ถึงเวลา #สมรสเท่าเทียม ‘เพราะทุกคนมีสิทธิรัก’

ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยในวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำหรับแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม วันเดียวกับการจัดกิจกรรมของ ‘ภาคีสีรุ้ง’ และเครือข่ายถึง 43 องค์กร

ประเด็นที่ว่านี้ถูกพูดถึงมาพักใหญ่ แต่เข้าใจว่าเหตุที่กลายเป็นปมร้อนจนต้องจัดม็อบยืนยันแนวคิดสมรสเท่าเทียม มาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ‘ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’

การชุมนุมอย่างสันติจึงเกิดขึ้นที่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุง ด้วยความมุ่งหมายรณรงค์รวบรวม 1 ล้านรายชื่อหนุนสมรสเท่าเทียม แก้กฎหมายมาตรา 1448 ปูธงสีรุ้งบนถนนอย่างงดงาม แขวนธง
มีข้อความยืนยันความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์

ไทยแลนด์‘แดนสวรรค์แอลจีบีที’

เรื่องจริงหรือจ้อจี้?

พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า แกนนำ ‘ราษฎรมูเตลู’ ผู้เคลื่อนไหวหลากหลายประเด็นการเมืองจนต้องลิ้มรสกับการถูกพรากอิสรภาพ เปิดใจพูดเรื่องที่เจ้าตัวบอกว่า ‘รอเวทีนี้มานานมาก’

Advertisement

“ม็อบนี้เป็นม็อบที่ฟ้ารอคอยมานานแสนนาน ซึ่งได้บอกกับทนายว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ผมไม่ได้เข้าคุก เพราะผมจะมาแสดงศักยภาพในความเป็นการสมรสเท่าเทียมในวันนี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญขนาดไหน ความรักมันไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่ใครสักคนไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะเพศกำเนิด ความรักถูกสร้างมาเพื่อคนทุกคน และใครก็ได้ที่เป็นมนุษย์ได้มีคำว่ารัก ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม เพศสภาพ หรือเพศกำเนิดแบบใด คำว่ารักเป็นคำที่ถูกสร้างมาให้คนทุกคน

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ตอนเด็กๆ ถูกเรียกว่ากะเทย ฟ้ามั่นใจว่าหลายๆ คนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบใดก็ตาม ตอนเด็กๆ คุณต้องถูกกดดันจากโรงเรียนและครอบครัว รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วการเป็นความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยที่อ้างว่าเป็นสวรรค์ของ LGBTQ นั้นเป็นเรื่องสร้างภาพ มันไม่เคยเป็นเรื่องจริงเลย” ฟ้ายืนยัน

นาดา ไชยจิตต์ นักเคลื่อนไหวผู้ร่วมขับเคลื่อนด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ในฐานะตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย

ด้าน นาดา ไชยจิตต์ นักเคลื่อนไหวผู้ร่วมขับเคลื่อนด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ในฐานะตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย ให้คำอธิบายที่ชัดเจนขึ้นว่าวาทกรรมความเป็นสวรรค์ของกลุ่มเพศหลากหลายนั้น ‘ปลอม หรือไม่ปลอม’ อย่างไร โดยหยิบยกประเด็น ‘สิทธิทางกฎหมาย’ ที่คนกลุ่มนี้ยัง ‘เข้าไม่ถึง’

“ท่านทราบหรือไม่ว่าอะไรที่ทำให้คนเราเท่ากัน สิ่งนั้นคือการบังคับใช้กฎหมาย ที่บอกกันว่าประเทศไทยคือสวรรค์ของความหลากหลายทางเพศ ปลอม ไม่ปลอม? หมดเวลาสำหรับการเดินเล่นรอบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ไม่ว่าวันนี้ 5 ล้านคน ที่เปิดเผยตัวตนจะเข้าถึงโอกาสความเสมอภาคแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่เราเหมือนกันคือ การเป็นพลเมืองชั้น 2 เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายได้ แต่รัฐกลับบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีสมรสเท่าเทียม จะบอกให้ว่าทำไมมันถึงไม่พอ เพราะการสมรสมันไม่ใช่แค่รสนิยม แต่มันคือความเท่าเทียม” นาดากล่าว

การเมืองเรื่องเพศ

‘นโยบาย-กฎหมาย-สภา’

เจาะลึกลงไปในมุมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเด็นความเท่าเทียมทางเพศต้องถูกขับเคลื่อนไม่เพียงในโลกออนไลน์ วงสนทนาและท้องถนน แต่ภาคการเมืองคือส่วนสำคัญยิ่ง

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีย้ำว่า การสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าเรามีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่รัฐกระทำทุกวันนี้เหมือนเป็นการผลัก LGBTQ+ เป็นเพียง ‘กลุ่มคนชายขอบ’ ประเทศไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศเพียงแค่ครึ่ง
เดียวเท่านั้น จากที่มีผู้กล่าวว่า แค่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่สามารถตอบโจทย์ให้แก่คู่รักได้

“เราต้องแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเป็นคู่ชีวิตกันได้ เราต้องการแก้มาตรา 1448 แก้จากใช้คำว่า ชาย-หญิง เป็น บุคคล-บุคคล เพียงเท่านี้มันยากตรงไหน การแก้ไขที่ตรงจุดที่สุดคือการแก้มาตรา 1448 เพราะฉะนั้นเราต้องรวมพลังกันเพื่อผลักดันเพดานขึ้นไป เพื่อให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ”

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ในขณะที่ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขึ้นเวทีปราศรัยตอนหนึ่งว่า เราจำเป็นต้องยอมรับว่าคนบนโลกไม่สามารถเกิดมาเท่าเทียมได้ทุกคน ดังนั้น ในฐานะ ส.ส.จะจัดระเบียบสังคมอย่างไรให้คนมีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

