์ผลงานของเราโดยไม่มีใครมาตีกรอบ สามารถครีเอทไอเดียต่าง ๆ รวมถึงตัวละครได้ตามใจ เป็นมุมที่สร้างสรรค์ในมิติของผู้หญิงจริงๆ

11 รอยเท้าบนกลีบดอกไม้คุณนภัทร สังสนา รองชนะเลิศอันดับ 2

ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของ นภัทร สังสนา จากผลงานเขียนเรื่อง “รอยเท้าบนกลีบดอกไม้” เรื่องราวของผู้หญิงที่ผิดหวังจากความรักทั้งที่รักฝ่ายชายมากเหลือเกิน แต่สุดท้ายก็ถูกทิ้งเกิดเป็นบาดแผลในการสร้างชีวิตครอบครัว และยังต้องพบกับความผิดหวังจากความรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ “นภัทร” ได้มาจากประสบการณ์จากการทำงานกับเด็กและเยาวชน เธอพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของเด็กและเยาวชนคือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากการที่ไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องค่านิยม “ชิงสุกก่อนห่าม” บางกรณีก็เกิดจากความคึกคะนองและอยากลองของเด็กวัยรุ่น จึงตั้งใจหยิบปมปัญหานี้มานำเสนอ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนได้ฉุกคิด และสื่อให้เห็นว่าคนที่อันตรายและน่ากลัวที่สุด บ่อยครั้งคือคนไว้ใจคนที่อยู่ใกล้ตัว ฉะนั้นต้องระมัดระวัง!

ความคิดเห็นของคณะกรรมการต่อนวนิยายทั้งสามเรื่อง สรุปว่าทั้งหมดสื่อความหมายได้ดีแม้จะเห็นว่าบางเรื่องมีเนื้อหาที่เปรี้ยวจี๊ดและมีฉากอีโรติก แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียด ทว่า กลับเป็นท่วงทำนองที่สอดคล้องกับสภาวะเหตุการณ์อย่างสมเหตุสมผล ที่สำคัญคือ งานวรรณกรรมเป็นงานเสรี เป็นการทดลองความจริง ต้องเปิดกว้าง

สำหรับผู้ชนะเลิศรางวัลชมนาดยอดเยี่ยม จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณและค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่มทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และอับดับ 2 จะได้รับโล่ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ

มอบโล่รางวัลให้กับผู้ที่เข้ารอบทั้ง 8 ท่าน
บรรยากาศภายในงาน
คุณจิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร , รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร คณะกรรมการรอบตัดสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image