สำรวจ ‘ท้องพระเมรุ’ กลางกรุงศรีอยุธยา เปิดจดหมายเหตุการพระศพ ไขปริศนา ‘โกศ’ กับ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’

นับเป็นพระราชพิธีสำคัญยิ่งมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศ สืบทอดมาสู่สมัยรัตนโกสินทร์ที่มี ‘ทุ่งพระเมรุ’ หรือท้องสนามหลวงในปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งพระเมรุมาศ และพระเมรุ ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

แล้วหากย้อนเวลากลับไปในยุคกรุงเก่า สถานที่ประกอบพิธีดังกล่าวอยู่ตรงไหน?

เกิดขึ้นครั้งแรกในพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลใด?

เหมือน คล้ายคลึง หรือแตกต่างจากความรับรู้ของผู้คนทุกวันนี้หรือไม่?

Advertisement

ล้วนเป็นคำถามที่ชวนให้ค้นหาคำตอบ

“สองกุมารสยาม” ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง เตรียมควงคู่ออกเดินทางอีกครั้งในรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ซึ่งจะถ่ายทอดสดจากเมืองมรดกโลก อยุธยา ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ ในวันอังคารที่ 19 กันยายนนี้ ตั้งแต่ 10.00 น.เป็นต้นไป

ภาพมุมสูงพระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา มองเห็นวัดพระศรีสรรเพชญ์และพระที่นั่งต่างๆ

เยือนพระราชวังหลวง
ประวัติศาสตร์มีชีวิตในกองอิฐและกากปูน

ภารกิจครั้งนี้ จะเปิดกล้องกันที่พระราชวังหลวงครั้งกรุงเก่าซึ่งในวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่หากหลับตาจินตนาการถึงอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน พื้นที่บริเวณดังกล่าวคือเขตพระราชวังอันงดงามเรืองรอง มีแม่น้ำลพบุรีอันอุดมสมบูรณ์ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ

Advertisement

ขรรค์ชัยและสุจิตต์จะพาเดินเท้าเข้าสู่เขตพระราชวังโบราณ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของพระราชฐานซึ่งเคยวิจิตรอลังการไปด้วยตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินและมเหสี พระที่นั่งสำหรับว่าราชการ อีกทั้งลานการละเล่นพิธีกรรม

ความตระการตาของพระราชวังครั้งกรุงเก่าถูกพรรณนาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ผ่านเพลงยาวนิราศ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ความตอนหนึ่งว่า

“เสียดายพระนิเวศน์บุรีวัง พระที่นั่งทั้งสามงามไสว

ตั้งเรียบระเบียงชั้นเป็นหลั่นไป อำไพวิจิตรรจนา

มุขโถงมุขเด็จมุขกระสัน เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา

เพดานในไว้ดวงดารา ผนังฝาคาดแก้วดังวิมาน”

 

นี่คือคำบรรยายอันไพเราะจากสายตาและความทรงจำของกรมพระราชวังบวรฯ (บุญมา) น้องชายรัชกาลที่ 1 ซึ่งเกิดในอยุธยา และรับราชการอยู่ในวังหลวง

ส่วนภาพปัจจุบันของพระราชวังเป็นอย่างไร ติดตามได้จากถ่ายทอดสดซึ่งมีการเก็บภาพมุมสูงให้ชมกันอย่างเต็มอิ่มแบบ 360 องศา

พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์
ที่ตั้งพระบรมศพกษัตริย์อยุธยา

ขยับมาถึงพื้นที่สำคัญอย่างพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาทภายในพระราชวังโบราณ แม้เคยงดงามสุดตระการทว่าวันนี้หลงเหลือเพียงซากของส่วนฐานไว้ให้จินตนาการบนหลักวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่ารูปร่างครั้งอดีตนั้นเป็นอย่างไร

พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพุทธศักราช 2175 มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมที่มียอดมณฑปยอดเดียว ประกอบด้วยมุขซ้อน 4 ด้าน เป็นปราสาทโถงมี 3 ชั้น ชั้นบน สำหรับข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าเฝ้า ชั้นกลาง สำหรับข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในพักดูแห่และการมหรสพ ชั้นบน สำหรับพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เฝ้าดูกระบวนแห่ในมุขยาว 2 ด้าน แต่กลางจัตุรมุขชั้นบนเป็นที่ตั้งพระแท่นประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่และการมหรสพ รวมทั้งการยกทัพพยุหยาตรา

สุจิตต์จะบอกเล่าถึงความสำคัญในการเป็นที่ตั้งพระบรมศพ ก่อนเข้าสู่ไฮไลต์คือท้องพระเมรุยุคกรุงศรีอยุธยา

ซากพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ด้านหน้าคือ “สนามหน้าจักรวรรดิ” บริเวณพระราชฐานชั้นนอกพื้นที่ส่วนนี้จนถึงท้องพระเมรุ หน้าวิหารพระมงคลบพิตร เรียกรวมๆ ว่าสนามใหญ่ ซึ่งยุคกรุงรัตนโกสินทร์ก็คือสนามหลวง

เปิดจดหมายเหตุการพระศพกรมหลวงโยธาเทพ ‘ท้องพระเมรุ’ อยู่ไหน?

มาถึงการตามหาที่ตั้งของท้องพระเมรุครั้งกรุงเก่าซึ่งต้องตรวจสอบจากเอกสารโบราณ คือ จดหมายเหตุการพระศพกรมหลวงโยธาเทพที่มีการพรรณนาถึงการอัญเชิญพระศพมาทางชลมารค แล้วแห่ไปตั้งบนพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ เมื่อครบกำหนดจึงเชิญไปยังพระเมรุที่สร้างไว้ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

ขรรค์ชัยและสุจิตต์จะพาเดินสำรวจพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “สนามใหญ่” ซึ่งรวมพื้นที่สนามหน้าจักรวรรดิ คือ ลานกว้างหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ถึงกำแพงวัง ผ่านหน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ และ “ท้องพระเมรุ” หน้าวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งทุกวันนี้คึกคักด้วยนักท่องเที่ยวมหาศาล

สนามใหญ่ที่ชาวกรุงเก่าเรียกกัน ก็คือต้นทางของชื่อ “สนามหลวง” ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง

เจาะประเด็น ‘แรกมีพระเมรุ’ แรงบันดาลใจจาก ‘นครวัด’

อีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่จะมีการชวนคุยในรายการก็คือความเป็นมาของพระเมรุในสยามซึ่งมีขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง หลัง พ.ศ.2100 เพื่อเผาพระศพเจ้านายชั้นสูง ภายใต้ความเชื่อเรื่อง “เขาพระสุเมรุ” โดยเลียนแบบมาจากสถาปัตยกรรมสำคัญของโลกตะวันออกอย่าง “ปราสาทนครวัด” แห่งอาณาจักรกัมพูชา เทวสถานที่นอกเหนือจากการเป็นที่สถิตของทวยเทพในศาสนาพราหมณ์แล้ว ยังเป็น “สุสาน” ที่ประดิษฐานสิ่งเกี่ยวข้องกับพระบรมศพ เช่น โลงหิน

สุจิตต์จะไล่เรียงอย่างเข้าใจง่ายตามสไตล์ส่วนตัว พร้อมสอดแทรกภาพประกอบชวนตื่นตา ตั้งแต่เมื่อ 1,500 ปีก่อน ที่ผู้คนในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีการ “เผาศพ” ตามอย่างพิธีชมพูทวีป หรืออินเดีย ที่แพร่เข้ามาในดินแดนแถบนี้พร้อมศาสนาพราหมณ์และพุทธ จากนั้นราว 400 ปีมาแล้วในยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าปราสาททอง จึงสร้างพระเมรุขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย แต่ใช้เฉพาะกับเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น ส่วนคนทั่วไปยังเผาศพบนเชิงตะกอนอย่างเรียบง่าย กระทั่งเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ จึงมีเมรุในวัดวาอาราม เมรุถาวรหลังแรกอยู่ที่ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อราว 100 ปีมานี้เอง

