ถอดบทเรียนสุดช้ำ 30 ปี ‘พฤษภามหาโหด’ ถึงเวลาเปิดความจริง

เป็นเดือนที่ร้อนรุ่มทั้งสภาพอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิทางการเมือง

สำหรับ “พฤษภาคม” ของทุกปี มีวาระใหญ่ให้ย้อนรำลึกไม่ว่างเว้น ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ประชาชน นักศึกษา ออกมาประท้วงรัฐบาล ค้านนายกฯคนนอก นำมาซึ่งการปราบปรามสังหารหมู่

การลุกขึ้นสู้ของ คนเสื้อแดง ในปี 53 ที่ขอให้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่กลับได้ 99 ศพกลับมา

ไปจนถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 ที่ความล้มเหลวจาก 8 ปีภายใต้การบริหารของ คสช. ฝังตรึงในใจ
เป็น 3 เหตุการณ์หลัก ที่ยังปักอยู่ใจกลางปัญหา ทุกความขัดแย้ง ล้วนแล้วแต่มีที่มาประการเดียวกัน นั่นคือการลุกขึ้นทวงคืนสิทธิและอำนาจในการปกครอง ตามถ้อยคำที่รับรองในกฎหมายสูงสุดของชาติ ที่ว่า “อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย”

Advertisement

ไม่นานมานี้ “มติชนสุดสัปดาห์” ร่วมกับ “ศูนย์ข้อมูลมติชน” จัดเสวนาประเด็นร้อนกลางหอประชุมข่าวสด ในหัวข้อ 3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง โดยมี พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ ผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ และอดีตโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ ดำเนินการสนทนา ยิงคำถามส่งตรงถึง 3 วิทยากรผู้ผ่านเหตุการณ์ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง จาก 3 มุมมอง ครบทั้งทหาร นักศึกษา ประชาชน หวังก้าวต่อไปของสังคม จะแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ ไม่ใช่หยดเลือด

จี้เลิกฝังกลบ-คืนศพให้ญาติ
ยอมรับบทเรียน

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ผู้นำนิสิต-นักศึกษา ในช่วงพฤษภาคม 2535 ซึ่งปัจจุบันอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเล่าว่า ในช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภา 2535 หนังสือพิมพ์ข่าวพิเศษ ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2533 หน้าปกขึ้นว่า “ลาทีรัฐประหาร” คือความรู้สึกของคนยุคนั้น

จากประชาธิปไตยครึ่งใบไปสู่แบบเต็มใบ หากการแก้ปัญหาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีการเอารถถังมายึดอำนาจ การปราบปรามประชาชนจะเป็นแค่ตำนาน แต่ 2-3 เดือนให้หลัง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เกิดการยึดอำนาจ ในวันรุ่งขึ้น พลเอกสุจินดา คราประยูร ให้สัมภาษณ์อย่างยิ้มแย้มกับสื่อมวลชนว่า บ้านเมืองจะถอยหลังเพียงก้าวเดียว แต่เดินหน้าไปสิบก้าว และจะให้มีเลือกตั้งภายใน 6 เดือน

Advertisement

อาจารย์ปริญญาอธิบายเพิ่มเติมว่า นักศึกษา 24 มหาวิทยาลัย รวมพลังกัน ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าที่บ้านเมืองจะก้าวหน้านั้น “ไม่จริง”

“เขาตั้ง ส.ว.ขึ้นมาเลือกนายกฯ ในร่างแรก คนจึงไปประท้วงที่หน้าสภา สุดท้ายเขายอมถอย รัฐธรรมนูญจึงผ่านออกมาได้ ตอนนั้น พลเอกสุจินดา คราประยูร ให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่เป็นนายกฯ แต่สุดท้าย 7 เมษายนก็เข้ารับตำแหน่ง จึงเกิดการประท้วงและนำไปสู่การปราบปรามประชาชน” อดีตผู้นำนิสิต-นักศึกษา ปี 35 เผยความในใจ

“ผมไม่นึกว่าภาพที่เคยเห็นในหนังสือ คนเป็นแสนออกมาชุมนุม จะเกิด หรือทหารเอาปืนออกมา
ยิงประชาชน ก็ไม่อยากเชื่อ สิ่งที่มีประโยชน์ในการพูดกันคือ ทำอย่างไรให้เหตุการณ์ไม่เกิดขึ้นอีก ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร ท่านลองถามตัวเองดูว่า บ้านเมืองดีขึ้นกว่า 30 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ เมื่อปี 2533 ผู้คนเชื่อว่าการรัฐประหารจะหมดแล้ว แต่ตอนนี้เราไม่แน่ใจ เรากลัวจะมีอีก มันถอยหลัง”

