ฟื้นฟูการอ่าน ‘สร้างคุณค่าชีวิต’ คาราบาวกรุ๊ป-มติชน ส่งความรู้สู่ 100 สถานศึกษา

ฟื้นฟูการอ่าน ‘สร้างคุณค่าชีวิต’ คาราบาวกรุ๊ป-มติชน ส่งความรู้สู่ 100 สถานศึกษา

“เพราะเราห่างกัน (Social Distancing) สิ่งที่จะสร้างคุณค่าชีวิตให้กับคนในสังคมได้ คือ ‘หนังสือ’ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ เสริมคุณค่าและกระจายความรู้”

กมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยความเห็นระหว่างพิธีมอบหนังสือ ในโครงการ “ส่งมอบความรู้สู่สังคมไทย” ณ โถงอาคารบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา

นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยโครงการดีๆ ที่ ‘มติชน’ จับมือ ‘คาราบาวกรุ๊ป’ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ส่งต่อหนังสือที่มีคุณค่าให้กับสถาบันการศึกษาที่ขาดแคลน หวังให้เกิดการค้นคว้า เสริมสร้างประสบการณ์การอ่าน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกทางหนึ่ง

จากปีแรก 100 โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร สู่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 100 แห่งใน 2565 พ็อคเก็ตบุ๊กหมวดนานาสาระทั้ง 51 ปก มูลค่าเกือบ 2,000,000 บาท ผ่านการคัดสรรทั้ง หนังสือขายดีติดอันดับ, หนังสือที่ได้รับรางวัล ไปจนถึงเนื้อหาที่สอดรับกับยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีและโรคอุบัติใหม่ ก่อนถูกแพคบรรจุกล่องหนังสือ “สานต่ออุดมการณ์ สร้างคุณค่าชีวิต” ส่งถึงห้องสมุด 100 โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อย อาทิ ร.ร.บางปะกงบวรวิทยายน, ร.ร.สามัคคีราษฎรบำรุง จ.ฉะเชิงเทรา, ร.ร.ป่าซาง จ.ลำพูน, ร.ร.บ้านโนนเขืองจงเจริญ จ.อุบลราชธานี, ร.ร.บ้านรูสะมิแล จ.ปัตตานี, ร.ร.บ้านศรีท่าน้ำ จ.ยะลา, ร.ร.บ้านแม่สลิด จ.ตาก, ร.ร.หนองวัวซอพิทยาคม จ.อุดรธานี, ร.ร.บ้านวังบูรพา จ.สระแก้ว เป็นต้น

Advertisement
“ส่งมอบความรู้ สู่สังคมไทย” นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในพิธีมอบหนังสือแก่โรงเรียน 100 แห่งทั่วประเทศ

เสริมปัญญา สานต่ออุดมการณ์

ถามความรู้สึกตัวแทนบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อคนสู้ชีวิต ถึงการร่วมโครงการ “ส่งมอบความรู้ฯ” เป็นปีที่ 2

กมลดิษฐ เผยว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คาราบาวกรุ๊ป มุ่งสานต่ออุดมการณ์เพื่อ “สร้างคุณค่าชีวิต” ในทุกมิติ

“คำว่าสร้างคุณค่าชีวิต ไปได้ทุกเรื่องที่ทำให้คนดีขึ้น พอมีโครงการนี้มาเราเห็นว่าเป็นอะไรที่ตรงกับปณิธานขององค์กร คือ ‘สังคมจะอยู่ได้ เราก็ต้องช่วยกัน’ สร้างคุณค่าชีวิตให้เด็กได้อ่านหนังสือ ได้มีความรู้เพื่อต่อยอดความคิดและปัญญา การอ่านหนังสือจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการเสริมสร้างปัญญาที่ชัดเจนมาก” กมลดิษฐเน้นย้ำ ก่อนเล่าต่อไปว่า

Advertisement

หนังสือก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องการแพทย์ พยาบาล สถานรักษา กิจกรรมสังคมทั่วไป เกี่ยวกับหนังสือ เด็ก กีฬา ดนตรี ที่ร่วมกันพัฒนามากับคนในชุมชนบางปะกง ย่านโรงงานคาราบาว และในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมาโดยตลอด

