ย้อนเส้นทาง 20 ปี บูรณะ ‘สด๊กก๊อกธม’ จากซากปรักหักพัง สู่ ’อุทยานประวัติศาสตร์’

ย้อนเส้นทาง 20 ปี บูรณะ ‘สด๊กก๊อกธม’ จากซากปรักหักพัง สู่ ’อุทยานประวัติศาสตร์’
เสานางเรียง หรือเสานางจรัลตลอดเส้นทางดำเนินเชื่อมโลกมนุษย์และสวรรค์ ตามความเชื่อ

‘สด๊กก๊อกธม’ ถูกยกให้เป็นโบราณสถานที่มนุษย์สร้างด้วยหิน ที่มีความโดดเด่นมากที่สุดในภาคตะวันออกตั้งอยู่ในพื้นที่ติดต่อกับไทย-กัมพูชา อ.โคกสูง จ.สระแก้ว แม้ตัวปราสาทและพื้นที่โดยรอบจะมีขนาดและความวิจิตรของลวดลายจำหลัก ไม่เทียบเท่ากับปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา และปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ แต่หากมองในเรื่องความโดดเด่น ในรูปแบบศิลปะเขมร ในฐานะศาสนสถานในศาสนาฮินดูแบบ
ไศวนิกาย ซึ่งเกิดก่อน ปราสาทพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง กว่า 100 ปีแล้ว ถือว่ามีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ย้อนกลับไปในปี 2536 กรมศิลปากรเข้าสำรวจตัวปราสาทสด๊กก๊อกธม หลังสงครามเขมรแดงสิ้นสุดลง ซึ่งขณะนั้นตัวโบราณสถานค่อนข้างพังทลาย หลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง เนื่องจากสภาวะสงคราม ที่ได้ใช้พื้นที่บริเวณปราสาทเป็นค่ายพักของชาวกัมพูชาที่อพยพหนีสงครามเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทย

ระหว่างการบูรณะปราสาทประธาน

จากนั้นเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนบูรณะ ในปี 2538-2553 ใช้เวลาบูรณะยาวนานกว่า 20 ปีด้วยวิธี โดยวิธีอนัสติโลซิส (anastylosis) คล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์ โดยการให้ลำดับเลขติดกับหินที่ทลายลงมาก ก่อนทดลองเรียงหินเก่าประกอบคืนตำแหน่งเดิมและใช้หินใหม่ทดแทนที่ขาดหายไปเพื่อคืนสภาพให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แบบที่ไม่มีการสร้างของใหม่ขึ้นมาทดแทน กระทั่งได้รับการประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ในปี 2562

และล่าสุด สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เปิดศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธมที่จัดสร้างใหม่ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องราวการค้นพบปราสาท และศิลาจารึกจากปราสาทเขมรแห่งนี้

Advertisement
ภาพมุมสูงปราสาทสด๊กก๊อกธม

ย้อนไทม์ไลน์ต้นกำเนิด ‘สด๊กก๊อกธม’

ตามประวัติศาสตร์เล่าขานไว้ว่า ปราสาทสด๊กก๊อกธม สร้างขึ้นเมื่อปี 1595 ตามพระราชบัญชาของพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 กษัตริย์เขมร เพื่อพระราชทานแด่ “พระกัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน” พระราชครูของพระองค์ เดิมชาวบ้านเรียกว่า ปราสาทเมืองพร้าว ต่อมาเรียกชื่อเป็นภาษาเขมรว่า “สด๊กก๊อกธม” แปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่ ต่อมาปี 2463 ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคม (ทอง จันทรศร) สำรวจโบราณสถานพบว่า เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ปราสาทเมืองพร้าว” เนื่องจากมีผู้พลัดหลงเข้าไปในบริเวณปราสาท พบสวนมะพร้าวในพื้นที่ ทั้งที่ปราสาทในช่วงเวลานั้นเป็นป่ารก ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคมได้ทำสำเนาจารึกส่งกลับมายังราชบัณฑิตยสภา กรุงเทพมหานคร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้เก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ

ปราสาทประธานสด๊กก๊อกธม

จากนั้นไม่นานกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก เมื่อปี 2478 รวมพื้นที่โบราณสถาน 641 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา และได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งแต่ปี 2538-2553 ด้วยวิธีอนัสติโลซิส ซึ่งเป็นวิธีประกอบรูปโบราณสถานขึ้นจากซากปรักหักพัง ให้กลับมามีสภาพที่รักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด

