ญี่ปุ่นหัวใจไทย ยูโซ่ โตโยดะ วนิพกแห่งสันติภาพ

เหมือนเป็นประเพณีไปแล้ว คราใดที่ ยูโซ่ โตโยดะ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชาวอาทิตย์อุทัยผู้นี้เดินทางมาเมืองไทย จะต้องมีคอนเสิร์ตเล็กๆ สักครั้ง

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่ร้านอาหารสบายใจเก็บตะวัน ในค่ำคืนวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงมีคอนเสิร์ตเล็กๆ แสนจะอบอุ่นกับคนคอเดียวกันมารวมตัวกันร้องเล่นเพลง พูดคุยให้หายคิดถึง

รวมทั้งแฟนเพลงจำนวนหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น และจากกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่บินตามมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ไท แสงเบญจา จากจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอีกแฟนเพลงเหนียวแน่น ที่เมื่อทราบข่าวการจัดไลฟ์ คอนเสิร์ตจากเว็บไซต์มติชน รีบเคลียร์ทุกสิ่ง บินมาร่วมงานโดยไม่ลืมพกซีดีเพลงมาขอลายเซ็นศิลปินที่เขาชื่นชอบและติดตามผลงานมาตลอด

Advertisement

ยูโซ่ โตโยดะ เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตในวัย 68 ปี ที่ยังแข็งแรง มีรอยยิ้มฉายบนใบหน้าตลอดเวลา เขาบอกว่า ประเทศไทยเหมือนเป็นบ้านที่ 2 ของเขา ที่ต้องหาเวลามาเยี่ยมเยียนให้ได้ทุกปี ปีละนานๆ เช่นครั้งนี้ มีกำหนดจะกลับญี่ปุ่นก็ในเดือนหน้า

“ผมมาพักผ่อน มาเขียนเพลง มาเล่นดนตรีร่วมกับเพื่อนๆ มีความสุขทุกครั้งที่ได้มาเมืองไทย”

โตโยดะ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2492 เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน โดยพี่ชายคนที่ 2 ซึ่งเป็นนักดนตรีแนวคันทรีเป็นคนสอนให้เล่นกีตาร์เป็นตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

Advertisement

พออายุได้ 15 ปี ก็ตั้งวงดนตรีร่วมกับเพื่อนๆ ในโรงเรียน อีก 2 ปีต่อมา เพลง “ฮิโรชิมา” ที่เขาเขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ก็ได้รับรางวัลจากการประกวดเพลงยอดเยี่ยมระดับประเทศ

หนุ่มเกียวโตผู้นี้รู้จักเมืองไทยจากการที่วงคาราวานเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น แม้ว่าครั้งนั้นเขายังไม่เข้าใจภาษาไทย แต่ก็ซาบซึ้งและประทับใจกับบทเพลงของ หงา คาราวาน กระทั่งปีต่อมา ได้รับเชิญเข้าร่วมทัวร์คอนเสิร์ตด้วย และเป็นที่มาของการแต่งเพลง “Thai-mai blues” หรือเพลงข้าวไทย ในเวลาต่อมา สะท้อนความรู้สึกเมื่อเห็นข้าวที่รัฐบาลไทยส่งไปช่วยเหลือญี่ปุ่นถูกทิ้งขว้างไม่ได้รับความสนใจ รวมทั้งเพลง “อ้อมกอดเจ้าพระยา” ฯลฯ

นอกจากนี้ยังนำเพลงไทย เช่น “เดือนเพ็ญ” ไปร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักเพลงเดือนเพ็ญอย่างกว้างขวาง

ความที่เป็นคนชอบงานวรรณกรรม ไม่เพียงซาบซึ้งกับวรรณกรรมญี่ปุ่น กับวรรณกรรมไทย อย่าง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ฉบับภาษาญี่ปุ่น ก็เป็นหนังสือเล่มโปรดของเขา เป็นอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากคำร้องในบทเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราวาน ที่พาให้เขาตัดสินใจมาใช้ชีวิตช่วงเวลาหนึ่งราว 4-5 ปี เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว มาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ มาซึมซับกับบรรยากาศท้องทุ่งเมืองไทย

