‘จุลินทรีย์’ สร้างคุณภาพชีวิต พลิกวิกฤตธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม

ในยุคหนึ่งมนุษย์ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อแสวงหาความสะดวกสบายและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเอง จนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย

เรื่องการอนุรักษ์จึงถูกหยิบยกมาพูดถึงเรื่อยมา โดยเฉพาะในด้านการเกษตร

ดังเช่น โครงการอบรมเสวนา “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ” ที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจัดขึ้น โดยมี “จุลินทรีย์” เป็นพระเอกของงาน ร่วมด้วยวิทยากรจากหลากหลายที่มา แต่ครอบคลุมความรู้ในทุกประเด็นจุลินทรย์กับการเกษตร

ประเดิมที่ นายพลอีเอ็ม พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ผู้ทุ่มเทด้านอีเอ็มมากว่า 20 ปี

Advertisement

พล.อ.พิเชษฐ์อธิบายว่า จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Microorganisms) หรืออีเอ็ม เป็นจุลินทรีย์เลียนแบบธรรมชาติ ในกลุ่มที่มีประโยชน์ ซึ่งช่วยให้พืชเจริญงอกงามโดยไม่ใช้สารเคมีและเป็นไปอย่างยั่งยืน

พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร

“สำหรับการเลือกใช้อีเอ็ม เพราะเป็นจุลินทรีย์ที่ กฟผ. หรือผมใช้มานานแล้ว เรามองว่าเป็นกระบวนการที่ดีที่สุดที่เจอมา แต่ยังมีจุลินทรีย์กลุ่มที่ดีอีกหลายชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งนอกจากจะใช้ในการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ ในขณะที่ต้นทุนต่ำแล้ว ยังช่วยให้สิ่งเเวดล้อมดีขึ้น คือดินไม่เสียหายทำให้สิ่งมีชีวิต ปลา กบ เขียด กลับคืนมา ที่สำคัญที่สุดยังช่วยทำให้สุขภาพดี เพราะทุกวันนี้ที่เราป่วยล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากอาหารที่เรากินและสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น อย่างการปลูกข้าวหอมมะลิ ปัจจุบันใช้ยาคลุมหญ้าป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้น แต่ข้าวที่ออกมาก็ไม่อร่อย กลิ่นหอมหายหมด ยังมีสารเคมีที่อาจจะตกค้างเข้าไปอยู่ในท้องเราซึ่งอันตราย ดังนั้นถ้าจะให้ข้าวหอมมะลิกลับมาหอมอร่อย ต้องเลิกใช้สารเคมี เลิกเผาฟาง” เป็นมุมมองของนายพลอีเอ็ม

สำหรับการใช้จุลินทรีย์ของเกษตรกรขณะนี้ พล.อ.พิเชษฐ์ให้ความเห็นว่า การใช้อีเอ็มในประเทศไทยยังเหมือนป่าล้อมเมืองคือ มีการใช้เริ่มเยอะแต่สู้นายทุนใหญ่ไม่ได้ แต่อยากจะบอกว่าตอนนี้มี 165 ประเทศทั่วโลกที่ใช้จุลินทรีย์ อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ขณะนี้เขาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาก

Advertisement

“วันนี้เราต้องช่วยกันถ้าเรายังไม่ใช้จุลินทรีย์ต่อไปสินค้าเกษตรของไทยอาจจะถูกต่อต้านได้” พล.อ.พิเชษฐ์ทิ้งท้าย

สำหรับ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ระดับตำนาน อ.แกลง จ.ระยอง เล่าว่า เมื่อก่อนใช้ตามที่เขาใช้กัน เขาบอกกัน และทำตามตำรามานานเหลือเกิน แต่ทำไม่ได้สักเรื่องหนึ่ง จึงหันมาทำนอกตำรา ปรากฏว่าทำได้ทุกเรื่อง ซึ่งจากประสบการณ์นอกตำราที่ศึกษาเรียนรู้มากว่า 30 ปี ก็พอจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เป็นเรื่องของปรัชญาแนวคิด ซึ่งผมนำหลักทั้งหมดมาจากพระมหาชนก เวลามีปัญหาทุกคำตอบอยู่ในพระมหาชนกทั้งหมด กลุ่มที่ 2 การแก้ปัญหาปัจจัยการผลิตด้วยปุ๋ยหมัก คือ ชาวนาตอนนี้รู้จักแต่ปุ๋ยเคมี ทำให้ชาวนาเป็นหนี้หมด

