ขวากหนามในห้วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ 2 พส. สู่ 2 (เซเลบ) ฆราวาส เมื่อบทบาท ‘ผู้นำความคิด’ ทำคน (ผิด) คาด (หวัง)

ขวากหนามในห้วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ 2 พส. สู่ 2 (เซเลบ) ฆราวาส เมื่อบทบาท ‘ผู้นำความคิด’ ทำคน (ผิด) คาด (หวัง)
อดีตพระมหาสมปอง-อดีตพระมหาไพรวัลย์ (ภาพจากเพจสมปอง นครไธสง)

ถูกยิงคำถามอย่างหนักตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับบทบาทของอดีต 2 พส. ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานภาพ ‘ทิดไพรวัลย์’ และ ‘ทิดสมปอง’

ถูกยิงกระสุนยางทางโซเชียลในหลากสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาของ อดีตพระมหาสมปอง ว่าแอบชอบดาราสาว บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในสมณเพศ จนสังคมไทยคลางแคลงใจในความนับถือที่เคยมีให้ ตามมาด้วยภาพหญิงสาวนั่งตักระหว่างการถ่ายทำรายการ ก่อนมีคำชี้แจงจากทีมงานว่าทิดสมปองไม่รู้ตัวมาก่อน ยังไม่นับการโต้ตอบชาวเน็ตอย่างเผ็ดร้อน

เช่นเดียวกับ อดีตพระมหาไพรวัลย์ ซึ่งชัดเจนว่าตกอยู่ในสถานการณ์หนักหน่วงกว่าหลายเท่า ทั้งการโต้กลับแฟนคลับที่หลายคนต้องกลายเป็นอดีตเพราะถูกบล็อกแบบรัวๆ ทั้งการเปิดตัว ‘มินยง’ หนุ่มเกาหลีข้างกาย ทั้งการเดินออกจากรายการ ‘นินทาประเทศไทย’ ที่กลายเป็นดราม่าซ้อนดราม่าพร้อมกระแสตีกลับไปยัง ‘น้าเน็ก’ หนึ่งในพิธีกร

เป็นความปั่นป่วน วุ่นวาย ที่ไม่ใช่แค่ข่าวบันเทิง หากแต่ยังมีประเด็นชวนหาคำตอบในเชิงวิชาการต่อปรากฏการณ์ที่ย่อมมีคำอธิบาย

Advertisement
มินยง-ทิดไพรวัลย์ (ภาพจากเพจไพรวัลย์ วรรณบุตร)

เปลี่ยนสถานะ เปลี่ยนโลก

บทบาทที่แตกต่างบนความ (ผิด) คาดหวัง

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุ พระมหาไพรวัลย์มีความสามารถในการพูด ในการเจรจา ในการแสดงธรรม ด้วยภาษาที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย คนในสังคมเกิดความคาดหวัง โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้ที่แสดงโปรไฟล์ว่าตนมีบทบาทในระดับเซเลบ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานะเปลี่ยนคนก็จะมองในอีกมุม

“ถ้าพูดแบบชัดๆ คือเมื่อตอนเป็นพระ เป็นผู้ที่มีความรู้ คนก็คาดหวังเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่แสดงโปรไฟล์ หรือบทบาทในฐานะผู้นำทางความคิดมาก่อน ตอนสึกออกไป เหมือนคนจะคาดหวังว่าการเปลี่ยนสถานะจะเป็นแค่การเปลี่ยนจากเพศสมณะเป็นเพศฆราวาส แต่แนวทางซึ่งการแสดงความรู้ความสามารถบทบาทต่างๆ จะยังดำรงอยู่ อย่างไรก็ตาม พอมาอยู่ในอีกโลกหนึ่ง พอเป็นฆราวาส ก็มีปัจจัยหลายอย่างเท่ากับชีวิตคนคนหนึ่ง เมื่อบทบาทไม่เหมือนเดิม ในขณะที่คนยังมองในจุดที่เคยเชื่อ เคยเห็น จึงเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นตามที่คาดหวัง การถูกวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

ส่วนกรณี พระมหาสมปองในวันนั้น หรือ นายสมปอง นครไธสง ในวันนี้ เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุซึ่งก็มีคนนับถือจำนวนมาก และสึกในเวลาใกล้เคียงกัน ถามว่าทำไมคนจึงไม่คาดหวังมากเท่าอดีตพระมหาไพรวัลย์ นักวิชาการศาสนาท่านนี้มองว่า นั่นเพราะขณะยังเป็นพระมหาสมปอง ไม่ได้แสดงบทบาทที่โดดเด่นในการเป็นผู้นำทางสังคม เป็นเพียงการเทศนาตลกเฮฮาสำหรับคนอีกระดับหนึ่ง และไม่ได้นำเสนอตนเองในการชนกับอำนาจรัฐหรืออำนาจพระผู้ใหญ่