โตโยดะยังจัดตั้ง “กองทุนยูโซ่ โตโยดะ” ให้ทุนการศึกษาเด็กไทยในชนบท ตั้งแต่ปี 2536 และยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

รวมทั้ง “ไข่ตุ๋น” คงกมล สุวรรณราช จากเด็กชาย 8 ขวบ ที่วันนี้กลายเป็นหนุ่มน้อยวัยยี่สิบหก นักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยากเล่นดนตรี แต่ฐานะทางบ้านยากจน ยูโซ่เมื่อทราบความนี้โดยบังเอิญ ไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ และแล้ววันหนึ่งหลังจากโตโยดะกลับญี่ปุ่นไปแล้ว กีตาร์ตัวหนึ่งก็ส่งมาถึงมือเด็กน้อยและกลายเป็นครูของไข่ตุ๋นตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

การกลับมาเมืองไทยทุกปีจึงเหมือนมาชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มก่อนกลับไปลุยงานต่อที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง

ปัจจุบันโตโยดะยังคงเดินสายร้องเพลงรวมทั้งแต่งเพลงอย่างมีความสุข เพลงที่เขาตั้งใจใช้เป็นสื่อปลุกปลอบหัวใจของคนฟังให้ไม่หลงเพริศไปกับกระแสโลกสมัยใหม่ กับสงครามความขัดแย้ง และกลับมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ง่ายกินง่าย เห็นค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ให้ชีวิตกับทุกสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์

เพราะชีวิตคนเรามีความหมายและก็มีค่าเกินกว่าจะไปข้องเกี่ยวในสงครามความขัดแย้ง-เขาบอก

ก่อนจะเปิดคอนเสิร์ตอย่างไม่เป็นทางการในปีนี้ ยูโซ่เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” อีกครั้ง ในวันที่หลายคนบอกว่าลมหายใจเพลงเพื่อชีวิตในเมืองไทยแผ่วจางไปแล้ว ไม่เพียงเพราะทุนนิยม สังคม รวมทั้งการเมือง แต่ทุกสิ่งคือปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง แล้วกับเพลงเพื่อชีวิตในญี่ปุ่นล่ะ?

– เดินทางมาเมืองไทยทุกปี ติดใจอะไร?

32 ปีแล้วครับที่มาเมืองไทย ไปๆ มาๆ ผมชอบนักร้องเพลงเพื่อชีวิตทุกกลุ่ม สุรชัย จันทิมาธร มงคล อุทก วงคาราวาน คีตาญชลี ฯลฯ ปีหนึ่งผมเล่นดนตรีที่ญี่ปุ่นมากกว่า 100 ครั้ง ก็จะมาพักผ่อนที่เมืองไทย และมาเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ มาเขียนเพลง

– เคยมาอยู่อีสานหลายปี ได้อะไรจากที่นั่น?

ตอนที่ผมเจอกับคาราวานที่โตเกียว 32 ปีมาแล้ว ช่วงนั้นผมเจอสุรชัย (สุรชัย จันทิมาธร) เขาพูดได้แต่ภาษาไทย ผมพูดได้แต่ภาษาญี่ปุ่น เราพูดกันไม่เข้าใจ แต่เล่นดนตรีด้วยกันได้ เพราะดนตรีเป็นภาษาดนตรี กินเหล้าก็เหมือนกัน (หัวเราะ) แล้วก็ชอบภาษาไทย เมื่อปี 1986 คาราวานจัดทัวร์สันติภาพ เขาเชิญผมมาเล่นดนตรีด้วย ไปร้องเพลงตามที่ต่างๆ ตั้งแต่เหนือไปถึงทางใต้ อย่างที่หาดใหญ่ก็ไป

– หลังจากนั้นก็มาอยู่ที่เมืองไทย มาเรียนภาษาไทย?