ละสายตาจากจอ 4 เหลี่ยม สู่หนังสือทรงคุณค่า

เปิดช่วงเวลาให้ ‘จินตนาการ’

การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย คือสิ่งที่น่าหวั่นว่าการอ่านหนังสือจะน้อยลง จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการพยายามผลักดันโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับตัวอักษร

“การอ่านหนังสือ’ ได้ละสายตาจากจอ 4 เหลี่ยม” คืออีกหนึ่งเหตุผลที่กมลดิษฐหยิบยก ก่อนค่อยๆ อธิบายต่อไปว่า

“วันๆ ตื่นเช้ามา เราก็นั่งอยู่อย่างนั้น ผมเป็นห่วงและก็ยังตอบไม่ได้ว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นมาอีก ที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารจนคนไม่ต้องคิด บริโภคอย่างเดียว”

“และผมเป็นห่วงโซเชียลมีเดียที่จะเป็นใครก็ได้ สร้างตัวเองขึ้นมา ภาษาที่ใช้ในออนไลน์ก็ไม่ได้ถูกกลั่นกรอง ไม่ถูกต้องเยอะ ไม่สุภาพมหาศาล แต่หนังสือต้องผ่านการปรู๊ฟรีดดิ้ง (Proof Reading) มีบรรณาธิการ มีผู้พิมพ์ ผู้รับผิดชอบ หนังสือนี้มีคุณค่า ไม่ใช่ใครบรรเลงคีย์บอร์ดลงไป หน้า-สองหน้าแล้วก็ดัง แล้วก็หายไป แต่หนังสือดีๆ เป็นของมีคุณค่าที่จะอยู่ไปอีกนานแสนนาน” กมลดิษฐตอบในฐานะเด็กที่ชอบหนังสือ และผู้ใหญ่ที่ทุกเช้าต้องนั่งคลี่กระดาษเปิดอ่านหนังสือพิมพ์

จากนั้น เปิดเผยเหตุผลอีกประการ ที่หนักแน่นพอให้ใครสักคนกลับมาหยิบจับหนังสืออ่าน

“การอ่านให้ผลทางด้านความคิด และจินตนาการ

ถ้าดูทีวี เราไม่ต้องทำอะไร แค่ดูและฟัง แล้วก็จบ ถ้าฟังเฉยๆ ก็แค่จินตนาการภาพ

แต่ถ้าอ่านหนังสือ เราต้องคิดทั้งเสียง และภาพ ฉะนั้นได้ปัญญากว่า

3 ชม. เล่นโซเชียล เทียบกับอ่านหนังสือ 3 ชม. ผมว่าสิ่งที่จะเข้ามาในหัว คนละเรื่อง

การอ่านหนังสือมีช่วงให้จินตนาการ จะอ่านผ่านอะไร ผมไม่ติด แต่ผมยังชอบเป็นเล่มๆ อยู่ เพราะพับได้ ขีดได้ พลิกหน้า-พลิกหลัง ยัดใส่กระเป๋าเวลาขึ้นเครื่องบิน ก็อ่านหนังสือได้ ผมยังติดตรงนั้นและยังเชื่อว่าหนังสืออาจจะมีความนิยมน้อยลง แม็กกาซีนก็สูญหายกันไปเยอะ แต่ถึงจุดนึงแล้วจะ ‘อยู่ได้’ เหมือนคนที่ยังฟังแผ่นเสียง ฟัง CD เพราะว่ามีอรรถรสของมันอยู่”

สิ่งยิ่งใหญ่ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ

‘ประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้’

แม้ 100 โรงเรียน จะเป็นเพียงส่วนน้อยจากจำนวนเด็กมหาศาลที่อยู่ตามชนบท

แต่สิ่งยิ่งใหญ่ ล้วนเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ

กมลดิษฐย้อนเล่าให้ฟังถึงโครงการก่อนหน้า ที่สร้างคุณค่าบางอย่างให้กับเด็กได้ ชนิดที่คาดไม่ถึง

