จากรัสเซียสู่ไทย แกะรอย ‘ชูรอฟสกี้’ และ เพลงสรรเสริญพระบารมี

ระหว่างวันที่ 2-9 กรกฎาคม รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำคณะเดินทางไปประเทศรัสเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแกะรอย ปีโยต ชูรอฟสกี้ นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย (ค.ศ.1850-1908) ซึ่งประพันธ์เพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยในปัจจุบัน

การเดินทางในวันแรก ได้ติดต่อกับหอสมุดแห่งชาติรัสเซีย (the National Library of Russia) เพื่อตรวจสอบต้นฉบับโน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมี

ปีโยต ชูรอฟสกี้

การติดต่อครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถานทูตรัสเซีย ประจำประเทศไทย และได้รับความร่วมมือจากหอสมุดรัสเซียอย่างดี จนในที่สุดต้นฉบับหนังสือรวมโน้ตเพลงประจำชาติที่ชูรอฟสกี้รวบรวมเมื่อประมาณ พ.ศ.2434 ก็วางอยู่ตรงหน้า

Advertisement

สมุดลายทอง ด้านในมีโน้ตเพลงประจำชาติต่างๆ รวมอยู่ 86 เพลง โดยมีเพลง CIAM เป็นเพลงอันดับที่ 69

พลิกไปดูตามสารบัญ พบตัวโน้ตที่ระบุว่า ชูรอฟสกี้ เป็นผู้ประพันธ์

โน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมี

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ได้อ่านโน้ตออกมาให้ฟัง เป็นทำนองบทเพลงสรรเสริญพระบารมีที่คุ้นเคย

Advertisement

เป็นบทพิสูจน์ยืนยันว่า ชูรอฟสกี้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีไทยฉบับที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้จริง

รศ.ดร.สุกรี กำลังตรวจดูสมุดรวมโน้ตเพลงประจำชาติ

วันต่อมาคณะเดินทางต่อไปยังสถาบันดนตรี Moscow State Conservatory ซึ่ง นิโคไล รูบินสไตน์ นักประพันธ์ดนตรีชื่อดังเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1866 เข้าพบผู้บริหารของสถาบัน และได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาของชูรอฟสกี้

สถาบันดนตรีมอสโก ที่ที่ชูรอฟสกี้ศึกษาวิชาดนตรี

จากหลักฐานของสถาบันยืนยันว่า ชูรอฟสกี้เข้าเรียนในปีแรกๆ ของการก่อตั้งสถาบัน มีนิโคไล รูบินสไตน์ รวมทั้ง ปีเตอร์ ไชคอฟสกี้ เป็นอาจารย์สอนด้วย

ชูรอฟสกี้จบการศึกษาจากสถาบันดังกล่าว และเข้าสู่เส้นทางดนตรี มีชื่อเสียง และทัวร์คอนเสิร์ตในยุโรป

บทเพลงที่ชูรอฟสกี้ประพันธ์ส่วนใหญ่เป็นเพลงร้อง ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะภรรยาเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง

ในช่วงท้ายของชีวิต ชูรอฟสกี้พำนักที่เมือง ครู๊ซ (Krush) อยู่ทางตอนใต้ของมอสโก ห่างไปประมาณ 400 กิโลเมตร

คณะกรรมการหอข้อมูลเมือง ครู๊ซ ที่ให้ข้อมูลเรื่องห้องที่ชูรอฟสกี้เช่า

ในวันต่อมา รศ.ดร.สุกรีนำคณะขึ้นรถไฟไปยังเมืองครู๊ซ ณ ที่นั่น มีประวัติที่ยังหลงเหลือจากสงครามอยู่ไม่มากนัก

ยิ่งเป็นประวัติชูรอฟสกี้แล้วยิ่งมีอยู่น้อย

แต่ในจำนวนที่น้อยนิดนั้นก็พอจะสรุปได้ว่าชูรอฟสกี้เป็นผู้สืบเชื้อสายราชสกุล อยู่ในฐานะมีอันจะกิน

และยังพบใบสัญญาจองห้องเช่าที่ชูรอฟสกี้เคยทำไว้

เมื่อทราบพิกัดห้องเช่า จึงต้องเดินทางไปชม แต่พบว่าปัจจุบันสถานที่นั้นเป็นเพียงที่โล่ง

สถานที่นี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาคารชุดที่ชูรอฟสกี้เช่าพัก

