ที่มา | เสาร์ประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม - ภูษิต ภูมีคำ |
เผยแพร่ |
‘นอร์เวย์’ เน้นดีเบต เป็นประเทศเดียวในโลกที่บรรจุสภานักเรียน ลงในหลักสูตร
‘สหราชอาณาจักร’ แข่งกันตีความสืบสวนทางประวัติศาสตร์ โต้แย้งกันด้วยข้อมูลหลักฐาน
หันไปทาง ‘รัสเซีย’ ก็โฟกัสเศรษฐกิจ แรงงาน การรวมกลุ่มทางสังคม มุ่งบ่มเพาะความเป็นพลเมืองไม่ต่างจาก ‘เยอรมนี’ ที่สอนประวัติศาสตร์ควบคู่หน้าที่พลเมือง เปิดให้ตั้งคำถาม พาเด็กทัวร์และใช้เกมประกอบการสอน ส่วน ‘ออสเตรเลีย’ เรียนรู้ผ่านบริบทไม่เน้นท่องจำ ปลูกฝังให้เคารพความหลากหลายทางเชื้อชาติ
สแกนดูแถบเอเชียอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ครูกับนักเรียนแข่งกันวิพากษ์ ถอดบทเรียนเมื่อประเทศเกิดวิกฤต ใช้ Active13 Learning ไม่ต่างจากไทยแลนด์กำลังพยายาม แต่ทำไมผลลัพธ์ช่างห่างไกลลิบ?
เปิดมิติใหม่เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมมือ TK Park ชวนนักเรียน คุณครู อาจารย์ที่สอนด้านประวัติศาสตร์และสังคม มาล้อมวงชำแหละต้นตอของความตกยุค “เปิดโฉมหน้าวิชาประวัติศาสตร์ไทย: คน GEN ใหม่ เรียนเรื่องเก่าแบบไหนในยุค AI ครองเมือง” โหมโรงด้วยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนเริ่มฟรีไมค์ให้ร่วมกันคายไอเดีย ออกแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้เท่าทันกับยุคสมัย
เนืองแน่นอุทยานการเรียนรู้ TK Park มากมายด้วยความเห็นที่หยิบจับไปใช้ได้จริง ใจความสำคัญ คือไทยให้น้ำหนักกับ ‘สาระวิชา’ เรียนรู้อดีตจากแบบเรียนมากกว่า ‘วิธีการทางประวัติศาสตร์’ ทำให้เกิดการสืบค้นค่อนข้างน้อย
นำมาสู่กระแส เรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม?
ในยุคสมัยที่ AI เข้าครอบงำ จนแทบจะนำทางชีวิตมนุษย์ไปข้างหน้าอย่างฉับไว เราจะสอนศาสตร์ที่ว่าด้วยศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์อย่างไรไม่ให้ล้าหลัง เพราะเมื่อซาวด์เสียงเยาวชนไทย ความในใจมีไม่ต่างกัน
“อยากเรียนแบบศึกษาความผิดพลาดในอดีต เพื่อแก้ไขอนาคต, เน้นปลูกฝังให้รักชาติ, อยากเรียนความจริง ไม่ใช่ propaganda เห็นด้านเดียว, เรียนแต่มุมมองของไทย ไม่ได้เรียนชาติอื่นมองไทย, ที่ผ่านมาเน้นศึกษาประวัติศาสตร์ชาติเพียวๆ, ท่องจำอย่างเดียว ไม่ได้ถกเถียง ไม่ค่อยเอ็นจอย, ไทยยังขาดครูสังคมที่มีมุมมองเก่งๆ ส่วนมากนำเสนอแค่มุมที่เขาอยากจะเล่า”
เหล่านี้คือความเห็นในมุมผู้รับสาร สวนทางกับคำกล่าวที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ควรจะต้องนำไปสู่การเข้าใจ ไม่ใช่ห้ำหั่นกันอย่างที่เคยเป็น
ครูต้องฝึกทักษะนี้
เอไอไม่ใช่ของวิเศษ แต่ช่วยได้
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม เห็นด้วยว่าเอไอ เข้ามาท้าทายการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน
พร้อมย้ำว่าต้องไม่ใช่แค่เรียนเพื่อรู้เรื่องราวตามตำราบอก แต่ควรลึกลงไปอีกชั้นรู้ถึงต้นเหตุและเห็นมุมมองที่หลากหลาย หวังว่าจากนี้ไปข้อเท็จจริงไหนนิ่งแล้ว หรือยังเป็นข้อสันนิษฐานก็ควรบอกให้ชัด
เมื่อเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายดาย สิ่งที่สรุปไว้แล้วถูก ‘ท้าทาย’ จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนได้ประสิทธิภาพและตอบโจทย์คนเจนใหม่?