ไม่ว่าจะเป็นการให้เขียนเรียงความหา ‘ลุงแอ๊ด คาราบาว’ ว่าที่บ้านหนูมีอะไรดี คนไหนเขียนดี ภาษาไทยสวยงาม อักขระถูกต้อง ก็มอบรางวัลให้ทั้งชุมชนและนักเรียน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณค่าชีวิต ให้ท้องถิ่นมีพื้นที่โปรโมตบ้านเกิด

“พอเราบอกว่า ‘สร้างคุณค่าชีวิต’ มันแตะได้ทุกเรื่อง เพียงแต่ว่าจะเลือกทำเรื่องอะไรให้ได้สาระที่สุด เราสนับสนุนทุกอย่างในการเสริมสร้างภูมิปัญญาคน ให้คนมีความสามารถ สอนแม้กระทั่งเตะบอลเป็นอาชีพได้”

กมลดิษฐหยิบยกประสบการณ์จากโครงการ ‘ดนตรีสร้างคุณค่าชีวิต’ มาบอกเล่าว่า ครั้งหนึ่งให้เยาวชน ได้เรียนรู้ การประกอบวงดนตรีกับพี่ๆ วงคาราบาว

“เป็นสิ่งที่เด็กๆ มาบอกกับผมว่า เงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะได้มานั่งคุยกับพี่เทียร์รี่ พี่เล็กคาราบาว อยากจะรู้อะไรก็ถามได้ตัวเป็นๆ เป็นอะไรที่เราสนุกมาก ถามว่าเป็นคุณค่าชีวิตอย่างไร มีเด็กหลายคน ‘เดินสายอาชีพนี้’

อ่านก็ได้ ร้องเพลงก็ได้ เล่นดนตรีก็ได้ ผสมผสานกันหลายๆ อย่าง เราไม่ใช่ประเภท ‘แจกของ’ เราทำแล้วเขาต้องได้อะไรกลับไป เหมือนกับการแจกหนังสือ สิ่งที่ได้คือปัญญา หรือเหมือนกับการเขียนเรียงความส่งมาให้ลุงแอ๊ด สิ่งที่คุณครูพูด แล้วทำให้เรารู้สึกว่า เขาเห็นคุณค่า เราเองยังไม่ได้คิดขนาดนั้นเลย

‘เธอเป็นหนึ่งของเด็กในประเทศไทย ที่ลุงแอ๊ดให้รางวัล เธอจะต้องภูมิใจในเรื่องนี้’ เด็กเขาดีใจมากเวลาเราไปเยี่ยมถึงโรงเรียน ถ้าได้ไปสัมผัสกับชาวบ้าน กับชุมชนจริงๆ เขาจะเห็นคุณค่ามากๆ เราคิดว่ามีอะไรที่สานต่อได้อีกเยอะ และนี่คืออีกโครงการหนึ่ง” กมลดิษฐทิ้งท้าย

,

หลากสาระ ครบมิติความรู้

จาก ‘มติชน’ ส่งต่อสู่สังคม

ขณะที่ สุดารัตน์ วันเพ็ญ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดและโฆษณา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง “โครงการส่งมอบความรู้ สู่สังคมไทย” ว่า เป็นโครงการที่ดีอย่างมาก เพราะคาราบาวกรุ๊ปเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน โดยการมอบหนังสือครั้งนี้ ประกอบไปด้วยหนังสือที่มีเนื้อหาสาระหลากหลาย อาทิ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สารคดี วิทยาศาสตร์ สุขภาพ จิตวิทยาพัฒนาตนเอง วรรณกรรมแปล วรรณกรรมเยาวชน ฯลฯ สอดคล้องกับการเรียนรู้ของเยาวชนในวัยมัธยมศึกษาทั่วประเทศ และเป็นการสร้างสังคมแห่งการอ่านที่ยั่งยืนแก่เยาวชนไทย

“เครือมติชนมีสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งผลิตหนังสือหลากหลายหมวด ครอบคลุมทุกความสนใจของผู้อ่าน จึงให้ความสำคัญกับการส่งมอบความรู้ผ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ด้วยเชื่อมั่นว่า ความรู้จะช่วยเสริมสร้างปัญญาและสร้างความแข็งแกร่งในการใช้ชีวิต