น.ส.ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ขยายความการบูรณะไว้น่าสนใจว่า ในช่วงการสำรวจเพื่อเตรียมจัดทำการบูรณะปี 2536 ตัวโบราณสถานค่อนข้างพังทลายไปมาก เนื่องจากสภาวะสงครามของประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้น และถูกใช้เป็นพื้นที่อพยพในปี 2522 ทำให้พื้นที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมและพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่อันตราย

Advertisement

กระทั่ง พ.ศ.2538 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งไทยและระดับนานาชาติได้เริ่มเข้ามาเก็บกู้วัตถุระเบิด จนแล้วเสร็จในปี 2547

“จุดเด่น สด๊กก๊อกธม เป็นปราสาทเขมรที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เกิดก่อนปราสาทหินพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง กว่า 100 ปี มีส่วนยอดปลายปราสาทเป็นทรงพุ่มยุคแรกๆ ที่ส่งอิทธิพลไปถึงปราสาทหินทั้งสองแห่ง สร้างโดยสายตระกูลพราหมณ์ ล้อมรอบปราสาทประธานจะมีเสานางเรียง หรือเสานางจรัล ซึ่งแปลว่า ดำเนิน หรือทางเดิน เข้าไปจนถึงตัวปราสาท รวม 143 ต้น โดยสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นปราสาทที่มีเสานางเรียงมากที่สุดในประเทศไทย เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่พบโบราณสถานใดที่มีเสานางเรียงมากเท่าที่สด๊กก๊อกธม ซึ่งทางกรมศิลปากรกำลังศึกษาเพิ่มเติมว่ามีเสานางเรียงมากกว่าที่ค้นพบหรือไม่ เพราะคิดว่าในอดีตน่าจะมีคันดินล้อมรอบตัวปราสาทและเสานางเรียงน่าจะมาสิ้นสุดที่คันดินดังกล่าว แต่การวิเคราะห์ครั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ มีเพียงหลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี 2498 ซึ่งเป็นปีเก่าที่สุดก่อนที่เขมรแดงจะเข้ามา หลังจากนั้นได้มีการปรับพื้นที่ ทำให้สิ่งของบางอย่างสูญหายไป การบูรณะจะเปรียบเทียบจากภาพถ่ายเก่า เพื่อให้ทราบว่ามีอะไรสูญหายไปบ้าง” หัวหน้าอุทยานฯกล่าว

พร้อมอธิบายต่อว่า การบูรณะโดยวิธีอนัสติโลซิส คล้ายการต่อจิ๊กซอว์ให้กลับสภาพเดิมมากที่สุด จะไม่มีการใช้จินตนาการมาเป็นส่วนประกอบ ดังนั้น ชิ้นส่วนใดที่ขาดหายไปจะไม่มีการสร้างขึ้นใหม่ อาทิ ทับหลัง ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญก็คงไว้ตามเดิม

เริ่มจาก “ปราสาทประธาน” เป็นอาคารสำคัญที่เป็นจุดศูนย์กลางของปราสาทสด๊กก๊อกธม เปรียมเสมือนเขาไกลาส ที่ประทับของพระศิวะ และเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์ รูปเคารพแทนองค์พระศิวะเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ปัจจุบันมีการจำลองศิวลึงค์ประดิษฐานไว้ บริเวณส่วนล่างของประตูหลอกด้านเหนือปรากฏท่อโสมสูตร สำหรับให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สรงศิวลึงค์ไหลผ่านออกมา ส่วนยอดบนสุดของปราสาทเป็นรูปทรงกลศทำจากหินทรายรองรับนภศูลปัจจุบันสูญหายไป ทางดำเนินที่มุ่งเข้าหาปราสาทประธานเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ที่เป็นที่ประทับของเทพเจ้า

‘บาราย’ สระน้ำ

ใช้ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

บาราย หรือสระน้ำขนาดใหญ่ ชาวเขมรโบราณ ได้นำความรู้เรื่องการชลประทาน มาผสมกับความเชื่อทางศาสนา จนกลายเป็นประเพณีการสร้างบารายคู่กับเทวสถาน