ศ.พิเศษธงทอง ขอให้หักล้างคำถามด้วย ‘เหตุผล’ โดยใช้ข้อมูลที่หลากหลายประมวลเข้าหากัน
“อย่างเหตุการณ์ ร.ศ.112 หรือสงครามก็ดี มีอะไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังบ้าง ลึกลงไปมีอะไรที่ผู้เรียนผู้สอนควรจะใส่ใจ มูลเหตุไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียว เอไอ อาจจะช่วยในการประมวลข้อมูลเหล่านั้นออกมาเป็นเรื่องราว แต่ก็ไม่ใช่ของวิเศษ ต้องวิเคราะห์ให้รอบคอบ”
ศ.พิเศษธงทอง ชวนให้ลองใช้ประโยชน์จากเอไอ ในการช่วยเรียบเรียงข้อมูล เพื่อประหยัดเวลาในการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ
“ผมว่าบรรดาครูอาจจะต้องฝึกทักษะตัวเองในเรื่องนี้ ในการตั้งคำถาม ให้เอไอช่วยตอบ ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่เรารู้เท่านั้น”
เบื้องหลังปรู๊ฟตำรา
ล้าสมัยเพราะคาการเมือง
“จากที่ตรวจตำราเรียน คำแรงก็อาจจะบอกว่า ‘ล้าสมัย’ แต่ความเป็นจริงเป็นปัญหาจากในตัวโครงสร้างระบบ มีเรื่องการเมืองที่เข้ามาทับซ้อนในตำราเรียน”
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ รั้วแม่โดม ผู้รับสองบทบาท เป็นทั้งคณะกรรมการตรวจตำราเรียนให้กับกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เห็นปัญหาชัดเจนในเชิงระบบ ว่าการปลูกฝังบางอย่าง ไม่ว่าชาติ หรือสถาบันต่างๆ ทำไม่สามารถดีไซน์ตำราให้ตอบสนองยุคสมัย
จุดที่ย้อนแย้ง แม้อยากให้เด็กได้วิพากษ์ใช้ความคิด ไม่ถูกผูกขาดอยู่กับตำราเล่มใด แต่เมื่ออ่านเนื้อหากลับพบว่าไม่สามารถทำได้
“มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่างที่ไม่สามารถแตะได้ ถึงเวลาที่เราควรต้องรื้อตำราเรียนอย่างจริงจัง ทั้งโครงสร้างอุดมการณ์ และเนื้อหา”
ในโลกความจริงหนีไม่พ้น ‘เปลี่ยนเนื้อหาเชิงโครงสร้าง’ ชงให้เพิ่มประเด็นเศรษฐกิจ
“เราบอกว่าไทยมีทุนทางวัฒนธรรมมากมาย เราควรจะไปสู่ Creative Industrial แต่ตำราของเราไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายตรงนั้นได้ เราสามารถใส่ความเข้าใจทางวัฒนธรรม การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ ทั้งจุลภาคหรือมหภาค”
ความท้าทายคือเมื่อเอไอ และ Chat GPT เข้ามามีบทบาท แค่เด็กคีย์เข้าไปก็ได้รายงานออกมา ต้องยอมรับว่าสิ่งนี้ทำให้ ‘การเขียนรายงาน’ ซึ่งเป็นฐานของการคิด-วิเคราะห์กำลังจะหายวับ ปัญหาที่เกิดขึ้นชัดๆ ตอนนี้คือการก๊อปงาน และการรู้เท่าทันสื่อ ที่เลือกเชื่อแค่บางชุดข้อมูลโดยที่ไม่ได้คิดวิเคราะห์ก่อน”
เป็นอีกความน่าห่วงใยที่ผู้คนในแวดวงการเรียนรู้ต้องหันมาให้ราคา
ถึงเวลารื้อ
Active Learning กันจริงจัง
“มันห่างไกลจากปรัชญาการเข้าใจ Active Learning ไปไกล”
ผศ.พิพัฒน์ ตอบทันควันเมื่อมีผู้กล่าวว่า ไทยเองก็มีการผลักดันเรื่อง การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เพราะจากการตรวจตำราเรียน เมื่อมีคำว่า Active Learning กลายเป็นทุกสำนักพิมพ์จะใส่คำนี้ในหน้าคำนำและท้ายบท มีคิวอาร์โค้ดให้สแกน แต่เนื้อหาเหมือนในหนังสือเป๊ะ