“ที่ผ่านมา เครือมติชนได้ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ มอบหนังสือแก่โรงเรียนที่ขาดแคลนหลายแห่งทั่วประเทศ ดังนั้น เครือมติชนจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับคาราบาวกรุ๊ป สนับสนุนการมอบหนังสือในโครงการ ‘ส่งมอบความรู้สู่สังคมไทย’ แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการศึกษา ได้มีหนังสือเพื่อเพิ่มเติมความรู้” สุดารัตน์กล่าว

เสียงจาก ‘โรงเรียน’

ย้ำ ‘หนังสือเล่ม’ ยังจำเป็น

ตัดภาพมาที่ตัวแทน 3 สถาบันการศึกษา ที่แม้แตกต่างด้านแนวทางสอน แต่สิ่งที่ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันคือ ‘การอ่านหนังสือเล่ม’ ยังสำคัญ แต่ละโรงเรียนต่างมีนโยบายส่งเสริมและฟื้นฟูการอ่านมาโดยตลอด

อาจารย์ณัฐพงศ์ เงินนาค

อาจารย์ณัฐพงศ์ เงินนาค ตัวแทนโรงเรียนชุมชนวัดไทรม้า เปิดเผยนโยบาย ในฐานะโรงเรียนขยายโอกาส เด็กบางคนมากับผู้ปกครองที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง ผู้อำนวยการจึงส่งเสริมให้ ‘อ่านออก เขียนคล่อง’ เข้าร่วมโครงการ A book A week ขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF), โครงการหนังสือติดล้อ, หนังสือเดินได้ ใช้วิธีให้สภานักเรียน เอาหนังสือใส่กระเช้าเดินไปให้น้องๆ อ่าน เพื่อการเข้าถึงแบบไร้ซึ่งขีดจำกัด

แต่ใช่ว่าต้องจบที่หนังสือเล่ม อ.ณัฐพงศ์ในฐานะครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ยังผนวกโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยโดยให้นักเรียนอ่านอะไรก็ได้ สัปดาห์ละ 1 เล่ม แล้วถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ให้ได้แชร์หนังสือกันอ่าน

“การอ่านไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไร มีความสำคัญเหมือนกัน ก่อนมีเรียนออนไลน์ เรามีการวัดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นในด้านการอ่าน เช่น นักเรียนอ่านคำนี้ แล้วจำได้ว่าเคยอ่านในหนังสือมา บางคนก็เอาคำมาผสมกัน แต่งประโยคเรียงร้อยอะไรของเขาไป เป็นการสร้างเสริมจินตนาการอีกทางหนึ่ง

ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เข้าสู่ปีที่ 2 เท่ากับว่าจะได้ 200 โรงเรียน ปีที่ 3 ก็เป็น 300 พอครบทุกโรงเรียน ก็กลับมาวนใหม่ มอบหนังสือรูปแบบใหม่อีก เป็นการเริ่มต้นที่ใหม่และดีสำหรับเด็กๆ จะได้มีการพัฒนาในด้านการอ่าน และเขียนหนังสือ” อาจารย์ณัฐพงศ์ระบุ

เด็กชอบแบบไหน ครูจัดแบบนั้น

ปรับตัวให้ทันสมัย แต่ไม่ทิ้ง ‘การอ่าน’

อาจารย์รุ่งนภา วิวาสุข

ด้าน อาจารย์รุ่งนภา วิวาสุข จากโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ ตอบในฐานะครูบรรณารักษ์ว่า เวลาเห็นเด็กอ่านหนังสือในห้องสมุดแล้วรู้สึกดีใจ พร้อมแนะนำว่า “ห้องสมุด” ต้องจัดให้เข้ากับบริบทของนักเรียน เด็กนักเรียนเราชอบแบบไหน ก็จัดแบบนั้น

อ.รุ่งนภา บอกว่า ที่ ร.ร.ศีลาจารพิพัฒน์ มีแนวทางฟื้นฟูการอ่านด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน ทั้งเคลื่อนที่ ตามทางเดินหรือผนัง มีโครงการ “วางทุกงาน อ่านทุกคน” “ยุวบรรณารักษ์น้อย” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อฝึกนำเสนอหน้าเสาธง เพราะปัจจุบันเด็กๆ อ่านออนไลน์กันมาก จึงปรับตัวมาเป็นบอร์ดความรู้ผ่านทางเฟซบุ๊กด้วย ทำเป็นการ์ตูนน่ารักๆ ปรับให้ทันสมัย ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งการอ่านหนังสือเล่ม มีโครงการ “ห้องสมุดเคลื่อนที่” ทุกวันพุธและศุกร์ ซึ่งจะเคลื่อนที่สู่ชุมชนโดยตั้งไว้ร้านกาแฟ และให้คนในชุมชนเขียนชื่อ ดูสถิติว่าใครหยิบหนังสือเล่มไหนบ้าง

