เปิดตัว ‘1932’ห้องสมุด(ของ)ประชาชน ในวันที่ (แม้แต่) หนังสือยังถูกคุกคาม

เปิดตัว ‘1932’ห้องสมุด(ของ)ประชาชน ในวันที่ (แม้แต่) หนังสือยังถูกคุกคาม

กลายเป็นว่าน่าจับตายิ่งกว่าเก่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าห้องสมุดแห่งใหม่ในย่านคลองสาน หลังเพิ่งเปิดตัวหมาดๆ ไปได้เพียงแค่ 1 วัน

 

ยึดนิทานวาดหวัง “10 ราษฎร” อ้างเอาไปให้ลูกอ่าน ก่อนหอบมาคืนในเวลาต่อมา

Advertisement

ทว่าเรื่องไม่จบแค่นั้น 7 วันให้หลัง (30 ม.ค.) เจ้าหน้าที่สายสืบนอกเครื่องแบบ กลับมาเดินวนเวียนถ่ายรูปรถของทีมงานห้องสมุดอีกครั้ง

อะไรคือเหตุผล ? หนังสือเยาวชนเป็นภัยต่อความมั่นคงได้จริงหรือ ?

ย้อนกลับไปเช้าวันที่ 22 มกราคม ภายในหอสมุดภัทรานุสรณ์ วัดทองนพคุณ นักศึกษา นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ ร่วมงานเปิดตัวห้องสมุด “1932 People Space library” ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทีมงานผู้ก่อตั้ง สมาชิกพรรคป๋วยก้าวหน้า อ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ของที่แห่งนี้

Advertisement
บรรยากาศงานเปิดตัวห้องสมุด “1932 People Space library”

เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ความฝันของ 1932

แม้หวั่นใจในช่วงแรก ว่าสิ่งที่ทำจะสื่อถึงคนภายนอกได้สำเร็จหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยไฟที่ล้นเหลือ

“ห้องสมุดแห่งนี้คือการกระจายทรัพยากรทางปัญญา ที่จะเป็นอาวุธและขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน”

ศรัณย์ สัชชานนท์ หรือนัท รองประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุด 1932 ลั่นวาจา

เพื่อเป็นห้องสมุดสาธารณะ เพื่อให้การเรียนรู้นำไปสู่การพัฒนาสังคม โดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา

เพื่อจัดการเรียนเป็นตลาดวิชาให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยน “คณะทำงาน” บอกว่า ไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินตรา แต่ขอเป็นสังคมที่ดีกว่า

ในวันเปิดตัว ทีมงานเผยถึงที่มาของชื่อ 1932 ว่าคือปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ที่ประชาชนเริ่มมีสิทธิมีเสียง มีการจัดการระบบการแพทย์ สาธารณสุข การคมนาคมให้ครอบคลุม เสมอภาคมากขึ้น

ส่วนคำว่า People Space ต้องการให้เป็นพื้นที่ของประชาชน เป็นความหวัง ความฝัน และการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม

รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์

 

ประชาสังคมผงาด สร้างบทบาทช่วงชิงพื้นที่รัฐ

เข็มนาฬิกาชี้ที่ 11.12 น. รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. หนึ่งในผู้ร่วมบริจาคหนังสือยุค 6 ตุลาคม 2519 เผยความหวัง ว่าสถานที่นี้จะเป็นเวทีทางสังคมให้เกิดการถกเถียงในสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ ซึ่งกลุ่มอื่นๆ อย่างกลุ่มแรงงาน ก็พยายามจะทำตาม คิดก่อตั้งสถาบันการศึกษาและมูลนิธิขึ้นมา

“เวทีแบบนี้ เป็นบรรยากาศที่ดี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทเข้าไปช่วงชิงพื้นที่จากรัฐได้ เรายังมีพื้นที่นี้อยู่”

รศ.ดร.นภาพร ยังอวยพรให้เยาวชนคนหนุ่มสาว สามารถทำงานบรรลุสิ่งที่คาดหวังไว้

(จากซ้าย) พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชาย พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎร, ศ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์

ถึงคิว ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ลุกขึ้นเผยความในใจ

“มีเรื่องที่จะมาคุย อย่างเรื่องที่โยงไปถึงอาจารย์ป๋วย ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ห้องสมุดนี้ผมเดินดูแล้ว มีอะไรอยู่เยอะมาก” อดีตอธิการบดี มธ.ว่าอย่างนั้น

