ไขวาทกรรม ‘ชังชาติ’ รักจริง อย่าวิจารณ์ ความสมัครสมานที่สังคมโหยหา?

นับได้ว่ามีเรื่องราวให้สังคมครางฮือไม่เว้นแต่ละวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากพิจารณาถึงเหตุการณ์สำคัญที่กล่าวขวัญกันในโลกออนไลน์ก็มีหลายที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน ทว่าล้วนสัมพันธ์กับแนวคิดบางประการเกี่ยวกับคำว่า “ชาติ” ไม่ว่าจะเป็นกรณีนักร้องสาววัยรุ่น สุธิตา ชัยชนะสุวรรณ หรือ “อิมเมจ เดอะวอยซ์” ที่โพสต์ทวิตเตอร์แบบรัวๆ วิจารณ์การคมนาคมและสวัสดิการของไทย โดยมีวาทะเด็ดคือ “ประเทศเฮงซวย จะอีก 50 ปี หรือ 1,000 ปีก็ไม่เจริญขึ้นหรอก ยิงกูดิ”

ข้อความนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์อย่างถล่มทลายว่าหากไม่รักชาติ ทำไมไม่ย้ายออกจากประเทศนี้ไป เป็นคนไทยเหตุใดจึงไม่ภูมิใจในชาติตัวเอง สุดท้ายเจ้าตัวออกมาขอโทษ และยอมรับว่าเหตุที่โพสต์ก็เพราะหงุดหงิดที่รอรถเมล์นาน โดยเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น

ไหนจะกรณี ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์กรณีภรรยาชาวต่างชาติของตนติด ตม.ที่สนามบินดอนเมือง นานถึง 5 ชั่วโมง พร้อมด้วยวาทะ “ประเทศเฮงซวย” ที่คาดว่าหยิบยืมจากอิมเมจมาผลิตซ้ำ จึงโดนกระหน่ำเมนต์แสดงความไม่พอใจอย่างมหาศาลด้วยการกระแทกคีย์บอร์ดไล่ให้รีบๆ ย้ายประเทศไปอย่าได้แคร์

Advertisement

ตามมาติดๆ ด้วยความยุ่งเหยิงในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ หน้าลานพระบรมรูป 2 รัชกาล ซึ่ง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดฝนตกลงมา แต่กลับให้นักศึกษาหมอบกราบถวายบังคมโดยมีการแจกเพียงแผ่นกันฝนเล็กๆ แทนที่จะให้โค้งคำนับแล้วจบพิธีตามที่รองอธิการบดีเคยสัญญาไว้กับตน มิหนำซ้ำยังมีอาจารย์ท่านหนึ่งล็อกคอเพื่อนที่ลุกเดินออกมาระหว่างพิธีเพราะทนไม่ได้

ต่อมา จุฬาฯออกมาชี้แจงว่าไม่ได้บังคับให้นักศึกษาร่วมกิจกรรม และช่วงที่ฝนเริ่มตกหนักก็ใกล้จะจบพิธีแล้ว อีกทั้งมีการแจกเสื้อกันฝนให้เด็กๆ อีกด้วย จากนั้นยังมีการงัดหลักฐานโต้กันไปมาอีกหลายหน ส่งผลให้ชื่อของเนติวิทย์ที่มักถูกเรียกเชิงยั่วล้อว่า “เนเน่” ผุดขึ้นมาในวงเมาธ์อีกครั้งพร้อมกับการตั้งคำถามถึงความขบถและภาพลักษณ์ “ชังชาติ” ที่ติดตัวมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ม.ปลาย จากการวิพากษ์ความเป็นไปของสังคมด้วยถ้อยคำที่หลายคนไม่อาจทนฟัง

