ตามหายาอายุวัฒนะที่ ‘เกาะจักรพรรดิจิ๋นซี’ และ ‘ป้อมหัวมังกร’ จุดตั้งต้นกำแพงเมืองจีน

สำหรับนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ประเทศหนึ่งที่เป็น A MUST ที่ต้องไป คือ จีน

ด้วยเสน่ห์ที่มากมาย ไม่เพียงธรรมชาติ แต่ยังมากมีด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมากับเรื่องราวที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี

นอกจากมหานครปักกิ่ง ยังมีอีกหลายต่อหลายเมืองที่น่าค้นหา หนึ่งในนั้นคือ “ฉินหวงเต่า” แม้จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก เป็นฐานการผลิตและแปรรูปอะลูมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดของจีน ทั้งเปรียบเสมือนเมืองหลวงแห่งการผลิตล้อรถยนต์

อีกด้านหนึ่งก็ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในร้อยเมืองแห่งการท่องเที่ยงเชิงนิเวศของจีน

Advertisement

“ฉินหวงเต่า” เป็นเมืองมรดกโลก เป็นจุดตั้งต้นของหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก “กำแพงเมืองจีน”

ว่ากันว่า การเดินทางคือสายตาของนักเขียน และการเดินทางคือสายตาของนักข่าว/สื่อมวลชนเช่นกัน

คนไทยรู้จักประเทศจีนจากที่อ่าน จากที่ฟังเขาเล่ามา และบอกเล่าต่อๆ กันไป ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง นั่นทำให้ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีดำริให้จะจัดทริปพาสื่อมวลชนเดินทางไปทำความรู้จักกับประเทศจีนอย่างลึกซึ้ง โดยมีนักวิชาการเป็นต้นทางความรู้ เพื่อเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องต่อไปมานานถึง 10 ปีแล้ว ในนามของ อาศรมสยาม-จีนวิทยา

Advertisement

โดยครั้งนี้มีแม่ทัพใหญ่คือ ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส อาศรมสยาม-จีนวิทยา และบัญญัติ คำนูญวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และธานี ลิมปนารมณ์ ผู้ชำนาญการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

จุดเริ่มต้นของกำแพงเมืองจีน

สูดโอโซน @ ‘ฉินหวงเต่า’
เมืองตากอากาศในเขตอุตสาหกรรม

นั่งรถไฟความเร็วสูงจากปักกิ่งใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็มาถึงยังเมือง “ฉินหวงเต่า” เมืองโบราณที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเหอเป่ย

ว่ากันในแง่ฮวงจุ้ย “ฉินหวงเต่า” นับว่ามีชัยภูมิดีที่สุดแห่งหนึ่ง ทิศใต้ติดทะเลป๋อไห่ ทิศเหนืออิงภูเขาเยียนซาน

ส่วนทิศตะวันออกติดมณฑลเหลียวหนิง ทิศตะวันตกติดนครปักกิ่ง และนครเทียนจิน ถือเป็นเมืองหลักในการขับเคลื่อนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจจิงจินจี้

ความที่อยู่ริมทะเล มีแนวชายหาดที่ดีที่สุดในภาคเหนือของจีน มีภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติมากมาย ฉินหวงเต่าจึงได้ต้อนรับบุคคลระดับประเทศมาแล้วมากมาย

แม้กระทั่งที่มาของชื่อ “ฉินหวงเต่า” ซึ่งแปลว่า “เกาะแห่งจักรพรรดิจิ๋นซี” ก็บ่งบอกถึงการเป็นเมืองโบราณที่ไม่ธรรมดา มีหลักฐานปรากฏในประวัติศาสตร์มากมายในช่วงเวลานับ 2,000 ปี อาทิ การเสด็จมาตามหายาอายุวัฒนะของจักรพรรดิจิ๋นซี การเสด็จประพาสของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ ยังมีการเสด็จประทับแรมของกษัตริย์ในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นต้น

บันทึกอี่ว์ก้ง ในหนังสือซ่างซู หรือคัมภีร์ประวัติศาสตร์ เอ่ยถึงชื่อสถานที่แห่งหนึ่งคือ เมืองเจี๋ยสือ ในเขตปกครองจี้โจว (1 ใน 9 เขตปกครองภายใต้ฮ่องเต้อี่ว์ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย) ซึ่งเมืองฉินหวงเต่าในอดีตก็อยู่ในพื้นที่ของเมืองเจี๋ยสือ