1932 People Space Library ตั้งอยู่ภายในหอสมุดภัทรานุสรณ์ วัดทองนพคุณ

‘วัดทองนพคุณ’
โยงอุดมการณ์คนรุ่นใหม่ยุค ‘ยุวชนสยาม’

ด้วยวัดทองนพคุณ คือสถานที่ประวัติศาสตร์ของ “ยุวชนสยาม” กลุ่มนักเรียนหัวก้าวหน้าที่เสนอแนวคิดปฏิวัติการศึกษาไทย

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักประวัติศาสตร์ เจ้าของฉายาปัญญาชนสยาม ในฐานะผู้ที่มีส่วนก่อให้เกิด 1932 ถือโอกาสย้อนเล่าเรื่อง “ยุวชนสยาม อุดมการณ์คนรุ่นใหม่ในอดีต” บนสถานที่จริง

ส.ศิวรักษ์ เล่าจุดเริ่มต้นของกลุ่มยุวชนสยาม ที่ได้อิทธิพลมาจาก “ปริทัศน์เสวนา” ราว พ.ศ.2505-2506 สมัยที่ตนได้ออกนิตยสาร ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ กระตุ้นให้เกิดการเขียน แต่เผอิญว่าปี 2501 เมืองไทยเป็นเผด็จการอย่างรุนแรง หนังสือพิมพ์ออกใหม่ไม่ได้ เสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น

ส.ศิวรักษ์

“บางทีอะไรแรงก็ถูกจับ เลยบอกพวกนักศึกษา เรื่อง ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ว่าผมจดทะเบียนรายเดือน แล้วมีตังค์ให้ด้วย ผมบอกว่าถ้าถูกจับ ผมถูกจับเอง จึงเกิดฉบับนิสิตนักศึกษาขึ้นมา ผมยังจำได้ คนที่เขียนฉบับแรกดัง 2 คน คนแรกชื่อ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ยังอยู่ อีกคนหนึ่งเสียดายตายแล้ว คือ ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ สรุปคือการทำหนังสือพวกนี้เป็นเหตุ และมีเรื่องเกิดขึ้น” ส.ศิวรักษ์กล่าว

 

ก่อนย้อนเล่าถึงการก่อตั้ง กลุ่ม ‘ปริทัศน์เสวนา’ เลียนแบบสำนักการคริสเตียน ที่เริ่มจาก ส.ศิวรักษ์ เข้าไปขอเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เพราะเป็นวัดหลวง คาดว่าตำรวจคงไม่เข้ามาจับ

“ผมขอให้โบสถ์เก่าเป็นที่ประชุม ตั้งกลุ่ม ‘ปริทัศน์เสวนา’ เด็ก 4-5 คนคุยกัน เชิญ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็มาให้ เชิญ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็มาจากแบงก์ชาติ ม.ธรรมศาสตร์เอาอย่าง ไปตั้งสภาหน้าโดม เกษตรศาสตร์ตั้งสภากาแฟ แล้วขยายไป 14 ตุลา มีจุดเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ ตรงนี้”

3 หนุ่ม มธ. กับ 1 คำถาม
‘ทำไมห้องสมุดส่วนใหญ่มีแต่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก’

(จากซ้าย) ศรัณย์ สัชชานนท์ หรือนัท, ชนินทร์ วงษ์ศรี หรือบอล หนึ่ง 3 ในทีมงานผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุด “1932 People Space library”

หลังเปิดห้องสมุดได้ 1 สัปดาห์ นัดหมาย 4 หนุ่ม มธ. ทีมงานห้องสมุด 1932 นั่งจับเข่าย้อนเล่าความเป็นมาเบื้องลึก

จากจุดเริ่มต้น คน 3 คนคุยกันผ่านไลน์ เมื่อปลายพฤศจิกายน 2564 คิดสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ผนวกกับความเป็นเด็กหาทำ อยู่ว่างไม่ถนัด

“กิตติวัฒน์” หรือหยก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บอกว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก คน 3 คนตั้งคำถาม ว่าทำไมห้องสมุดส่วนใหญ่มีแต่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก และทำไมต้องเงียบ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดได้ ?

