‘อยุธยา เมืองเก่าของเราแต่ก่อน’ กับ คณะราษฎร 2475

จากคำบอกเล่า ของ ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สัมภาษณ์ โดย สโมสรโบราณคดีตามอัธยาศัย

 

อยุธยาเมืองใหม่ ทำถนนรอบเกาะเมือง เลียบเเม่น้ำต่างๆ 12 กิโลเมตร

เป็นการทำลายกำเเพงเมืองอยุธยาอย่างจริงจัง เพราะก่อนหน้านี้กำเเพงเมืองยังอยู่ เเต่เมื่อทางรถไฟมาก็สร้างตลาดหัวรอ สุขาภิบาล ผู้คนเริ่มอพยพจากริมแม่น้ำขึ้นมาอยู่บนบก

การสร้างเมืองบนบกจึงสำคัญขึ้นในช่วงสมัย ร.5, ร.6

Advertisement

การทำลายกำเเพงเมืองกรุงเทพฯ เป็นต้นแบบทำลายกำเเพงเมืองอยุธยา และทำลายกำเเพงเมืองทั่วประเทศ

ถนน สร้างอยุธยาเมืองใหม่

ต่อมาอีกช่วงหนึ่งเกิดพัฒนาการใหม่ก็คือถนน ถนนสายสำคัญจะเกิดช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เราเรียกว่าถนนพหลโยธินในปัจจุบัน

ถนนพหลโยธินเริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กม. 0 วิ่งตัดไปบางปะอิน วังน้อย สระบุรี ลพบุรี สุดที่เชียงราย ถนนพหลโยธินมันทำให้เกิดการเดินทางแบบใหม่แบบรถยนต์ ดังนั้นจึงมีการตัดถนนที่เชื่อมจากพหลโยธินเพื่อเข้าไปยังเมืองอยุธยา

ถนนเลยพุ่งเข้าไปที่เกาะเมืองอยุธยา ไปใจกลางที่เป็นศาลาว่าการจังหวัดเก่า ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ข้างใน เพราะหน่วยงานราชการเก่าๆ ไม่สามารถที่จะมีที่ดินเพื่อจัดตั้งสำนักงานมาได้ ทั้งหน่วยงานราชการและโรงพยาบาล การใช้พื้นที่ของเกาะอยุธยานี่เข้าใจว่าคณะราษฎรเเละคนอยุธยาในยุคนั้น จะรู้จักอยุธยาดีมาก เพราะถ้าเราไปดูสภาพการณ์ปัจจุบัน เมืองของประชาชนจะอยู่ครึ่งกลางตะวันออก ในขณะที่ครึ่งด้านตะวันตก จะเป็นเขตโบราณสถาน

คณะราษฎรมากับการสร้างกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งคือหลักหมายอันสำคัญที่กรมศิลปากรจะได้ทำงานก็คือการตีเขตโบราณสถานทั้งหมดของทั้งประเทศ และการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน มันก็เลยทำให้อยุธยาสามารถรักษาโบราณสถานไว้ได้

สะพานปรีดีธำรง ข้ามแม่น้ำป่าสัก (ภาพจาก http://wikimapia.org)

สะพานเชื่อมอยุธยา

เดิมทีเรามักจะเข้าใจว่า ถนนและสะพานที่เข้าไปยังเกาะเมืองเป็นตัวที่ทำลายโบราณสถานอยุธยา แต่ความเป็นจริง คณะราษฎรเป็นผู้รักษาโบราณสถาน ไม่ให้ถูกทำลายโดยการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

สะพานปรีดีธำรงนี่เป็นสะพานโครงสร้างเหล็กในแบบสะพานพุทธยอดฟ้า ซึ่งสร้างเพื่อข้ามแม่น้ำป่าสัก สร้างในช่วงปี พ.ศ. 2482-3 ซึ่งหมายความว่าในขณะนั้น ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เเละหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ปรีดี พนมยงค์ เป็นคนเกิดที่อยุธยา ริมแม่น้ำลพบุรี ส่วนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นคนที่เกิดในตลาดหัวรอย่านตลาดการค้า ตลาดหัวรอถูกสร้างมาเพื่อให้กลายเป็นตลาดการค้า โมเดิร์นมากในสมัย ร.5-6 มีการสร้างห้องเเถวก่ออิฐ มีโรงหนัง มีท่อระบายน้ำ เป็นแบบสุขาภิบาลรุ่นใหม่ เพราะนี่คือยุคสมัยของการอพยพผู้คนจากเรือนเเพมาอยู่บนฝั่ง