รศ.ดร.ปริญญาคิดเห็นว่า ผ่านมา 30 ปีแล้ว ควรจะคืนศพผู้สูญหายให้ญาติ เพื่อยอมรับที่ผ่านมาว่าคือ “บทเรียน” จะได้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้ ด้านรายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหม เต็มไปด้วยแถบดำคาดไว้ ตามเวลาคือ 20 ปีก็เปิดเผยได้ ถึงเวลาต้องเผย เพื่อให้จบในแง่ของข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้ช่วยกันป้องกัน

รัฐธรรมนูญอัพเกรด
เครื่องมือสืบทอดอำนาจ ผ่าน ส.ว.

รศ.ดร.ปริญญายังกล่าวเทียบ รัฐธรรมนูญ ที่ได้จากการรัฐประหารปี 2534 ของคณะ รสช. กับคณะ คสช. ในปี 2557 ว่าใช้บริการของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ทั้งคู่ และเขียนให้มีการสืบอำนาจผ่าน ส.ว.เหมือนกัน โดยได้สรุปบทเรียนจาก 30 ปีที่แล้วว่า หากใส่อำนาจ ส.ว.ไว้ตั้งแต่แรก จะถูกประท้วงและไม่ผ่าน ดังนั้น ในร่างแรกจึงไม่มีอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ แต่เพิ่มมาในคำถามเพิ่มเติม

จากนั้นอธิบายต่อว่า รัฐธรรมนูญปี 2534 ถูกแก้ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือหลังพฤษภา 2535 มีการแก้รัฐธรรมนูญ 4 มาตรา คือ นายกฯ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), คนทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ คือประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ประธานวุฒิสภา และถอดอำนาจ ส.ว.ในการลงมติไม่ไว้วางใจ ต่อมาปี 2538 ยกเลิกตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป และในปี 2539 เกิดการแก้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เขียนใหม่จนเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540

“ผมเข้าใจว่า อาจารย์มีชัยได้สรุปบทเรียน พร้อมหาหนทางให้แก้ไขยาก หรือไม่ให้แก้ ด้วยการใส่กลไกว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเสียงของ ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย ส.ว.ที่เลือกนายกฯ ได้ มันทำลายหลักการ ‘1 คน 1 เสียง’ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย รัฐธรรมนูญปี 60 คงอำนาจ ส.ว.ไว้ทุกอย่างในการเลือก ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มาคือ คสช.เป็นคนเลือก บ้านเมืองก็ถอยหลัง
มาจนถึงขณะนี้

“แน่นอนว่า ทหารต้องเลิกปฏิวัติ แต่ประชาชนต้องว่ากันตามกติกา การไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง ต้องเลิก นี่คือข้อที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจได้ถึง 8 ปี ท่านปกครองเราได้เพราะเราแตกแยกกัน ประชาชนต้องสามัคคี เห็นต่างได้ ให้มันจบที่คูหาเลือกตั้ง และในวาระ 30 ปีของพฤษภา 35 และ 90 ปี ของประชาธิปไตย เราจะได้ก้าวไปข้างหน้าเสีย ศาลต้องเลิกรับรองประกาศคณะปฏิวัติ การปฏิวัติต้องหมดไป แล้วปล่อยให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตกันเองโดยสันติวิธี” รศ.ดร.ปริญญาชี้

แนะปักหมุดอุดมการณ์

มากกว่ายึดมั่นตัวบุคคล

สมบัติ บุญงามอนงค์

ถึงคิว สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมือง เปิดเผยว่า หลังเหตุการณ์พฤษภา ปี 35 นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี เป็นหัวหน้าชุดทำวิจัยเกี่ยวกับการสอบสวนข้อเท็จจริงปี 2535 ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร บทสรุปชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากการรัฐประหารปี 2534 นั่นเป็นบทเรียนในหมู่เอ็นจีโอ หลังเวทีปี 2535 เต็มไปด้วยอดีตฝ่ายซ้าย และเอ็นจีโอฝั่งของนักศึกษา เริ่มที่รามคำแหง ตอนนั้น คุณสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ เป็นนายก อสมร. ประท้วงเกือบจะทันที และมีคนถูกจับ 15 คน ตนจำได้ดี เพราะได้เอาเงินเก็บจำนวน 10,000 บาท ไปช่วยประกันตัว ในช่วงปี 2534-2535 ตนอยู่ที่ ม.รามคำแหง ได้ไปชวนน้องในชมรมให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการทาตึกสีดำไว้อาลัย แล้วชมรมอื่นๆ ร่วมทาด้วย จนตึกกลายเป็นสีดำทั้งหมด

