Happy Journey with BEM 5 (วันเดย์) ทริป สุดยอดเอ็กซ์คลูซีฟ เที่ยวกรุงเทพฯ-เยือนฝั่งธนฯ ปักหมุดสถานี ‘สายน้ำเงิน’

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ หนึ่งในศูนย์รวมความศรัทธาของคนไทย เชื้อสายจีน

“ประเทศไทยสุดยอดเหลือเกิน แต่บางครั้งเราลืมเห็นคุณค่าและชื่นชมในสิ่งที่มี BEM จะเป็นสื่อกลางให้เกิดโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป”

คือคำกล่าวในตอนหนึ่งของ ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บนเวทีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ พร้อม วิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านตลาดในประเทศ

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ รฟม. ททท. และ BEM จัด 5 ทริปสุดพิเศษตลอดปี 2565 ชวน ‘เที่ยว-แวะ-แชะ-ชิม’ สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เปิดมุมมองใหม่บนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 5 สถานี ทั้งฟากฝั่งพระนครและธนบุรี ได้แก่ สถานีวัดมังกร สนามไชย สามย่าน หัวลำโพง และอิสรภาพ พร้อมด้วย ‘สเปเชียล ทอล์ก’ และ ‘เวิร์กช็อป’ กับวิทยากรชั้นนำ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

แถลงเปิดตัวโครงการ ‘Happy Journey with BEM’ 1 มีนาคม
ที่ผ่านมา

“โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยุคนิวนอร์มอล โดยใช้ระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินซึ่งมีสถานีตามเส้นทางสายประวัติศาสตร์ ทั้งเกาะรัตนโกสินทร์และธนบุรี ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สมาชิก MRT Club และนักเรียนนักศึกษา” ดร.สมบัติกล่าว พร้อมเชิญชวนนักเดินทางเข้าร่วมทริป

Advertisement

งานนี้กูรูทั้งศาสตร์และศิลป์หลากสาขาที่จะร่วมเป็นวิทยากรในแต่ละทริป ประกาศพร้อมเช็กโลเกชั่นใน 5 สถานีสำคัญบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน โดยแย้มไฮไลต์เป็นน้ำจิ้มประกอบจานเด็ดใน 5 ทริปตลอดปี ผ่านเสวนา ‘The History Journey’ ณ สถานีสนามไชยที่รายล้อมด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

สถานีวัดมังกร ตะลุยไชน่าทาวน์

จากแลนด์มาร์ก ถึง ‘อันซีน’

วิถีชีวิตในเยาวราชที่ พชร เกรียงเกร็ด ผู้ก่อตั้งเพจ ‘แบกกล้องเที่ยว’ กดชัตเตอร์บันทึก

ทริปแรกของปีที่เปิดให้ปักหมุดเป็นจุดแรก คือ เยาวราช ชวนชมความงดงามของวัฒนธรรมจีนอันรุ่มรวยหยั่งรากลึกในแดนสยาม จูงมือสัมผัสวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีน สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส สะเดาะเคราะห์แก้ปีชงที่วัดกันมาตุยาราม เยือนศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะอันเก่าแก่ ปิดท้ายด้วยการลิ้มลองเมนูเด็ดระดับมิชลินที่ ‘จกโต๊ะเดียว’

สมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์จีน วิทยากรประจำทริป เปิดประตูเชื้อเชิญในฐานะ ‘เจ้าบ้าน’ ชาวเยาวราชตัวจริงพร้อมนำชมอย่างอบอุ่น

“การที่รถไฟฟ้ามาถึงเราก็ดีใจอยู่แล้ว หลายสิ่งเปลี่ยนไปมาก พื้นที่ที่เคยถูกมองว่าธรรมดา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากวัดมังกรซึ่งเป็นแลนด์มาร์ก เราจะไปวัดกันมาตุยาราม ซึ่งมักถูกมองข้ามไป โดยเป็นอารามแห่งท้ายๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเจดีย์ที่ไม่เหมือนใคร ส่วนศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ลูกหลานคนจีนฟังปุ๊บ จะนึกถึงตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ แหล่งขายวัตถุดิบในการทำอาหาร จึงเป็นหัวใจของเยาวราช ทริปนี้จะพาไปค้นหาความหมายของย่านนี้” สมชัยกล่าว

