สัมมนา ‘อีอีซี’ แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก อัดแน่นข้อมูลจากผู้รู้

ดร.อุตตม สาวนายน

ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ของหนังสือ พิมพ์มติชน ได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ต้นปีมีการระดมทุนซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียนภาคใต้ที่น้ำท่วม

ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลข่าวสาร เกาะติดความเป็นไปของสังคมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้จัดงานให้ความรู้ จนถึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาต่อไป โดยมีการจัดสัมมนามาแล้ว 2 ครั้ง ในเรื่องไทยแลนด์ 4.0 และเรื่องฟินเทค

ล่าสุด มติชนจับมือกับ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) จัดเวทีอัดแน่นความรู้ ขยายภาพให้เห็นกระจ่างชัดถึงโอกาสและทิศทางการพัฒนาในภาคตะวันออก

งานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นับเป็นการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 ของปี ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 40

Advertisement

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC เป็นเมกะโปรเจ็กต์ พัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีเป้าหมายลงทุน 4 กลุ่ม 5 โครงการหลัก และ 15 โครงการสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมี 10 อุตสาหกรรม แต่ระยะแรกเน้น 4 อุตสาหกรรม กลุ่มที่ 3 ท่องเที่ยว กลุ่มที่ 4 สร้างเมืองใหม่

5 โครงการหลัก ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และ 3 เมืองใหม่

นับเป็นอีกก้าวใหม่ในการพัฒนาที่จะขยายโอกาสในการลงทุนไปในพื้นที่ภาคตะวันออก

Advertisement

การสัมมนาเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมเข้าฟังโดยไม่มีค่าใช้จ่ายลงทะเบียนก็แสนง่าย แค่สแกนคิวอาร์โค้ดจากหนังสือพิมพ์ก็ใส่ข้อมูลยืนยันการเข้าร่วมได้ทันที อีกช่องทางคือการโทรศัพท์เข้ามาสำรองที่นั่ง โดยวันงานเพียงไปยืนยันตัวตนที่หน้างานเท่านั้น

ตั้งแต่ช่วงเช้า เริ่มตั้งแต่ 8 โมงที่เปิดให้ลงทะเบียน ก็มีทั้งภาคธุรกิจ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วไปทยอยมาลงทะเบียนกันอย่างคึกคัก บริเวณหน้างานมีหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนมาให้เลือกซื้อในราคาพิเศษเป็นอีกส่วนหนึ่งที่คนให้ความสนใจ

ทีมข่าวเศรษฐกิจมติชน

ผู้เข้าร่วมการเสวนาทั้ง 700 คน นั่งเต็มพื้นที่ห้องบอลรูม พร้อมกันกับผู้สนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ เอสซีจี, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ปตท., กัลฟ์, บริษัท เอกอุทัย จำกัด, สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.), เอไอเอส, ทรูมูฟ เอช, มาสด้า, โตโยต้า, บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), เมทัลเล็กซ์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา เชียงใหม่, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด

รวมถึง ประสงค์ ธาราไชย ประธานกรรมการ บมจ.โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ที่มาร่วมฟังด้วย

ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับโดยเปิดเผยว่า กิจกรรมที่มติชนดำเนินการมาต่อเนื่อง คือการนำผู้นำตัวจริงในแต่ละสาขามาพบปะโดยตรงกับประชาชนและผู้สนใจ

“ในฐานะสื่ออาจสื่อสารได้ไม่ครบถ้วนเท่ากับผู้เชี่ยวชาญที่ถือข้อมูลอยู่ ขณะนี้ถึงเวลาที่ประเทศต้องก้าวเดินต่อไป โลกทำให้เราต้องเดินไปข้างหน้า จะถอยหลังไม่ได้ เครื่องมือที่ผลักดันเราไปข้างหน้า คือ อีอีซี ที่ดำเนินโครงการมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งผู้รู้ในเรื่องนี้แต่ละท่านจะได้มาเล่าให้ผู้สนใจฟังโดยตรง”

สำหรับประธานเปิดงานได้รับเกียรติจาก ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และได้ปาฐกถาพิเศษ ระบุว่าอีอีซีเป็นของใหม่ที่ต้องการความเข้าใจ ซึ่งไทยต้องเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ขณะที่เอเชียถูกจับตาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ไทยเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจปรับฐานส่งออกให้เป็นสินค้าคุณภาพสูง และจะพัฒนาอีอีซี ถ่วงน้ำหนักการส่งออกด้วยการพัฒนาในประเทศ

