‘พิพิธภัณฑ์บันดาลไทย’ ปลุกแนวร่วม ‘คนรุ่นใหม่’ ดีไซน์มรดกชาติสู่ความร่วมสมัย

สิ้นสุดลงแล้วอย่างน่าประทับใจสำหรับกิจกรรม ‘พิพิธภัณฑ์บันดาลไทย’ ภายใต้โครงการกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเยาวชน (ภาคฤดูร้อน) โดย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ร่วมกับ กลุ่มเซียมไล้ เมื่อวันที่ 25-28 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงละครแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

งานดังกล่าวมีเยาวชนอายุ 15-18 ปี จากหลากหลายโรงเรียนมัธยมศึกษาสมัครเข้าร่วมถึง 15 ทีม รวม 73 คน ร่วมเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานจากมรดกวัฒนธรรมของชาติผ่านมุมมองใหม่ๆ ที่ความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องซ้ำซากจำเจ

บังคับไปก็ไม่โดนใจเด็ก
ผสมเก่า-ใหม่ ความเป็นไทยที่ต้อง ‘เลิกเชย’

นักเรียนผู้ผ่านการอบรมทั้ง 73 คน

ดวงกมล กมลานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดเผยว่า เป้าหมายคือ ต้องการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน โดยเฉพาะวัยรุ่น ได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย ได้รู้จักว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคืออะไร ได้เห็นพิพิธภัณฑ์ในตอนนี้ซึ่งพัฒนาไปหลายด้าน โดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบกว่าสิบปี

“อยากให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้ามาดูความแปลกใหม่ ให้มาเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ไม่เชย ไม่ได้มืดทึบ น่ากลัว หรือมีแต่คนนั่งเฝ้าของเก่าอย่างภาพที่หลายคนจดจำ ถ้าได้มีโอกาสมาดู เขาจะได้รู้ว่ามันเปลี่ยนไป

Advertisement

โจทย์คือ อยากให้เยาวชนเรียนรู้ศิลปกรรมไทย มรดกวัฒนธรรมไทย แต่ถ้าเราทำแบบเดิมๆ พาเด็กไปเดินชม หรือโรงเรียนบังคับพามา มันเหมือนไม่โดนใจเด็ก เลยคิดว่าจะทำยังไงให้ไม่เชย ความอยากผสมเก่ากับใหม่ด้วยกัน ก็เลยคิดว่าเอาเรื่องดิจิทัลเข้ามาผนวกกับงานอาร์ต งานศิลปกรรมของไทยที่มีมาเป็นร้อยๆ ปี แบบนี้คงจะโดนใจกว่า” ดวงกมลกล่าว

สำหรับกิจกรรมแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการเยี่ยมชมสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจและนำไปต่อยอดทำคลิปอาร์ต อันเป็นกิจกรรมส่วนที่สอง

กลุ่ม ‘บอกไม่ได้ ความลับ’ รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์

วันแรกของกิจกรรม พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ผู้บริหารกรมศิลปากร คณะครูและนักเรียนจาก 11 โรงเรียน ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 กรุงเทพฯ เข้าร่วม

Advertisement

จากนั้นเยี่ยมชมอาคารมหาสุรสิงหนาทในช่วงเช้า และเรียนรู้เรื่องราวของ ‘คลิปอาร์ต: กราฟิกเล็กๆ พลังไม่เล็ก, สิ่งแวดล้อมคือตัวตน และสิ่งบ่งชี้พื้นถิ่น’ โดยคณะวิทยากรกลุ่มเซียมไล้ วันต่อมา ศึกษาการเก็บข้อมูลภาพถ่ายสำหรับทำคลิปอาร์ต จากนั้นจึงให้เยาวชนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ณ หมู่พระวิมาน อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์และตำหนักแดง แล้วเริ่มปฏิบัติการทำคลิปอาร์ตจากภาพถ่ายด้วยโปรแกรม Photoshop และ illustrator 2 วันเต็ม ก่อนนำเสนอผลงาน โดยมีคณะกรรมการให้ความเห็น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอด รวมถึงลงคะแนนเพื่อตัดสินรางวัล ประกอบด้วย ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย, ดวงกมล กมลานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ไพโรจน์ ธีระประภา หรือ ‘โรจน์ สยามรวย’ นักออกแบบฟอนต์ชื่อดัง, ผศ.ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ, ปณต ทองประเสริฐ และว่าที่เรือตรี ธนพงษ์ ผลาขจรศักดิ์

เมื่องานศิลป์แห่งหมู่พระวิมาน
กลายเป็นไอเท็มร่วมสมัยในชีวิตประจำวัน

ผลงานกลุ่ม ‘สมองไม่แล่น’