“ผมตั้งใจ ที่จะทำห้องสมุดมีชีวิต มีลมหายใจ ไม่ใช่ไว้ให้ฝุ่นจับ อยากให้คนมาทำวิจัยที่นี่ เพราะมีหนังสือหายากหลายเล่ม เป็นหนังสือที่ดี และคนตามหาอย่างมาก”

 

แต่ระหว่างหาแนวร่วมทำห้องสมุด ก็เกิดเรื่องเศร้า ชยพล ทองทวน หนึ่งใน 3 ผู้ก่อตั้งห้องสมุด 1932 และพรรคป๋วยก้าวหน้า ก็ลาลับไปก่อน แต่นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้เกิดห้องสมุดแห่งนี้เช่นกัน

จากนั้น ได้เข้าไปดักพบ ส.ศิวรักษ์ ในงานเปิดตัวปฏิทินคณะราษฎร ที่หอศิลป์ฯ ก่อนจะแนะนำสถานที่นี้มา ซึ่งตั้งอยู่ในวัดทองนพคุณ

หวังเด็กมีความฝัน พาไทยไปไกลกว่านี้

กิตติวัฒน์ หรือ หยก

ถามถึงหนังสือที่รัฐไทยมอบให้เด็ก กับหนังสือของ 1932 แตกต่างกันอย่างไร ?

หยก ‘กิตติวัฒน์’ ตอบอย่างมั่นใจ “ผมไม่ได้พยายามพรีเซ็นต์เด็ก แต่วางให้เด็กมาเลือกอ่าน” ก่อนแนะนำหนังสือนิทานชุดวาดหวัง

อย่างเล่ม ‘เด็กๆ มีความฝัน’ ผมอยากให้เด็กมีความฝัน เด็กที่เกิดมาในชนชั้นล่างหลายคนไม่มีความฝัน ไม่รู้โตไปทำอะไร

 

‘ทุกวันเดินทางง่าย ไปไหนสะดวกสะบาย ไม่กลัวสายกลัวรถติด…. ปลอดมลพิษ ชีวิตดี’ มันคือความฝันง่ายๆ แค่เด็กคนหนึ่งอยากจะมีชีวิตที่ดีเท่านั้น เป็นหนังสือที่ดี ทำให้เด็กมองถึงปัญหาและสภาพแวดล้อม

นิทานชุดวาดหวัง

หรือเล่ม ‘ตัวไหนไม่มีหัว’ พูดถึงพยัญชนะตัวไหน มีหัว-ไม่มีหัว แต่สุดท้ายตอนจบก็อยู่ด้วยกันได้ โดยที่ไม่มีปัญหาอะไรกัน เป็นหนังสือที่สอนให้เด็กยอมรับความแตกต่าง ผมไม่ได้มองว่าหนังสือพวกนี้จะมีปัญหาอะไร

หรือเล่มที่มีประเด็นล่าสุด ‘10 ราษฎร’ ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรหมิ่นเหม่ เป็นรูปคนธรรมดา เด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนในนี้เป็นใคร มีแค่ว่า ‘ราษฎรประสงค์’ ตัวหนังสือเพียงสิ่งเดียวในเล่มนี้

พรหมมินทร์ หรือ ตัง

ด้าน ตัง “พรหมมินทร์” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุด 1932 แนะนำนิตยสารอย่าง National Geographic ที่รวมบทความ ภาพถ่าย และสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วมุมโลก เพราะอยากให้เด็กไทยเข้าถึงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์

“นอกจากเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน อวกาศ อยากให้รับรู้ถึงส่วนอื่นของโลก ให้ได้คิดนอกกรอบ ทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้มากกว่านี้” ตังระบุ

เมื่อห้องสมุดไม่ดึงดูดใจ

ต้องตีโจทย์ใหญ่ให้แตก

ภายในบรรจุหนังสือกว่า 2,000 เล่ม ครอบคลุมทุกหมวดความรู้

หากมองตามจริง ห้องสมุดของประเทศไทย ไม่ดึงดูดใจ เข้าไม่ถึงประชาชนส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา

พื้นที่สำหรับเชื่อมผู้คนให้ถึงกัน จึงเป็นโจทย์สำคัญ

ชนินทร์ วงษ์ศรี หรือ “บอล” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “1932 People Space library” เผยถึงคอนเซ็ปต์ว่า อยากทำอะไรที่เป็นการเคลื่อนไหว สร้างประโยชน์ให้กับสังคมไปด้วย