ทางแก้คือต้องรื้อตำราอย่างจริงจัง ไม่ผูกขาดชุดหลักฐานเดียว พัฒนาครูผู้สอนไปสู่ Active Learning และสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นการใช้ความคิด
มอง ‘บุพเพสันนิวาส’ อาจจะได้เรียนรู้เรื่องสถานที่ แต่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยชาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ค่อยมี และแน่นอนว่าในสังคมมีทั้งผู้ปกครองและพลเมือง การโละโฉมใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย
ชวนวางคอนเซ็ปต์ประวัติศาสตร์แบบฮีโร่ ดีไซน์ใหม่เริ่มต้นจาก 1.ปรับอุมดมการณ์ในตำราให้ละมุนละม่อมทั้ง 2 ฝ่าย 2.ดีไซน์ตามพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย อย่างเด็กเล็กต่างประเทศเรียนว่า พันมัมมี่อย่างไร ของไทยก็อาจจะ ‘ประหารชีวิตทำไมถึงใช้ท่อนจันทน์’
เรียนในอีกความหมาย รู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ล่าสุดเตรียมทำโครงการผลักดันให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกินได้ ดึงศิลปะกับดิจิทัลมาผสมผสาน เช่น ทำกาชาปอง เพื่อสอนให้เข้าใจประเด็นทุนทางวัฒนธรรม
“ในยุคที่โซเชียลฯ ครองเมือง เอไอเป็นเครื่องมือช่วยแสวงหาความรู้ในยุคปัจจุบัน อนาคตอาจจะมีบทบาทช่วยคิดจริงๆ แต่ปัจจุบันเป็นทางเลือกในการเข้าถึง ‘บิ๊กดาต้า’ ขนาดใหญ่ ช่วยให้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อาจารย์ประวัติศาสตร์ ทิ้งท้ายด้วยข้อดีของเอไอ ที่ต้องใช้ให้คุ้ม
ล้าสมัยไปไหม?
หลักสูตรที่วาดฝัน ฟังทั้งเสียงเด็ก-ครู
สิ่งแรกที่ เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พูดถึง คือเป็นห่วงว่าหลักสูตรของไทยในปัจจุบัน ใช้มาตั้งแต่ปี 2551
“20 เกือบ 30 ปี มันนานพอควร กระบวนการมันปรับตัวช้า หลายเรื่องมีพัฒนาการที่เราต้องพูด เด็ก สภาพสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยนไป ความรู้ก็เปลี่ยนแปลงไปมา แต่ตัวหลักสูตรและกรอบมันไม่โดนปรับ เราไม่มีกระบวนการพัฒนาและวิจัยอย่างเป็นระบบในเชิงเนื้อหา”
เฉลิมชัย คืออีกท่านที่ยืนกรานว่าถึงเวลาทบทวนใหม่ แต่ถือเป็นภารกิจเกินกว่ากำลังที่ราชการจะทำได้ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้าง
“เห็นเด็กเปลี่ยน ครูก็เปลี่ยนขยับเต็มที่ ปรับตัวท่ามกลางตัวชี้วัดที่ล้าสมัยเพื่อช่วงชิงโอกาสในเวลา 1-2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ที่เขามีคลาสสอน” คืออีกด้านที่สะท้อนจากใจครู
‘สภาการศึกษา’ เองก็คอยมอนิเตอร์ดู ต้องคุยกันในเชิงลึก เพราะตอนนี้ไม่รู้เลยว่าเด็กเจนใหม่คิดอะไร มีมุมมองต่อประวัติศาสตร์อย่างไร