ความงดงามตระการตาของวัดกันมาตุยาราม วัดไทยในเยาวราช

นอกจากดื่มด่ำประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนแล้ว พชร เกรียงเกร็ด ผู้ก่อตั้งเพจ ‘แบกกล้องเที่ยว’ ยังรับหน้าที่เป็นอีกหนึ่งวิทยากรชวนให้บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่ายในมุมมองหลากหลาย

“วัดมังกร ข้างในว้าวมากๆ ต้องร้องโอ้โห มีมุมสวยๆ แอบซ่อนอยู่ มีมุมที่น่าค้นหา อีกเสน่ห์ของเยาวราช คือ การดำเนินชีวิต มีการค้าขาย มีร้านค้าเก่าๆ ที่ยังเก็บรักษาบรรยากาศเดิมไว้ ในขณะเดียวกันก็มีคาเฟ่ใหม่ ระหว่างเดินเที่ยว สามารถถ่ายรูปได้ตลอด อยากให้ทุกคนมาลองดู” เจ้าของเพจ ‘แบกกล้องเที่ยว’ ชวนเที่ยวในทริปแรกของปี

สถานีสนามไชย

ประตูเชื่อมเกาะรัตนโกสินทร์

จากย่านชุมชนชาวจีนเก่าแก่ มาปักหมุดต่อในทริปที่ 2 ณ เกาะรัตนโกสินทร์ ร่วมชม Site Museum ณ สถานีสนามไชย พิพิธภัณฑ์ใต้ดินแห่งแรกของไทยภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ตระการตากับสถาปัตยกรรมช่างหลวงที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน และเข้าชม ‘มิวเซียมสยาม’ ยามค่ำคืนอย่างเอ็กซ์คลูซีฟ

รศ.ดร รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในวิทยากรประจำทริป พร้อมเลคเชอร์เข้มข้นด้วยเนื้อหา ทว่า ชวนเพลิดเพลินใจ

วัดพระเชตุพนฯ

“ที่ตั้งสถานีสนามไชยเป็นย่านประวัติศาสตร์ เป็นหัวใจของกรุงรัตนโกสินทร์ จุดที่จะพาไปเที่ยวชมแห่งแรก คือ วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเดิมเป็นวัดเล็กๆ สมัยอยุธยา เมื่อรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวัง จึงกลายเป็นวัดใกล้วัง ได้รับการบูรณะเป็นพระอารามขนาดใหญ่คู่กรุงรัตนโกสินทร์ มีพระพุทธปฏิมาคู่บ้านคู่เมือง มีพระเทวปฏิมากร มีพระโลกนาถ และพระพุทธไสยาศน์ ซึ่งเป็นพระนอนขนาดใหญ่ที่รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้าง รวมถึงเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 4 และอีกจุดหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เปิดให้คนเข้าชมคือ ตำหนักวาสุกรีในเขตสังฆาวาส ทริปนี้ก็จะได้ชมกันด้วย

อีกหนึ่งจุด คือ มิวเซียมสยาม เดิมเป็นอาคารกระทรวงพาณิชย์สมัยรัชกาลที่ 6 โดยตั้งอยู่บนพื้นที่กลุ่มวังหลายกลุ่มของเจ้านาย เรียกว่า วังท้ายวัดโพธิ์” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เล่า

Site Museum ที่สถานีสนามไชย เผยให้เห็นร่องรอยสถาปัตยกรรมโบราณ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วน Site Museum หรือพิพิธภัณฑ์ใต้ดินที่สถานีสนามไชย ต้องผายมือไปยัง อรรถพล นิลละออ เจ้าหน้าที่ส่วนงานประชาสัมพันธ์อาวุโส ช.การช่าง ซึ่งจะมาเล่าถึงการก่อสร้างอย่างชาญฉลาด ล้ำสมัย ในขณะเดียวกันก็อนุรักษ์ไว้ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดี

“ช.การช่างเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง การตกแต่งพิเศษ รวมถึงอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้า โดยเป็นอุโมงค์แรกที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ข้อกำหนดการสำรวจทางโบราณคดีซึ่งพบทั้งโครงสร้างสถาปัตยกรรมโบราณ และโบราณวัตถุต่างๆ บางส่วนได้นำมาจัดแสดงบริเวณทางขึ้นลงที่ 1 ของสถานีสนามไชย” อรรถพลเผยข้อมูลเบื้องต้น พร้อมเตรียมบอกเล่าอย่างละเอียดในทริปสุดพิเศษ

สถานีสามย่าน

‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’

