‘สุนทรภู่’ เคยอยู่ที่นี่ วังหลัง ธนบุรี ‘ศิริราชพิมุขสถาน’

แผนที่สายลับพม่ายุคกรุงธนบุรี มีคลองบางกอกน้อย และพื้นที่ย่านวังหลัง ชมภาพใหญ่จุใจได้บนผนังพิพิธภัณฑ์

วันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2329 เวลา 8 โมงเช้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

คือวันเกิดของเด็กชายคนหนึ่งซึ่งรู้จักกันต่อมาในนาม ‘สุนทรภู่’ กวีเอกของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโก

ไม่เพียงผลงานจำนวนมหาศาลที่เปี่ยมด้วยสีสัน แต่ความรับรู้ของคนยุคหลังเกี่ยวกับชีวิตของท่านก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ยากจน เจ้าชู้ ขี้เหล้า คือภาพจำที่ถูกบอกเล่าอย่างไม่มีหลักฐานชัดแจ้ง เข้าข่ายมโน

Advertisement

แม้แต่บ้านเกิด ก็เคยถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนตลอดมาว่าเป็นชาวเมืองแกลง จังหวัดระยอง ทว่าผู้รู้ค้นคว้าหาหลักฐานยืนยันว่าแท้จริงนั้นท่านเกิดที่ ‘วังหลัง’ ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงข้อมูลในหนังสือเรียนยุคหลังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการรับฟังหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ ถึงจะใช้เวลาไฝว้อย่างยาวนานหลายสิบปี โดยมี สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นกระบอกเสียงผลิตซ้ำชุดความรู้ใหม่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยเจ้าตัวระบุว่าส่วนหนึ่งนั้นปราชญ์ยุคเก่าเขาพูดเอาไว้แล้ว ไม่ใช่ตนที่ค้นพบเป็นคนแรกแต่อย่างใด

บ้านเกิดของสุนทรภู่ในวันนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งในเขตบางกอกน้อย เต็มไปด้วยอาคาร บ้านเรือน ตลาดที่มีชีวิตชีวา รวมถึงโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งสร้างขึ้นในจุดที่เคยเป็นวังหลัง โดยล่าสุดมีการขุดค้นทางโบราณคดี และก่อตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน’ ซึ่งไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวของสถาบันการแพทย์อันทรงเกียรติ แต่ยังบอกเล่าประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่ตั้งแต่อดีต ครั้งยังเป็นที่ประทับของ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลังพระองค์เดียวในสมัยรัตนโกสินทร์อีกด้วย

สุนทรภู่ เกิดที่วังหลัง ทุกวันนี้คือที่ตั้งของรพ.ศิริราช ด้านตะวันออกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตะวันตกถึงถนนอรุณอมรินทร์ สุดแนวคูเมืองธนบุรี (เดิม) ด้านใต้ถึงวัดระฆัง ด้านเหนือถึงคลองบางกอกน้อย ครอบคลุมบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีทั้งหมด ปัจจุบันอาคารสถานีฯ เดิมถูกแปลงโฉมเป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

เปิดสมุดข่อย ‘วังหลัง’ มาจากไหน?

‘วังหลัง ครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย

เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า

ยามนี้ที่เคยเลย ลืมพักตร์ พี่แฮ

ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาดแคล้วแล้วหนอฯ’

นี่คือถ้อยคำที่สุนทรภู่ร้อยเรียงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โคลงนิราศสุพรรณ’ ในช่วงที่เดินทางผ่านเข้าปากคลองบางกอกน้อย อันเป็นที่ตั้งของวังหลัง

นิทรรศการในห้อง สถานพิมุขมงคลเขต ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานให้ข้อมูลอย่างละเอียดลออเกี่ยวกับ วังหลัง ว่าเป็นคำที่มีความหมายใน 3 ลักษณะ ได้แก่

1.วังหลัง คือ ตำแหน่ง ของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยพระเจ้าแผ่นดินจะโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้านายที่มีความชอบ ให้มีพระอิสริยยศรองจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า

2.วังหลัง คือ เจ้านาย ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีเพียงพระองค์เดียวคือ ‘สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์’ ในรัชกาลที่ 1

3.วังหลัง คือ พระราชวัง ที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

พระราชวังหลังในสมัยรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นบนที่ดินพระราชทานบริเวณ สวนลิ้นจี่ ปากคลองบางกอกน้อย ทางฝั่งทิศใต้ ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะแก่การควบคุมด้านยุทธศาสตร์