บก.ลายจุดยังเล่าต่ออีกว่า พอเหตุการณ์ปี 2549 ที่มีการยึดอำนาจ ก็รีบจัดประชุมนักกิจกรรมที่ออฟฟิศ แล้วออกเคลื่อนไหวในนามเครือข่าย “19 กันยา ต้านรัฐประหาร” สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้แม่นซึ่งเป็นชุดความคิดจากปี 2535 คือ อย่าให้การรัฐประหารสำเร็จ พวกองค์กรเอ็นจีโอ ทำเกี่ยวกับสันติภาพ เผยแพร่งานเขียนของ “ยีน ชาร์ป” ฝึกอบรมกันมากมายว่าจะประท้วงอย่างไรโดยสันติ ต่อต้านอำนาจรัฐโดยไม่เกิดความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้มันกำลังเติบโตในวงการเรา

“ที่น่าเสียใจคือพอปี 2549 หรือปี 2557 พวกเราที่เป็นภาคประชาชน ได้รับบทเรียนจากปี 2535 แตกแยกกัน แล้วบรรดาพี่ๆ ส่วนใหญ่เขาอยู่ในฝ่ายที่สนับสนุนหรือนิ่งเฉยต่อผู้ก่อการยึดอำนาจ ทำให้ภาคประชาสังคมในช่วงหลังอ่อนแอลง และไม่สามารถดำรงบทบาทในสิ่งที่ควรได้

“ปี 49 มีพี่คนหนึ่งโทรศัพท์ไปบอกพรรคพวกผม ให้ผมอย่าใจร้อน ผมตกใจมาก ผมคิดว่าออกไปต้านรัฐประหารจะได้เจอพวกพี่ๆ ปี 35 เต็มไปหมด แต่ไม่ใช่”

สมบัติยังเปิดเผยถึงสิ่งที่ตกผลึกด้วยตนเอง จากการต้านรัฐประหาร 3 ครั้งว่า อย่ายึดติดตัวบุคคล

“คนที่เคยเดินตาม ตอนปี 35 พอปี 49 เขาเป็นอีกคน จนปี 57 เขาเป็นอีกคน ยึดถือหลักการและต่อให้มีคนเหน็บแนม แต่ ‘หลักการ’ มันยั่งยืน พอผ่านกาลเวลาไป สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่าเดินตามบุคคล”

ลดตัวแปรเพื่อประเทศเดินหน้า
จี้ทหาร ‘ถอนตัวจากการเมือง’

ตัดภาพมาที่ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในยุคนั้น มองว่า นับวันการเมืองจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปี 2475 สู้กันระหว่างคณะราษฎรกับระบอบเก่า แค่นั้น แต่วันนี้คงไม่ต้องพูดถึง ถ้าพูดในภาษาพีชคณิต ปัจจุบันตัว Unknow เยอะแยะไปหมด พีชคณิตชั้นเดียว ก็ตัว x ซึ่งแก้ง่าย, 2 ชั้นคือ x y, 3 ชั้นคือ x y z บ้านเมืองเราทุกวันเป็นอย่างนี้ ถ้าทหารถอนตัวออกจากการเมือง อย่างน้อยการเมืองคงจะลดตัวแปรไปสักตัวหนึ่ง แต่จะทำได้หรือไม่อย่างไร คงต้องพิจารณากัน

“ผมยังจำความรู้สึกตัวเองหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ได้ มันคงถึงเวลา ที่กองทัพจะถอนตัวออกจากการเมืองเสียที บ้านเมืองก็จะไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น แต่การรัฐประหารปี 2557 ครั้งล่าสุด ผมไม่รู้ว่าทหารไปยั่วยุให้ประชาชนออกมาเรียกทหาร หรือประชาชนต้องการทหารจริงๆ เพราะฉะนั้น จะยกภาระทั้งหมด ให้ทหารถอนตัวเองออกไป ยังไม่พอ เพราะยังมี y z หรือกลุ่มทุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่อย่างน้อย การถอนทหารออกมา ตัวแปรก็น้อยลง” พล.อ.บัญชรกล่าวทิ้งท้าย

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image