ส่วนกรณีล่าสุดที่ฉุดเอาประเด็นสัญชาติในบัตรประชาชนมาเกี่ยวข้อง นั่นคือโศกนาฏกรรมของ 2 นักศึกษาไทยที่ไปประสบอุบัติเหตุรถตกเหวลึกที่อุทยานแห่งชาติคิงส์ แคนยอน สหรัฐอเมริกา ซึ่งชาวเน็ตไทยส่วนหนึ่งกระพือความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่รีบช่วย เพราะไม่ใช่ฝรั่งผิวขาว แต่เป็นชาวเอเชียหัวดำ ถลำสู่ประเด็นเหยียดสีผิวและสัญชาติ ซ้ำยังบอกให้มาดูงานกู้ภัยไทยที่ช่วยเหลือฉับไว ไม่ห่วงชีวิตตัวเอง กระทั่งคนไทยที่อยู่ในอเมริกาหลายรายทนไม่ไหวต้องออกมาให้ข้อมูลเรื่องหลักความปลอดภัยเพื่อดับอุณหภูมิร้อน โดยระบุว่าระบบกู้ภัยอเมริกานั้นฉับไวอย่างยิ่ง หากพบสัญญาณว่าอาจมีคนรอดชีวิต เจ้าหน้าที่จะไม่ลังเล แต่อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วหลายวัน ตั้งแต่นักศึกษาไม่กลับมาเช็กเอาต์ตามกำหนด พนักงานโรงแรมโทรแจ้งตำรวจแล้วออกตามหาจนพบจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นเหวลึกเทียบเท่าตึก 50 ชั้น ซึ่งไม่อาจโรยตัวลงไปด้วยเชือกอย่างที่มโนโซเชียลกัน

Advertisement

หลายปรากฏการณ์ที่กล่าวมานี้สะท้อนอะไรในสังคมไทย มาลองดูความเห็นในมุมที่แตกต่าง

พลั้งปาก ไม่สร้างสรรค์

ปัญหาการวิจารณ์-ไม่เคารพสิทธิ?

เริ่มที่ ดร.สายป่าน ปุริวรรณชนะ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ศิษย์เก่าอักษรจุฬาฯ ผู้มีบทบาทในการวิเคราะห์ประเด็นสังคมผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กบ่อยครั้ง ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก

ดร.สายป่านมองว่า กรณีอิมเมจ เป็นเรื่องของเด็กที่พลั้งปาก แค่อารมณ์เสียจึงบ่น โดยลืมคิดไปว่าคำพูดไม่ได้เจาะจงแค่การจราจร แต่หมายถึงทั้งประเทศ แทนที่จะวิจารณ์แค่รถเมล์ซึ่งคนทั่วไปจะเห็นด้วย กลับกลายเป็นการด่าประเทศชาติซึ่งไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะบอกว่าเป็นประเทศเฮงซวยเพราะรถเมล์มาช้า อย่างไรก็ตาม หากถามว่าสิ่งที่อิมเมจพูด ควรรับฟังหรือไม่ ก็ควรรับฟัง แต่ควรวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ในขณะที่ประเด็นเนติวิทย์ เป็นเรื่องของคนที่ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น

“ถ้าจะวิจารณ์อะไร ขอให้วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ อย่าใช้อารมณ์ ต้องรู้จักวิธีพูดให้มากขึ้น เพราะเป็นคนสาธารณะ ส่วนเนติวิทย์ มองว่าเป็นคนไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง สามารถเห็นต่างกันได้ แต่ต้องเคารพกันและกัน พิธีถวายบังคม เป็นพิธีที่ไม่บังคับตั้งแต่สมัยไหนมาแล้ว ถ้าสมัครใจจึงเข้าร่วม ยิ่งในยุคหลังจัดคนละวันกับวันรับน้อง ยิ่งชัดเจนว่าถ้าไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา ไม่มีใครว่า

“ในเมื่อนิสิตคนอื่น อยากถวายบังคม จะด้วยเหตุผลเพื่อความเป็นสิริมงคลหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เป็นสิ่งที่สมัครใจ ถ้าเนติวิทย์ไม่เห็นด้วยก็อย่าเข้าร่วม ไม่ใช่มาป่วนพิธี ถือว่าไม่เคารพสิทธิคนอื่นซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตยอย่างมาก นอกจากนี้ เวลาออกสื่อพูดความจริงไม่หมด เป็นการบิดเบือน พยานหลายปากพูดตรงกันว่าฝนตกมีการแจกเสื้อกันฝน เนติวิทย์กลับบอกว่าอาจารย์กางร่มแต่นิสิตตากฝน อีกประการหนึ่งคือ บอกว่าตัวเองเดินออกไปอย่างสงบ แต่ที่ทุกคนพูดตรงกันคือ จงใจเดินตัดหน้าพระบรมรูประหว่างพิธีทำให้อาจารย์เข้าไปล็อกคอ ซึ่งถามว่าอาจารย์ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ก็ใช่ แต่ถามอีกว่ามีเรื่องที่ทำให้อาจารย์ทำเกินกว่าเหตุไหม ก็เข้าใจว่าอาจารย์อาจจะตกใจ”

ถามว่าคนไทยมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศที่ตัวเองอยู่อาศัยหรือไม่ ดร.สายป่านยืนยันว่า ได้ แต่ควรนำเสนออย่างสร้างสรรค์