ในบางช่วงบางตอน เฉลิมชัย ให้ข้อเสนอด้านการวัดผลวิชา โดยยกตัวอย่าง งานพลเมืองภาคเหนือและภาคกลางตอนบน เป้าหมายคือทำให้เด็กเป็นพลเมืองและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ลงไปทำงานที่ชุมชนและท้องถิ่น
“เรื่องราวทั้งหมดมันถูกร้อยเรียงจนเด็กประสบความสำเร็จในการยื่นพอร์ต เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหา’ลัย เรามองในระดับคุณภาพของคน ไม่ใช่แค่ท่องจำสอบได้ มันทำให้เด็กมีแว่นตาแบบนักประวัติศาสตร์ มองอย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งเทรนด์เกิดขึ้นหลายที่ อาจจะเกิดขึ้นจากความอึดอัด ข้อจำกัด ก็มีครูบางส่วนที่เขาพยายามกันอยู่” ดร.เฉลิมชัยเผยอีกมุม
“เราอยากฟังเสียงเด็กมากขึ้น อยากได้ยินเสียงของครู มันจะนำไปสู่การเชื่อมจุด มีงานดีๆ แต่มันยังหาจุดเชื่อมโยงไม่ได้”
ปิดจบด้วยความหวังว่าจะมีการขยับอะไรสักจุด เพื่อประกอบร่างเสียงครู และผู้เรียน ขึ้นมาเป็นหลักสูตรที่เราปรารถนาอยากจะเห็น
‘ถก ถาม เถียง’
เขย่าความเชื่อเดิม เรียนแบบเอ็นจอย
เมื่อถามตรงๆ ว่าเรียนประวัติศาสตร์ แล้วได้อะไร ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง ?
‘ครูทิว’ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนราชดำริ ชวนย้อนมองก่อนว่า ได้เรียนประวัติศาสตร์แบบไหน? ใช่แบบที่เน้นชาติหรือไม่ จึงไม่แน่ใจฟังก์ชั่นและปรัชญาของวิชาประวัติศาสตร์ที่แท้
แต่ถ้าเรียนผ่านเรื่องเล่าบางอย่างที่มีพลังแล้วทำงานกับความคิดเขา ได้วิธีการตัดสินใจในชีวิต หรือเรียนอดีตเพื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในสังคมรุ่นต่อไป ก็ย่อมเป็นประโยชน์กับตัวเขาแน่ๆ ถ้าเรามองฟังก์ชั่นของวิชานี้คือการ ‘พัฒนาความคิด’
แล้วเด็กที่เคยสอน มีมุมมองต่อวิชาประวัติศาสตร์อย่างไร?
“เขาอยากเรียนแล้วได้คิด-วิเคราะห์มากกว่านี้ รู้สึกว่าหลายครั้งเรียนเพื่อจำและถูกทำให้เชื่อ นักเรียนมักจะบอกผมทุกเทอม” ครูทิวว่าอย่างนั้น
ส่วนตัวพยายามแอ๊กทีฟเลิร์นนิ่ง ให้นักเรียนได้ถกเถียง เอาหลักฐาน 1 ชิ้นมาตีความกับเพื่อน ซึ่งก็เห็นแววว่าเวิร์ก
“เขารู้สึกว่าเขารับฟังคนอื่นได้ดีขึ้น เขาบอกว่าเมื่อก่อนขี้เกียจคิด แต่พอมาเรียนกับผมแล้วสนุก มีบางคนที่อาจจะยังเรียนรู้ได้ไม่ถึงเกณฑ์ตามมาตรฐานเด็ก ม.3 บางครั้งมันจึงเป็นหน้าที่ของครู ที่จะจับประเด็นเด็ก ช่วยเข้าใจว่าเด็กต้องการจะพูดแบบนี้ มันไม่ใช่แค่การสอนให้รู้ มันสอนถึงวิธีคิดและการสื่อสาร” ครูทิวตอบจากประสบการณ์
“บางครั้งเด็กชอบที่เราทิ้งคำถามไว้ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา อาทิตย์ละ 1-2 ชั่วโมง ประวัติศาสตร์มันเหมือนกับมหาสมุทร เราไม่รู้หรอกว่ามันโหดหินตรงไหน เราไม่รู้หรอกว่าตรงไหนที่เขาอยากรู้ เราพาเขาไปมหาสมุทร แล้วให้เขาดำดิ่งลงไป เท่าที่เขาอยากจะไป” เป็นอีกแนวคิดในการสอน
