ทบทวนผลัก ‘คน’ ออกจาก ‘ป่า’ มรดกโลกแก่งกระจาน ต้องได้มาด้วย ‘ศักดิ์ศรี’

ความพยายามในการเสนอกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก เกิดขึ้นมานานหลายปี โดยความกังวลล่าสุดของคณะกรรมการมรดกโลก คือผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์และการปักปันเขตแดนกับเมียนมา

มีหลักฐานว่าชาวกะเหรี่ยงที่แก่งกระจานตั้งถิ่นฐานมาก่อนประกาศตั้งอุทยาน ตั้งแต่การสำรวจเขตแดนสมัย ร.4 พ.ศ.2407 และต่อมาในสมัย ร.5 พ.ศ.2424 นายคาร์ล บ็อค นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ บันทึกและเขียนภาพการสำรวจชาวกะเหรี่ยงใน จ.เพชรบุรี

สมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคลื่อนไหวพื้นที่ชายแดนตะวันตก รัฐบาลได้จัดทำเหรียญให้ชาวกะเหรี่ยงติดตัวเพื่อแสดงตนว่าเป็น “พลเมืองไทย”

ต่อมาปี 2539 เกิดโครงการดูแลรักษาป่าบริเวณป่าละอูบนและเขาพะเนินทุ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่) แก้ปัญหาชาวไทยภูเขารุกพื้นที่ต้นน้ำ ย้ายชาวกะเหรี่ยง 57 ครอบครัว ลงมารวมกับหมู่บ้านโป่งลึกโดยแบ่งที่ทำกินให้ แต่บางครอบครัวไม่ได้รับจัดสรร ไม่มีที่ทำกินจึงกลับไปอยู่ที่เดิม คือใจแผ่นดินและบางกลอยบน

Advertisement

ปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานบุกเผาทำลายบ้านและยุ้งฉางเกือบ 100 หลังของชาวกะเหรี่ยง นำมาสู่การร้องเรียนและดำเนินคดี โดยมี บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ เป็นตัวแทนชาวกะเหรี่ยงในการต่อสู้เรียกร้อง ซึ่งต่อมาได้หายตัวไปจึงเป็นที่สนใจขององค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

รวมถึง ทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตหลังเข้ามาช่วยประสานงานชาวกะเหรี่ยง

มีผู้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการเผาไล่ที่ชาวกะเหรี่ยงเกิดขึ้นช่วงเดียวกับการเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ไร้ทางออก ถ้าทำกินไม่ได้

ปัญหาหลักของกะเหรี่ยงแก่งกระจานวันนี้คือการไม่มีที่ทำกิน ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมได้ ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ ขาดน้ำ คนในหมู่บ้านบางส่วนยังไม่ได้สัญชาติไทย

แม้มีหน่วยงานราชการตั้งโครงการเข้าไปช่วยมากมายแต่คุณภาพชีวิตยังไม่ดีขึ้น ปกาเกอะญอรุ่นลูกหลานต้องออกไปทำงานรับจ้างในเมือง เหลือผู้หญิง เด็กและคนชราไว้ในหมู่บ้าน

จากชีวิตที่แทบไม่ต้องใช้จ่ายเงินที่บ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน เมื่อถูกย้ายมารวมกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง ทุกสิ่งในชีวิตแลกมาด้วยเงิน แม้แต่ “ข้าว” ซึ่งเป็นความภูมิใจของปกาเกอะญอ ขณะที่ชีวิตกลางป่าปิดช่องทางรายได้ให้ตีบตัน

หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย คั่นด้วยแม่น้ำเพชรบุรีที่อยู่ต่ำกว่าหมู่บ้านจึงมีปัญหาเรื่องการสูบน้ำใช้เพื่อการเกษตร

ในการลงพื้นที่รับฟังปัญหาแก่งกระจาน เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เยี่ยมเยียนและพูดคุยกับปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงแก่งกระจาน อายุ 106 ปี

โคอิเป็นปู่ของบิลลี่ที่ร่วมต่อสู้ฟ้องร้องกรณีถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้าน หลังบ้านถูกเผาเขาถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาหมู่บ้านข้างล่าง ขณะที่ชาวบ้านบางคนหวาดกลัววิ่งหนีหลบอยู่ในป่า โดยไม่มีทรัพย์สินอะไรติดตัว

“อยู่ที่คนอื่นก็เหมือนเอาไข่คนอื่นมาฟัก ไม่เหมือนฟักไข่ตัวเอง”