“ห้องสมุดแห่งนี้ เราเห็นประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหว เช่น ยุคหลัง 14 ตุลาคม 6 ตุลาคม หรือกลุ่มยุวชนสยาม ก็ใช้พื้นที่วัด เราจึงอยากรวมหนังสือยุคนั้นที่หายาก หนังสือสังคมศาสตร์ หนังสือที่ห้ามเผยแพร่ นอกจากนั้นก็อยากทำงานร่วมกับชุมชน เช่น ติวการบ้านน้อง สอนภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ให้กับเด็ก”

คือพื้นที่สาธารณะ ที่ฟรี เสรี และมีประโยชน์ ที่ในอนาคตอันใกล้ ห้องสมุด 1932 มีแพลนจะหาคอมพิวเตอร์มาตั้ง ให้พระได้มาสอน ให้เด็กได้ใช้เรียนออน์ไลน์อีกด้วย

ส่องชั้นหนังสือ มีอะไรใน 1932?

 

โซนงานเขียนเก่าของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปูชนียบุคคลวงการเศรษฐศาสวตร์

“บอล” พาเดินเลาะไปตามชั้นหนังสือที่ละลานตากว่า 2,000 เล่ม พร้อมบรรยายว่า ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับสังคมศาสตร์ และอีกหลากหลายแนวคิดทางการเมือง มีทั้งประเด็นแรงงาน สังคม ชุมชน ศาสนา และมีโซนงานเขียนเก่า ของ ส.ศิวรักษ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น

ยังไม่นับหนังสือด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข เด็กและเยาวชน กีฬา สถานที่ท่องเที่ยว ศิลปะ โบราณคดี ปรัชญา ศาสนา ภาษา วรรณกรรม วรรณคดี ไปจนถึง ‘ประวัติศาสตร์กระแสหลัก’ก็มีเช่นกัน

รัฐธรรมนูญสำหรับชาวบ้าน, กวีนิพนธ์ตื่นเถิดเสรีชน, ครอง จันดาวงศ์, เปิดบันทึกนักโทษหญิง 6 ตุลา, ตำนานเสรีไทย 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน คือตัวอย่างรายชื่อหนังสือที่หวังเผยมุมมองอีกด้าน บทเรียนและบาดแผล

ยิ่งไปกว่านั้น หลายเล่มเป็นหนังสือร่วมยุคสมัยในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของประชาชนที่พิมพ์ครั้งแรกๆ ในไทย นับแต่ปี พ.ศ.2516-2517

“หลัง 14 ตุลาที่กระบวนการเคลื่อนไหวในประเทศไทยมีความรุ่งเรือง เราโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้ ผมจำได้ว่ามีการก่อตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งทั่วประเทศ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ โดนปราบปรามอย่างหนักในการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นิสิต นักศึกษาหนีเข้าป่า” บอล ชนินทร์เล่า

พร้อมขอบคุณการสนับสนุนหนังสือจากหลายองค์กร อาทิ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน, สำนักพิมพ์ซอย, มูลนิธิโครงการตำรา, มูลนิธิเสฐียรโกเศศ, สวนเงินมีมา, สังคมนิยมแรงงาน, ไอลอว์ ฯลฯ

หนังสือประวัติศาสตร์การเมือง คือจุดเด่นของห้องสมุด 1932

“ประเทศไทย เหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง เพราะนโยบายทางสังคม เราอยู่ภายใต้สังคมที่เป็นเผด็จการ เอื้อกลุ่มและพวกพ้องตัวเอง และปิดกั้นความคิดของคน

พอมีการประสานประโยชน์ คนตัวเล็กตัวน้อย ประชาชนทั่วไปก็มีเสียงน้อย ไทยเอาเงินไปลงกับความมั่นคง ซื้อเรือรบ ซื้อเครื่องบิน แต่เรียนฟรียังไม่ฟรีจริง ค่าใช้จ่ายสูง การเดินทางใน กทม. มีรถไฟฟ้าที่ว่าสาธารณะก็ยังมีค่าใช้จ่าย การศึกษาระดับอุดมศึกษา ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้จริงหรือ ผมอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย

การทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเป็นไปได้ จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้า ‘ไม่สู้’ บอลให้ความเห็น