Advertisement
ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน

“เขาก็มีลักษณะพิเศษอยู่ คือเป็นคนดังทั้งคู่ มีคนติดตามเยอะ แต่เป็นคนละแนว คนคาดหวังกับทิดสมปองมากน้อยแค่ไหนผมก็ไม่รู้ แต่ผมรู้สึกว่าคนในสังคมที่ติดตามสมปอง เป็นคนอีกแนวหนึ่งที่ไม่ได้คาดหวังเรื่องสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่มากเท่าไหร่ แต่เป็นลักษณะวัฒนธรรม การช่วยเหลือ สังคมสงเคราะห์ พอสึกไปก็ไปทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ในเชิงวัฒนธรรมในทางภาคอีสาน ไปเกี่ยวข้องกับหมอลำ ตลกบันเทิงอะไรก็ว่ากันไป ไม่ได้พรีเซนต์ตัวเองในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม แต่ภาพของทิดไพรวัลย์เป็นคนละภาพ คนที่ติดตามก็จะเป็นคนละแนว คนที่ติดตามอดีตพระมหาไพรวัลย์น่าจะเป็นคนชั้นกลางค่อนข้างเยอะ และเป็นคนชั้นกลางที่คาดหวังเรื่องของสังคมที่จะพัฒนาก้าวหน้า คนเหล่านี้มีความคิด ไม่ยึดติดตัวบุคคลมาก หมายความว่า ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เขาก็เปลี่ยนใจได้เสมอ”

จากภิกษุ สู่ ฆราวาส

จาก ‘เหนือคน’ สู่ความคาดหวังของสังคม

ถามต่อไปว่า ในอดีตเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ในวงการศาสนามาก่อนหรือไม่ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ตอบว่า ส่วนตัวคิดว่าภิกษุที่ประกาศว่าเมื่อสึกแล้วจะทำอะไร และเข้าสู่วงการบันเทิง ไม่เคยมีพระรูปไหนพาตัวเองไปในระดับนั้น สำหรับประเด็นเรื่องการสื่อสารนั้น โดยทั่วไปภิกษุที่ลาสิกขาออกมามักหางานทำเพื่อตั้งหลัก เพราะไม่มีใครขึ้นไปอยู่ในสถานะเซเลบในลักษณะเดียวกับทิดไพรวัลย์และทิดสมปอง

“โดยทั่วไปผู้ที่สึกใหม่ๆ จะไม่ใช้ภาษาแบบนี้ ไม่มีลักษณะการตอบโต้แบบนี้ แต่จะรู้สึกว่าตัวเองค่อยไม่รู้อะไรมากนัก ไม่ดึงดันขนาดนี้ ไม่เคยมีคนที่ดังตอนเป็นพระที่เมื่อสึกออกมาแล้วเกาะอยู่กับกระแส คนที่สึกออกมาส่วนใหญ่เขาก็หางานหาการธรรมดาทั่วไป ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเพื่อตั้งหลักของตัวเองให้ได้ เพราะไม่มีใครที่ขึ้นไปอยู่บนสถานะเซเลบแล้วก็ยังกระโดดข้ามต่อไปอยู่บนยอดคลื่นของความดังของสังคม

ส่วนใหญ่คนที่สึกมาแล้ว จากที่อยู่เหนือคน เขาก็จะตกลงไปที่ศูนย์ จึงค่อนข้างระมัดระวังตัวเอง ส่วนความประพฤติปฏิบัติส่วนตัว ในวงการพระมีเยอะเหมือนกันที่สึกออกมาแล้วคิดว่าตัวเองมีความรู้มีความสามารถ เมื่อไปทำงานแล้วไม่ฟังใคร ดื้อรั้น ไม่เป็นที่ยอมรับ คิดว่าตัวเองมีความรู้กว่าคนอื่นที่เป็นนักวิชาการก็มีเยอะ ที่ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนข้างนอกได้” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าคิดตามประเด็นที่สังคมตั้งขึ้นมา ขณะนี้คนเริ่มรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาโดยภาพรวมมีปัญหาอยู่แล้ว บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนเมินเฉยต่อโลก นอกจากนี้ คนมักคาดหวังว่าผู้ที่ได้บวชเรียนจะได้เรียนรู้และมีคุณลักษณะ 2 อย่างเป็นตราประทับคือ การมีความรู้ และการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