ดังที่ปรากฏในบทกวีที่ โจโฉ แห่งแคว้นเว่ย ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น รจนาความตอนหนึ่งว่า “เดินทางมาถึงเจี๋ยสือ เพื่อชื่นชมความงามแห่งท้องทะเล”

ริมทะเลป๋อไห่ เมืองฉินหวงเต่า จุดเริ่มต้นของกำแพงเมืองจีน เป็นกำแพงหินยื่นลงไปในทะเลระยะทาง 22.4 เมตร กว้าง 8.3 เมตร สูง 9.2 เมตร

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ราชสำนักชิงได้เปิดให้เขตเป่ยไต้เหอ ซึ่งมีชายหาดสวยงามที่เมืองฉินหวงเต่า เป็น “สถานพักตากอากาศ” สำหรับบุคคลสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหลังจากสถาปนาประเทศจีนยุคใหม่ บุคคลสำคัญ อาทิ ซุนยัดเซ็น หลี่ต้าจาว เหมาเจ๋อตง เติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้น ล้วนเคยมาพักผ่อนที่นี่ ทำให้เมืองฉินหวงเต่ากลายเป็นเมืองชายทะเลที่โด่งดังมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันเมืองฉินหวงเต่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจีน และยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญในเขตทะเลป๋อไห่ รวมทั้งเป็นประตูสู่ทะเลที่สำคัญสำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นเมืองท่าขนส่งสินค้าแห่งแรกของจีน และเป็นเมืองท่าส่งออกพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ภาพเขียนแสดงทัศนียภาพบริเวณที่ตั้งของปราการริมทะเลป๋อไห่

การล่มสลายของราชวงศ์ฉิน

แม้ว่าจิ๋นซีฮ่องเต้ จะเป็นจักรพรรดิเรืองนามที่สร้างความเกรียงไกรเป็นปึกแผ่นให้กับจีน โดยการรวบรวมอีก 6 รัฐ และสถาปนาราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อนคริสตกาล) ยังเป็นผู้ดำริให้สร้างกำแพงเมืองจีน มีจุดเริ่มต้นที่เมืองฉินหวงเต่า จุดที่เรียกว่า “หล่านหลงเถา” เป็นป้อมหัวมังกร ปราการริมทะเลสำหรับปกป้องผู้รุกรานเป็นระยะทางกว่า 250 กิโลเมตร ด้วยความสูง 9.6 เมตร กว้าง 4.5 เมตร

ขณะเดียวกัน เล่าขานกันว่าทุกการก่อสร้าง 1 ฟุต ของกำแพงเมืองจีน คือ 1 ชีวิตของผู้ก่อสร้าง

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ๋นซี กล่าวได้ว่าสูญเสียทรัพยากรชาติไปมหาศาลทั้งไพร่พลและเงินทอง เพราะการหลงเชื่อนักพรตลัทธิเต๋า ใฝ่หาชีวิตที่เป็นอมตะ เพียรตามหายาอายุวัฒนะ และที่ทะเลตะวันออกแห่งนี้ก็เป็นอีกแห่งที่เสด็จมาตามหายาอายุวัฒนะ เป็นที่มาของชื่อ “เกาะแห่งจักรพรรดิจิ๋นซี” แม้ว่าจะไม่ได้มีลักษณะเป็นเกาะก็ตาม

“จักรพรรดิจิ๋นซีเสด็จออกประพาส 5 ครั้ง ครั้งที่ 1-2 เป็นการเสด็จออกเยี่ยมเยียนพสกนิกร แต่ช่วงหลังๆ เกิดความรู้สึกที่ผมอยากจะเรียกว่าโมหะจริต มีความหลงเชื่อที่จะเป็นอมตะ ดังนั้นการประพาสในช่วงหลังๆ จะเป็นการไปเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในที่ต่างๆ”

ส่วนเดิมของกำแพงซ่อนตัวอยู่ภายใต้กระจก

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอก และว่า ประเด็นสำคัญคือ การเชื่อในนักพรตลัทธิเต๋า กระทั่งถูกหลอกในหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะหลอกว่ามี “ยาอายุวัฒนะ”