มีแนวถนนขนานกับคลองบางกอกน้อย เรียกว่า ‘ถนนหน้าวังหลัง’ นอกจากนี้ ยังมีป้อมและกำแพงวังซึ่งเดิมเป็นกำแพงกรุงธนบุรี

วังหลังประกอบด้วยอาคารต่างๆ อาทิ ตำหนักที่ประทับและหมู่เรือน บ้านข้าราชบริพาร ฉางเกลือ สนามม้า เป็นต้น

หลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข พระโอรสอันเกิดแต่พระอัครชายาได้ก่อสร้างวังต่อเนื่องลงไปทางฝั่งใต้อีก 3 วัง

วังเจ้าเชียงใหม่ในย่านวังหลัง ต่อมาพระราชชายาดารารัศมีถวายคืนรัฐบาล บ่งชี้ของประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่ในแต่ละยุค
ริมคลองบางกอกน้อยมีประวัติและผลงานสุนทรภู่ให้เดินอ่านเพลินใจโดยเป็นชุดข้อมูลใหม่ซึ่งระบุว่าสุนทรภู่เกิดในย่านวังหลัง ไม่ใช่เมืองแกลง จังหวัดระยอง

หมุนเข็มนาฬิกา สำรวจ ‘บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ’ ปากคลองบางกอกน้อย

นอกเหนือจากที่ประทับเจ้านายและข้าราชบริพารแล้ว บริเวณวังหลัง ยังมี เรือนแพ มากมายผูกอยู่แถวปากคลองบางกอกน้อย และหนึ่งในเรือนแพเหล่านั้นก็คือบ้านของสุนทรภู่

ภาพเหล่านี้ กวีเอกได้บรรยายไว้ในโคลงนิราศสุพรรณถึง ‘บ้านเก่า’ ของตัวเองว่า

‘เลี้ยวทาง บางกอกน้อย ลอยแล

บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ พวกพ้อง

เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย

รำลึกนึกรักร้อง เรียกน้องในใจฯ’

ผู้คนที่อยู่อาศัยในเรือนแพเหล่านี้ย่อมสัมพันธ์กับย่านใกล้เคียงซึ่งเป็นชุมชนชาวสวน ซึ่งไม่เพียงแต่เรือกสวนของชาวบ้านเท่านั้น ยังมีสวนของเจ้านายซึ่งสุนทรภู่เคยเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เคยตามเสด็จกรมพระราชวังหลังไปยัง ‘สวนหลวง’ ในคลองบางกอกน้อย เลยวัดชีปะขาวเข้าไปจนถึงบางบำหรุ และบางระมาด ความตอนหนึ่งว่า

‘สวนหลวง แลสว่างล้วน พฤกษา

เคยเสด็จ วังหลัง มา เมื่อน้อย

ข้าหลวงเล่นปิดตา ต้องอยู่โยงเอย

เห็นแต่พลับกับสร้อย ซ่อนซุ้มคลุมโปง’

บรรยากาศของเรือนแพย่านวังหลัง และตลาดการค้าในยุคสมัยที่สุนทรภู่ยังมีชีวิต ถูกจำลองไว้อย่างสวยงามในพิพิธภัณฑ์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภาพถ่ายเก่าทรงคุณค่าของบ้านเรือนริมแม่น้ำลำคลองสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตให้ชมอย่างเพลินใจ

โมเดลเรือแบบต่างๆ รวมถึงกรรมวิธี ‘ยาเรือ’ ในยุคร่วมสมัยสุนทรภู่ จัดแสดงอย่างสวยงามและเข้าใจง่าย

ปริศนาอู่เรือพระปิ่นเกล้าฯ ‘เจ้าฟ้าน้อย’ ของพระสุนทรโวหาร

อีกส่วนสำคัญในชีวิตของกวีเอกผู้นี้ก็คือ ‘เจ้านาย’ ผู้ชูชุบอุปถัมภ์สุนทรภู่ตลอดชั่วชีวิต เป็นเหตุให้ไม่เคยตกทุกข์ได้ยากอย่างที่เคยร่ำเรียนกันมา หนึ่งในนั้นก็คือ ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งสุนทรภู่เคยไปอยู่ด้วยที่ ‘พระราชวังเดิม’ หลังลาสิกขาจากวัดเทพธิดาราม

ในขณะนั้นยังทรงดำรงพระยศเป็น ‘สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า ‘เจ้าฟ้าน้อย’