ครูทิว ใช้ Active Learning แบบที่ต้องไม่ใช่ให้ครูเป็นแค่นักเทคนิค ทำตามเกณฑ์ชี้วัด อีกด้านขีดความสามารถของครูในการสอนก็สำคัญ ไม่อย่างนั้นคงจะต้องมีแต่ครูบ้าพลัง อดนอนอ่านหนังสือเป็น 10 เล่ม เพื่อหาข้อมูลมาสอน ยังไม่นับครูประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง
จึงชวนครูตั้งคำถามใหม่ แบบไหนที่มีคำตอบตายตัว คำถามไหนเปิดกว้าง หรือนำไปสู่อะไรใหม่ๆ ได้บ้าง
“หลายคนบอกว่าชั้นเรียนผมเหมือนการชกเด็ก คือเดิมเขาเคยมีความเชื่ออะไรบางอย่าง เราจับเขาเขย่าๆ แล้วเขารู้สึก นั่นแหละคือคำถามที่ทรงพลัง” ครูรุ่นใหม่เล่าประสบการณ์ ที่พึงพอใจทั้งผู้เรียนและผู้สอน
นับหนึ่งใหม่
ปลดล็อก จุดที่กดทับ
“เรากลับมาสนใจประวัติศาสตร์เพราะมีคนเรียกร้องว่า ‘ยกเลิกวิชาประวัติศาสตร์’ เชื่อไหมว่าคนที่เรียกร้อง ไม่ใช้คนแบบพวกเรา แต่เป็นคนรุ่นเก่ารุ่นใหญ่ ที่เขามีความรู้สึกว่า เด็กไทยไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบที่เขาเรียนรู้”
ดร.กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยอมรับเช่นกันว่า Active Learning ในเวลานี้ ยังไม่สมบูรณ์แบบอย่างประเทศอื่น
ชวนเริ่มนับหนึ่ง กลับมาฟื้นฟูใหม่ ให้สภาการศึกษาเป็นตัวตั้ง ทบทวนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าคนอื่นเขาสอนอะไรกัน ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมาทบทวนสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ การปล่อยให้ สพฐ.ทำภายใต้กรอบเดิม เป็นเรื่องที่ยากเพราะถูกล็อกด้วยโครงสร้างที่กดทับอยู่มากมาย หรือถ้าจะรอ พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ก็อาจนานพอควร
ดร.กมล สรุปว่าสิ่งที่จะทำต่อจากนี้มี 2 เรื่องคือ กำลังจัดการระบบการหาความรู้ และวางพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์เชิงจารีต กันใหม่ รวมถึงพัฒนาครูใหม่ แต่ขณะเดี่ยวกันก็เชื่อมไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 77 จังหวัด
“มันเป็นความงดงามที่ไทยมี ตัวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถพูดไปถึงรายละเอียดปลีกย่อย ความบาดหมางเล็กๆ น้อยๆ เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอื่นๆ ผมคิดว่าหลายเรื่องคุยกันได้ ทำความเข้าใจในพื้นที่และให้สังคมภายนอกรับรู้ด้วย
เตรียมสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับสถานศึกษา เชื่อมโยงเขากับบ้านของเขาเอง ความรักจะเกิดขึ้นในที่สุด และเพื่อไม่ให้ติดอยู่กับกรอบการทำงานแบบเดิมๆ นักวิชาการรุ่นใหม่จะต้องเข้ามาช่วยด้วย
“สุดท้าย ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มันต้องนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจ รักกัน สมัครสมานสามัคคี ภาคภูมิใจในชาติและท้องถิ่น แต่ไม่ใช่การคลั่งชาติ บูลลี่ กดขี่ หรือกดทับคนในชาติอื่นๆ” เลขาฯ สพฐ.กล่าว
อธิษฐาน จันทร์กลม – ภูษิต ภูมีคำ