“การเสด็จประพาสครั้งหลังๆ จะมาเมืองชายทะเล โดยนักพรตอ้างว่าทุกวันนี้ยังหายาอายุวัฒนะไม่ได้เพราะมันอยู่ตรงเกาะกลางทะเล ฝั่งตะวันออกของประเทศจีน มีอุปสรรคคือปลายักษ์ในทะเล จิ๋นซีจึงหามือฉมังธนูคอยดูว่ามันโผล่ขึ้นมาเมื่อไหร่ และก็เจอปลายักษ์ แต่ในประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกว่าเป็นปลาอะไร

“ตัวอย่างที่ 2 หลอกว่า มีภูติผีปีศาจคอยขัดขวาง แนะให้หลบลี้หนีหน้าอย่าเจอผู้คน เวลาจะเสด็จไปไหนให้ไปทางอุโมงค์ จึงมีการขุดอุโมงค์แยกเป็นทาง 270 ทาง สำหรับเสด็จไปไหนต่อไหน เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ตรงทะเลตะวันออกที่นักพรตหลอกว่ามีเกาะศักดิ์สิทธิ์และที่นั่นมียาอายุวัฒนะ รศ.วรศักดิ์บอกว่า หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ บางคนหาไม่ได้ก็หนีหายไป จิ๋นซีฮ่องเต้จึงโกรธและเครียดมาก ในการเสด็จประพาสครั้งที่ 5 จึงประชวรและสวรรคต

การที่จิ๋นซีฮ่องเต้หลงเชื่อนักพรต ทั้งเกณฑ์แรงงานเพื่อการก่อสร้าง ยังรีดนาทาเร้นภาษีอากรจากชาวนา เป็นสาเหตุให้ชาวนาเคียดแค้น หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคตไม่นาน จึงเกิดกบฏชาวนา แล้วราชวงศ์จิ๋นก็ล่มสลาย ราชวงศ์ฮั่นก็ขึ้นมาแทนที่

ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม กับหมุดบอกจุดเริ่มต้นของกำแพงเมืองจีน

บุก ‘ซานไห่กวน’ ด่านเบอร์ 1 แห่งใต้หล้า

มาถึงฉินหวงเต่า เมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของกำแพงเมืองจีนที่ทอดยาวกว่า 250 กิโลเมตร ที่ซึ่งถือเป็นอันซีนแห่งหนึ่ง ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ “ด่านซานไห่กวน” ที่ยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 สิ่งก่อสร้างที่งดงามที่สุดของกำแพงเมืองจีน

ซานไห่กวน สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง บนที่ราบสูงติดทะเล ด้วยความสูงถึง 14 เมตร กว้าง 7 เมตร นับได้ว่าเป็นป้อมไม่พ่าย เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก แต่ที่สุดก็แตกเพราะหญิงงาม

ด้านหน้าก่อนเข้าสู่ด่านซานไห่กวน

ในช่วงปี ค.ศ.1760-1820 ป้อมหัวมังกรแห่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการรุกรานทางทะเลจากกองทัพญี่ปุ่น และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งปัจจุบัน ได้ปรับบทบาทมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอวดทัศนียภาพที่งดงามไม่เป็นรองใคร และเป็นสัญลักษณ์ถึงความเกรียงไกรบนหน้าประวัติศาสตร์โลกของจีน

กลับที่โฉมสะคราญทลายป้อม เธอผู้มีนามว่า “เฉินหยวนหยวน”

อันที่จริงในประวัติศาสตร์โลกจะได้เห็นหญิงงามที่มีบทบาทสำคัญๆ หลายคน เช่น พระนางสูสีไทเฮา แต่ในกรณีนี้แตกต่างกันมาก

ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างราชวงศ์หมิงสู่ราชวงศ์ชิงนั้น “อู๋ซานกุ้ย” แม่ทัพหนุ่มแห่งราชสำนักหมิงซึ่งมีภารกิจดูแลความแข็งแกร่งของป้อมค่ายประตูรบที่เมืองชายแดนที่ยูนนาน เมื่อทราบว่านครปักกิ่งถูกปิดล้อม และฮ่องเต้ฉงเจินปลงพระชนม์ด้วยการแขวนพระศอใต้ต้นไม้ใหญ่