ผมอยากเข้าใจเนื้อหาเพลงของคาราวานหลายๆ เพลง อย่างเพลงคนกับควาย เซิ้งอีสาน ดอกไม้ให้คุณ เปิบข้าว สามล้อ ฯลฯ แม้ว่าเพลงของคาราวานแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว แต่ผมอยากเข้าใจเนื้อหาแบบไม่ต้องแปล เพราะถ้าแปลภาษาความหมายก็จะตกหล่น และผมชอบเสียงภาษาไทย เสียงภาษาไทยสวยมาก

– แต่งเพลงไทยก็หลายเพลง เพลงที่ชอบมากๆ และได้แรงบันดาลใจจากการไปอยู่ที่อีสาน?

มีหลายเพลง แต่คนส่วนใหญ่จะชอบเพลงภาษาอังกฤษ “Mango shower love letter” “เลิฟ เล็ตเตอร์” ก็จดหมายรักใช่ไหมครับ “แมงโก้ ชาวเวอร์” คือ ฝนชะช่อมะม่วง ผมแต่งตอนอยู่ที่ขอนแก่น วันที่ตัดสินใจว่าจะมาอยู่อีสานตอนนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม แห้งแล้ง ไม่มีฝน ปรากฏว่าวันนั้นฝนตกลงมา ผมดีใจมาก ผมเคยไปอีสานได้ยินชาวนาบอกว่า ถ้ามีน้ำก็ดีใจ เพราะถ้ามีน้ำก็ปลูกข้าวได้ ถ้ามีน้ำทำให้ชีวิตเกิดเหมือนต้นข้าว

ตอนผมอยู่ที่ญี่ปุ่นไม่เคยคิดอย่างนี้ เพราะที่ญี่ปุ่นมีสินค้าเยอะ มีทีวี อะไรๆ ก็มี ความมีชีวิต (ชีวา) น้อยกว่าเมืองไทย ผมคิดถึงคนที่เมืองไทยมีชีวิต (ชีวา) มากกว่า ผมชอบชีวิตที่อยู่แบบง่ายๆ ที่ญี่ปุ่นเงินสำคัญกว่าชีวิต ผมหมายถึงเมื่อ 30 ปีก่อนไม่ใช่เดี๋ยวนี้ แต่ที่เมืองไทยชีวิตมีความหมายมากกว่าเงิน

– ญี่ปุ่นก็ปลูกข้าว แต่มาประทับใจข้าวไทย รวมถึงแต่งเพลง “Thai-mai blues”?

เวลาอยู่ญี่ปุ่น ซื้อข้าวได้ง่าย ไปที่ไหนก็ซื้อข้าวได้ จริงๆ ถ้าไม่มีข้าวอยู่ไม่ได้

ผมมีเพลงชื่อว่า “ข้าว” ร้องว่า…”ในโลกนี้มีคนกำลังหุงข้าวอยู่ กลิ่นหอมของข้าว ในโลกนี้ที่สำคัญกว่าเงิน คือข้าว….” ถ้าผมอยู่ที่ญี่ปุ่นตลอดไม่คิดอย่างนี้ มาเมืองไทย เปรียบชาวนาเหมือนชีวิต ก็เลยได้ความคิดว่า น้ำเป็นชีวิต ถ้าไม่มีน้ำ ไม่มีข้าว ถ้าไม่มีข้าวคงอยู่ไม่ได้

– เคยปลูกข้าว?

เคยครับที่ญี่ปุ่น ผมไม่ได้เป็นชาวนา พ่อขายของ แต่พ่อของพ่อเป็นชาวนา ส่วนใหญ่คนรุ่นผมพ่อเป็นคนขายของธรรมดาๆ แต่ที่เมืองไทยผมไม่เคยปลูกข้าว เคยแต่แต่งเพลงเกี่ยวกับข้าว อย่างเพลง “Mango shower love letter” ผมแต่งเมื่อ 30 ปีมาแล้ว และให้ วสันต์ สิทธิเขตต์ ช่วยเขียนภาพปกซีดีที่หมายถึงชาวนาอีสานให้

– ทราบว่าให้ทุนการศึกษากับเด็กๆ ที่อีสานด้วย?