คำแทนใจปู่คออี้ถึงชีวิตในบ้านใหม่ เขายืนยันทุกครั้งว่าอยากกลับไปที่ใจแผ่นดินเพราะลำบากเรื่องที่ทำกิน ปกาเกอะญออยู่ป่าไม่ได้ทำลายป่าไม้แบบที่ถูกกล่าวหา แต่อยู่แบบเคารพธรรมชาติ

ชายที่อยู่ในบ้านเดียวกันคือ หน่อแอะ ลูกชายปู่คออี้ ย้อนไปช่วงที่มีการเผาบ้านชาวกะเหรี่ยง เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ตก 3 ลำ จนมีผู้เสียชีวิต หน่อแอะเข้าไปช่วยค้นหาและช่วยเจ้าหน้าที่ออกมาจากป่าได้ แต่วันนี้หน่อแอะป่วยเป็นอัมพฤกษ์อยู่กับครอบครัวที่มีปัญหาที่ทำกินเพราะตกเป็นผู้บุกรุก

วุฒิ บุญเลิศ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี บอกว่า ถ้าที่ดินโป่งลึกปลูกข้าวแบบดั้งเดิมได้ชาวบ้านคงไม่อยากกลับไปอยู่ข้างบน แต่อยู่นี่แล้วไม่มีกิน น้ำ-ดินไม่เหมาะ เขาก็โหยหาพื้นที่เดิม บางคนไม่ได้รับจัดสรรที่ตามที่เจ้าหน้าที่อ้าง

แม้หมู่บ้านจะมีแม่น้ำพาดผ่าน แต่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำที่มีเพียงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ทำให้ไฟดับและเครื่องยนต์พังบ่อย ทั้งหมดนี้ต้องใช้เงิน ซึ่งชาวบ้านบางรายบอกว่าแค่ท่อประปาต่อน้ำมาเขายังไม่มีเงินซื้อเลย

บางรายเปลี่ยนมาปลูกกล้วย แต่ไม่ใช่อาหารที่กินได้ทั้งปีอย่างข้าว และไม่มีแม่โพสพที่เป็นความเชื่อของปกาเกอะญอ

ปัญหาที่ตึงเขม็งมานานน่าจะคลี่คลาย หากหาทางออกเรื่องที่ทำกินได้

เตือนใจ ดีเทศน์ เยี่ยมปู่คออี้ที่บ้าน

ยิ่งเข้มงวด ยิ่งเจอต่อต้าน

มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เพิ่งมารับตำแหน่งได้ 1 ปี เล่าว่า การอพยพชาวกะเหรี่ยงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2539 โดยโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ทั้งหมด 57 ครอบครัว ให้ที่ทำกินครอบครัวละ 7 ไร่ และปลูกบ้านอีก 3 งาน รวมที่ดิน 413 ไร่ ทำพิธีเปิดหมู่บ้านเมื่อปี 2540 (ก่อนการเผาหมู่บ้านและอพยพลงมาอีกหลายระลอก)

ที่ผ่านมามีหน่วยงานเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2555-2559 มี 24 หน่วยงาน 88 โครงการ ปีนี้มี 25 โครงการ เช่น วางระบบท่อประปา, ซ่อมระบบน้ำสูบ, ซ่อมถนน, แปลงเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง, แปรรูปกล้วยตาก, เลี้ยงกบ

มานะ เพิ่มพูล

หัวหน้าอุทยานเผยว่า พยายามลงไปคุยกับชาวบ้านมากขึ้น แต่ก็ยังมีการจับคดีบุกรุกป่าไม้ เฉพาะปีนี้ 15 คดี รวมถึงคดีไม้แปรรูป และล่าสัตว์ที่ปีนี้มี 1 คดี พบชาวบ้านมีซากตะกวด 1 ซาก

การแก้ปัญหาบ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (PAC) จัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

จากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล ตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 การปราบปรามปัญหารุกที่จะต้องไม่กระทบประชาชนผู้ยากไร้หรือ

ไร้ที่ดินทำกิน อุทยานจึงได้สำรวจผู้ที่อยู่มาก่อนคำสั่งนี้และต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย

ด้าน ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่าคนที่ถูกอพยพมาจะอยู่ได้ต่อเมื่อได้รับสิทธิความเป็นคนไทย และมีที่ดินทำกินซึ่งใช้ประโยชน์ได้จริง ก็จะไม่อยากกลับไปอยู่ข้างบน