สาเหตุที่ภูมิประเทศเปลี่ยนไป เพราะพื้นที่เมืองครู๊ซ เคยผ่านสงครามมาแล้ว สมรภูมิที่เมืองครู๊ซ คือสมรภูมิการทำสงครามรถถังที่ใหญ่ที่สุดในโลกในสงครามโลกครั้งที่ 2

เป็นการเผชิญหน้าระหว่างทหารรัสเซียกับทหารเยอรมนี ที่จบลงด้วยชัยชนะของรัสเซีย

หลังจากนั้น รศ.ดร.สุกรีพบกับคณะผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับชูรอฟสกี้ โชคไม่ดีที่ผู้เขียนเสียชีวิตแล้ว แต่ทีมงานที่ช่วยวิจัยและเขียนยังอยู่ครบ

วันนั้น จึงได้ฟัง มาซีนา โคสโมกายา หนึ่งในทีมงานบรรยายให้ฟัง ทำให้รู้ถึงเหตุผลที่ชูรอฟสกี้ประพันธ์เพลงสรรเสริญพระบารมี

ชูรอฟสกี้ต้องการรวมเพลงประจำชาติของประเทศเอกราช แต่สยามยังไม่มีจึงแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีเข้าประกวด

และในเอกสารที่ยังหลงเหลือยังยืนยันว่า

ชูรอฟสกี้เสียชีวิตลงที่เมืองครู๊ซ และทำพิธีศพที่สุสานเมืองครู๊ซ

เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม่มีใครกล้ายืนยันว่าศพของชูรอฟสกี้ฝังอยู่ที่ใด

สอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านหลุมฝังศพของเมืองครู๊ซ ทราบว่า ศพในสุสานหากไม่มีใครดูแลนาน 50 ปี จะฝังศพใหม่เข้าไปแทน

ส่วนหนึ่งของสุสานเมืองครู๊ซ ที่ฝังศพชูรอฟสกี้

และเมื่อสอบถามถึงทายาทของชูรอฟสกี้ก็ทราบแต่เพียงว่ามีลูกสาว แต่ลูกสาวของชูรอฟสกี้ไปอยู่ที่ไหน มีครอบครัวหรือเปล่า และมีทายาทหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้

ส่วนที่พักของชูรอฟสกี้ นอกจากห้องเช่าในเมืองแล้ว ยังมีที่พักในชนบทซึ่งเป็นบ้านของภรรยา โดยมีโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน

รศ.ดร.สุกรีจึงนำคณะไปชม พบว่าพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันเป็นป่า พื้นที่ที่เคยเป็นลำธาร ปัจจุบันแห้งเหือด

บ้านพักในชนบทที่ชูรอฟสกี้เคยพัก แต่ปัจจุบันกลายเป็นป่า

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเพราะสงครามโลก

แต่หลักฐานสำหรับเพลงสรรเสริญพระบารมี ถือว่าแจ่มชัดขึ้น

แจ่มชัดในตัวผู้ประพันธ์ แจ่มชัดในที่มาที่ไป

รศ.ดร.สุกรีจึงคิดจัดนิทรรศการบทเพลงสรรเสริญพระบารมี รวมทั้งบทเพลงของชูรอฟสกี้ เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-รัสเซีย

และเพื่อให้คนไทยรู้จักบทเพลงที่ตัวเองคุ้นเคยมาตลอดชีวิต

บทเพลงสรรเสริญพระบารมี


สุกรี เจริญสุข ต่อจิ๊กซอว์ เส้นทางเพลงสรรเสริญพระบารมี

การเดินทางมารัสเซียครั้งนี้ได้อะไร

ผมคิดว่าสิ่งแรกเราได้ข้อมูลที่เป็นประจักษ์ว่าสิ่งที่พบเป็นเรื่องจริง และเป็นหลักฐานสำคัญที่มีการบันทึกว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี มีความเป็นมาอย่างไร สิ่งนี้เราสามารถที่จะทำความเข้าใจ และทำความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม

นอกจากตัวโน้ตเพลงแล้ว ยังได้อะไรเพิ่มเติม

เส้นทางครับ เส้นทางของเพลงสรรเสริญพระบารมีว่าเป็นอย่างไรมาอย่างไร แต่เดิมเราสงสัยว่าปีโยต ชูรอฟสกี้ ได้ข่าวอย่างไร สถานทูตไทยในฝรั่งเศสพบกับชูรอฟสกี้อย่างไร อันนี้ตอบไม่ได้ แต่มาครั้งนี้ เรารู้ว่าชูรอฟสกี้ต้องการรวบรวมเพลงจากชาติที่มีเอกราช ไม่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด สยามเป็นชาติหนึ่งที่เป็นเอกราช ชูรอฟสกี้จึงทำหนังสือถึงสถานทูตไทยในฝรั่งเศส ทางสถานทูตไทยตอบว่าสยามไม่มีเพลงประจำชาติ กำลังหาคนเขียนอยู่ กำลังประกวดอยู่ ชูรอฟสกี้ก็ให้คำตอบว่าเขาจะส่งประกวด เส้นทางตรงนี้เราตอบได้แล้ว

