ก่อนจะสิ้น ‘เดือนตุลา’ เปิดแผลสด ย้อนฉากป่วน รำลึกประวัติศาสตร์ เพื่อการต่อสู้ของ ‘พรุ่งนี้’

ก่อนจะสิ้น ‘เดือนตุลา’ เปิดแผลสด ย้อนฉากป่วน รำลึกประวัติศาสตร์ เพื่อการต่อสู้ของ ‘พรุ่งนี้’
งานรำลึก 48 ปี 14 ตุลาคม 2516 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

นับเป็นช่วงเวลาที่ความคิดต่างแผลงฤทธิ์อย่างหนัก สร้างกระแสการถกเถียงอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น ดังเช่น ‘แห่พระเกี้ยว’ ในงานบอลประเพณี ที่องค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ประกาศยกเลิกด้วยมติเอกฉันท์ นำไปสู่การตั้งคำถามว่ายกเลิก ‘ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์’ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2477 ไปด้วยเลยดีไหม?

วิวาทะที่ตามมาหนักหน่วงและเผ็ดร้อนอย่างน่าประหลาดใจ หรือจะย้อนไปในช่วงต้นถึงกลางเดือน ประเด็นงานรำลึก 45 ปี โศกนาฏกรรม 6 ตุลา 19 และ 48 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ตามลำดับ ก็มากมายด้วยประเด็นเผ็ดร้อน จนต่างฝ่ายต้องร่อนแถลงการณ์กันเป็นว่าเล่น

ไม่ว่าจะเป็นการเบรกจัดงาน 6 ตุลาในสถานที่เกิดเหตุ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จนเกิดดราม่าหนักระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง ส่วนทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่ต้องพูดถึง ย่อมโดนตั้งคำถามสำคัญเป็นธรรมดา แม้สุดท้ายให้จัดได้จากการกดปุ่มไฟเขียวโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ มธ.ส่งจดหมายไปให้ฟันธง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนบางสิ่งที่จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แห่งการรำลึกซึ่งสุดท้ายก็ผ่านพ้นไปอย่างงดงาม

งานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม 2519

เปลวไฟจากเทียนเล่มแดงส่องสว่างกลางสนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ เสียงขับขาน ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ กึกก้องท่าพระจันทร์ แกนนำคนสำคัญทั้งปัจจุบันและอดีต ร่วมอาลัยวีรชนในเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ชุมนุมที่ต่อต้าน ‘จอมพลถนอม’ ในปี 2519

Advertisement

ไม่เพียงในกรุงเทพฯ แต่หมายรวมทั่วทุกภูมิภาค

เป็นภาคต่อของละครเรื่องยาว คือ 2 เหตุการณ์ที่ยากจะแยกขาด นั่นคือ 14 ตุลา 2516 ซึ่งงานรำลึกในหนนี้ กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายกลางงานหลังกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ แขวนป้ายผ้ามีข้อความที่ผู้จัดออกอาการ ‘ไม่ปลื้ม’

ถัดมา 27 ตุลาคม กลุ่มทะลุฟ้า ยังคงยืนยันอุดมการณ์ที่ปรากฏในงานรำลึก 14 ตุลา บุกสาดสีแดงหน้ารัฐสภาเกียกกาย โปรยกระดาษ ‘ยกเลิก 112’ ล่วงหน้าก่อนม็อบใหญ่ของ ‘คณะราษฎรยกเลิก 112’ (ครย.112) ในวันพรุ่งนี้ 31 ตุลาคม นัดหมายที่แยกราชประสงค์

Advertisement

ก่อนจะสิ้นเดือนตุลา 2564 มาลองย้อนฉากต่อฉาก คำต่อคำ ในเหตุการณ์เข้มข้นระหว่างงานรำลึก 14 ตุลาครั้งล่าสุดที่สะท้อนภาพมากกว่าดราม่าเบื้องหน้าอย่างที่ตกเป็นข่าว

“ทะลุฟ้า” ราดสีแดงหน้าประตู 4 รัฐสภา เรียกร้อง “ยกเลิก 112” เมื่อ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

