(วัน)รัฐธรรมนูญ 2475-2564 ใน 89 ปีประชาธิปไตยไทย

ชาวพระนครออกมาฉลองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรบนท้องถนนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 (ภาพจาก มูลนิธิ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง)

10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญในปฏิทินไทย

เป็นที่จดจำในฐานะวันหยุดราชการเพื่อรำลึกเหตุการณ์ครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว

พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย และกฎหมายสูงสุดของประเทศ

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ราชอาณาจักรไทย มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้มาแล้ว 20 ฉบับ

Advertisement

ทั้งก้าวหน้า หยุดนิ่ง และเดินถอยหลัง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันมีพานแว่นฟ้าประดิษฐานประติมากรรมสมุดไทยภาพแทนรัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นหมุดหมายในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มต่างๆ ในการชุมนุมทางการเมืองตลอดมา

ครั้นมองสถานการณ์การเมืองไทยในวันนี้ กระแสผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับล่าสุด พ.ศ.2560 เข้มข้น ร้อนแรง ตั้งแต่บนท้องถนน จนถึงรัฐสภา

Advertisement

วันรัฐธรรมนูญปีนี้ คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) นัดยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติ (UN) เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกฎหมาย ม.112

89 ปีของประชาธิปไตยไทยที่กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 90 ยังต้องติดตามอย่างตาไม่กะพริบ

หยุดยาว ฉลองยิ่งใหญ่

วันรัฐธรรมนูญไทย ยุคคณะราษฎร

ยัอนไปในวันที่ 10 ธันวาคม เมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว ในช่วงแรกๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หนังสือพิมพ์ในยุคนั้น อาทิ อิสสระ, ประชาชาติ, Bangkok Times ฯลฯ ต่างรายงานข่าวให้เห็นว่าบรรยากาศการจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก ยิ่งใหญ่ และสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุไว้ในบทความ

‘งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร’ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่าบรรยากาศงานฉลองวันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476 ที่กินเวลาตั้งแต่วันที่ 8-12 ธันวาคม โดยในกรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้า-สนามหลวง และจากท่าราชวรดิฐ-แยกสะพานมอญ, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาทรงประกอบพิธีสมโภชรัฐธรรมนูญ และทอดพระเนตรการออกร้าน, ทหารเรือนำเรือหลวงรัตนโกสินทร์มาจัดแสดง, ประชาชนสนใจมาร่วมงานจำนวนมาก เฉพาะที่พระราชอุทยานสราญรมย์มีผู้สนใจเข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คนต่อวัน

พ.ศ.2477 งานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ขึ้นอีกด้วยการแห่รัฐธรรมนูญไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 10 ธันวาคม และนำมาประดิษฐานบนเรือสุพรรณหงส์ นอกจากนี้ยังมีการประกวดนางงามที่เรียกว่า “นางสาวสยาม” ขึ้นเป็นครั้งแรก

พ.ศ.2478 คณะรัฐมนตรีออกคำสั่งเพิ่มวันหยุดราชการในวันรัฐธรรมนูญจากเดิมที่ให้หยุด 1 วัน คือวันที่ 10 ธันวาคม เป็น 3 วัน คือวันที่ 9-11 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญเพิ่มวันงานราชการ และส่งหนังสือสั่งการไปยังจังหวัดต่างๆ ที่ขอเลื่อนจัดงานวันอื่นแทน เพราะความไม่สะดวกต่างๆ ว่า

‘งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ระลึกอันสำคัญของชาติ ทุกจังหวัดจะต้องทำใน [วันที่ 10 ธันวาคม] โดยพร้อมเพรียงกัน’

พ.ศ.2481 คณะรัฐมนตรีสั่งให้ข้าราชการแต่งชุดปกติขาวพร้อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในงานพิธีฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ หลังจากนั้นอีก 1-2 ปี ทางการก็เริ่มควบคุมการแต่งกายของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ว่า ‘ต้องแต่งกายสุภาพตามประเพณีนิยม’

พ.ศ.2482 งานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่จัดงานออกครอบคลุมสวนอัมพร สนามเสือป่า และสวนลุมพินี นอกจากนี้ยังเพิ่มเวลาจัดงานจาก 5 วัน เป็น 1 สัปดาห์ (8-14 ธันวาคม)

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2477 การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเป็น 2 งานด้วยกัน คือ 10 ธันวาคม ฉลองการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และวันที่ 27 มิถุนายน รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตที่สวนมิสกวันในโอกาส ‘วันคล้ายวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก’ รวมทั้งประกาศให้เป็นวันหยุดราชการเช่นกัน

เอกสารพร้อมรายชื่อคนไทยกว่าแสนถูกขนขึ้นซาเล้งจากเตาปูนมุ่งหน้ารัฐสภา เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก่อนถูกตีตกเมื่อปลายปี 2563

ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ

หวังประชาธิปไตยกินได้ ไม่ถูกกดหัว

จากบรรยากาศราว 1 ทศวรรษแรกหลังการเปลี่ยนเปลงการปกครอง สลับฉากมายังการเมืองไทยร่วมสมัยที่กระแสการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 60 มรดกรัฐประหาร คสช. มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

15 ธันวาคม 2562 ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) อ่านแถลงการณ์ ‘ประชาชนขอเขียนรัฐธรรมนูญ’ โดยมีตัวแทนภาควิชาการ นักศึกษา ประชาสังคม และพรรคการเมือง เข้าร่วมจำนวนมาก พร้อมทั้งมีการถือป้ายแสดงข้อความเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ร้องว่า

“สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน” พร้อมชูกำปั้นเพื่อแสดงพลังเรียกประชาธิปไตยและเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน หรือ พ.ศ.2560 ไม่ได้มาจากความเห็นฟ้องต้องการของประชาชน แต่ก่อเกิดขึ้นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ทำการรัฐประหารและโค่นอำนาจไปจากประชาชน และฉีกรัฐธรรมนูญเดิมและเขียนขึ้นมาใหม่โดยไม่มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่การทำประชามติเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลฝ่ายเดียวและมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับฝ่ายที่เสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง

หอบแสนชื่อขึ้นซาเล้ง ยื่นสภา

‘ไอลอว์’ ถูกตีตก แต่ไม่ท้อ

ธงสีรุ้งของผู้มีความหลากหลายทางเพศห่มอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สิงหาคม 2564 เรียกร้อง ‘สมรสเท่าเทียม’ แก้มาตรา 1448

22 กันยายน 2563 ท่ามกลางม็อบราษฎรที่กำลังเบ่งบาน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ หอบเอกสารของประชาชน 100,732 รายชื่อ ขึ้นซาเล้ง เคลื่อนขบวนจากสถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูนไปยังรัฐสภา เกียกกาย เพื่อยืนยันเจตจำนงในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีการนำรถขยายเสียงปราศรัยกึกก้อง

17 พฤศจิกายน 2563 จอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.ไอลอว์ เสนอร่างฯ กลางสภา หวังรื้อถอนอำนาจ คสช. ลดความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างโอกาสกลับสู่ประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

จีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมาย อธิบายเสริมเติมว่า การเรียกร้องและนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นการกระทำในนามประชาชน รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมแสนนี้ไม่ใช่เพียงแผ่นกระดาษ 202,900 แผ่น หากหมายความถึงเจตจำนงและความต้องการของประชาชน 101,450 คน ที่ผู้มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ และมีความหวังว่าสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตเองได้ภายใต้กติกาประชาธิปไตยที่มีรูแสงแห่งความหวังเล็กๆ ว่าสมาชิกรัฐสภาจะไม่ด่วนทำแท้ง หรือขโมยความหวังไปจากประชาชน

“สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดโบกอยู่ในเวลานี้ ไม่มีอำนาจใดที่จะหยุดยั้ง หากสมาชิกรัฐสภา คิดว่าจะตัดต้นลมด้วยการปิดโอกาส ปิดเสียงประชาชน เกรงว่าการกระทำดังกล่าวกำลังแปรเปลี่ยนให้สายลมแห่งความหวังดีกลายเป็นพายุใหญ่ในอนาคต”

18 พฤศจิกายน 2563 สภาตีตก โดยเสียงจาก ส.ว.โหวตไม่ถึงสิบ

19 พฤศจิกายน 2563 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ทวีตข้อความ มีเนื้อหาสำคัญยืนยันว่า แม้ถูกตีตกแต่ก็ภูมิใจ ไม่เศร้า มาไกลขนาดนี้เพราะทุกคนช่วยดัน ทางข้างหน้าไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้ช่วยกันลากเข็นต่อไป

รีโซลูชั่น ดันอีกร่างฯ ไม่สำเร็จ

ยันต้องสร้างระบบการเมืองที่ ‘ควร’ เป็น

พริษฐ์ วัชรสินธุ และปิยบุตร แสงกนกกุล แถลงความมุ่งหวังว่าสภาจะโหวตผ่านร่างฯ ฉบับประชาชนเพื่อสร้างระบบการเมืองที่เป็นธรรม เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564 ก่อนถูกตีตกในวันรุ่งขึ้น

หลังกรณีไอลอว์กลุ่ม ‘รีโซลูชั่น’ นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาอีกครั้ง พร้อมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน

ทว่า 17 พฤศจิกายน 2564 รัฐสภามีมติ 473 ต่อ 206 เสียง ‘ไม่เห็นชอบหลักการ’

ไอติมขอบคุณและขอโทษกับประชาชนที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับชี้แจงเหตุผลของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า เป็นความต้องการสร้างระบบการเมืองที่ “ค.ว.ร.” จะเป็น

ค. คืนศักดิ์ศรีแก่สถาบันทางการเมือง ให้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชน เพราะการรักษาศรัทธาในสถาบันทางการเมืองใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการหยุดอยู่กับที่ แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสถาบันนั้นก้าวเดินไปพร้อมกับเข็มนาฬิกาที่หมุนไปตามความต้องการของประชาชน

ว. ไว้ใจประชาชน ให้มีสิทธิเลือกผู้นำของตนเอง โดยไม่ต้องมี ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกด้วย ไว้วางใจให้เขาเลือกนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองมานำเสนอได้อย่างเสรี
ร. ระบบที่เป็นกลาง ที่ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นใคร มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศ ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน มีโอกาสเท่าเทียมกันในการแข่งขันเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในประเทศนี้ อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายทุกฉบับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญยันพระราชบัญญัติ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน

“ผมยังยืนยันว่าทุกข้อเสนอในร่าง ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง และไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น …

การแก้รัฐธรรมนูญยังต้องเดินหน้าต่อไป และผมเชื่อว่าตราบใดที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีปัญหาทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ยังไม่ได้รับการแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจและกติกาที่ไม่เป็นธรรม ประเทศไทยก็จะไม่สามารถออกจากวิกฤตทางการเมืองในรอบนี้ได้” ไอติมกล่าวในวันนั้น

(วัน)รัฐธรรมนูญไทยปีนี้ คืออีกหนึ่งห้วงเวลาที่ทีความหมาย ในวันที่คนรุ่นใหม่ฉายสปอตไลต์ไปยังทุกหมวด ทุกตัวอักษรของกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image