จน เครียด ทุกข์ กลางยุคโรคระบาด ยังมีคนที่ถูกลืม ยังมีห้องเช่าที่มองไม่เห็น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มไม่เพียงแต่ในด้านของสุขภาพทางกายเท่านั้น ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานไทยหรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะคนในสังคมเมือง คนเหล่านี้ไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากนักในสภาวะที่เกิดขึ้น

ล่าสุด สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ-PSA จัดเสวนาสังคมวิทยาความเป็นธรรมที่รู้ร้อนรู้หนาว ครั้งที่ 3 หัวข้อ คนทุกข์ในเมือง: โรคระบาด ปากท้อง บ้าน และงาน สะท้อนถึงปัญหาเรื่องรายได้ ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม

 

‘คนจนเมือง’ ไม่ได้นิยามจาก ‘รายได้’

ADVERTISMENT

ห้องเช่าราคา (ไม่) ถูกที่ถูกลืม

ADVERTISMENT

เริ่มต้นที่ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานศึกษาเรื่องคนจนเมืองในสถานการณ์โควิดว่า คนจนเมือง ไม่ได้นิยามตามเกณฑ์รายได้ แต่นิยามตามแหล่งที่อยู่ คนที่อยู่ในชุมชนแออัดบางคนอาจจะไม่ได้จนเชิงรายได้ อาจมีรายได้มากแต่เปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดซึ่งเห็นได้ชัดว่าขายของไม่ได้ รายได้ย่อมลดลงหลายเดือน

“เวลานึกถึงคนจนเมือง เรามักจะนึกถึงคนที่อยู่ในชุมชนแออัด แต่ยังมีคนจนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในห้องเช่าราคาถูก คนกลุ่มนี้ถูกลืมยิ่งกว่าคนในชุมชนแออัดเสียอีก ช่วงโควิดเห็นได้ชัดเลยว่าคนกลุ่มนี้ถูกมองข้ามอย่างไรบ้าง ห้องเช่านี้ราคาไม่ถูกเพราะอยู่ในทำเลข้างหัวลำโพง”

ผศ.ดร.บุญเลิศ ยังย้อนถึงการระบาดของโควิดระลอกแรก เมื่อกลางเดือนเมษายน 2563 ซึ่งมีการรณรงค์ให้ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ว่าแคมเปญแบบนี้ ‘ค่อนข้างดูถูกคนมาก’ เพราะยังมีผู้ที่ต้องออกไปทำงานและคนจำนวนหนึ่งไม่สามารถอยู่บ้านได้ เมื่อถามคนในชุมชนว่าถ้าต้องใช้บ้านเป็นที่กักตัวเขาสามารถแยกตัวได้หรือไม่ เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า ไม่ได้

“ตอนนั้นผมตั้งคำถามนี้เนื่องจากเห็นดาราคนหนึ่งที่บอกว่าไปพื้นที่เสี่ยงมาแล้วก็อยู่บ้านอีกห้องหนึ่ง แล้วโบกมือกับลูกที่อยู่อีกบ้านหนึ่งเป็นบ้านเล็กที่อยู่ในบ้านหลังใหญ่ คนในชุมชนไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เขามีข้อจำกัด เรื่องที่สองแคมเปญเรื่องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ค่อนข้างชัดเจนว่าคนที่เป็นผู้มีรายได้น้อย คนที่ทำงานในภาคที่ไม่เป็นทางการ เขาไม่ใช่คนที่เวิร์กฟรอมโฮมได้ อ่านหนังสือ ทำงานออฟฟิศ มีอินเตอร์เน็ต ทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก คำพูดแบบนี้มันใช้ไม่ได้กับคนในชุมชน อาชีพของคนในชุมชนแออัดที่ไปสัมภาษณ์มาเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เช่น คนที่ขายของ เข็นรถขายของ อาชีพในภาคบริการแบบเป็น แม่บ้าน รปภ. คุณไม่สามารถเป็น รปภ.ที่บ้านตัวเองได้ คุณไม่สามารถเป็นแม่บ้านที่บ้านตัวเองได้”

อาจารย์ธรรมศาสตร์ย้ำว่า วิกฤตโควิดบอกเราว่า ไม่สามารถฝ่าข้ามวิกฤตได้ตามลำพัง ไม่สามารถบอกได้ว่าฉันขังตัวอยู่ในบ้านแล้วฉันจะเอาตัวรอดได้ แต่ต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้คนทั้งสังคมอยู่รอดได้ โดยควรให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยมากกว่านี้