มาถึงทริปที่ 3 ชวนปักหมุดแหล่งวัยรุ่นอย่างสามย่าน ไม่เพียงเป็นมากมายด้วยห้างสรรพสินค้าหรู ร้านรวงสายแฟชั่น ทว่า ยังเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาเก่าแก่อันได้ชื่อว่าเป็น ‘เสาหลักของประเทศ’ อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนให้ท่องเที่ยวในรูปแบบแคมปัส ทัวร์ เพลินใจกับความงามของสถาปัตยกรรมในรั้วจุฬาฯ ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลา เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เยือนศาลาพระเกี้ยว ตึกจักรพงษ์ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย และอีกมากมาย โดยมี ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นวิทยากร

ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบโดย พระสาโรชรัตนนิมมานก์

“เรื่องที่เตรียมมาชวนคุยในทริป คือ พัฒนาการที่คู่กันระหว่างมหาวิทยาลัยกับเมือง เราคงทราบว่าจุฬาฯ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ขอบเขตหนทาง เป็นสิ่งที่วางไว้แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถนนพระรามที่ 4 ซึ่งรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งผ่าน เป็นถนนที่วิ่งไปปากน้ำตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนถนนพระรามที่ 1 หน้าวัดปทุมวรารามราชวรวิหารก็ตัดในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน เพราะฉะนั้นในช่วงเวลา 100 ปี ทั้งเมืองและมหาวิทยาลัยพัฒนาควบคู่กัน” ผศ ดร.พีรศรีอธิบาย ก่อนบอกเล่าถึงความสำคัญของอาคารหลายหลังในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่เปรียบเสมือน ‘ภาพจำลองของสถาปัตยกรรมไทย’

“เราจะเห็นทั้งอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ซึ่งรัชกาลที่ 6 เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ ตึกจักรพงษ์ สมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งสถาปนิกไทยที่ไปเรียนที่อังกฤษออกแบบเป็นหลังแรก หอประชุมสมัยรัชกาลที่ 8 หรือศาลาพระเกี้ยวสมัยรัชกาลที่ 9 ตลอดจนต้นจามจุรีซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงปลูก นอกจากอาคารสถานที่ เรายังมีเรื่องราวของชีวิต ซึ่งอาจารย์สมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์จะมาชวนคุย” ผศ.ดร.พีรศรีกล่าว

ก่อนปิดท้ายว่า ในฐานะเจ้าบ้านว่า ทริปนี้จะจบอย่างอิ่มอร่อยด้วยการลิ้มลองขนมรสเลิศที่ร้านกาแฟ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สถานีหัวลำโพง

กดชัตเตอร์ บันทึกชีวิต ‘Street Photo Walk’

หัวลำโพง ในมุมมอง พิชัย แก้ววิชิต (ภาพจากอินสตาแกรม @phichaikeawvichit)

จากสามย่าน เขยิบมาเพียง 1 สถานี สู่สถานีหัวลำโพงในทริปที่ 4 ซึ่งจะชวนเปิดมุมมองใหม่ไปกับ พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพแนวสตรีท ผู้มีผลงานโดดเด่นด้วยสไตล์มินิมอล อดีตวินจักรยานยนต์สายตาเฉียบคมต่อทุกเฟรมรอบตัว

ร่วมเดินเท้ากดชัตเตอร์ตั้งแต่ตัวอาคารสถานีรถไฟเก่าแก่ จนถึงตึกแถวบนถนนไมตรีจิตต์ ร้านอาหารและคาเฟ่สุดฮิปในตรอกซอกซอย พร้อมร่วมกิจกรรมประกวดภาพถ่าย รับของที่ระลึกสุดพิเศษจาก BEM

“ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ในอดีตแต่เป็นเรื่องราวที่อยู่ร่วมกับเราในปัจจุบัน

ผมเน้นการถ่ายภาพโดยใช้ความรู้สึกปฏิสัมพันธ์กับสถานที่

เวลาถ่ายภาพจะพยายามให้คนถ่ายเห็นภาพของตัวเองไปด้วยในขณะนั้น ไม่ได้ผิดถูก แต่เป็นการตีความคุณค่าในสิ่งที่เห็น

ในขณะเดียวกันอยากให้เห็นชีวิตของสถานที่ซึ่งใช้ลมหายใจในปัจจุบันร่วมกับเราได้เสมอ” พิชัย กล่าว ก่อนตอบคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ หากจะร่วมทริปนี้โดยมีเพียงสมาร์ทโฟน ไม่ใช่กล้องถ่ายภาพอย่างมืออาชีพ