“ปุ๋ย สำหรับผมทำง่ายมาก มีอะไรก็เอามาหมักทำปุ๋ยหมด ทั้งเศษพืช เศษซากสัตว์ มูลสัตว์มาผสมก็ใช้ได้แล้ว แล้วค่าไนโตรเจน(เอ็น) ฟอสฟอรัส(พี) และโพแทสเซียม(เค) เท่านั้นเท่านี้ ผมไม่เชื่อ ผมเคยใช้แล้วไม่ต่างกัน เอามาใส่ต้นพริกก็เผ็ดทุกเม็ดเหมือนกัน ผมเลยเอาปุ๋ยหมักมาใช้แทนปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยหมักทำเองได้แต่ปุ๋ยเคมีทำเองไม่ได้ แล้วการทำปุ๋ยก็มีหลายวิธี ไม่ใช่แค่ปุ๋ยหมักอย่างเดียว อย่างผมเลี้ยงหมู 1 คู่ ในแต่ละปี สามารถทำปุ๋ยได้ 10 ตันอาจจะเอาแกลบ ขี้เลื่อย ผักตบชวาเติมเข้าไปได้อีก แล้วผักตบชวาก็ยังเอามาให้หมูกินแทนข้าวได้ สิ้นปีอาจจะได้ของแถมเป็นลูกหมูอีก 2 คอก” ผู้ใหญ่สมศักดิ์อธิบาย

วงเสวนาโดยผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ และภานุวัฒน์ นานรัมย์

ขณะที่ด้านธุรกิจ ภานุวัฒน์ นานรัมย์ ผู้จัดการฝ่ายสนาม สุวรรณกอล์ฟแอนด์คันทรีคลับ ที่เลือกนำจุลินทรีย์มาใช้ในสนามกอล์ฟแทนสารเคมี จนประสบความสำเร็จ

แต่กว่าจะเป็นสนามกอล์ฟอินทรีย์ ภานุวัฒน์เล่าย้อนว่า ช่วงที่ก่อตั้งสนามกอล์ฟเมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้ว เลือกใช้ยา ใช้สารเคมีอย่างเดียว จนค่าใช้จ่ายแต่ละปีทะลุกว่า 30 ล้านบาท จนเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วเกิดกระแสพระราชดำรัสด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ วิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหารสนามกอล์ฟจึงปรับให้สอดคล้องกับเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยลดละเลิกใช้สารเคมีแล้วหันมาใช้จุลินทรีย์แทน ซึ่งเราจะมีการเลี้ยงเชื้อไบโคโนบ้าเเละเชื้อบาซิลลัส มาเป็นปุ๋ยนำไปใช้กับสนามกอล์ฟช่วยลดต้นทุน

“พอนโยบายนี้เข้ามา ที่เห็นได้ชัดคือแต่ละปีค่าใช้จ่ายลดลงมาเหลือไม่ถึง 5 ล้านบาท ขณะที่สนามกอล์ฟก็สวย อาจจะไม่ใช่สนามกอล์ฟที่สวยที่สุด แต่ผมเชื่อว่าเป็นหนึ่งในสนามกอล์ฟที่ดี แล้วปุ๋ยที่เหลือเรานำมาใช้กับผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งจะปลูกไว้จำหน่ายให้คนที่มาออกรอบสามารถซื้อผักติดมือกลับบ้านได้ เป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้สนามกอล์ฟด้วย” ภานุวัฒน์กล่าว

ไม่เพียงแต่เกษตรกร หรือภาคธุรกิจเท่านั้น ที่สามารถใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ วิรัตน์ กาญจนพรหม อาจารย์มหาวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยี จ.ตรัง มองว่าชาวบ้านทั่วไปก็สามารถนำจุลินทรีย์มาใช้ได้ ซึ่งจุลินทรีย์มีทั้งตัวดีและตัวไม่ดี แล้วยังมีอีกหลายประเภทให้เลือกตามการใช้งาน อาจจะแบ่งง่าย คือของหมัก ของดอง จะเป็นจุลินทรีย์ประเภทที่ไม่ต้องการอากาศหายใจ หรือถ้าจะทำปุ๋ยหมักที่ต้องมีการพลิก จะเป็นจุลินทรีย์ประเภทที่ต้องการอากาศหายใจ ซึ่งจุลินทรีย์เหมาะสมอย่างยิ่งกับประเทศไทย เพราะจุลินทรีย์ต้องการความร้อนประมาณ 35-40 องศาในการเจริญเติบโตและขยายตัวที่ดีที่สุด