“พฤติกรรมที่เหมาะสมหมายถึง ความเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน พูดจารู้จักกาลเทศะ รู้จักการวางตัวเอง รู้จักประเมินตัวเองว่าเป็นอย่างไร ในขณะที่ไพรวัลย์ไม่ยอมใคร พอฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็โต้กลับด้วยประเด็นต่างๆ ที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้อง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิบางอย่าง ไพรวัลย์ก็นำเสนอตัวเองในลักษณะอย่างนั้น คือพูดในสิ่งที่เชื่อว่าไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเป็นสิทธิที่จะประพฤติอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ล่วงละเมิดใคร เป็นแนวคิดของเสรีประชาธิปไตยที่เข้ามามีบทบาทต่อคนรุ่นนี้ จึงตัดสินพฤติกรรมของตัวเอง ตัดสินข้อพิพาทของคนอื่นบนฐานคิดแบบนี้ จึงดูเหมือนเป็นคนไม่ฟังใคร เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ ถ้ามองแบบเป็นธรรมที่สุดก็คือ ไพรวัลย์คิดบนหลักการแบบนี้” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

ไพรวัลย์เดินออกจากรายการนินทาประเทศไทย

ทาบทับด้วย ‘อุดมคติ’

ตราประทับของ ‘คนเคยบวชเรียน’

เมื่อพิจารณาหนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นมากที่สุดคำถามหนึ่ง นั่นคือ ทำไมไม่เหมือนคนเคยบวชเรียน? แม้ผู้ติดตามทิดไพรวัลย์ตั้งแต่ยังห่มเหลืองรู้ดีว่าบุคลิกท่าทีเป็นอย่างไร แต่เมื่อสึกออกมาเป็นฆราวาส ก็อดถามไม่ได้ว่าเหตุใดจึง ‘ไปไกล’ ถึงขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าไม่สามารถนำพระวินัยหรือไม้บรรทัดใดๆ ในโลกของภิกษุสงฆ์ไปทาบทับได้ในเวลานี้

“คงเอาวินัยของพระมาใช้กับเขาตอนนี้ไม่ได้ เพราะเขาสึกออกมาแล้ว สิ่งที่อาจจะเข้าไปมีบทบาทในวิถีของฆราวาสคือหลักธรรม ถ้าเราจะวิพากษ์วิจารณ์ไพรวัลย์ว่าเป็นคนดีไม่ดี พื้นฐานที่สุดคือเรื่องศีล 5 เขาก็อาจไม่มีอะไรผิดมาก ยกเว้นคำพูดที่เหมือนเป็นคำหยาบ เป็นถ้อยคำที่รุนแรง ในข้อ 4 มุสาวาทของศีล 5 ก็ยังก้ำกึ่ง ถ้าจะเอาแนวคิดศาสนาพุทธมาใช้ เขายังไม่ได้ละเมิดอะไรในส่วนนี้ เขายังไม่ได้ดื่มเหล้าเมาสุรา แต่ถ้าในส่วนที่ประเมินด้วยคำสอนก็อาจจะมีบ้างในแง่ด้านความดื้อรั้น ความเป็นพระพุทธศาสนาจะยกย่องคนที่เป็นคนที่ว่าง่าย คือคนที่เชื่อฟังการชี้โทษของผู้อื่น เมื่อมีคนมาชี้โทษควรรับฟัง พระพุทธศาสนามีคำสอนพวกนี้อยู่ในบทเรียนตำราตามหลักพื้นฐานที่เรียนกันในสายบาลี จะมีเรื่องเล่าแบบนี้ที่นำมากล่าวถึงแล้วก็ยกย่องคนที่อดทนต่อการกล่าวโทษ การเพ่งโทษ

ความหมายคือ การวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าเขาอดทนได้แล้วปรับตัวตามที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ มองเห็นความวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ซึ่งชี้สู่ทางที่ดีงาม พระพุทธศาสนาจะสรรเสริญสิ่งเหล่านี้ ถ้าไพรวัลย์มีปัญหาตรงจุดนี้ แสดงตนเหมือนคนไม่ฟังใคร ซึ่งขัดแย้งกับท่าทีที่พระพุทธศาสนาทางจารีตที่เขาเรียนมาจะสอนเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าจะผิดก็คงผิดเรื่องนี้” ผศ.ดร.ชาญณรงค์วิเคราะห์ลึก