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นคนเกิดที่นี่ เเละทั้งสองเป็นคนรุ่นเดียวกัน เเละเรียนหนังสือที่อยุธยาวิทยาลัยปีเดียวกัน ดังนั้นเพราะทั้งสองเป็นหนึ่งในผู้นำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองทางการเมือง ทั้งสองก็จะมีบทบาทสำคัญในบ้านเกิดของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เมื่อเป็นผู้นำคณะราษฎรในยุคนั้น ความสำคัญหลังยุคสมัย 2475 คือการพัฒนาถนนเป็นตัวจักรที่สำคัญ เพราะถนนสามารถแทรกไปบ้านเมืองต่างๆ ได้ เเต่ทางรถไฟต้องวิ่งไปทางเดียว

ดังนั้น ถนนกลายเป็นเครื่องมือของการพัฒนาอยุธยา

การเชื่อมกับถนนพหลโยธินที่ถูกตัดผ่านแบบไม่เข้าอยุธยาและที่เชื่อมไปยังอยุธยาและการพุ่งเป้าว่าจะพัฒนาพื้นที่ทางด้านตะวันออกให้เป็นบ้านเรือนและพื้นที่หน่วยงานราชการในเขตเมืองอยุธยา โดยมีปลายทางสุดก็คือศาลาว่าการของจังหวัดหลังเก่า ดังนั้นถนนจึงพุ่งเป้าและตัดลงไป และสร้างสะพานปรีดีธำรงขึ้นมา ซึ่งเปิดในวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ปรีดี พนมยงค์ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือหัวของคณะราษฎร จึงกลายเป็นภาพว่าพัฒนาเมืองอยุธยาขึ้นมา

ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า) ตั้งอยู่ในเกาะเมืองอยุธยา (ภาพจาก https://www.gotoknow.org/posts/486213)

พระมหากษัตริย์ 6 พระองค์

รูปของพระมหากษัตริย์ที่อยู่ตรงศาลากลางจังหวัดหลังเก่า มี 6 เสาด้วยกัน ข้างหน้า 6 เสา คือนโยบายหลักการ 6 ของคณะปฏิวัติ 2475 หรือเราเรียกว่า หลัก 6 ประการของคณะราษฎร

พระมหากษัตริย์อีก 6 พระองค์ตรงหัวเสา ประกอบไปด้วย

1. พระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างอยุธยา 2. พระบรมไตรโลกนาถ ปฏิรูปการปกครองของอยุธยา 3. พระสุริโยทัย 4. พระนเรศวร 5. พระนารายณ์ 6. พระเจ้าตากสิน

ทั้ง 6 พระองค์ คือพระมหากษัตริย์ผู้ได้รับการยกย่องในสมัยคณะราษฎร พระสุริโยทัยเป็นผู้หญิง ประวัติศาสตร์อยุธยาไม่กล่าวและยกย่องผู้หญิง คณะราษฎรจึงทำให้มีขึ้นมา

ละครปลุกใจให้รักชาติ คือ “อยุธยา” อย่าง “เลือดสุพรรณ” ไม่ได้ถูกทำเป็นละครเวที โดยกรมศิลปากรเท่านั้น ในยุคต่อมายังมีการสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย (ในภาพเป็นใบปิดภาพยนตร์เรื่องเลือดสุพรรณ กำกับโดย เชิด ทรงศรี เมื่อ พ.ศ. 2522 (จากwww.silpa-mag.com)

กรมศิลปากรยุคแรกเริ่มกับอยุธยา

กรมศิลปากรเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2477 หลังการปฏิวัติ 2 ปี

การสร้างกรมศิลปากรมี 2 อย่างที่เด่นๆ เลยก็คือ

1. รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมไว้ด้วยกัน นั่นก็หมายความว่า ทั้งหอสมุด พิพิธภัณฑ์ก็จะมาอยู่ที่กรมศิลปากร เพราะกรมศิลปากรจะเป็นตัวที่เเสดงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือการนำวัฒนธรรมมาเเสดงเพื่อสร้างชาติ ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของคณะราษฎร ในการรวบรวม การขึ้นบัญชีโบราณสถานทั้งประเทศ และอยุธยาที่เป็นเขตโบราณสถานทั้งหมด ก็ไม่ถูกรุกล้ำเข้าไปก็เพราะว่าการขึ้นบัญชีของกรมศิลปากร มันทำให้เกิดการกันที่ดินสำหรับโบราณสถานไว้ ถ้าไม่มีกรมศิลปากรในยุคนั้น อยุธยาก็คงพังพินาศมากกว่านี้