“ดังนั้นประเทศไทยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลยก็ได้ แค่เอามูลสัตว์มาตั้งไว้เฉยๆ ในอุณภูมิปกติไม่ต้องตากแดดตากฝน จุลินทรีย์จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เอง เหมือนต้นไม้ในป่าไม่ต้องมีคนไปใส่ปุ๋ย ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงามแล้ว แต่เพราะความอยากได้อย่างรวดเร็วมาบีบ ฉะนั้นถ้าเรากลับมาใช้วิธีปกติมันจะช่วยหลายเรื่อง ที่ชัดที่สุดคือเรื่องอาหารการกินที่ปลอดภัย ไม่มีโรคภัยจากสารเคมีตกค้าง ถ้าชาวบ้านหันมาใช้วิธีธรรมชาติ มาทำเกษตรปลูกเท่าที่กิน ปลูกผักที่กินในบ้านในครอบครัว อาหารการกินจะสะดวก สุขภาพก็จะดี ผมว่าไม่มีอาชีพไหนที่สบายใจเท่าอาชีพเกษตร เลือกกินของที่มีประโยชน์ได้ กินที่ชอบ ปลูกทุกอย่างที่กิน”

วิรัตน์ กาญจนพรหม

นายวิรัตน์บอกอีกว่า เรามักจะพูดเรื่องแต่เรื่องชุมชนเเละเน้นเรื่องขาย แต่จริงๆ แล้วตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า ทำเพื่อกินก่อน แล้วแบ่งปัน เหลือจึงขาย สิ่งไหนที่ปลูกได้ ทำได้ก็ทำ แต่บางอย่างทำไม่ได้ก็ซื้อบ้าง อย่างน้ำตาล หรือเกลือ มันจะช่วยลดต้นทุนได้เยอะมาก

“ถ้าถามว่าหลักเศษฐกิจพอเพียง กักเก็บน้ำ 30 ส่วน นา 30 ส่วน ไร่สวน 30 ส่วน เลี้ยงสัตว์ 10 ส่วน มันเข้ากับชีวิตคนยุคนี้ได้อย่างไร บอกเลยว่าไม่ยาก ได้เงิน 100 บาท จับจ่ายในครัวเรือนอย่าให้เกิน 30 บาท สาธารณูปโภคค่าน้ำค่าไฟอีก 30 บาท ภาษีสังคมอย่าให้เกิน 30 บาท ออมอีก 10 บาทแล้วจะไม่จน” วิรัตน์อธิบาย

และว่า ตอนนี้ชาวบ้านปล่อยโอกาสที่มีอยู่คือธรรมชาติไปโดยไม่เห็นคุณค่า คือ สิ่งที่มีเราไม่อยากได้ไม่อยากกิน อยากกินในสิ่งที่ไม่มี แล้วไม่เข้าใจคำว่าตัวทดแทน เห็นคนอื่นกินต้องหามากินแบบเขา ทั้งที่ไม่ต่างจากของที่มีอยู่เลย แล้ววิถีชีวิตคนสมัยก่อน ที่ช่วยกันเข้าครัวเก็บผักเก็บแตง ขูดมะพร้าวทำกับข้าวกินกันเป็นครอบครัว วิถีชีวิตแบบนี้หายไปหมด เพราะเรามาวิ่งหาตัวเงินอย่างเดียว แต่เรื่องบางเรื่องเงินไม่ได้สำคัญนะ หาเงินได้แต่ต้องไปเช็กความดัน เช็กเบาหวานตลอดเวลา กับปลูกผักกินเท่าที่มีอยู่กับธรรมชาติ อากาศดีไม่ต้องแย่งกับคนอื่น ที่สำคัญอย่าถามว่าปีนี้คุณมีรายได้เท่าไหร่ให้ถามว่า ปีนี้คุณมีเงินเหลือเท่าไหร่ แบบไหนมีความสุขกว่ากัน

“แล้วการที่เราซื้อกินทุกวันซื้อหมดทุกอย่าง ทำให้เราต้องหาเงินเพื่อไปซื้อ แต่การที่เราไม่ซื้อแต่เราปลูกได้เองมันทำให้เราจะมีเงินเหลือเพื่อออม ในส่วนของการออมเราก็อย่ามองแต่เรื่องเงินอย่างเดียว จริงๆ แล้วการปลูกพริก ปลูกมะเขือ เหล่านี้คือการออมหมดเลยเพราะเราไม่ต้องเสียเงินซื้อแต่ไม่มีใครพูดถึงเลย ถามว่าถ้ากลับมาอยู่ต่างจังหวัดแล้วอยากได้เงินปีละเเสนบาทยากหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ยาก อาจจะลงทุนสัก 5 หมื่นบาท ซื้อวัวสัก 3-4 ตัว ลงแรงตัดหญ้า ปลูกพืชกินปลายปีขายได้ 150,000 บาทก็มีเงินออมแล้ว”

“ลองกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ทำบ้านให้น่าอยู่ มีของกินรอบบ้าน การปลูกผักกินเองวันนี้อาจจะไม่มีรายได้สักบาท แต่คุณกินอิ่มแล้ว ไม่ต้องใช้เงินสักบาท นี่แหละคือเศรษฐกิจพอเพียง” วิรัตน์ทิ้งท้าย

ดร.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เเละนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน ร่วมเปิดงาน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image