ครับ ตอนที่ไปร้องเพลงที่อีสาน เห็นเด็กบางคนไปทำงานที่ญี่ปุ่น เป็นเด็กๆ ที่ไม่มีพ่อแม่ บางคนไม่มีพ่อหรือไม่มีแม่คนใดคนหนึ่ง ไปทำงาน ผมมีความรู้สึกว่าเราจะช่วยเด็กเหล่านั้นได้อย่างไร จึงให้ทุนการศึกษากับเด็กที่จังหวัดขอนแก่น โดยให้ วิบูลย์ สุวรรณราช เป็นผู้จัดการเรื่องทุน ตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบันก็ยังให้อยู่

– จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเพลงเพื่อชีวิตมาจากไหน?

เพราะว่าเพลงเพื่อชีวิตมีความหมายเกี่ยวกับคนธรรมดา แล้วก็เนื้อหาก็สวยมาก เสียงก็สวย และดนตรีก็สวย

ความสนใจเพลงเพื่อชีวิตมาจากบ็อบ ดีแลน ตอนที่ผมอายุประมาณ 17 ปี ฟังเพลงของบ็อบ ดีแลน แล้วชอบมาก เขาบอกว่าไม่ต้องเล่นกีตาร์เป็น ไม่ต้องเขียนเพลงเป็น เขียนสิ่งที่มาจากใจของคุณ คำพูดนี้ทำให้บ็อบ ดีแลน มีลูกศิษย์มากมาย ที่เมืองไทยก็มีลูกศิษย์ของบ็อบ ดีแลน อย่างสุรชัย จันทิมาธร ก็ฟัง และเขียนเพลงเหมือนกัน เราอยู่ในรุ่นเดียวกัน แต่อยู่กันคนละประเทศ (ยิ้มละไม)

– ปัจจุบันคนที่สนใจเพลงเพื่อชีวิตในญี่ปุ่นมีมากแค่ไหน?

มีน้อยกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน เดี๋ยวนี้ที่ญี่ปุ่นดนตรีเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่ก็ยังมีคนฟังเพลงเพื่อชีวิตอยู่ (เป็นกลุ่มเล็กๆ กระจายอยู่เมืองต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น ซึ่งยูโซ่จะมีไลฟ คอนเสิร์ต เวียนไปตามร้านอาหารเล็กๆ ที่มีกลุ่มคนฟังเหล่านี้ตลอดทั้งปี-ผู้เขียน)

– เพลงเพื่อชีวิตกับธุรกิจไปด้วยกันได้มั้ย?

ไม่ได้หรอกครับ ผมไม่เคยสังกัดค่ายเพลง แต่เคยอยู่กับบริษัทจัดจำหน่ายแผ่นเสียง แย่มาก เวลาเขียนเพลงไม่มีอิสระ มีข้อจำกัดมากมายในการใช้คำ จึงออกมาทำเพลงเอง

– มีศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรับจ้างแต่งเพลงเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า?

ผมไม่ได้เขียนเพลงเพื่อการค้า เพื่อการโฆษณา ส่วนคนอื่นถ้าขายได้ ไม่ได้เรียกว่าเพลงเพื่อชีวิต แต่เป็นเพื่อการค้า

– เพลงเพื่อชีวิตในความหมายของคุณมีคำจำกัดความอย่างไร?

มี 2 อย่าง เป็นเพลงที่เราเขียนหรือร้องขึ้นมาแล้วทำให้เราดีขึ้น และทำให้สังคมรอบข้างดีขึ้น

– ปัจจุบันยังใช้ได้มั้ย?

ยังใช้ได้อยู่ และผมยังคงยึดถือความคิดนี้อยู่จนปัจจุบัน

ถ้าชีวิตคนเราไม่ได้ฟุ่มเฟือย ไม่ต้องไปตามกระแสสมัยนี้ เราก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ และผมยังมีความคิดเช่นนี้อยู่ ผมไม่ชอบสงคราม ถ้าอยู่ได้สบายๆ มีเพื่อน มีชีวิต มีข้าวกิน มีน้ำ ไม่ต้องไปคิดถึงสงคราม เวลาผมเล่นดนตรีก็อยากให้คนฟังมีความสุข

– จนถึงวันนี้ก็ยังคงมีสงครามและการรบสู้กันอยู่ คิดว่าเพลงเพื่อชีวิตทำให้คนหันมาตระหนักถึงสันติภาพ?

สงครามไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ชีวิตคนในญี่ปุ่นก็มีความเกี่ยวข้องกัน ผมจะร้องเพลงต่อต้านสงครามให้แฟนเพลงได้ฟัง และคนที่รับฟังก็จะมีความรู้สึกว่า สงครามไม่ดีอย่างไร และพยายามหาความยุติธรรมในหัวใจคนที่ฟัง อาจจะทำให้คนที่ฟังเปลี่ยนแปลงได้ หรือมีความคิดใหม่แม้จะอยู่ในญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีสงครามก็ตาม

ยกตัวอย่าง ในโลกนี้จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในปัจจุบัน-เราไม่ออกชื่อว่าบริษัทใด แต่มีบริษัทที่ญี่ปุ่นที่ขายเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ค่อนข้างจะส่งเสริม ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ ก็ทำกัน ผมก็จะเขียนเนื้อเพลงที่ต่อต้าน ช่วงเวลาที่ขึ้นเล่นเพลงก็จะนำมาเล่นด้วย

– เขียนเพลงเนื้อหาแบบนี้ผิดกฎหมาย?

คิดว่าไม่ผิดกฎหมาย เราไม่ได้ต่อต้านตรงๆ เพียงแต่อยากให้คนฟังมีความรู้สึกถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ได้เขียนถึงตรงๆ แต่พยายามสร้างความรักความยุติธรรมเกิดขึ้นในหัวใจของคนฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะร้องให้คนกลุ่มเล็กๆ ฟัง

– มีความเห็นอย่างไรกับเพลงเพื่อชีวิตของไทย? ต่างจากของญี่ปุ่น?

(นิ่งคิดสักพัก) เหมือนกัน เนื้อหาก็เหมือนกัน เพราะว่าทำให้ชีวิตดีขึ้น คือจุดมุ่งหมายของการเขียนเพลงเพื่อให้คนฟังมีใจที่สะอาดขึ้น มีชีวิตดี ไม่ได้คิดถึงสงคราม อยากให้คนที่ฟังมีความรู้สึกอย่างนั้นมากขึ้น สังคมก็ดีขึ้นไปด้วย

ตั้งแต่ผมอายุ 20 ปี ก็คิดว่าการใช้ชีวิตในทุกวันควรใช้ชีวิตที่ดี มีความหมาย อย่าให้คนอื่นมาบังคับ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสงคราม เพราะชีวิตคนเรามีความหมายและก็มีค่า

– เมื่อก่อนร้องเพลงต่อต้านสงคราม?

ครับ อย่างเพลงฮิโรชิมา จุดเริ่มต้นก็มาจากการที่อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ทำให้คนตายไป 2 แสนกว่าคน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าอเมริกาไม่ดี แต่พูดถึงชีวิตที่ต้องตายไปมากมายเพราะระเบิดปรมาณู พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะสงคราม

เพลงเพื่อชีวิตเป็นเพลงที่เรารู้คุณค่าชีวิตว่าควรจะเป็นอย่างไร ให้กำลังใจกับชีวิตของเรา ชาย เมืองสิงห์ สุรพล สมบัติเจริญ ที่เขียนเพลงลูกทุ่งก็ถือว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน หมอลำก็เป็นเพลงเพื่อชีวิต เพราะความหมายของ “เนื้อหา” ไม่ได้อยู่ที่ดนตรี

– กับเพลง’เดือนเพ็ญ’ที่เขียนคำร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น จนดังมากในญี่ปุ่น?