เดิมทีอู๋ซายกุ้ยคิดจะยอมสวามิภักดิ์ต่อหลี่จื้อเฉิง ฝ่ายกบฏชาวนา เพื่อรักษาชีวิตครอบครัว แต่เมื่อทราบข่าวว่าจับตัวเฉินหยวนหยวน อนุภรรยาของเขาไป จึงโกรธแค้นและร่วมมือกับทหารชิงเปิดด่านซานไห่กวน ให้ทหารแมนจูบุกเข้ายึดนครปักกิ่ง

เรือรบโบราณ

‘อู๋ซานกุ้ย’ มังกร (นก) สองหัว

หลังจากนั้น อู๋ซานกุ้ย ได้ความดีความชอบ คุมกองกำลังอันยิ่งใหญ่และได้อำนาจปกครองมณฑลยูนนาน

รศ.วรศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่อู๋ซานกุ้ยทรยศเปิดประตูเมือง หนึ่ง อาจเป็นเพราะถูกหยามศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย สอง เป็นไปได้ว่าเป็นความตั้งใจแต่แรก เพราะเห็นว่าอย่างไรเสียราชบัลลังก์ก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี

ประวัติศาสตร์จีนในปัจจุบันมีข้อถกเถียงว่า หลังจากแมนจูปกครองราชวงศ์ชิงยาวนานกว่า 200 ปี สร้างความเจริญหลายอย่างให้กับจีน มีคนกลุ่มหนึ่งเปรียบอู๋ซานกุ้ยว่าเหมือนกันพระยาจักรี ตอนที่เปิดประตูเมืองให้พม่าเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 แต่นักประวัติศาสตร์อีกสำนักเห็นแย้งว่า ตอนนั้นราชวงศ์หมิงก็เสื่อมสุดๆ แล้ว พอแมนจูปกครองก็สร้างความเจริญ ถือว่าอู๋ซานกุ้ยมีคุณูปการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอู๋ซานกุ้ยเป็นจีนฮั่น แมนจูมอบตำแหน่งให้แต่ก็ไม่ไว้ใจ ตอนที่กษัตริย์องค์สุดท้ายปลงพระชนม์ ขุนนางทั้งหลายต้องพาจักรพรรดิองค์ใหม่หนีไปทางใต้จนถึงยูนนานเข้าพม่า ทางแมนจูก็ส่งอู๋ซานกุ้ยไปปกครองยูนนาน บทบาทหนึ่งที่มอบให้คือ พาจักรพรรดิองค์ใหม่มาสำเร็จโทษให้ได้

“สิ่งหนึ่งที่ผมขอตั้งข้อสังเกตคือ ตอนที่จักรพรรดิองค์ใหม่พร้อมกับขุนนางไปพม่า ล้วนเป็นชนชั้นผู้ดีทั้งนั้น พม่าต้องต้อนรับ แต่ระหว่างนั้นฝ่ายขุนนางของจักรพรรดิในเขตพม่าบอกว่าเราจะเอาคืน แต่ทัพพม่าไม่เพียงพอ มีวิธีเดียวคือขอแรงจากราชสำนักอยุธยา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ติดต่อราชสำนักอยุธยามาเป็นพันธมิตรให้ช่วยสู้รบกับแมนจู ราชสำนักอยุธยาตกลงแล้วแต่ยังไม่ทันไร อู๋ซานกุ้ยมาถึงก่อน พม่ารู้จึงส่งตัวจักรพรรดิองค์สุดท้ายให้ สำเร็จโทษด้วยการผูกคอตาย ทุกวันนี้หลุมฝังศพยังอยู่ที่ชานเมืองคุนหมิง

“ตอนที่จักรพรรดิถูกกดดันให้ส่งตัวให้อู๋ซานกุ้ย บรรดาขุนนางทั้งหลายที่เทครัวไปอยู่พม่า พวกนี้ไม่กลับ พอเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ พวกนี้ก็คือขุนส่า ใช้ภาษาจีนแบบโบราณเลย นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ”

ส่วนเฉินหยวนหยวนแม้ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดของอู๋ซานกุ้ย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป อู๋ซานกุ้ยมีอนุภรรยาสวยสดเพิ่มเติมอีกหลายคน นางจึงตัดสินใจบวชไม่สึกตลอดชีวิต

ทางขึ้นสู่ด้านบนของป้อมที่แข็งแรงที่สุดในแผ่นดิน
รศ.วรศักดิ์ กับประตูเมืองโบราณภายในป้อมซานไห่กวน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image