“ตอนปี 2539 โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน แต่เป็นการจัดที่ดินภายใต้โครงการพิเศษในขณะนั้น คนที่ได้รับที่ดินในตอนนั้นก็ไม่ใช่ว่าทุกคนถือบัตรสัญชาติไทย ปัญหาตอนนี้คือที่ดินทำกินที่เพิ่มขึ้นมาจากที่เคยจัดสรรให้ หากโมเดลในรูปแบบโครงการพิเศษสามารถทำได้จะแก้ปัญหาข้อร้องเรียนที่มีอยู่มาก

“กติกาหมู่บ้านก็สำคัญ ให้รับผิดชอบเองและมีค่าปรับ จะทำให้บางกลอยสงบสุข และเบาแรงทางอุทยาน แต่พอเอากฎหมายมาใช้มากจะยิ่งเจอแรงต่อต้าน เรื่องนี้ขยายไปถึงต่างประเทศ เพราะเกี่ยวพันกับการยื่นขอมรดกโลก” ชาติชายกล่าว

ซึ่งหัวหน้าอุทยานยืนยันว่าต้องทำตามระเบียบกฎหมายที่ชัดเจน ถ้ามีเครื่องมือให้ก็ยินดีจะใช้ แต่ตอนนี้เป้าหมายกระทรวงคือเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่ป่าต้องไม่ลด การจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านเมื่อปี 2539 เป็นโครงการพิเศษตามนโยบาย ซึ่งขณะนี้ไม่มีนโยบายก็ทำไม่ได้

“ปัจจุบันพยายามดึง 42 ครัวเรือน ที่ไม่มีที่ดินชัดเจนให้ทำกินโดยไม่ต้องใช้ที่ดิน ให้มีความมั่นคง พยายามทำเรื่องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่มาช่วยเรื่องการสร้างอาชีพ” มานะกล่าว

ชาวบ้านแสดงแผนที่ทำเองจากการเดินสำรวจตามลำน้ำเพื่อบันทึกสถานที่ซึ่งชาวบ้านใจแผ่นดินเคยใช้ เช่น หลุมฝังศพ

ขอให้ ‘คน’ เป็นส่วนหนึ่ง ‘มรดกโลก’

เตือนใจ ดีเทศน์ เผยข้อมูลประชากรที่ชาวบ้านสำรวจกันเองต้นปี 2560 บ้านโป่งลึก-บางกลอย มีบัตรประชาชน 569 คน มีบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน 230 คน ไม่มีบัตรเลย 68 คน ซึ่งตัวเลขไม่ตรงกับที่อุทยานมี

และเผยว่าจากการคุยกับชาวบ้าน พบว่ามีการจำกัดสิทธิตามจารีตประเพณี ระบบไร่หมุนเวียนที่สืบทอดกันมานับร้อยปีเป็นภูมิปัญญา พอมาอยู่บางกลอยก็ทำไม่ได้ซึ่งจะทำให้พันธุ์พืชพื้นเมืองหายไป ซึ่งสหประชาชาติมีปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มีเรื่องสิทธิในที่ดิน การจัดการตนเอง และการสืบทอดภูมิปัญญา

“ถ้าเราใช้กฎหมายอย่างแข็งตัวเกินไป ความเดือดร้อนจะเกิดกับประชาชนและต้องหาทางออกระดับนโยบาย”

ชาวบ้านกังวลเรื่องการยื่นขอมรดกโลกและขอให้คิดถึงคนในพื้นที่ด้วย เพื่อเป็นพื้นที่มรดกโลกทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม

“ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลก ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้อง ปู่คออี้อายุ 106 ปีแล้วยังไม่มีบัตรประชาชน เป็นช่องว่างกฎหมายที่ต้องก้าวข้าม ถ้ากฎหมายที่มียังไม่สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ ก็ต้องแก้กฎหมายให้มนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี และอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุลและยั่งยืน” เตือนใจกล่าว

วุฒิ บุญเลิศ

ด้าน วุฒิ บุญเลิศ ก็ยืนยันว่าเครือข่ายกะเหรี่ยงไม่คัดค้านการยื่นขอมรดกโลกแต่ขอให้ “คน” เป็นมรดกโลกที่จะได้รับการคุ้มครองด้วย เพราะถ้าไม่มองคนเป็นมรดกร่วมกับป่า คนจะถูกละเมิด