จุดเด่น คือ บาราย สระน้ำขนาดใหญ่ ก่อสร้างอยู่นอกกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกของปราสาท รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยคันดิน ชาวเขมรโบราณ ได้นำความรู้เรื่องการชลประทาน มาผสมกับความเชื่อทางศาสนา จนกลายเป็นประเพณีการสร้างบารายคู่กับเทวสถาน มีรูปแบบที่เห็นได้ชัดคือ มีการสร้างแนวคันดินละลม หรือคันดินรูปตัวแอล จากกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการนำน้ำเข้าสู่บาราย หรือป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่กลุ่มอาคารศาสนสถาน ส่วนการขุดตรวจ ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต มักพบเศษอิฐ หรือเศษศิลาแลงที่ใช้ก่อสร้างปราสาท โดยคูน้ำ คันดินและสระน้ำบริเวณปราสาท ไม่ได้ระบุถึงการนำมาใช้งาน เพื่อการอุปโภค บริโภค หรือมีการเชื่อมทางน้ำมาจากประเทศกัมพูชา แต่สันนิษฐานว่าอาจมีการน้ำนำไปใช้ประกอบพิธีการสำคัญ

และเนื่องจากปัจจุบันน้ำในบาราย มีเหลือค่อนข้างน้อย ตัวสระไม่สามารถกักเก็บน้ำได้มากเช่นในอดีต ดังนั้น กรมศิลปากรจึงได้ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่อง สหวิทยาการกับปราสาท ทั้งระบบจัดการน้ำบริเวณพื้นที่ปราสาท, เรื่องธนาคารน้ำใต้ดินและที่มาของหินทราย ที่นำมาสร้างปราสาท และจากข้อสันนิษฐานในช่วงที่มีการใช้พื้นที่ปราสาทเป็นพื้นที่อพยพ อาจมีการขุดพื้นที่บารายเพื่อหาตาน้ำ และอาจไปขุดตัดชั้นอุ้ม ทำให้น้ำในบารายไม่สามารถอยู่ได้นาน โดยจากการศึกษาล่าสุดพบว่ามีธาตุองค์ประกอบคล้ายกับหินบริเวณเขานางซอ จ.สระแก้ว

การศึกษาครั้งนี้ เพื่อดูว่าจะสามารถกักเก็บน้ำในบารายได้เช่นเดียวกับอดีตหรือไม่ โดยกรมศิลปากรตั้งใจว่าจะศึกษารายละเอียดลงลึกไปถึงเส้นน้ำในอดีต โดยจะเป็นการศึกษาเพื่ออนุรักษ์การท่องเที่ยว ไม่ถึงขั้นให้ชุมชนได้นำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร หรืออุปโภค บริโภค เนื่องจากสภาพอากาศใน จ.สระแก้ว ค่อนข้างร้อน ทำให้น้ำในบารายละเหยและลดลงอย่างรวดเร็ว

143 เสานางจรัลเชื่อมโลกมนุษย์และสวรรค์

ตลอดเส้นทางเข้าสู่ตัวปราสาทประธาน หรือเรียกตามคติของศาสนาฮินดู ว่า ทางดำเนิน เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์ ปูด้วยศิลาแลง มีเสานางเรียง หรือเสานางจรัล ขนาบสองข้างทางเข้าสู่ปราสาทประธาน รวม 143 ต้น แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ เป็นทางดำเนินจากบารายสู่โคปุระตะวันออกของกำแพงแก้ว ช่วงที่ 2 เป็นทางดำเนินจากโคปุระตะวันออกของกำแพงแก้วสู่โคปุระตะวันออกของระเบียงคด และช่วงที่ 3 เป็นทางดำเนินจากโคปุระตะวันออกของระเบียงคดสู่ปราสาทประธาน

 

เสานางเรียง มีลักษณะเป็นแท่งหินทรายทรงสี่เหลี่ยม สลักลวดลายตัวเสาเรียบ ส่วนยอดสลักลายคล้ายดอกบัวตูม ปักเรียงรายตลอดทางดำเนินและลานภายในระเบียงคดรอบปราสาทประธาน สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์แบ่งเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการนำเกร็ดความรู้และความสวยงามที่ได้ไปเยี่ยมชม “สด๊กก๊อกธม” ด้วยเวลาที่จำกัดมาเล่าสู่กันฟัง

ปัจจุบันยังคงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้าชมเป็นระยะ แต่ถ้าอยากรู้ว่างดงามแค่ไหน คงต้องไปดูให้เห็นกับตา ก่อนเดินเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ แนะนำให้เข้าชมศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ซึ่งมีการจัดแสดงข้อมูลแบบย่อยง่ายไว้สำหรับผู้สนใจ…

ภาพจำลองจากศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม

หากไม่รีบกลับ ใกล้กันคือ “ปราสาทเขาโล้น” อีกหนึ่งโบราณสถานในรูปแบบศิลปะเขมร ที่เพิ่งได้ทับหลังกลับคืนสู่มาตุภูมิหลังสูญหายไปนานกว่า 50 ปี ให้แวะเที่ยวได้อีกแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image