‘ไม่มีเขา เราไม่มีกิน’ Food workers

‘คนหน้าด่าน’ แรงงานที่ถูกลืม

จากนั้น ดร.ศยามล เจริญรัตน์ ผู้ชำนาญการหน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอภาพของกลุ่มคนที่ทำงานในระบบอาหาร ซึ่งมีความสำคัญมากแต่ไม่ได้รับความสนใจจากคนในสังคม กระทั่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บทบาทของคนเหล่านี้จึงถูกขับเน้นให้เด่นชัด

“Food workers เป็นคนกลุ่มใหญ่มากโดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีจำนวนคนในภาคเกษตรกรมากกว่า 20 ล้านคน ในกลุ่มของแรงงานนอกระบบ ระบบอาหารประกอบไปด้วย 5 ส่วน ส่วนแรกคือผู้ผลิต ผลิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่เกษตรกร ชาวประมง ปศุสัตว์ คนที่ผลิตอาหารให้เราทั้งหมด กลุ่มถัดมาคือกลุ่มแปรรูป ตั้งแต่โรงงานอาหาร โรงสีข้าว หรืออะไรก็ตามที่เอาออกจากฟาร์มหรือจากไร่นา เข้ามาเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีกระบวนการมากขึ้น และนำไปสู่การกระจาย ก็คือในตลาด การขนส่ง จากที่แปรรูปแล้วมาสู่มือผู้บริโภค และสุดท้ายที่อาจจะไม่ค่อยถูกมองเห็นคือ กลุ่มการจัดการขยะ เป็นงานอันตราย เพราะช่วงนี้ขยะโควิดหรือขยะติดเชื้อก็จะผสมกันหมดในถังขยะ”

ดร.ศยามล อธิบายให้เห็นว่า ผู้ที่ทำงานในระบบอาหารนั้นถือเป็นแรงงานที่มีความจำเป็นมากไม่ใช่เพียงแค่ช่วงสถานการณ์โควิด แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่ได้รับความสนใจเท่ากับบุคลากรสาธารณสุข ถ้าไม่มีกลุ่มคนที่ทำงานในระบบอาหารเราจะไม่สามารถอยู่รอดได้ นอกจากนี้ ยังบอกอีกว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรงงานที่เปราะบางเนื่องจากไม่ถูกมองเห็นจากสังคมและเป็นผู้มีรายได้น้อย

“ต้องยอมรับว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาหรือไม่ใช่โควิดก็ตาม คนทำงานในระบบอาหารทั้งหมด คือแรงงานที่มีความจำเป็น ถ้าไม่มีเขาเราจะไม่มีกิน แต่ได้รับความสนใจและความคุ้มครองน้อยกว่าบุคลากรสาธารณสุข ในขณะที่ทำงานหน้าด่านเหมือนกัน ช่วงปิดเมืองตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้เรามีข้าวกินเพราะใคร

คนกลุ่มนี้ถูกมองไม่เห็น พอเราเข้าไปถามว่าทำไมยังมาขายอยู่ คำตอบที่ได้รับจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารพร้อมทานคือ ถ้าป้าไม่ขายแล้วพวกหนูจะกินอะไรล่ะลูก แปลว่าเขาออกมาทำเพราะเขาก็ห่วงเรา บางคนก็บอกว่าถ้าไม่มาขายจะเอาอะไรกิน ก็กลัวโรคแต่กลัวอดมากกว่า คือถ้าอดมันไม่มีกินวันนี้แต่ถ้าเป็นโรคมันยังพอรักษาได้หรือช่องทางได้ นี่คือคำตอบเมื่อปีที่แล้ว

ปกติกลุ่มเปราะบางในสังคมไทยจะถูกมองไม่เห็นหลายกลุ่มมาก แต่กลุ่มนี้เราพบว่าเขาเป็นกลุ่มทำงานที่จำเป็นและสำคัญ แต่ที่ผ่านมาเขาไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เอาแค่ร้านอาหารรอบตัวมีจำนวนเท่าไหร่ที่ยังคงอยู่ พบว่าหลายร้านปิดทั้งที่ไม่ได้อยากปิด มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลลูกน้อง แต่สุดท้ายก็ต้องปิดเพราะไม่ไหวจริงๆ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจากภาครัฐ” ดร.ศยามล กล่าว