วิวาทะต่อหน้าสื่อ

หวั่นวีรชน ‘ตายตาไม่หลับ’

“ไม่เช่นนั้น วีรชน 14 ตุลา จะเสียใจ จะหมองใจ เมื่อเราดำเนินการอย่างเป็นกลาง จึงต้องการให้งานรำลึกเป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่มีการโต้แย้งกับใคร วีรชนจะตายตาไม่หลับ เราจัดกันเป็นปกติ และไม่เคยกีดกันเสรีภาพของใคร ขอเพียงคำนึงถึงส่วนรวม ไม่ใช่ความสะใจส่วนตัว คำนึงถึงวีรชน ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ”

ประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หนึ่งในผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลา ปรามกลุ่ม ทะลุฟ้า ด้วยที่ท่าฟึดฟัด ต่อหน้าสื่อมวลชนที่รอทำข่าวในเวลา 7 โมงเช้า หลังพิธีทำบุญตักบาตร ถวายผ้าไตรจีวรแล้วเสร็จ ว่ากระทำการไม่เหมาะสม ขอให้ปิดเพลง ปลดป้ายผ้า อึมครึมและมึนงงไปชั่วขณะ

“ปฏิรูปสถาบันฯ”
“เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
“ที่ใดมีเผด็จการ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้”
“พวกเราคือนักสู้ไม่ใช่นักโทษ”
“แค่ต้องการประชาธิปไตย เป็นขบถหรือ?”

คือข้อความที่สร้างความกระอ่วนใจให้กับทีมผู้จัด ถูกขึงไว้รายรอบอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว ในงานรำลึกและปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2564 ที่ มูลนิธิ 14 ตุลา, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมกันจัด โดยมี “สภากาแฟทะลุฟ้า” ร่วมตั้งซุ้มแจม
อยู่ด้านข้าง กล่าวเชิญชวนผู้ร่วมงานเข้ามารับเครื่องดื่มร้อน นั่งถกเถียงเรียนรู้แนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

อาจเพราะเสียงดนตรี ลำซิ่งปลดแอก ของกู่แคน ไทบ้าน, แร็พต้านเผด็จการ ของ R.A.D., ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ หรือทำนอง ‘เพื่อมวลชน’ ของ จิ้น กรรมาชน ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของคนเดือนตุลา ดังที่ ‘ทะลุฟ้า’ ตั้งใจสื่อ

คณะกรรมการ มูลนิธิ 14 ตุลา ขอให้กลุ่ม “ทะลุฟ้า” ปลดป้ายผ้ารอบอนุสรณ์สถานฯ

แต่ยืนยัน ‘ไม่ได้ดื้อ’ หากพูดคุยดีๆ ก็พร้อมจะปลดป้ายลง

ประสาร แจงผู้สื่อข่าว วันนี้เป็นวันรำลึกวีรชนเมื่อ 48 ปีที่แล้ว ทุกปีมีตัวแทนรัฐบาล มีกรรมการสิทธิมนุษยชน ตัวแทนรัฐสภา ฝ่ายค้าน ภาคประชาชน มีระดับรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ มาร่วมรำลึกตรงสถูปที่นี่

เราต้องการให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นการรำลึก คารวะวีรชน 14 ตุลา ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกับใคร เป็นพื้นที่อนุสรณ์สถานที่ใช้ทั้งเสื้อเหลืองและแดง เราเปิดโอกาสเต็มที่ ไม่ได้กีดกันเสรีภาพใคร แต่ด้วยวันนี้เรามาเคารพวีรชน จึงต้องการความสงบ เรียบร้อย

“กลุ่มทะลุฟ้าไม่ได้ขออนุญาตติดป้าย อยู่ๆ ก็มาติด ถ้าผู้ใหญ่มาเห็น ชี้มาจะเป็นอย่างไร เพราะเราไม่ได้ทำ

เขาควรจะเอาออก ถ้าไม่เอาออกก็แล้วแต่เขา เป็นความรับผิดชอบเขา การที่อยู่ๆ มาติดตั้ง เป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้านไปหน่อย ไปไหนต้องเคารพเจ้าของสถานที่ ไม่ใช่ทำอะไรตามอำเภอใจโดยไม่รับผิดชอบ” ประสารลั่นวาจา