ผมสงสัยว่าจากมอสโกไปปารีสมันไกลมาก จะเดินทางอย่างไร แต่เราพบว่ายุโรปมีรถไฟมา 250 ปีแล้ว ระหว่างเมืองใหญ่ๆ เขาเดินทางโดยรถไฟหมด การเดินทางในยุโรป จึงง่ายและสะดวกมากกว่าการเดินทางจากสยามไปปารีสที่ต้องนั่งเรือผ่านยะโฮ จากยะโฮแล้วมาปารีสมันก็ไกล หรือจากสิงคโปร์มาปารีสนี่ไกล

ตอนนี้ชูรอฟสกี้จากมอสโกไปปารีสจบ จากปารีสไปยะโฮก็จบ จากยะโฮไปบางกอกก็จบ ครบถ้วน

ทีนี้ปัญหาอีกอย่างคือ แล้วเมื่อชูรอฟสกี้เขียนเป็นโน้ตฝรั่ง แล้วบ้านเราไม่มีคนรู้โน้ตเพลงฝรั่งเลยในสมัยนั้น พ.ศ.2431 ไม่มีคนอ่านโน้ตออก เราพบว่า เฮวุดเซน เป็นพ่อค้าชาวดัตช์เล่นเปียโนเป็น อยู่ที่เมืองยะโฮ เจ้านายของสยามที่ยะโฮให้เล่นให้ฟัง เมื่อได้เอกสารจากปารีสไปถึงยะโฮ ให้เฮวุดเซนเล่นให้ฟัง เพราะโน้ตเป็นโน้ตเปียโน เมื่อได้เล่น ก็ได้ฟัง และเข้าใจว่าเปียโนในสยามสมัยนั้นมีอยู่หลังเดียว จึงเชิญเฮวุดเซนเข้ามาบางกอก

หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงได้ยินเปียโนเล่นก็ได้เขียนเนื้อใส่เข้าไป ก็ได้เนื้อพร้อมทำนองในเวลาเดียวกัน แต่ผมเข้าใจว่า คนเข้าใจกันว่าเฮวุดเซนเขียนโน้ตก็เพราะเหตุนี้ แล้วทุกคนก็บันทึกว่าเฮวุดเซนเป็นคนแต่ง เป็นความคลาดเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าอะไร เป็นมาอย่างไร เพราะยังไม่พบต้นฉบับของชูรอฟสกี้ แต่เมื่อพบแล้วก็ทราบว่าเฮวุดเซน เป็นแค่นักเล่นเปียโน ไขปัญหาว่าเสียงออกมาอย่างไร

ตอนเข้ามาก็เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วหรือ

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2431 กรมพระนริศฯได้นำเพลง 2 เพลงแสดงเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 5 คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีกับเพลงเขมรไทรโยค โดยใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีนี้เป็นเพลงคำนับ เป็นเพลงเกียรติยศ เพื่อสรรเสริญ รัชกาลที่ 5

ทั้งนี้ เดิมนั้น สยามไม่มีเพลงคำนับมาก่อน ยกเว้นตอนรัชกาลที่ 2 นักดนตรีปี่พาทย์เห็นว่ารัชกาลที่สองโปรดเพลงบุหลันลอยเลื่อน หรือเพลงสรรเสริญพระจันทร์ เพลงนี้ครูมีแขกแต่ง และต่อเพลงแล้วต่ออย่างไรก็ไม่ได้ ต่อมารัชกาลที่ 2 ทรงฝัน ได้ทำนอง ก็ได้ชื่อเพลงว่าเพลงทรงพระสุบิน

เพลงทรงพระสุบิน เพลงบุหลันลอยเลื่อน เพลงสรรเสริญพระจันทร์ เป็นเพลงเดียวกัน

เมื่อนักดนตรีเข้าใจอย่างนั้นพระองค์เสด็จก็จะบรรเลงเพลงนี้ และเรียกว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งก็คือเพลงรับเสด็จ