ความไม่มั่นคง ‘ทุกข์ร่วม’

หญิง-ชายในความเหลื่อมล้ำ

นอกจากกลุ่มอาชีพเหล่านี้จะพบความเปราะบางในแง่ของรายได้แล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันระหว่างชาย-หญิง แต่อย่างไรก็ตามการทำงานในระบบอาหารชาย-หญิงก็ยังมีทุกข์ร่วมนั่นก็คือความไม่มั่นคงในอาชีพ ไม่มีตัวเลือกมากนักในการทำงาน

“เมื่อปีที่แล้วทำงานวิจัยเรื่องคนทำงานในระบบอาหารกับความมั่นคงทางอาหารในภาวะโควิด พบว่าประชากรเกือบ 400 คน จากการสำรวจทั้งออนไลน์และออนไซต์ มีการศึกษาไม่สูงมาก กลุ่มรายได้ของเขาคือ 15,000 บาท ถ้าคุณเป็นคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้หรือไม่

สิ่งที่เจออย่างที่ 2 คือความเหลื่อมล้ำทางเพศ คนทำงานในระบบอาหารส่วนมากเป็นผู้หญิง เมื่ออายุมากขึ้นผู้ชายจะออกจากภาคของระบบอาหาร ไปอยู่ภาคอื่น ในขณะที่ผู้หญิงไม่สามารถย้ายภาคได้ เราจะเห็นภาพเชฟหรือหัวหน้าพ่อครัวใหญ่ส่วนมากเป็นผู้ชาย แต่คนทำงานที่อยู่ในระดับล่างเป็นผู้หญิง สิ่งที่เราเจอจากงานวิจัยคือการเข้าถึงโอกาสในการเลือกงานของผู้หญิงในกลุ่มนี้ทำได้ยากกว่าผู้ชาย” ดร.ศยามล เล่า

แม้มีความเหลื่อมล้ำอย่างเด่นชัด แต่สิ่งที่ทั้งชายและหญิงมีความทุกข์ร่วมกันคือ ความไม่มั่นคงในงานและรายได้ ตั้งแต่เรื่องประกันสังคม เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน รวมถึงเรื่องหนี้สิ้นทั้งในและนอกระบบซึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงโควิด

“พวกเขาขาดเสรีภาพทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากเพราะไม่สามารถจะไปไหนพ้นด้วยภาวะที่บอกว่าเลือกไม่ได้ การศึกษาต่ำ ไม่มีเวลาออกไปหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อขยับขยายสถานะ บางคนก็อายุมากแล้ว เพราะฉะนั้นภาวะวิกฤตแบบนี้คนที่ไม่มีงานทำคือตกงาน คนที่มีงานทำก็ยังกลัวว่าจะถูกไล่ออกจากงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น”

ปากท้อง-สิทธิ-เศรษฐกิจ

เมื่อโควิดไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพ

ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจจาก สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเล่าถึงการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จังหวัดเชียงราย ว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคม คนทำงานทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติ ทำงาน 3 ระยะ ตั้งแต่เกิดโควิดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน ระยะแรกเน้นการให้ความช่วยเหลือ ให้ถุงยังชีพ และเฝ้าระวังตัวเอง ระยะต่อมาเน้นเรื่องการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม เข้าถึงสิทธิแรงงานและสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและชุมชนคนไทยที่อยู่ในเมือง ส่วนตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมาคือระยะรับมือกับการระบาดในเมือง

“เมื่อมีโควิดมันเกิดความเสี่ยงอยู่ 3 อย่างในชีวิตแรงงานข้ามชาติที่เชียงราย ด้านหนึ่งเรื่องงาน เศรษฐกิจ ถูกลดเวลาทำงาน ถูกเลิกจ้าง หรือให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ต่อเนื่องเป็นเรื่องของอาหาร เรื่องค่าที่อยู่อาศัย เงินส่งกลับบ้าน เรื่องที่สองเรื่องสุขภาพ ระยะแรกเห็นชัดเจนว่าเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยขาดตลาดแม้แต่คนไทยก็ยังเข้าไม่ถึง แรงงานก็เข้าไม่ถึง หน่วยงานรัฐไม่ได้มีงบประมาณที่จะมาจ่ายสิ่งของเหล่านี้ให้กับแรงงานข้ามชาติ เรื่องที่สามคือเรื่องการข้ามแดนเพราะพรมแดนถูกปิด เมื่อเกิดความเสี่ยงเหล่านี้จึงเกิดความไม่มั่นคงในชีวิตของแรงงาน”