ทะลุฟ้า วิเคราะห์สาเหตุ เชื่อ ‘เป็นเพราะป้ายๆ เดียว’ ขอให้แจ้งกับตำรวจได้เลยว่า ‘กลุ่มทะลุฟ้าเป็นคนติด’ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้จัดงาน ส่วนเพลงที่เปิดและข้อความที่ปรากฏบนป้าย ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับวีรชน 14 ตุลา ทั้งนั้น

อย่าง “เราต้องการรัฐธรรมนูญประชาชน” ก็คือหนึ่งในข้อเรียกร้องของขบวนการต่อสู้ในเวลานั้น (และเวลานี้)

แล้วปฐมบทของดราม่า ก็เปิดฉาก ณ บัดนั้น

ญาติวีรชน โวยประธานจัดงาน 14 ตุลาฯ

‘ทะลุฟ้า’ งง อะไรดลใจ

‘ญาติวีรชน’ โวยมูลนิธิ 14 ตุลาไม่เคยเหลียวแล

“ผมอึ้งเลย ไปเสิร์ชชื่อดู เขาเป็นคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลามาแล้วด้วยนะพี่ ผมไม่รู้อะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้” สมาชิกทะลุฟ้าบอกเล่าความรู้สึกกับผู้สื่อข่าว พร้อมร่ายโพสต์ลงแฟนเพจ ความว่า ฝ่ายขวาตกขอบ หนึ่งในคณะกรรมการ 14 ตุลา ไม่ให้ติดป้ายผ้ารำลึก ไม่อยากเดือดร้อน หากผู้หลักผู้ใหญ่มา หากท่านมีความเป็นกลางจริง เหตุใดถึงไม่อาจทำได้ เมื่อเราอยู่ใน ระบอบประชาธิปไตย?

“ท่านอ้างเคารพวีรชน 14 ตุลา หรือเคารพคนที่มีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโตในระบบอุปถัมภ์นี้กันแน่ พวกเราเห็นว่า วีรชนจะภูมิใจที่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนร่วมออกมาต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยอีกครั้ง มิใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม และสะท้อนถึงคนจำพวกบางประเภทที่กลืนกินอุดมการณ์ของตัวเองเพื่อผลประโยชน์!”

ไม่ทันหายฉงน ก็ ‘อลวน’ อีกรอบ

ญาติวีรชน 14 ตุลา ลุกขึ้นโวยผู้จัด คือ มูลนิธิ 14 ตุลา ระบุว่า สามีเสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ไม่เคยมาร่วมงาน ไม่เคยเหลียวแลญาติวีรชน และถูกกล่าวหาแอบอิงหาผลประโยชน์

“เชิญญาติวีรชนมาทุกปี แต่ตนเองเคยมาหรือไม่ ไม่เคยเหลียวแลสมาชิกเลย ปล่อยอดอยาก ไม่อยากจะพูด แต่มันไม่ไหวแล้ว 14 ตุลามันเงียบเหงา เงียบมาก เพราะประธานไม่ดี ไม่เคยจะเหลียวแล”

เคยเอาพวงมาลัยมาเคารพสามีคุณหรือไม่ 6 ตุลานี่ปลื้มจริง ปลื้มมากๆ ไม่ได้สักครึ่งของ 6 ตุลา ไม่เคยคิดเลย ที่รู้ดี เพราะคือญาติจริงของวีรชน 14 ตุลา” ญาติวีรชนกล่าว โดยญาติวีรชนรายอื่นแสดงความเห็นด้วย

แม้แต่ สุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ก็ลั่นวาจาไม่กี่นาทีหลังเดินเข้ามา

“14 ตุลางานใหญ่กว่า 6 ตุลาตั้งเยอะ จัดดีเหลือเกิน จัดดีจนงานเล็กไปเลย”