อำนาจไม่อาจปิด ต่อสู้ทางความคิด
ยืนยันเสรีภาพทางวิชาการ

บอล “ชนินทร์” เล่าประสบการณ์ ตรงที่เห็นเสรีภาพทางวิชาการถูกคุกคาม

“ผมเคยถูกตำรวจคลองหลวงจับ ข้อหา ขนหนังสือ พอมาทำห้องสมุดก็ถูกตำรวจบุกยึดหนังสืออีก แต่ทุกครั้งที่ตำรวจเข้ามายึด กลายเป็นว่าเขาช่วยประชาสัมพันธ์ คนอยากมาห้องสมุดมากกว่าเดิมอีก (หัวเราะ)”

“ถึงแม้ว่าห้องสมุด 1932 สุดท้ายอาจจะต้องปิดลง แต่ผมเชื่อว่า ถ้าไทยยังไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ ยังมีหนังสือหลายๆ เล่มโดนแบน การพูดถึงประเด็นต่างๆ ในที่สาธารณะไม่สามารถทำได้ จะมี 1932 สาขา 2 สาขา 3, 4, 5… จะมีคนลุกขึ้นมาอ่าน ลุกขึ้นมาพูดประเด็นไม่จบไม่สิ้น” บอลเชื่อ

ขณะที่ ศรัณย์ หรือนัท มองประเด็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ว่าการประท้วงต่อสู้ในรูปแบบม็อบก็เป็นวิธีหนึ่ง การต่อสู้ในทางความคิดเรียกได้เต็มปากว่าเป็น “การต่อสู้” อีกวิธีหนึ่ง

‘ห้องสมุด’ สามารถสร้างการต่อสู้ทางความคิด และความรู้ความเข้าใจที่แข็งแกร่งให้กับสังคมได้ เหมือนเป็นการกระจายอำนาจผ่านซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power)

ก่อนเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่ตำรวจบุกเข้ามา 5 คน ไม่มีหมายค้น เข้ามาหาหนังสือ เจอสติ๊กเกอร์ต่อต้าน 112 และธงแล้วบอกว่า ‘นี่แหละหลักฐานแล้วก็หยิบไป จากนั้นพอสำนักข่าวต่างๆ ลงข่าวว่ามีตำรวจบุก ทางตำรวจโทรกลับมาว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะแค่เอาไปให้ลูกอ่าน ลูกชอบ

นิทานวาดหวัง “10 ราษฎร”

“…แต่ท่าทีตอนที่บุกอุกอาจเข้ามา 5 คน กับท่าทีตอนเอาหนังสือมาคืนไม่เหมือนกันเลย หนังคนละม้วน ผมก็ได้แต่นั่งมองหน้า…ไม่เนียน” ศรัณย์มองอย่างนั้น ก่อนย้ำว่า ‘ต่อให้เอาไปชิ้นเดียวเราก็ไม่ยอม’ พร้อมตั้งข้อสงสัย แล้วทำไมต้องมาแบบผู้บุกรุก ไม่เอาลูกมานั่งอ่าน เปิดบริการพอดี

ถามต่อไปว่า หวั่นหรือไม่ที่จะเปิดต่อ ?

ศรัณย์ บอกว่า ถ้าเรากลัว แล้วปิดตัวลง เราจะสร้างสิ่งที่เราฝันได้อย่างไร

“ในเมื่อเรายืนยันในหลักการว่า เราจะให้เสรีภาพทางวิชาการคงอยู่กับสังคมไทย เสรีภาพในการพูด การเขียน การอ่าน ต้องอยู่กับสังคมไทย ไม่ใช่รัฐอยากจะปิดอะไรก็ปิด เรายืนยันจะเปิดต่อไป ไม่ว่าจะเจอกับภัยคุกคามอะไรก็ตาม”

“ยิ่งคุณปิด เราจะยิ่งเปิด เราอาจจะเป็นกลุ่มแรก แต่อยากให้เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มอื่นลุกขึ้นมาทำเหมือนกัน แสดงออกเสรีภาพทางวิชาการ ยืนหยัดหลักการที่ถูกต้อง เคียงข้างประชาชน” ศรัณย์ทิ้งท้าย

โซนหนังสือวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก

ห้องสมุด “1932 People Space library” เปิดบริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น.
(ยังไม่มีบริการให้ยืมกลับบ้าน)


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image