สำหรับผลรางวัล กลุ่ม ‘สมองไม่แล่น’ คว้ารางวัลความสวยงามจากภาพนกเกาะกิ่งไม้ ชะนี และแมลงปอที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายหน้าต่างของหมู่พระวิมาน แต่งแต้มสีสันเพิ่มเติมให้มีความร่วมสมัย สดใส สะดุดตา จากนั้น นำมาประยุกต์ใช้บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อยืด กางเกงยีนส์ หมวด และถุงผ้า ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘ลายไทย’ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ล้าสมัย

ในขณะที่ กลุ่ม ‘บอกไม่ได้ ความลับ’ คว้ารางวัลความคิดสร้างสรรค์จาก 3 ผลงานสุดปังที่หยิบจับรายละเอียดในลวดลายงดงามซึ่งซุกซ่อนอยู่บนบานประตูหน้าต่างมาดีไซน์

“ผลงานชิ้นแรกชื่อว่า KOKO HAND (โคโค่ ฮัน) โดยคำว่า ฮัน มาจากภาษาเยอรมันแปลว่ามือ เพื่อจะสื่อถึงความตั้งใจที่เราได้ทำสิ่งนี้ขึ้นมากับมือ โดยเลือกใช้รูปลิง เพราะทำให้นึกถึงลิงเก็บมะพร้าวซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในประเทศไทย ในภาพจะมีเขียนไว้ว่า ส่งตรงจากสวนถึงมือคุณ ก็เหมือนเราตั้งใจทำด้วยมือของเราเอง ลิงเป็นเหมือนตัวแทนของพวกเรา ตรงตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้

ผลงานชิ้นที่ 2 ชื่อว่า โซ้ยเปียน เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทยาดม ที่เลือกทำยาดม เพราะเหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทยและผู้คนส่วนใหญ่นิยมพกติดตัว โดยสีแดงที่เลือกใช้มาจากวัฒนธรรมในอดีต คือการนุ่งโจงกระเบนสีแดง เราเลือกใช้รูปดังกล่าวมาทำผลิตภัณฑ์ยาดม เพราะมีการสื่ออารมณ์ที่ชัดเจน ดูผ่อนคลาย สดชื่น”

ผลงานกลุ่ม ‘บอกไม่ได้ ความลับ’
ผลงานทีม ‘อ้ายมา 5 คน’

 

ผลงานชิ้นสุดท้ายเป็นกระเป๋าผ้า ได้รับแรงบันดาลใจจากต้นมักกะลีผล ซึ่งเป็นรูปที่ให้ความรู้สึกร่วมสมัย ไม่เก่าไม่ใหม่เกินไป บริเวณส่วนหัวเลือกใส่สีแดงเพื่อเพิ่มความโดดเด่นให้มากขึ้น ด้านล่างจะเป็นบทสวดบูชามักกะลีผล เนื่องจากมักกะลีผล สวยและมีเสน่ห์ สามารถดึงดูดผู้คนได้ ด้านบนคือคำว่า SAC เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่ากระเป๋า เราเลือกใช้คำนี้เพราะเรียนอยู่สายภาษา” ตัวแทนกลุ่ม ‘บอกไม่ได้ ความลับ’ อธิบาย

จาก ‘ลายไทย’ สู่ ‘ไลน์เทพ’
ยั่วล้อวันวานอย่างมีชั้นเชิง

รางวัลสุดท้าย ตกเป็นของกลุ่ม ‘ภาชนะ’ ซึ่งมีลีลาการพรีเซ็นต์กับผลงานที่ไม่ธรรมดา จนคว้ารางวัลป๊อปปูลาร์โหวตจากผลงานได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

“เราเอารูปถ่ายที่ได้ไปตกแต่ง ต่อเติม จัดองค์ประกอบ เพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยผสมกับการล้อเลียนสังคมไทยไปด้วย

ผลงานทีม ‘ภาชนะ’

ผลงานชิ้นแรกจะเป็นการออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์นรสิงห์สมาร์ทโฟน โดยรูปนรสิงห์ที่ได้ มาจากประตูหน้าต่างในพิพิธภัณฑ์ เมื่อเห็นว่าสามารถนำมาดัดแปลงได้ เราจึงตัดแต่ง ต่อเติม โดยเราจะมีตัวแม่ที่ถือโทรศัพท์กับกระเป๋า ตัวลูกมีการสะพายเป้ ถือโทรศัพท์ ส่วนตัวพ่อใส่หมวกและถือโทรศัพท์