ครั้นในช่วง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา เมรุเผาศพชาวบ้านอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันจึงเกิดขึ้นในวัดสำคัญ แล้วกระจายแพร่หลายทั่วไปจนถึงทุกวันนี้

ลายเส้นพระศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ในพระบรมโกศทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2409 (ภาพจากหนังสือเดินทางรอบโลก ของเคาน์โบวัว พิมพ์ที่ปารีส ค.ศ.1868)

ไขปริศนา ‘โกศ’ จากภาชนะดินเผาบรรจุศพ 2,500 ปี

ยังมีประเด็นที่มาของโกศ ซึ่งมีที่มายาวนานย้อนหลังไปได้ถึง 2,500 ปี โดยมีต้นแบบมาจากหม้อไหใส่ศพของผู้คนดึกดำบรรพ์ในอุษาคเนย์ พบมากแถบทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเฉพาะบ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด นับเป็นประเพณีในกลุ่มอาเซียน ไม่มีในอินเดีย อย่างไรก็ตาม คำว่า “โกศ” ยืมจากภาษาบาลี สันสกฤต เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในอดีตเมื่อมีคนตาย เชื่อว่า “ขวัญ” หาย หลุดลอยจากร่าง ต้องทำพิธีเรียกขวัญ ชาวลุ่มน้ำโขงเรียกว่า “งันเฮือนดี” ด้วยหวังว่าจะกลับคืนสู่ร่างเดิม แล้วฟื้นคืนชีวิต

ในขณะที่บางกลุ่มชาติพันธุ์เชื่อว่าคนตายจะไปสู่โลกหลังความตายทางน้ำ จึงสลักรูปเรือบนภาชนะสำริดใส่ศพ บ้างก็นำร่างไร้วิญญาณใส่ภาชนะคล้ายเรือแล้วนำไปไว้ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ถ้ำ และเพิงผา เชื่อว่าเป็นต้นแบบของเรือนาครวมถึงราชรถในงานพระบรมศพซึ่งมีส่วนหัวสลักคล้ายรูปนาคนั่นเอง

ภาชนะดินเผาใส่ศพเมื่อราว 2,500 ปี ที่บ้านเมืองบัว ร้อยเอ็ด ต้นแบบ “โกศ” ในยุคหลังสืบจนทุกวันนี้

สำรวจเส้นทางแห่พระบรมศพครั้งกรุงเก่า

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวอันมีสีสันของเส้นทางสำคัญและท้องถนนกลางพระนครซึ่งเอกสารยุคกรุงเก่าเอ่ยนามว่า มหารัถยา เป็นถนนหน้าวังหลวง กลางพระนคร มีความกว้าง 12 เมตร ปูด้วยศิลาแลง ออกจากประตูวังหลวงด้านทิศใต้ลงไปประตูไชย กำแพงพระนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์ เยื้องปากคลองคูจามนอกเกาะเมือง

มาฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการตั้งกระบวนแห่พระบรมศพยุคกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากถนนหนทางที่สองกุมารสยามคุ้นเคยมานานครั้งเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ซึ่งทั้งคู่เคยเดินเท้าสำรวจเมืองเก่าแห่งนี้ตั้งแต่ยังไม่เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดฮิต หากแต่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังซึ่งต่อมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างสมศักดิ์ศรีมรดกโลก

แผนที่พระราชวังหลวง จากหนังสือพระราชวังโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ้างอิงจากหนังสือ ‘งานศพยุคแรกอุษาคเนย์’ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ โดย สนพ.นาตาแฮก

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งซึ่งจะได้บอกเล่าผ่านรายการคุณภาพของ “มติชนทีวี” ที่ไม่เพียงฉายภาพของอดีตอันเลือนรางให้กลับมาแจ่มชัด หากแต่เชื่อมโยงกับห้วงเวลาปัจจุบันอย่างไม่อาจแยกจากกันได้

 


 

รับชมรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “สนามหลวง ท้องพระเมรุ กลางกรุงศรีอยุธยา” ได้ทางเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ www.facebook.com/MatichonOnline ในวันอังคารที่ 19 กันยายนนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป

 


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image