“อีอีซีเป็นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เกิดในไทยมานาน 30 ปี โดยรัฐบาลกำหนดให้มีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่อื่นด้วย”

ดร.อุตตมย้ำส่งท้ายว่า ไทยเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียที่กำลังเติบโต สิ่งสำคัญคือคนไทยจะทำอย่างไรให้ประเทศเกิดแรงจูงใจ โดยอาศัยแรงส่งของเอเชียในการเติบโตหลังจากนี้ จากความร่วมมือกับเอกชนในรูปของประชารัฐ

จากนั้น ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การลงทุนรัฐ-เอกชน ในอีอีซี” เผยว่า อีอีซีจะมีการใช้กระบวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (พีพีพี) โดยตั้งใจทำโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เป็น ประตูสู่อินโดจีน อาเซียน และเอเชีย ทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟ เมืองใหม่ มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ต่อด้วยวงเสวนาเชิงนโยบาย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ดำเนินรายการด้วยตัวเองทั้ง 2 ช่วง โดย ดร.คณิศชูว่าอีอีซีเป็นเกตเวย์ประเทศเพราะมีท่าเรือ โดยเชิญต่างชาติมาลงทุนที่ต้องการทั้งเงินทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

วงเสวนาแรก “6 เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ”

วงเสวนา “6เดือนกับความร่วมมือของภาครัฐ”

ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยถึงหน้าที่การเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับอีอีซี 5 หมื่นไร่ ในช่วง 3 ปีนี้ มีการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดส่วนขยายลงทุน 1 หมื่นล้านบาท และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ครองรับอุตสาหกรรม 4.0

พล.ร.ต.วรพล ทองปรีชา ผอ.การท่าอากาศยานอู่ตะเภา เผยว่าอยู่ระหว่างทำมาสเตอร์แพลน 30 ปี พัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาสร้างแรงจูงใจนักลงทุน เพิ่มเที่ยวบิน ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร

การรถไฟไม่น้อยหน้า อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง ที่การศึกษาคืบหน้าแล้ว 90% และจะสร้างรถไฟทางคู่เพื่อขนส่งสินค้าท่าเรืออีอีซี

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ แจ้งว่าข้อเสนอสำหรับผู้ลงทุนในอีอีซี จะได้ลดภาษี 50% เพิ่มอีก 5 ปี รวมกับสิทธิประโยชน์ในกฎหมายบีโอไอฉบับใหม่

ข้อมูลเน้นๆ จากภาครัฐผู้ดำเนินนโยบายสอดรับกับแผนโครงการอีอีซี

วงเสวนา “6 เดือนกับความร่วมมือของภาคเอกชน”

อีกวงเสวนาจากมุมมองของเอกชน “6 เดือนกับความร่วมมือของภาคเอกชน” เริ่มที่ กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ความมั่นใจว่าอีอีซีจะทำให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางใน 20 ปี แต่มีข้อกังวลว่าแผนจะทำได้ตามกำหนดการหรือไม่รวมถึงเรื่องแรงงาน และเจ้าภาพด้านภาคบริการที่ยังไม่มี

เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งประเด็นว่า ต้องกระตุ้นเอกชนให้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้นด้วยมาตรการสนับสนุน

สรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่าอุตสาหกรรม 4.0 ต้องทำด้วยนวัตกรรม โดยอีอีซีไอต้องมี สวทช. เป็นเจ้าภาพ

สมศักดิ์ กาญจนาคาร ผู้อำนวยการบริษัทฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารจากบริษัท ฮิตาชิ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจมาก แต่กังวลว่านโยบายจะเดินไปตามแผนหรือไม่ รวมถึงการขาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม

อัดแน่นด้วยมุมมองที่หลากหลาย นอกจากข้อมูลในมือแล้วยังมีข้อเสนอเพิ่มเติม ชี้แนวทางช่วยอุดรอยรั่วจากมุมมองเอกชน

แม้เสวนาจะจบลงแต่ผู้เข้าฟังยังยึดเก้าอี้อยู่เหนียวแน่นทั้งห้องประชุม ไฮไลต์ปิดท้ายคือการสุ่มผู้โชคดีจากผู้ลงทะเบียนออนไลน์รับของรางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุน เรียกเสียงฮือฮาและความตื่นเต้นทั่วห้อง

สิ้นสุดงานเสวนาข้อมูลอัดแน่น ข้อเสนอท่วมท้น สิ่งสำคัญคือการดำเนินตามแผน และทำให้สำเร็จตามเป้า ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image