ครั้นรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าน้อยก็ได้รับบวรราชาภิเษก โดยทรงแต่งตั้งให้สุนทรภู่เป็น ‘พระสุนทรโวหาร’ อาลักษณ์ในกรมพระราชวังบวรฯ ในช่วงนี้สุนทรภู่เข้าสู่วัยกลางคน และใกล้ถึงบั้น ปลายชีวิต

มีคำบอกเล่าว่า ท่านหมดลมหายใจในบ้านสวนบางระมาด คลองบางกอกน้อย ทำศพที่วัดชิโนรส ริมคลองมอญ ฝั่งธนบุรี

เวลาผ่านไปกว่า 100 ปี เมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีในย่านวังเมื่อ พ.ศ.2546 มีการพบ ‘เรือโบราณ’ ขนาดใหญ่ กว้างถึง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ตั้งบนคานไม้ คาดว่าเป็นเรือบรรทุกสินค้า ลักษณะคล้ายเรือสำปั้นแปลง กระดูกงูทำจากไม้สัก กงเรือทำจากไม้ตะเคียนทอง เปลือกทำจากไม้เคี่ยม ใช้ตะปูจีนและเขี้ยวโลหะเชื่อมร้อยวัสดุเข้าด้วยกัน ใต้ท้องเรือติดกระดาษสา บุทับด้วยแผ่นโลหะ มีตราประทับว่า ‘MUNTZ PATENT’

เมื่อค้นหลักฐานด้านเอกสารพบว่า พื้นที่บริเวณที่ขุดพบเคยเป็น ‘อู่ต่อเรือหลวง’ ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั่นเอง

ปัจจุบันเรือดังกล่าวจัดแสดงในอาคารริมคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน พร้อมด้วยโบราณวัตถุที่ชวนให้จินตนาการภาพชีวิตในยุคของสุนทรภู่ได้เป็นอย่างดี

เรือขนาดใหญ่ที่ขุดพบในพื้นที่ซึ่งคาดว่าเป็นอู่ต่อเรือของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ หนึ่งในผู้อุปถัมภ์สุนทรภู่

อดีต-ปัจจุบันภาพแห่งความทรงจำที่เหลื่อมซ้อน

การพบเรือโบราณ ไม่ใช่แค่สร้างภาวะตะลึงงันในความอลังการของลำเรือเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่ของบริเวณพระราชวังหลัง โดยนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เรือดังกล่าวอาจถูกทิ้งไว้ในอู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกฝังกลบเมื่อมีการปรับพื้นที่เพื่อสร้าง ‘โรงฝิ่นหลวง’ ที่เปิดทำการระหว่าง พ.ศ.2433-2438 ซึ่งเป็นช่วงที่วังหลังไร้เจ้านายประทับแล้ว

ต่อมายังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชแพทยาลัย, วังพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ของแหม่มโคล โรงเรียนประจำสำหรับสตรีแห่งแรกของไทย ก่อนจะย้ายไปย่านบางกะปิ เปลี่ยนชื่อเป็นวัฒนาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ ‘สถานีรถไฟธนบุรี’ ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นชุมทางที่อยู่ในฉากชีวิตของผู้คนนับไม่ถ้วน

ความทรงจำเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไว้ในจุดต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ผ่านแผนที่โบราณ ภาพถ่ายเก่าหลากยุคสมัย รวมถึงแนวอิฐของซากกำแพงวังหลังซึ่งได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ไม่เพียงชี้ชวนให้รู้จักวังหลัง บ้านเดิมของสุนทรภู่ หากแต่ยังได้เรียนรู้ความเป็นมาของกรุงเทพฯ ซึ่งมีพัฒนาการสืบเนื่องยาวนาน ผันเปลี่ยนตามกาลเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้กระทั่งในห้วงเวลานี้

ตลาดชาวจีน เรือนแพ และสินค้าจากเรือสวนย่านบางกอกน้อยถูกจำลองขึ้นในห้องจัดแสดงอย่างมีสีสัน
ซากกำแพงวังหลังได้รับการอนุรักษ์อย่างดี คลุมด้วยเรือนกระจก สามารถเดินชมได้โดยรอบ
โบราณวัตถุที่ขุดพบในวังหลัง

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันอังคารและวันนักขัตฤกษ์) เวลา 10.00-17.00 น.

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็กสูงไม่เกิน 120 ซม. ฟรี

โทร. 0-2419-2601, 0-2419-2618-9 www.sirirajmuseum.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image