“จะใช้มือถือหรืออะไรก็ได้ เพราะเชื่อว่าการถ่ายภาพที่ดีที่สุด คือการถ่ายจากความรู้สึก” เป็นคำตอบเรียบง่ายในทริปที่แตกต่างของวิทยากรคนพิเศษผู้มีเส้นทางชีวิตน่าสนใจไม่แพ้ภาพถ่ายของตัวเอง

สถานีอิสรภาพ

ตามรอยพระเจ้าตาก ย้อนฉากสุดท้ายกรุงธนฯ

หงส์สีทองอร่ามในสถานีอิสรภาพ ยึดโยงความหมายเชื่อมร้อยวัดหงส์รัตนาราม อารามเก่าแก่ฝั่งธนบุรี

ปิดท้ายด้วยทริปที่ 5 ซึ่งจะพาลัดเลาะฝั่งธนบุรี ชมวัง มองวัด ตามรอยพระเจ้าตากสินไปยัง ‘พระราชวังเดิม’ ซึ่งประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มากมายด้วยเรื่องราวเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ อาทิ ท้องพระโรง อาคารเก๋งคู่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตำหนักพระปิ่น เป็นต้น จากนั้น เยี่ยมชม ‘วัดอรุณราชวราราม’ ที่ไม่เพียงเลื่องชื่อด้วยความงดงาม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งใน ‘ตอนสุดท้ายของธนบุรี’

ทริปนี้ วิทยากรจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ปรามินทร์ เครือทอง เจ้าของหนังสือ ‘ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี’ และ ‘กบฏเจ้าฟ้าเหม็น’

“เราจะเริ่มที่พระราชวังเดิม อ่านการเมืองผ่านท้องพระโรงของพระเจ้าตาก ในนั้นยังมีเก๋งจีนซึ่งมีทั้งเรื่องโรแมนติกและดุเดือด ก่อนข้ามฝั่งไปยังวัดอรุณราชวราราม ซึ่งแนวคิดเรื่องไตรภูมิอยู่เบื้องหลังการสร้างพระปรางค์ อุโบสถและวิหารด้านหน้า คือเรื่องราวตอนสุดท้ายของกรุงธนบุรี แผ่นดินกรุงธนบุรีจบลงที่วัดอรุณฯ” ปรามินทร์กล่าวอย่างมีเงื่อนงำ ก่อนปิดท้ายชวนใจระทึก

“ไม่บอกว่าจบตรงไหน ให้มาตามดูในทัวร์”

ที่ไหน เมื่อไหร่ ใครพาทัวร์?

5 ทริป ‘Happy Journey with BEM’

● ทริปที่ 1 สถานีวัดมังกร ‘ตะลุยไชน่าทาวน์เมืองไทย ท่องเที่ยวถนนสายมังกร’
วันพุธที่ 23 มีนาคม 2565
วิทยากร : สมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีนและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พร้อมด้วย พชร เกรียงเกร็ด อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ผู้ก่อตั้งเพจ ‘แบกกล้องเที่ยว’

● ทริปที่ 2 สถานีสนามไชย ‘ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์’
เสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565
วิทยากร : รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไวยาวัจกรวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (โดยพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช) รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และอรรถพล นิลละออ เจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

● ทริปที่ 3 สถานีสามย่าน ‘แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี’
เสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565
วิทยากร : ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี

● ทริปที่ 4 สถานีหัวลำโพง ‘Street Photo Walk เดิน ถ่าย ทัวร์’
เสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2565
วิทยากร : พิชัย แก้ววิชิต ช่างภาพแนวมินิมอลและแนวสตรีท อดีตวินมอเตอร์ไซค์ที่มองเห็นความงามของสิ่งรอบตัว

● ทริปที่ 5 สถานีอิสรภาพ ‘ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน’
เสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2565
วิทยากร : ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี และกบฏเจ้าฟ้าเหม็น

ทั้งนี้ ทริปแรก สถานีวัดมังกร ‘ตะลุยไชน่าทาวน์เมืองไทย ท่องเที่ยวถนนสายมังกร’ เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ถึง 16 มีนาคม ส่วนอีก 4 ทริป ติดตามรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์และเปิดรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะๆ ตลอดปี 2565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image