“ที่ผ่านมามีโครงการมีงบประมาณเข้าหมู่บ้านเยอะมาก แต่คุณภาพชีวิตชาวบ้านไม่ดีขึ้น ยิ่งโครงการเยอะหมู่บ้านยิ่งอ่อนแอ เพราะชาวบ้านไม่รู้จะวางตัวยังไง จึงแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา (PAC) มีแต่ข้าราชการ ยังไม่ได้ยินเสียงชาวบ้านอย่างแท้จริง นำไปสู่วิธีคิดของคณะกรรมการ”

วุฒิเผยว่า ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงได้มีการรวบรวมข้อมูลทำประวัติชุมชน และผังตระกูลครบถ้วนตามหลักวิชาการ แต่ไม่มีพื้นที่ให้เครือข่ายได้นำเสนอ จากนี้จะพยายามนำข้อมูลมาพูดคุยกับทางอุทยานพร้อมหน่วยงานอื่น

ชาติชาย สุทธิกลม-เตือนใจ ดีเทศน์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย พร้อมพบชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี

ศักดิ์ศรีในการคว้า ‘มรดกโลก’

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทนประจำประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการมรดกโลก เน้นย้ำว่า มรดกโลกเป็นผลพลอยได้จากการทำงานร่วมกัน มากกว่าจะเกิดจากความอยากได้

“การได้มาซึ่งมรดกโลกต้องมาด้วยศักดิ์ศรีมากกว่า”

“ผมคุยกับทั้งท่านรัฐมนตรีและอธิบดีมาตลอด อยากให้ไทยเป็นผู้นำของเอเชียในการปกปักรักษาพื้นที่อนุรักษ์ เชื่อมั่นว่าแม้แก่งกระจานพบปัญหาสารพัด แต่หากสำเร็จจะเป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมได้”

ดร.จำเนียนเผยว่า ถ้าอยากได้เป็นมรดกโลกด้วยศักดิ์ศรี ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นมรดกโลกของทุกคน

และภายในหนึ่งปีครึ่งนี้ ถ้าไม่เสนอรายงานความคืบหน้ากระบวนการมรดกโลกต้องเริ่มต้นทำใหม่ กำหนดพื้นที่ใหม่ ใช้กลไกหาข้อมูลเรื่องความโดดเด่นที่มีคุณค่าทางสากลใหม่ทั้งหมด

“แต่ถ้าเรารอหน่อยและได้มาซึ่งมรดกโลกอย่างภูมิใจจะดีกว่า ดีใจที่ทุกคนพยายามหาทางให้คนอยู่กับป่าได้ และอยากให้พิสูจน์ว่าคนอยู่กับป่าได้จริงๆ แต่กฎหมายและระบบราชการเป็นอุปสรรคมาก ซึ่งเรากำลังหาช่องทางช่วยกันทุกฝ่าย”

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์

เป้าหมายสำคัญที่ควรมุ่งไปคือ 1.การบริหารจัดการป่าอนุรักษ์หรือมรดกโลกให้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย 2.การอนุรักษ์และพัฒนาต้องไปด้วยกัน และประโยชน์ก็ควรจะรับร่วมกัน ต้องแบ่งปันผลประโยชน์จากการอนุรักษ์ให้ชาวบ้านในแง่การท่องเที่ยว และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้กับลูกหลาน

ผู้แทน IUCN เสนอทางออกในขั้นต้นว่า

1.รูปแบบคณะกรรมการที่ปรึกษา (PAC) ควรปรับปรุงให้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย

2.เห็นด้วยในการหาข้อมูลร่วมกันระหว่างอุทยานกับชาวบ้าน เพราะปัจจุบันยังมีข้อมูลผิดพลาดหลายเรื่อง ถ้าข้อมูลตรงกันจะไม่มีข้อโต้แย้งเกินจำเป็น เช่น ข้อมูลประชากร ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งควรทำเสร็จได้ในปีนี้

3.การใช้ประโยชน์ที่ดินที่โป่งลึก-บางกลอย หากเป็นไปได้อาจต้องวางผังกันใหม่ ให้การใช้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะแม้ไม่ใช่พื้นที่สมบูรณ์ที่สุดแต่สามารถปรับเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ จึงน่าเสียดายที่วางผังผิด

การยื่นขอมรดกโลกเป็นความหวังที่ทุกฝ่ายอยากทำให้สำเร็จ แต่การได้มาต้องไม่มองข้ามผู้คนที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลก

ศักดิ์ศรีและความภูมิใจย่อมไม่เกิดจากการละเมิดสิทธิต่างๆ แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image