2. การเเสดงละคร กรมศิลปากรมีทั้งวงดนตรี การเเสดงรำของวงโบราณ กรมศิลปากรจึงนำสิ่งที่มีอยู่มาปรับให้เป็นสมัยใหม่ และก็ทำการเเสดงละครในยุคใหม่ โดยเปิดฉากที่ละครเลือดสุพรรณ ในปี พ.ศ. 2479 เลือดสุพรรณเป็นละครที่แบบลิเก ละครโขนแบบไทย เข้าไปเป็นละครร้อง สนทนาแบบโลกตะวันตก พอผสมผสานกันมันทำให้เลือดสุพรรณนี่ดังมาก จนกลายเป็นหลักหมายที่สำคัญของการสร้างชาติใหม่ในคณะราษฎร

รำวง วัฒนธรรมเพิ่งสร้างจากประเพณีรำโทน

อยุธยากับชาตินิยม

เรื่องราวของอยุธยาต้องมองเป็น 2 เส้นขนาน

เส้นหนึ่งก็คือชนชั้นนำไทยหลัง 2475

คณะราษฎร โดยเฉพาะหลวงวิจิตรวาทการ ที่เป็นมันสมองของการสร้างเรื่องราวในการเเสวงหาการมีส่วนร่วมของประชาชน และวีรบุรุษใหม่ๆ ของอยุธยา

ในสายตาของหลวงวิจิตรวาทการ อยุธยานี่เป็นเมืองที่มีผู้ปกครองอ่อนแอ ดังนั้นคณะราษฎรได้หาผู้ปกครอง และพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง และสร้างเมืองดี ด้วยเหตุนี้พอไปถึงยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนปี 2500 เรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์สุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง จึงขึ้นมามีบทบาทมากๆ จนกระทั่งละครที่สำคัญก็คืออานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่มีเพลงดัง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งเอามาจากจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กองทหารพยายามอธิบายตัวเอง อย่างจอมพล ป. ก็กำลังพยายามอธิบายตนเองว่าปกครองเมืองได้สมบูรณ์เหมือนกับสุโขทัยแบบในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จนกระทั่งมีเสถียรภาพ จนกระทั่งจอมพล สฤษดิ์ได้รัฐประหาร และล้มรัฐบาลจอมพล ป. จอมพล สฤษดิ์ พยายามจะบอกว่าตนคือบิดา ผู้ปกครองบุตรทั้งหลาย เเต่ปกครองด้วย M16 และกฎอัยการศึก

โลกของชาวบ้านก็มีอีกชุดหนึ่งที่เราเรียกว่า รำวง

รำวงเป็นเพลงที่สร้างขึ้นมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลจอมพล ป. บอกว่าสงครามนี้ตึงเครียดมาก ข้าวยากหมากเเพง จะเเสวงหาการบันเทิงอย่างไรดี ซึ่งเป็นเพลงสั้นๆ

เขาก็จะบอกกันว่ามันเริ่มมีเพลงคณะรำวง คณะสามย่าน ที่อยู่เเถวๆ จุฬา ได้ออกเพลงของตัวเองขึ้นมา ที่ร้องว่า “อยุธยา เมืองเก่าของเราเเต่ก่อน” ซึ่งเพลงนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในเเผ่นเสียงด้วย

เพลงก็ได้เเพร่กระจายเป็นอย่างมาก ภาพของประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งคุยกันเเต่เรื่องของพระมหากษัตริย์ วีรบุรุษและนักรบ กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ต้องคุยเรื่องเมืองที่เป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักร

เพลงรำวงเรื่องอยุธยาทำให้เกิดการมองอยุธยาขึ้นมามากกว่าการมองในเรื่องชนชั้นนำ ผู้ปกครอง และในท้ายสุด ก่อนปี 2500 ก็มีการเปิดพิพิธภัณฑ์อยุธยาขึ้นในใจกลางเมืองอยุธยา ซึ่งผมคิดว่า นี่คือหลักหมายที่ทำให้การมองเห็นอยุธยามีความสำคัญมากขึ้น

เพลงรำวง “อยุธยาเมืองเก่า” และพิพิธภัณฑ์อยุธยา ถูกทำให้ยกอยุธยาขึ้นมาว่า อยุธยาคือศูนย์กลางของอาณาจักร เป็นหนึ่งในอาณาจักรก่อนหน้าของกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติศาสตร์ตรงนี้เลยถูกบันทึกในแบบเรียนยิ่งขึ้น และก็เป็นตัวหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่าอาณาจักรไหนควรได้รับมรดกโลก เราก็จะเห็นอยุธยา สุโขทัย ได้รับเป็นมรดกโลกในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา

เพลงรำวงอยุธยาเมืองเก่า ทำเป็นแผ่นเสียงโดยคณะสามย่าน แล้วถูกจัดจำหน่ายโดยห้างแผ่นเสียงอื่นๆ อีกด้วย เช่น ห้างแผ่นเสียงตราสุพรรณหงส์ ภายในชื่อ “รำวงรักชาติ” (ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ VintageTwelve12antique)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image