พอมาถึงรัชกาลที่ 4 เพลงรับเสด็จที่รับเสด็จโดยแตรวงก็ใช้เพลง ก็อด เซฟ เดอะ ควีน ครูน้อย อาจารยางกูร ได้ยินแตรก็ชอบ ก็เขียนเนื้อร้องใส่

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2414 พระองค์เสด็จปัตตาเวีย เมื่อเสด็จทหารแตรรับเสด็จด้วยเพลงก็อด เดอะ ควีน ตรงกับการบรรเลงเพลงของอังกฤษ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จนิวัตกลับมาก็ให้เปลี่ยน เราต้องเปลี่ยน เพราะเราไม่ใช่เมืองขึ้น พระองค์ทรงให้ครูมีแขกไปประชุมกัน แล้วที่ประชุมได้นำเอาเพลงสรรเสริญพระจันทร์มาเป็นเพลงคำนับ เรียกว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีไทย แต่ก็ไม่โปรด

จนปี พ.ศ.2431 ผมคิดว่าน่าจะปี พ.ศ.2430 มากกว่า ได้ประกาศประกวด พอปี พ.ศ.2431 ได้โน้ตจากชูรอฟสกี้ก็โปรดมาก ที่โปรดเพราะสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ใส่เนื้อให้ด้วย

ดังนั้น ระหว่าง พ.ศ.2395 เราใช้เพลงก็อด เซฟ เดอะ ควีน จนถึง พ.ศ.2414

ปี พ.ศ.2414 ถึง พ.ศ.2431 ใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย

ปี พ.ศ.2431 ถึงปัจจุบัน ใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ชูรอฟสกี้แต่ง

แต่ก่อนหน้ากรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ เนื่องจากลาลูแบร์ เดินทางมาสยามในฐานะราชทูตฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2228 ในสมัยพระนารายณ์ และได้ยินมโหรีเล่นเพลง จากนั้นได้จดโน้ตและบันทึกในจดหายเหตุลาลูแบร์ ใช้ชื่อเพลงไซมิส ซองส์ หรือชื่อว่า “เพลงสยาม” มีเนื้อร้องด้วย เพลงนี้ภายหลังพระเจนดุริยางค์นำมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก และเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงสรรเสริญพระนารายณ์” ต่อมาเรียกว่า เพลงศรีอยุธยา เพลงอโยธยา คือเพลงเดียวกัน

ยังมีอีกเพลงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือเพลงสรรเสริญเสือป่า ขณะนั้นมีกองทหารเสือป่า และต้องการเพลงเกียรติยศประจำกองเสือป่า สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้นำเพลงสรรเสริญทางไทยมาทำเป็นเพลงสรรเสริญเสือป่าทางฝรั่ง คือสืบทอดจากเพลงบุหลันลอยเลื่อน เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย แล้วมาเป็นเพลงสรรเสริญเสือป่า เป็นเพลงเดียวกัน

ดังนั้น ขณะนี้เราแยกเพลงสรรเสริญพระบารมีแต่ละสมัยได้ครบทั้งทำนอง เนื้อร้อง และคนแต่ง

ทราบว่าบทเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ชูรอฟสกี้ประพันธ์ มีการเรียบเรียงต่อๆ กันมาอีก

เพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ชูรอฟสกี้แต่ง ถูกเรียบเรียงต่อมาอีกหลายฉบับ ฉบับหนึ่งถูกเรียบเรียงโดยร้อยเอก ฟุสโก โดยนำเอาเพลงสรรเสริญพระบารมีมาเรียบเรียง สำหรับวงแตรวงแล้วเรียกว่าแตรตอด “ปั่ม ปัม ปั่ม ปัม ปั๊ม ปั่ม (ปั่ม ปั่ม ปัม ปั๊ม ปั่ม)” ต่อมาพ่อพระเจนดุริยางค์ก็เรียบเรียงเป็นเพลงประสานเสียง ฮันต์ กุนเธอร์ มอมเมอร์ ชาวเยอรมันก็เรียบเรียง อาจารย์บรูซ แกสตัน ก็เรียบเรียง พระเจนดุริยางค์ก็เรียบเรียง

กระทั่งเพลงสรรเสริญพระบารมี ได้รับการเรียบเรียงมากมายจนไม่สามารถตอบได้ว่าใครเป็นต้นฉบับ เพราะทุกคนเป็นต้นฉบับหมด แต่เป็นต้นฉบับของการเรียบเรียง

ส่วนผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นมีคนเดียว

นั่นคือ ปีโยต ชูรอฟสกี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image