เท่ากับว่าหนังสือที่รับมอบจากโครงการนี้ ก็มีโอกาสที่จะเผยแพร่สู่ชุมชนด้วยอีกต่อหนึ่ง

“ดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการดีๆ แบบนี้ เวลาจัดกิจกรรมก็จะเอาความรู้จากหนังสือนี้ไปเป็นคำถามและแนวทางให้กับนักเรียน และเผยแพร่สู่ชุมชนด้วย อยากให้ส่งต่อโอกาสดีๆ แบบนี้สู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

ถิ่นทุรกันดาร หายากมาก โดยเฉพาะหนังสือที่มอบให้นั้นดีมากๆ เด็กๆ จะได้ซึมซาบการใช้ภาษา ได้อ่าน ได้เขียน ได้เกลา จะรู้ภาษาที่เป็นทางการ หลายระดับขึ้น เขาจะประมวลนหัวเอง เวลาเขาอ่านจะได้ซึมซับเข้าไป”

ตอบข้อสงสัยที่ว่า ‘หนังสือเล่ม’ มีความสำคัญอย่างไรในยุคที่เด็กไทยเรียนออนไลน์ และสามารถอ่านหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลาจากหน้าจอสี่เหลี่ยม?

อ.รุ่งนภามองว่า หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ รวดเร็วก็จริง แต่เรื่องความแม่นยำ-ถูกต้อง การอ้างอิง ความน่าเชื่อถือ หนังสือเล่มยังมีความจำเป็นอยู่

“อ่านหนังสือเล่ม ได้ฝึกสายตา ฝึกสมาธิ มันช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า อีกอย่างคือภาพ กระดาษ สี หมึก ที่สัมผัสและเข้าถึงได้ เป็นรูปเล่ม เป็นรูปธรรมให้เราจับต้อง”

อนุศาสนาจารย์ ธนานันท์ โฉมอุดม

ขณะที่ อนุศาสนาจารย์ ธนานันท์ โฉมอุดม จากโรงเรียนศรีดรุณ ให้ความเห็นในฐานะครูสอนภาษาไทยว่า เสียดายการอ่านบทอาขยาน ที่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ทั้งคำพ้องรูป พ้องเสียง ซึ่งจะได้ประโยชน์กับเด็กและนำไปใช้ได้จริง “เป็นคลังคำศัพท์”

ก่อนเผยวิธีส่งเสริมการอ่าน ด้วยการมอบหมาย 1 เล่ม ให้เด็กไปอ่าน ไปคุยกัน

“เธออ่านถึงหน้าไหน เอาเลขหน้ามารวมกันโดยที่เราไม่ได้บอก ก็ไม่ใช่คะแนนอะไร แค่เขียนส่งไปเป็นจิตวิทยา ให้เขาได้ดูได้อ่าน ศึกษา ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ผมสอนแบบคนโบราณ อ่านหนังสือได้ประโยชน์มากกว่า ไม่ได้หมายความว่าโซเชียลไม่ดี แต่เด็กน่าจะซึมซับ เข้าถึง และบรรลุมากกว่า วิธีการหลากหลายแต่ได้ทั้งคู่ ยืนยันว่าหนังสือเล่มจำเป็นโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน” อนุศาสนาจารย์ธนานันท์เน้นย้ำ พร้อมยกตัวอย่าง “คะ ค่ะ” ภาษาในโซเชียลที่ทำให้เด็กสับสน

“โครงการนี้แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนไทย เพราะองค์ความรู้ทุกอย่างโยงกันหมด ในนามสถานศึกษา คงไม่มีอะไรจะมอบให้นอกจากคำว่าขอบคุณ” อศจ.ธนานันท์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image