สืบสกุล ยังกล่าวอีกว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของสุขภาพ แต่ยังเป็นเรื่องของปากท้องประชาชน และสิทธิของแรงงานอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้น

“โควิดไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ มันเป็นเรื่องทางสังคม เรื่องปากท้อง เรื่องความเป็นธรรม เรื่องสิทธิแรงงาน อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชนไทยในการอยู่ร่วมกัน สิ่งที่เราทำคือการเน้นเรื่องสิทธิแรงงานมากขึ้น เรื่องประกันสังคม เรื่องการขึ้นทะเบียนคนงานซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่าย จากปกติการขึ้นทะเบียนต้องไปหานายหน้า ต้องหาตัวกลางซึ่งเสียค่าใช้จ่ายมาก นอกจากการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมแล้วการทำงานกับชุมชนไทยมีความสำคัญมาก เราเอาผู้นำแรงงานข้ามชาติกับ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ไทยที่อยู่ในเขตเทศบาลมาอบรมด้วยกัน ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติกับ อสม.มากขึ้น เมื่อเกิดการระบาดมันเกิดการส่งต่อข้อมูลกัน ทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ง่ายขึ้น”

การทำงานระยะรับมือกับการระบาดในเมือง มีการลงไปช่วยอธิบายถึงสิทธิของคนงานว่าเมื่อถูกกักตัว 14 วัน เขามีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยจากการว่างงานจากประกันสังคม พร้อมกับเรื่องอาหารการกิน และการจัดตั้งระบบการสื่อสารระหว่างแรงงานข้ามชาติกับ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ออกแบบการสื่อสารที่เป็นภาษาเมียนมากับภาษาไทยให้คนงานกับ รพ.สต.ได้คุยกัน ทำให้ง่ายต่อการสื่อสารและการติดตามอาการของผู้ป่วย” สืบสกุลเล่า

แรงงานข้ามชาติ ขาดไม่ได้ แต่ไม่มีใครอยาก ‘ดูแล’

สืบสกุลยังตั้งข้อสังเกตว่า ทุกคนรู้ว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนช่วยในการสร้างเศรษฐกิจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ขาดไม่ได้แต่ไม่มีใครอยากดูแล โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเมือง

“ประเด็นแรกชัดเจนมากว่าเพราะแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่ได้เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งของพวกเขา เขาจึงไม่ดูแล เช่นเดียวกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่รอบนอกก็ไม่ได้ดูแล

ประเด็นที่ 2 เรื่องการเมืองระหว่างหน่วยงาน อย่างในเขตเมืองเชียงรายมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็มีขอบเขตพื้นที่ทำงานของตัวเองอยู่ ซึ่งทั้งหมดก็ครอบคลุมกับเทศบาล และมีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอมาคลุมอีกทีทั้ง 3 หน่วยงานไม่ได้ประสานการทำงานให้เป็นไปในทางเดียวกัน ต่างคนต่างทำ ไม่มีการมาทำงานร่วมกัน ทำให้ศูนย์ต้องเข้าไปทำงานแบกรับช่องวางในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีการเมืองระหว่างหน่วยงานอยู่

ประเด็นที่ 3 สังคมไทยรู้ว่ามีแรงงานข้ามชาติแต่ไม่อยากรู้จัก ไปเดาว่าแรงงานข้ามชาติไม่มีบัตร หรือเป็นคนเถื่อน

ประเด็นสุดท้ายดูเหมือนว่าแรงงานต่างๆ จะเข้ามาช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอยู่บ้าง แต่เป็นการไปช่วยเพราะกลัวว่าเขาจะเอาเชื้อมาติด ไม่ใช่เพราะปรารถนาดีต่อเขา ไม่ได้อยากช่วยเพราะมองว่าคนเท่ากัน”

นักวิชาการทิ้งท้ายพร้อมคำถามเดิมที่ว่า ทุกร้าน ทุกบ้าน มีแรงงานข้ามชาติ แต่ในสถานการณ์โควิดบอกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว เราใช้แรงงานเขา แต่ไม่ดูแลเขาใช่หรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image