“ไม่ว่าจะเรื่องถวายบังคม เรื่องชาติบ้านเมือง ไม่ใช่วิจารณ์ไม่ได้ ควรต้องวิจารณ์โดยคุยกันว่าเราเห็นร่วมกันหรือต่างกันอย่างไร และจะอยู่กันอย่างไร แต่สิ่งที่ต้องทำคือ นำเสนออย่างสร้างสรรค์ ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น นี่คือหลักการประชาธิปไตยเบื้องต้น และหากคนเราต้องการบรรลุเป้าหมายใด ต้องมีความตรงไปตรงมา เข้าใจว่าเนติวิทย์ต้องการความเท่าเทียม ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่วิธีที่ทำไม่สุจริต ถ้าวิธีการไม่สุจริตแล้ว จุดหมายปลายทางจะสุจริตได้อย่างไร” ดร.สายป่านตั้งคำถามทิ้งท้าย

ขมวดปม รักชาติ ชังชาติ ก้าวหน้า อนุรักษนิยม

มาฟังอีกมุมของนักวิชาการและเหยื่อในขณะเดียวกัน อย่าง ผศ.ดร.ปิยบุตร ผู้ถูกชาวเน็ตไล่ออกนอกประเทศจากการโพสต์เรื่องภรรยาติด ตม. 5 ชั่วโมง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นเรื่องคนไม่พอใจการวิจารณ์ตำหนิประเทศชาติ จนคนเหล่านี้คิดชื่อ “ลัทธิชังชาติ” ขึ้นมาเพื่อใช้ตอบโต้นั้น สมัยก่อนไม่อาการหนักถึงขนาดนี้ เหตุใดระยะหลังจึงมีความดุเดือดมากขึ้น โดยมองว่าอาจเป็นการสร้างเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ตนเอง ทั้งที่คนกลุ่มนี้ก็เคยวิจารณ์ประเทศมาแล้วทั้งนั้น ใช่ว่าไม่เคย

ด้าน ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่าการวิจารณ์ประเทศชาติเป็นเรื่องปกติ กลุ่มคนที่บอกว่าประเทศชาติกำลังก้าวไปข้างหน้า อย่ามาวิจารณ์กันมาก เป็นกลุ่มที่อาจมองสังคมว่าต้องกลมเกลียวกัน ต้องก้าวเดินไปด้วยกัน เป็นวิธีการมองแบบที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ไป ประเทศชาติต้องสมัครสมานกลมเกลียว เป็นวิธีการมองสังคมคนละแบบกับกลุ่มคนที่คิดว่าการที่สังคมจะเจริญก้าวหน้าต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ได้ มีความคิดที่แตกต่างกันได้ ต้องมีการโต้แย้งถกเถียง

“คนที่ตั้งข้อรังเกียจกับผู้ที่ออกมาวิจารณ์สังคม จะไม่ชอบให้ใครวิจารณ์ครอบครัว บ้าน ประเทศชาติ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เป็นปัญหาหลายอย่าง ทำให้สังคมมนุษย์ย่นย่อกลายเป็นครอบครัวเล็กๆ เป็นเหมือนสังคมขนาดเล็กที่คนต้องคิดเหมือนกัน ในขณะที่ประเทศชาติไม่ใช่ครอบครัว หรือสังคมขนาดเล็กที่จะต้องเห็นพ้องไปด้วยกันหมด ความเห็นที่แตกต่างกันต่างหากที่จะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า ทำอย่างไรเราจะพัฒนาจากการวิพากษ์วิจารณ์กัน”

ถามว่าเกี่ยวโยงกับการเมืองเรื่องสีเสื้อหรือไม่?

ยุกติมองว่า ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยว ยกตัวอย่างเมื่อครั้งที่คนลุกขึ้นมาวิจารณ์พรรคเพื่อไทย หรือย้อนไปยุคไทยรักไทย คนกลุ่มเดียวกันก็ไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจว่ามาวิจารณ์รัฐบาลทำไม ไม่รักชาติหรือ?