“พรรคอนาคตใหม่ได้เห็นความสำคัญของคนเท่ากัน และที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือความเท่าเทียมกันของ LGBT โดยพรรคอนาคตใหม่ได้สร้างประวัติศาสตร์ทำให้ ส.ส. LGBT เข้าไปอยู่ในสภาถึง 4 คน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยผลักดันให้มีกรรมาธิการเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าครั้งนั้นเราจะไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากคะแนนที่สนับสนุนเราไม่มากพอ แต่เราก็รู้สึกดีใจที่ได้สามารถปักธงทางความคิด นำวาระของเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าไปในสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์” ณธีภัสร์กล่าว

ด้าน อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา บอกว่าอยากรับฟังความต้องการของทุกคนเพื่อนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องเกี่ยวกับนโยบายความหลากหลายทางเพศของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

“เมื่อสมัยเป็นเด็กการที่จะแสดงออกว่าไม่ตรงกับเพศกำเนิด พ่อแม่จะไม่ยอมรับ เพื่อนบางคนเล่าว่าถึงขนาดตัดพ่อตัดลูกก็ยังมี อย่างไรก็ตาม ปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มีการออก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ผมก็มีส่วนเล็กๆ ในการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นด้วยกับนโยบายเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือสมรสเท่าเทียม เพราะเราสรุปกันว่ามนุษย์เกิดมามีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่แบ่งแยกเพศ” รองเลขาฯ ชาติไทยพัฒนายืนยัน

ปิตาธิปไตยจงฉิบหาย!

ความเท่าเทียมหลากหลายจงเจริญ

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ วาดดาว จากกลุ่ม ‘เฟมินิสต์ปลดแอก’

ปิดท้ายที่หนึ่งในแม่งานคนสำคัญอย่าง ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ วาดดาว จากกลุ่ม ‘เฟมินิสต์ปลดแอก’ ซึ่งขึ้นเวทีในฐานะตัวแทนจากพรรคสามัญชน สาปแช่ง ‘ปิตาธิปไตย’ หรือแนวคิดชายเป็นใหญ่

“ที่นั่งๆ กันอยู่ตรงนี้ได้แต่งงานกันหรือยัง ได้ประชาธิปไตยกันหรือยัง ถ้าพรรคการเมืองที่มีอยู่มันห่วย ก็หันมาเลือกพรรคใหม่ๆ อย่างพรรคสามัญชนเข้ามาทำงานไหม แต่ 3 ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ทำงาน ทำแต่ม็อบ เราต้องการ 1 ล้านรายชื่อเพื่อยกขบวนเข้าสภาจากพี่น้องคนธรรมดาสามัญ เพื่อที่จะบอกว่าต้องฟังประชาชน หยุดเลือกปฏิบัติกับประชาชน” วาดดาวกล่าว พร้อมย้ำว่า

“เราต้องลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ ปิตาธิปไตยจงฉิบหาย ความเท่าเทียมหลากหลายจงเจริญ”

สรุปเบื้องต้น ข้อเสนอ #สมรสเท่าเทียม จาก‘ภาคประชาชน’

ภาคประชาชนเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 โดยเปลี่ยนถ้อยคำให้เป็นกลางทางเพศ และแก้ไขจากการสมรสระหว่างชายและหญิงมาเป็นการสมรสของบุคคลกับบุคคล เปลี่ยนจากบิดามารดามาเป็นคำว่าบุพการี แล้วสามีภรรยามาเป็นคำว่าคู่สมรส เพื่อให้คู่รัก LGBTIQN+ สามารถเข้าถึงกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ

รายละเอียดสำคัญ ดังนี้

1.สมรสเท่าเทียม ไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศ ปรับอายุขั้นต่ำจดทะเบียนสมรสจาก 17 เป็น 18 ปี

เสนอแก้ไขมาตรา 1448 ที่กำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่าง ‘ชายและหญิง’ เป็นการสมรสต่อ ‘บุคคลสองคน’ แก้เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสจาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วย ‘สิทธิเด็ก’ ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสของผู้ที่อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ก็ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (บิดา-มารดา)

 

2.เปลี่ยนคำว่า ‘คู่สมรส’ แทน ‘สามีภริยา’ โดยคู่สมรสต้องดูแลกัน จัดการสินสมรสร่วมกัน รับมรดกได้

ปรับถ้อยคำให้มีความเป็นกลางทางเพศ โดยใช้คำว่า ‘คู่สมรส’ แทนคำว่า ‘สามีภริยา’ โดยกำหนดให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่ว่าเพศใดต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน คู่สมรสไม่ว่าเพศใดย่อมมีสิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ก็ตาม

3.คู่สมรสรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แก้ไขคำว่า ‘บิดา-มารดา’ เป็น ‘บุพการี’ เพื่อความเป็นกลางทางเพศ

บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ เมื่อคู่สมรสรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ก็จะมีความสัมพันธ์ต่อบุตรบุญธรรมในฐานะบุพการี ต้องดูแลอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม ด้านบุตรบุญธรรมจะมีสถานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น สามารถใช้นามสกุลของคู่สมรสที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมได้

4.คู่สมรสมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เท่าที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิ

เนื่องจากระบบกฎหมายในปัจจุบันยังยอมรับการสมรสแค่เฉพาะเพศกำเนิดชาย-หญิง ส่งผลต่อการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เชื่อมโยงกับสถานะความเป็นคู่สมรส ทำให้มีแค่คู่สมรสชาย-หญิงเท่านั้นที่มีสิทธิเหล่านั้น เช่น การรับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2553

ล่าสุด (ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564) มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 1 แสนราย

อ่านร่างเนื้อหาฉบับเต็มและร่วมลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ https://www.support1448.org/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image