ผมฟังเพลงเดือนเพ็ญแล้วผมคิดถึงแม่ ตรงเนื้อหาสุดท้ายที่ว่า “ให้เมืองไทยรู้ว่าไม่นานลูกที่จากมาจะไปซบหน้ากับอกแม่เอย”…แม่ผมอยู่บนฟ้าแล้ว เมื่อ 10 ปีได้แล้ว

เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดสึนามิ โรงงานปรมาณูระเบิด หลังจากนั้นผมไปร้องเพลงที่นั่น มีเพลงญี่ปุ่นหลายเพลงที่ร้องกัน แต่มีเพลงหนึ่งที่ชอบและประทับใจกันมากคือ “เดือนเพ็ญ” เนื้อร้องเป็นการถอดความจากเพลงไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น

เพลงเดือนเพ็ญมีความหมายอีก 2 อย่าง ถ้าฟังเฉยๆ ก็คิดถึงเพื่อนคิดถึงแม่ แต่อีกความหมาย เหมือนความหมายของสุรชัย จันทิมาธร เวลาที่อยู่ในป่า ที่ประเทศลาวหรือจีน เขากลับมาเมืองไทยไม่ได้ ผมเวลาผมร้องเพลงเดือนเพ็ญ ตอนไปที่โทโฮคุ (ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิ) ที่นั่นมีคนเสียชีวิตหลายหมื่นคน มีคนไร้บ้านจำนวนมาก เพราะถูกคลื่นสึนามิพัดหายไปในทะเล บางคนทั้งๆ ที่มีบ้านอยู่ตรงนั้น แต่ก็กลับบ้านไม่ได้

ผมมาเมืองไทยรู้สึกดีใจมากที่เมืองไทยไม่มีโรงงานปรมาณู เดี๋ยวนี้ที่ญี่ปุ่นมีคนเสียชีวิตมากขึ้น เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ฯลฯ แม้จะยังไม่มีการยืนยัน แต่คนที่เป็นโรคเหล่านี้มีมากขึ้น เชื่อว่าเป็นผลมาจากปรมาณู

รัฐบาลบอกตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีมาแล้วว่าโรงงานปรมาณูหยุดเดินเครื่องแล้ว แต่ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ก็ยังเปิดอยู่ 4 แห่ง เวลามาเมืองไทยผมสบายใจ ผมหวังว่าเมืองไทยจะไม่มีการสร้างโรงงานปรมาณู เพราะถ้ามี คนไทยจะอยู่ไม่ได้

– สนใจเรื่องการเมืองไทยด้วย?

พูดได้รึเปล่าครับ (ยิ้มกว้าง) ผมก็สนใจบ้าง

– หลังๆ การเมืองในเมืองไทยมีแบ่งสี รวมทั้งกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อชีวิต คุณรับทราบเรื่องนี้อย่างไร?

คนเราก็มีหลายๆ ความคิด ในญี่ปุ่น ในไทย หรือในอเมริกาก็เหมือนกัน มีหลายกระแสหลายความคิด ผมคิดว่าเราไม่น่าจะใช้อารมณ์ คนเราต่างคนต่างมีความคิดอยากจะสร้างสังคมดี ทำให้ประเทศให้ดี แต่วิธีการอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราใจเย็นๆ นึกถึงสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในหัวใจของแต่ละคน เราไม่ควรใช้อารมณ์ก็จะสร้างสังคมที่ดีได้โดยสันติวิธี

และแม้เราจะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่ไม่ควรจะลืมว่า ชีวิตเราอยู่กับเกษตร กับสิ่งที่ชาวนาทำขึ้นมา อยู่ได้ด้วยเมล็ดข้าว เราไม่ควรจะลืมสิ่งเหล่านั้น

– ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนเป็นทุนนิยม มีการเมืองเข้ามาข้องเกี่ยว เพลงเพื่อชีวิตต้องปรับบทบาทอย่างไร?

เพลงเพื่อชีวิตเหมือนกับน้ำ บางครั้งเราก็ไม่รู้สึกเพราะมันมีอยู่แล้ว แต่มันก็ขาดไม่ได้ แม้สังคมจะเปลี่ยนไป แต่เพลงที่ให้กำลังใจกับคนเราจำเป็นต้องมีตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image