ผลงานชิ้นที่ 2 เป็นโลโก้ผลิตภัณฑ์รูปควายซิ่ง ที่ตัดสินใจเลือกรูปนี้มาใช้ เพราะตัวละครลิงให้ความรู้สึกถึงความซุกซน อยู่ไม่นิ่ง สนุกสนาน เสมือนวัยรุ่นไทยที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง รักสนุก คึกคะนอง เรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว ส่วนควายที่เห็นในภาพก็จะเปรียบเหมือนกับพาหนะในปัจจุบัน นั่นทำให้ผมต้องเพิ่มดีเทลหมวกกันน็อกให้ลิงเพื่อความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับโลโก้นี้จึงเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง เวลาดื่มจะได้รู้สึกคึกคัก

ผลงานนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง

“ผลงานชิ้นสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อ ไลน์เทพ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตู้ในส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ โดยสามลายที่เราเลือกมาสื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน จึงนำมาต่อเติมให้สมบูรณ์ ก่อนจะนำมาทำเป็นหมวก” ตัวแทนกลุ่ม ‘ภาชนะ’ กล่าว

 

หวังมรดกบรรพบุรุษไทยถูกใช้ใน ‘โลกปัจจุบัน’

รศ.อาวิน อินทรังษี รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในวิทยากร กล่าวถึงจุดประสงค์ของการอบรมเชิงปฏิบัติการในส่วนที่รับผิดชอบว่า กิจกรรมครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายให้เยาวชนได้รับความรู้ในการใช้โปรแกรมตัดต่อพื้นฐาน มองเห็นคุณค่าของโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ว่าสามารถนำไปต่อยอดและอาจกลายเป็นหนทางสร้างรายได้ในอนาคต โดยผู้ทำงานด้านกราฟิกสไตล์ไทยก็สามารถนำวัตถุดิบไปใช้งานได้ด้วย อยากให้ความเป็นไทยที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นถูกนำมาใช้ในโลกปัจจุบัน แทนที่จะอยู่เพียงในวัดวาอาราม

สอดคล้องกับมุมมองของ ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยากรมองภาพรวมของ กิจกรรมครั้งนี้ว่ามีผลตอบรับดี เยาวชนที่เข้าร่วมต่างมีบุคลิกเป็นของตัวเอง ทำให้บรรยากาศสนุกสนาน เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

รศ.อาวิน อินทรังษี วิทยากรกลุ่มเซียมไล้

“กลุ่มที่สนุกก็สนุกจริงๆ แม้จะมีบางกลุ่มที่ติดขัดด้านความเข้าใจเรื่องโปรแกรม แต่สุดท้ายหลายคนก็ทำออกมาได้ดี ถ้าพูดกันตามความเป็นจริง เด็กที่ทำโปรแกรมพวกนี้ได้มีน้อยมาก แต่พอได้สอน ได้แนะนำ ไปเดินดูทีละโต๊ะ เขาก็เข้าใจมากขึ้น ต่อไปถ้าจะต้องทำรูป ทำโปสเตอร์ส่งอาจารย์ก็คงทำได้ในระดับหนึ่งจากการมีความรู้พื้นฐานของโปรแกรม หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องที่เขาต้องเอาไปฝึกฝนต่อ” ธีรวัฒน์ทิ้งท้าย

ถือเป็นโครงการดีๆ ที่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ‘จัดให้’ คนรุ่นใหม่ที่จะดูแลมรดกชาติต่อไปในวันพรุ่งนี้


เยาวชนกดไลค์

ประสบการณ์ใหม่นอกตำราประวัติศาสตร์

การนำเสนอผลงานของทีมโสต นมร.สว.

“ทราบข่าวกิจกรรมจากประกาศของทางโรงเรียน เกิดความสนใจจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วม เพราะส่วนตัวชื่นชอบในโบราณวัตถุ แต่ไม่มีความรู้ด้านโปรแกรมพื้นฐานในการทำงานกราฟิก เมื่อได้เข้าอบรมจึงได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน”

เดชอดุลย์ สำเภาดี
นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนทวีธาภิเศก

“ได้ความรู้เรื่องการใช้โปรแกรมต่างๆ มากมาย รวมถึงข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำผลงานต่างๆ ในโรงเรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ความรู้จากการอบรมครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดในงานที่อาจารย์สั่งให้มีความคิดสร้างสรรค์ บางทีคลิปอาร์ตที่เคยมีอยู่อาจไม่พอ ซึ่งต่อไปนี้เราก็สามารถทำใช้เองได้แล้ว อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกเพื่อเป็นโอกาสดีๆ ให้คนรุ่นต่อไป”

ปภาวรินท์ ลาภอนันต์
นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนชลกันยานุกูล

การเยี่ยมชมส่วนจัดแสดง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image