“เคยสงสัยเหมือนกันว่าเป็นเรื่องอคติทางการเมืองตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะเราจะเลือกวิจารณ์ช่วงหนึ่ง แต่อีกช่วงไม่วิจารณ์ ก็อาจมีส่วน แต่อีกส่วนหนึ่งคือ บางคนอาจจะมีหลักการบางอย่างที่ไม่ได้จำเป็นว่าฝักใฝ่ฝ่ายใด วิธีคิดแบบต้องการความสมัครสมานสามัคคีก็มีทั้งในฝ่ายเหลืองและแดง ความคิดที่มองว่าสังคมต้องไม่มีความขัดแย้ง คิดว่ามีทั้ง 2 ฝ่าย เช่นเดียวกับแนวคิดที่ว่าสังคมต้องถูกวิจารณ์ได้ ก็มีอยู่ในทั้ง 2 ฝ่ายเช่นกัน ถ้าลองไปดูว่าใครกันแน่ที่มาเที่ยวเฝ้าบอกว่าคนนั้นคนนี้เป็นพวกรักชาติหรือไม่รักชาติ ก็คิดว่าไม่สามารถเหมารวมได้”

ส่วนกรณีเนติวิทย์ มองว่าคนในจุฬาฯ ก็มีกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมเหมือนกัน ไม่ได้พิเศษเฉพาะเนติวิทย์ เพียงแต่เนติวิทย์เป็นที่รู้จักตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย และถูกจับตามองตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน แม้จะถูกมองว่า “ป่วน” แต่บทบาทของเขาก็ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งในการเป็นตัวแทนของนักศึกษา แต่แนวทางการแสดงออกของเนติวิทย์ หรือข้อเสนอต่างๆ นั้น คิดว่าคนให้ความสนใจเนติวิทย์เกินบริบทของจุฬาฯ

“สังคมให้ภาพประทับเกี่ยวกับความเป็นจุฬาฯในลักษณะหนึ่ง มีความคาดหวังว่าจุฬาฯต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอมีคนแบบเนติวิทย์ขึ้นมาสักคน สังคมก็คิดว่านี่ไม่ใช่จุฬาฯ ทั้งๆ ที่คนในจุฬาฯเอง ก็รู้เห็นในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว คิดว่าสังคมภายนอกต่างหากที่ไปเพ่งความสนใจว่าเนติวิทย์ไม่เข้ากับจุฬาฯ ในขณะที่ธรรมศาสตร์คนคิดว่าเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มีคนธรรมศาสตร์ที่ไปทำงานกับคณะรัฐประหาร เป็นภาพลักษณ์ที่ขัดกับธรรมศาสตร์เหมือนกัน แต่ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร”

ความย้อนแย้งอย่างแปลกประหลาด

“กับดัก” นิยมชาติ-เหยียดผิว

มาถึงกรณีอุบัติเหตุที่สหรัฐ ซึ่งถูกคนไทยกลุ่มหนึ่งมองว่าเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญน้อยเพราะเชื้อชาติสีผิว

ถามว่า เหตุเกิดจากคนไทยมีปมในใจว่าฝรั่งเหยียดคนเอเชียหรือไม่?

ยุกติหยุดคิดก่อนเปรยว่า “คนไทยเอาใจยาก” บางครั้งพอเห็นฝรั่งพูดภาษาไทยได้นิดหน่อย ก็ชื่นชมปลาบปลื้มในทำนองว่าประเทศที่พัฒนาแล้วยังอุตส่าห์มาเรียนภาษาของประเทศเล็กๆ อย่างเรา แต่ในทางตรงกันข้าม พอเกิดกรณีแบบนี้ก็ไปโทษฝรั่ง จึงรู้สึกว่าเป็นความคิดที่เหยียดตัวเอง คือคนไทยก็หลงในชาติพันธุ์ คือ หลงคนผมทอง อยากผิวขาว จมูกโด่ง ขายาว มองฝรั่งสูงกว่าตลอด นับเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่ง

“ทางแก้คือต้องปรับทัศนคติตัวเอง ไม่ใช่คาดหวังคนอื่น ต้องหันกลับมามองตัวเอง ถ้ายังปลาบปลื้มฝรั่งพูดไทย สวมชุดไทย และอยากผิวขาว จมูกโด่งเหมือนเขา แสดงว่าเรายังติดอยู่วิธีคิดแบบอคติด้านเชื้อชาติเหมือนกัน”

ย้อนมาที่การวิพากษ์วิจารณ์ประเทศชาติ นักมานุษวิทยาท่านนี้มองว่าเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่คิดว่าสังคมที่เป็นอยู่ดีไม่พอ คนเริ่มตระหนักว่าสังคมมีปัญหา ในที่สุดจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา ยุกติตั้งคำถามทิ้งท้ายเช่นกันว่าทำไมไม่ยกย่องคนเหล่านี้ที่จะนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ก้าวหน้า เราต้องปรับทัศนคติสังคม ควรยกย่อง และยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนรุ่นใหม่

เขาจะได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image