จากนั้น ยังมีคำตอบต่อคำถามที่ว่า เมื่อไม่ได้เข้าข่ายมีความผิดใดๆ ทำไมสังคมไทยจึงรู้สึก ‘มีปัญหา’ ต่อท่าทีของทิดไพรวัลย์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทิดสมปองที่ดราม่าจบไวกว่ามาก

ภาพจากเพจ สมปอง นครไธสง

“คนที่มีปัญหากับเขาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมือนคนที่เคยบวช ที่มีรูปแบบบางอย่างที่คนมองว่าถ้าคุณบวชมา คุณจะต้องเป็นคนแบบนี้ อาจจะเป็นคนธรรมะธรรมโม พูดจาสำรวม พูดเพราะ อ่อนน้อมถ่อมตน ผมว่าอุดมคติแบบนี้ยังถูกเอาไปทาบบนตัวของไพรวัลย์ ถ้าเทียบกับท่านสมปอง จะค่อนข้างอ่อนน้อมถ่อมตน และเขาเป็นคนตลกโปกฮา เวลามีคนออกมาตักเตือน เขาก็ออกมาชี้แจงและบอกว่าจะไม่ทำอีก ซึ่งเป็นคนละแนว เราจะเห็นว่าภาพแบบนี้มันคนละภาพ เวลาเขาไปไหนเขาก็จะแสดงตลกบนเวทีก็อีกเรื่องหนึ่ง พอแสดงตลกเสร็จเขาก็อาจจะไหว้ขอโทษ คนวิจารณ์สมปองในแง่ความอ่อนน้อมคงไม่ได้ แต่อาจจะวิจารณ์ในแง่ที่ทำอะไรแบบเผอเรอผิดพลาด แต่การยอมขอโทษก็ทำให้คนรู้สึกแตกต่าง ไม่ทำให้กลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่โต”

เสรีประชาธิปไตย

วิถีคนรุ่นใหม่ กับสภาวะเปลี่ยนผ่าน

ปิดท้ายด้วยมุมมองน่าสนใจในประเด็น ‘เปลี่ยนผ่าน’ ซึ่งไม่เพียงแต่ตัวพระมหาไพรวัลย์ สู่ นายไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง สู่ ทิดสมปอง หากแต่ภาพใหญ่ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย

“คนในสังคมเริ่มรู้สึกว่าพระพุทธศาสนามีปัญหาอยู่แล้วโดยภาพรวม บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนเมินเฉยต่อโลก ซึ่งคนจะคาดหวังว่าเวลาคนไปบวชจะไปเรียนรู้ และคุณลักษณะ 2 อย่าง ที่เป็นตราประทับสำหรับผู้ที่บวชเรียนคือ การมีความรู้และการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม คือ ความเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งสิ่งนี้สำคัญที่ไพรวัลย์ไม่ยอมใคร พอฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็ตอบกลับด้วยประเด็นต่างๆ ที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้อง วิถีชีวิตแบบนี้มันเป็นวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่

ในช่วงเวลาปัจจุบันเราจะเจอสถานการณ์แบบนี้เยอะ คือคนเชื่อว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพโดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งเขานำเสนอตัวเองในลักษณะนั้น จึงพูดอะไรที่เชื่อว่าเป็นสิทธิที่จะประพฤติได้ตราบเท่าที่ไม่ล่วงละเมิดใคร แนวคิดของเสรีประชาธิปไตยมันเข้ามามีบทบาทในความคิดของคนรุ่นนี้ จึงตัดสินพฤติกรรมของตัวเอง ตัดสินข้อพิพาทของคนอื่นบนฐานแบบนี้ ทำให้ดูเหมือนคนไม่ฟังใคร เพราะเขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ

ถ้าจะประเมินไพรวัลย์ มี 2 เกณฑ์คือ 1.เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย เขามีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสดงออกแบบนั้นไหม ถ้าไม่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ เราก็ไปว่าเขาไม่ได้ ถ้าจะวิจารณ์ว่าทำไมบวชมาแล้วมีพฤติกรรมแบบนี้ก็อาจเพราะว่าสังคมคาดหวังกับเขามากเกินไป 2.เรื่องภาษา คนรุ่นก่อนคงไม่ค่อยชอบ ส่วนคนรุ่นใหม่คงไม่ค่อยมีปัญหา” ผศ.ดร.ชาญณรงค์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image