ผู้แทนองค์กร, กลุ่ม, พรรคการเมือง ร่วมส่งพวงหรีดอาลัย วีรชน 14 ตุลา 16

เดือดต่อเนื่อง

สภา น.ศ.ซัด อมธ.กลางวงรำลึก

ในจังหวะเดียวกันนี้ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และตัวแทนพรรคก้าวไกล เดินเท้าเข้ามาถึงอนุสรณ์สถาน ก่อนยื่น 2 พวงหรีดที่มีข้อความ “อุทิศชีวิตเพื่อประชาสุขสมบูรณ์” “จะเทิดทูนอุดมการณ์นิรันดร์ไป” ให้ผู้จัดนำมาวางเรียง แต่ด้วย “ขาตั้ง” มีไม่เกิน 10 และที่ตั้งอยู่ก่อนหน้าก็ผูกลวดติดกับขาไว้ พวงหรีดของทะลุฟ้า จึงถูกปลดลงก่อน เพราะเป็นพวงเดียวที่ไม่ได้ยึดติดไว้

พลพล หรินทรานนท์ นายกองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ วางพวงหรีด-กล่าวรำลึก

เข็มนาฬิกา กำลังจะแตะเลข 10 ถึงคิว พลพล หรินทรานนท์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ขึ้นกล่าวรำลึก

ศรัณย์ สัชชานนท์ รองประธานสภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ก็ผุดขึ้นกลางวง เปล่งเสียงผ่านโทรโข่งหน้าทางเข้าอนุสรณ์สถาน กลบเสียงนายก อมธ.

“ยังมีหน้ามาร่วมงานที่นี่อีก มางานรำลึก 14 ตุลาคม ทั้งที่ อมธ. ออกแถลงการณ์คัคค้านการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา

ขอประกาศว่า เราผิดหวังในตัวผู้แทนของเรา และขอเรียกร้องให้คุณลาออกจากตำแหน่ง” ศรัณย์เล่าความคับแค้นใจ

ศรัณย์ สัชชานนท์ รองประธานสภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
กรรมการ มูลนิธิ 14 ตุลา ทำความเข้าใจกับ ตัวแทนสภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์

โดยหนึ่งในกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา เดินเข้ามากล่าวกับเพื่อนของ ‘ศรันย์’ ซึ่งกำลังเข็นลำโพง ยื่นไมค์มาให้ ว่า “ให้เกียรติเขา เข้าใจ แต่มีงานอื่นอีกเยอะในการประท้วง” ‘ตามมาด้วยภาพ กุมมือ-เปิดอกเคลียร์ต่อหน้าสื่อ ระหว่างนี้สมาชิกทะลุฟ้าและทะลุแก๊ซ เดินเข้ามาส่งเสียงสนับสนุน รองประธานสภานักศึกษา มธ.ที่ต่อว่านายก อมธ.

ต่อมา 18 ตุลาคม อมธ.ร่อนแถลงการณ์ชี้แจง ขอโทษแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ทำให้ตระหนักถึงบทบาทของการดำรงตำแหน่ง นายก อมธ. ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงกระบอกเสียง พัฒนาสิทธิสวัสดิการ นโยบาย หรือกิจกรรมของนักศึกษาเท่านั้น แต่ต้อง “ร่วมต่อสู้กับอำนาจอันมิชอบและไม่เป็นธรรมของรัฐบาล” ที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน

เฉกเช่นรุ่นพี่นักศึกษาธรรมศาสตร์ รุ่นพี่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนทุกคนในอดีตที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ จนต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ก่อนขอแสดงความรู้สึกเสียใจอย่างถึงที่สุด ด้วยการที่ พลพล นายก อมธ.ขอ ‘ลาออก’ ยุติปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการ อีก 7 คนพ้นตำแหน่งยกชุด

บรรยากาศจุดเทียนรำลึก 14 ตุลา 19 นำโดย กลุ่มทะลุฟ้า และทะลุแก๊ซ

ลั่นต่อสู้ครั้งสุดท้าย

‘จะไม่มีการรำลึกครั้งไหนอีก’

ในช่วงบ่าย หลังมูลนิธิ 14 ตุลา ย้ายไปจัดเสวนาในห้องหลังอนุสรณ์สถาน กิจกรรมรำลึก ดนตรี-กวี-ปราศรัยดำเนินไป โดยกลุ่มทะลุฟ้า

ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ “ปูน” บอกเล่าความในใจ ต่อให้ท่านผ่านการต่อสู้มายากเย็นและแสนเข็ญขนาดไหน ผมก็ไม่อาจเคารพท่านได้ เพราะตอนนี้ท่านไม่มีอุดมการณ์ในหัวใจเลย และผมไม่รู้ว่าการต่อสู้วันนั้นท่านทำไปเพื่ออะไร

“เพื่อนของท่านตาย กลายเป็นนักรบธุลีดิน เพื่อนของท่านตายกลายเป็นผงกระดูกมากว่า 40 ปีแล้ว เหตุไฉนท่านจึงไม่ตาสว่างว่าต้นตอปัญหาคืออะไร

“ผมไม่ได้จะแก้ตัวในฐานะสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าที่แขวนป้ายผ้าเมื่อเช้านี้ แต่ผมอยากจะแสดงเจตจำนงในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน การแสดงออกทำได้ ท่านต้องรับความเห็นต่างบ้าง” ธนพัฒน์ชี้

ด้าน สมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย มอง 14 ตุลาคม 2516 เป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนโค่นล้ม 3 ทรราชย์ออกไปเท่านั้น แต่โครงสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ กลไกราชการ ยังดำรงคงเดิม

สมยศ บอกว่า หลัง 14 ตุลา 2516 เป็นการปล้นชัยชนะของประชาชนไปอย่างหน้าด้าน ผลพวงที่ได้ คือกระแสการต่อสู้เพื่อ สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย แต่ถูกทำลายไปอย่างโหดเหี้ยม เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

“รำลึก 14 ตุลาคม 2564 ในปีนี้ เป็นการจัดงานที่กากและบัดซบที่สุด ด้วยการปลดป้ายข้อความของทะลุฟ้า เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลาสมควรทบทวนและตรวจสอบตนเองว่า เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ หากยังทำการเหยียบย่ำเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 ลงไปเช่นที่เกิดขึ้นนี้” สมยศระบุ

ฟ้า พรหมศร

อีกหนึ่งผู้ต้องหา ม.112 อย่าง พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า ราษฎรมูเตลู ปราศรัยว่าพวงหรีดเหล่านี้ อุปมาเป็นของไร้สาระอย่างแท้จริง หากเหตุการณ์ไม่ฝังลึกลงไปในแบบเรียนการศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นเพียงแค่หน้ากาก สิ่งเยินยอ วันหนึ่งก็โรยรา แต่สิ่งที่จริงคือ “การปลูกสร้างสำนึกการสูญเสียประชาธิปไตย”

รัฐบาลที่ดีได้แค่หล่อเลี้ยงร่างกาย แต่ไม่สามารถขจัดพยาธิในร่างกายได้ สิ่งที่กัดกินคือเผด็จการที่ รบกับจิตใจประชาชนไม่ได้ ประการแรก ยกเลิกกฎหมายไม่เป็นธรรม แล้วชำระประวัติศาสตร์

“ไม่ตั้งโต๊ะ เสียเวลา ฝ่ายเราเจ็บจริง ตายจริง เลือดอาบแผ่นดิน ไม่เคยปรากฏประวัติศาสตร์ภาคประชาชน …

เราจะประกาศให้ได้ยินว่า การต่อสู้ของประชาชนครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และจะไม่มีการรำลึกครั้งไหนอีก

ขนาดนกยังบินไปแสวงหาเสรีภาพ แล้วกับคนไม่แสวงหาเสรีภาพให้ตนเอง” ฟ้าทิ้งท้าย

ก่อน ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ‘ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ’ ‘เพื่อมวลชน’ จะถูกขับขานอีกรอบ พร้อมแสงแห่งเทียนแดง

เป็นเดือนตุลาคมในปีที่เข้มข้น และไม่ใช่เพียงการรำลึกอดีต หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่ออนาคตที่จะต้องไม่มีโศกนาฏกรรมให้บันทึกเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image